ว่าด้วยอันตราย ๒ อย่าง

 
เมตตา
วันที่  19 ธ.ค. 2557
หมายเลข  25930
อ่าน  1,499

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ 306

ว่าด้วยอันตราย ๒ อย่าง

อันตรายปรากฏเป็นไฉน? ราชสีห์ เสือโคร่ง เสือเหลือง หมี เสือดาว หมาป่า โค กระบือ ช้าง งู แมลงป่อง ตะขาบ โจร คน ที่ทำกรรมชั่ว คนที่เตรียมจะทำกรรมชั่ว และโรคจักษุ โรคหู โรคจมูก โรคลิ้น โรคกาย โรคศีรษะ โรคใบหู โรคปาก โรคฟัน โรคไอ โรคหืด โรคไข้หวัด โรคไข้พิษ โรคไข้เชื่อมซึม โรคในท้อง โรคลมสลบ โรคบิด โรคจุกเสียด โรคลงราก โรคเรื้อน โรคฝี โรคกลาก โรคมงคร่อ โรคลมบ้าหมู โรคหิดเปื่อย โรคหิตด้าน โรคคุดทะราด โรคหูด โรคละลอก โรคคุดทะราดบวม โรคอาเจียนโลหิต โรคดีเดือด โรคเบาหวาน โรคเริม โรคพุพอง โรคริดสีดวง อาพาธมีดีเป็นสมุฏฐาน อาพาธมีเสมหะเป็นสมุฏฐาน อาพาธมีลมเป็นสมุฏฐาน อาพาธสันนิบาต อาพาธเกิดแก่ฤดูแปรปรวน อาพาธเกิดแต่การบริหารไม่สม่ำเสมอ อาพาธเกิดแต่ความเพียรเกินกำลัง อาพาธเกิดแต่วิบากของกรรม ความหนาว ความร้อน ความหิว ความระหาย ปวดอุจจาระ ปวดปัสสาวะ ความสัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เสือกคลาน อันตรายเหล่านี้เรียกว่า อันตรายปรากฏ.

อันตรายปกปิดเป็นไฉน?

กายทุจริต วจีทุริต มโนทุจริต กามฉันทนิวรณ์ พยาบาทนิวรณ์ ถีนมิทธนิวรณ์ อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ วิจิกิจฉานิวรณ์ ราคะ โทสะ โมหะ ความโกรธ ความผูกโกรธไว้ ความลบลู่คุณท่าน ความตีเสมอ ความริษยา ความตระหนี่ มารยา ความโออวด ความหัวดื้อ ความแข่งดี ความถือตัว ความดูหมิ่นท่าน ความมัวเมา ความประมาท กิเลสทั้งปวง ทุจริตทั้งปวง ความกระวนกระวายทั้งปวง ความเร่าร้อนทั้งปวง ความเดือดร้อนทั้งปวง อกุสลาภิสังขารทั้งปวง อันตรายเหล่านี้เรียกว่า

อันตรายปกปิด

ที่ชื่อว่าอันตราย เพราะอรรถว่า อะไรจึงชื่อว่าอันตราย เพราะอรรถว่า ครอบงำ

จึงชื่อว่าอันตราย เพราะอรรถว่า เป็นไปเพื่อความเสื่อม

จึงชื่อว่าอันตราย เพราะอรรถว่า เป็นที่อยู่แห่งอกุศลธรรมทั้งหลาย

จึงชื่อว่าอันตราย เพราะอรรถว่า ครอบงำ

จึงชื่อว่าอันตรายอย่างไร อันตรายเหล่านั้นย่อมครอบงำ ปราบปราม กดขี่ ท่วมทับ กำจัด ย่ำยีบุคคลนั้น เพราะอรรถว่า ครอบงำ จึงชื่อว่าอันตรายอย่างนี้.

เพราะอรรถว่า เป็นไปเพื่อความเสื่อม จึงชื่อว่าอันตรายอย่างไร?

