ศีลข้อ 6 ขัดเกลากิเลสได้อย่างไร

 
ati
วันที่  20 ธ.ค. 2557
หมายเลข  25935
อ่าน  16,032

ผมมีเพื่อนที่มีความเห็นว่า ศีลข้อที่ ๖ การเว้นการบริโภคอาหารในยามวิกาลนั้นเป็นสิ่งที่ทรมานตนเองให้ลำบากและอาจทำให้เป็นโรคได้ สำหรับคฤหัสถ์ และไม่ได้ช่วยขัดเกลาความมักมาก หรือติดข้องในอาหารได้ เพราะทุกวันนี้เธอก็พิจารณาในการบริโภคอาหารอยู่แล้วว่า กินเพื่อบำบัดความหิวและเพื่อให้ร่างกายดำรงอยู่ได้ จึงเห็นว่าศีลข้อนี้เกินความจำเป็นสำหรับอุบาสก อุบาสิกา และมีข้อสงสัยว่าเหตุใดจึงทรงบัญญัติศีลข้อนี้แก่อุบาสก อุบาสิกา การรักษาศีลข้อนี้จะช่วยขัดเกลากิเลสได้พิเศษกว่าการรับประทาน ๓ มื้อตามปรกติแต่มีการพิจารณาการรับประทานอย่างไร


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 20 ธ.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ศีล ๘ จึงเป็นศีลที่ขัดเกลาเพิ่มขึ้นจากศีล ๕ สำหรับผู้ที่มีอัธยาศัยสะสมมาที่จะเห็นประโยชน์ในการรักษาศีล กุศลขั้นศีลเจริญขึ้น จึงรักษา ศีล ๘ ในวันพระ เป็นต้น แต่พระธรรมไม่ใช่เรื่องของการบังคับ แล้วแต่การสะสมของแต่ละคนที่จะเห็นประโยชน์ของการรักษาศีลเพิ่มขึ้นหรือไม่ แต่อย่างไรก็ดี การจะทำอะไรก็ตาม จุดประสงค์จะต้องถูกต้อง แม้แต่การรักษาศีล ๘ ก็เพื่อจุดประสงค์ คือ การละ ขัดเกลากิเลสเป็นสำคัญ ไม่ใช่เพื่อการเกิดในสวรรค์ ได้สิ่งที่ดีๆ เลย ครับ การรักษาศีล ๘ ที่ถูกต้อง คือ ดำเนินทางถูกตามปัญญา ย่อมจะเจริญขึ้นในกุศลทุกประการ และเป็นศีลบารมี และเป็นเสบียงเพื่อดับกิเลสในอนาคต ครับ

ซึ่งข้อ ๖ ที่งดเว้นจากการบริโภคอาหารในเวลาวิกาล คือ หลังเที่ยง สำหรับผู้ที่สะสมอุปนิสัยมาย่อมไม่ลำบาก และเป็นการขัดเกลา แต่ผู้ที่ไม่สะสมอุปนิสัยย่อมลำบาก ก็ไม่ต้องรักษา ซึ่งจุดประสงค์ที่ขัดเกลามากขึ้นของผู้ที่สะสมอุปนิสัยมาที่จะรักษา และขัดเกลามากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นผู้ขวนขวายน้อยในการที่จะต้องดิ้นรนแสวงหาอาหาร รับประทานเพียงทานถึงกลางวัน ก็สามารถที่จะอยู่ได้ และก็ไม่เป็นผู้ที่จะต้องแสวงหาติดข้องหาอาหารมากขึ้น เวลาที่เหลือก็สามารถอบรมปัญญา

ศึกษาพระธรรมมากขึ้น ก็เป็นเรื่องที่เบาในการที่จะต้องมารับประทานอาหารอีกต่อไป ไปทานมื้อเย็น มื้อดึก ก็เป็นการตัดปัญหาการทานอาหารมื้อเย็น มื้อ ค่ำ การเที่ยวเตร่ในยามเย็น ค่ำคืน ที่เป็นช่องทางของกิเลสมากมายได้เป็นอย่างดี ซึ่งเป็นการเสียเวลา แทนที่จะเห็นประโยชน์ของเวลาที่มีค่า คือ ฟังธรรม ศึกษาพระธรรม ครับ ซึ่งศีลข้อ ๖ ในการงดเว้นจากการบริโภคอาหารในเวลาวิกาล จึงเหมาะควร ขัดเกลาสำหรับผู้ที่สะสมอัธยาศัยมา แต่ไม่เหมาะควรกับผู้ที่ไม่สะสมมาที่จะรักษา พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้บังคับในที่จะต้องรักษาศีลอุโบสถ ศีลข้อ ๖ ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 20 ธ.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

จุดประสงค์ของการรักษาศีล ๘ เพื่อประโยชน์แก่การขัดเกลากิเลสของตนเอง ไม่ใช่เห็นว่า ศีล ๘ มากกว่าศีล ๕ ก็รักษา โดยที่ไม่มีความเข้าใจอะไร ไม่ได้มุ่งที่จะขัดเกลากิเลสเลย อย่างนี้ย่อมไม่ถูกต้อง เมื่อเป็นผู้มีความตั้งใจว่าจะเป็นผู้รักษาศีล ๘ แล้ว ก็จะต้องน้อมที่จะรักษาด้วย ศีล ๘ ข้อที่ ๖ คือ งดเง้นจากการบริโภคอาหารในเวลาวิกาล คือ หลังเที่ยงไปแล้ว เพราะการรักษาศีล ๘ จะต้องเป็นผู้งดเว้นจากการบริโภคอาหารในเวลาวิกาล คือ หลังเที่ยงไปแล้วรับประทานอาหารไม่ได้ ซึ่งต้องเป็นประโยชน์แน่ถ้าน้อมประพฤติตามได้ ขัดความความเป็นผู้ติดข้อ

ถ้าไม่สามารถรักษาศีล ๘ ได้ ก็พึงเป็นผู้รักษาศีล ๕ พร้อมทั้งมีการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