อันตรายเหล่านั้น ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อม เพื่ออันตรธานไปแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย

อันตรายเหล่านั้น ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อม เพื่ออันตรธานไปแห่งกุศลธรรมเหล่าไหน

อันตรายเหล่านั้น ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อม เพื่ออันตรธานไปแห่งกุศลธรรมเหล่านี้

คือความปฏิบัติชอบความปฏิบัติสมควร ความปฏิบัติไม่เป็นข้าศึก

ความปฏิบัติเป็นไปตามประโยชน์ ความปฏิบัติธรรมอันสมควรแก่ธรรม

ความทำให้บริบูรณ์ในศีลทั้งหลาย

ความเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ความเป็นผู้รู้จักประมาณในโภชนะ

ความประกอบเนืองๆ ในความเป็นผู้ตื่น สติสัมปชัญญะ

ความประกอบเนืองๆ ในการเจริญสติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔

อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘

อันตรายเหล่านั้นย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อม เพื่ออันตรธานไปแห่งกุศลเหล่านี้

เพราะอรรถว่า เป็นไปเพื่อความเสื่อม จึงชื่อว่า อันตรายอย่างนี้


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
เมตตา
วันที่ 19 ธ.ค. 2557

เพราะอรรถว่า เป็นที่อยู่แห่งอกุศลธรรมทั้งหลาย จึงชื่อว่าอันตรายอย่างไร? อกุศลธรรมอันลามกเหล่านั้น ย่อมเกิดขึ้นในอัตภาพนั้น ย่อมเป็นธรรมอยู่อาศัยในอัตภาพ เปรียบเหมือนเหล่าสัตว์ที่อาศัยรูย่อมอยู่ในรู ที่อาศัยน้ำย่อมอยู่ในน้ำ ที่อาศัยป่าย่อมอยู่ในป่า ที่อาศัยต้นไม้ย่อมอยู่ที่ต้นไม้ ฉันใด อกุศลธรรมอันลามกเหล่านั้น ย่อมเกิดขึ้นในอัตภาพนั้น ย่อมเป็นธรรมอยู่อาศัยในอัตภาพ ฉันนั้น เหมือนกัน เพราะฉะนั้น เพราะอรรถว่า เป็นที่อยู่แห่งอกุศลธรรมทั้งหลาย จึงชื่อว่าอันตรายอย่างนี้

สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้อยู่ร่วมกับอันเตวาสิก ผู้อยู่ร่วมกับอาจารย์ ย่อมอยู่ลำบาก ไม่ผาสุก ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุผู้อยู่ร่วมกับอันเตวาสิก ผู้อยู่ร่วมกับอาจารย์ ย่อมอยู่ลำบาก ไม่ผาสุกอย่างไร? ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อกุศลธรรมอันลามก มีความดำริอันซ่านไปในอารมณ์อันเกื้อกูลแก่สังโยชน์ ย่อมเกิดขึ้นแก่ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เพราะเห็นรูปด้วยจักษุ อกุศลธรรมอันลามกเหล่านั้น ย่อมซ่านไปในภายในแห่งภิกษุนั้น เพราะเหตุดังนี้นั้น ท่านจึงเรียกภิกษุนั้นว่า ผู้อยู่ร่วมกับอันเตวาสิก อกุศลธรรมอันลามกเหล่านั้น ย่อมกลุ้มรุมภิกษุนั้น เพราะเหตุนี้นั้น ท่านจึงเรียกภิกษุนั้นว่า ผู้อยู่ร่วมกับอาจารย์

อีกประการหนึ่ง อกุศลธรรมอันลามก มีความดำริซ่านไปในอารมณ์อันเกื้อกูลแก่สังโยชน์ ย่อมเกิดขึ้นแก่ภิกษุเพราะได้ยินเสียงด้วยหู เพราะสูดดมกลิ่นด้วยจมูก เพราะลิ้มรสด้วยลิ้น เพราะถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย เพราะรู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจ อกุศลธรรมอันลามกเหล่านั้น ย่อมซ่านไปในภายในแห่งภิกษุนั้น เพราะเหตุนี้นั้น ท่านจึงเรียกภิกษุนั้นว่า ผู้อยู่ร่วมกับอันเตวาสิก อกุศลธรรมอันลามกเหล่านั้น ย่อมกลุ้มรุมภิกษุนั้น เพราะเหตุดังนี้นั้น ท่านจึงเรียกภิกษุนั้นว่า ผู้อยู่ร่วมกับอาจารย์

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุที่อยู่ร่วมกับอันเตวาสิก ผู้อยู่ร่วมกับอาจารย์ ย่อมอยู่ลำบากไม่ผาสุกอย่างนี้แล เพราะฉะนั้น เพราะอรรถว่า เป็นที่อยู่แห่งอกุศลทั้งหลายจึงชื่อว่า อันตรายอย่างนี้

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 13 มิ.ย. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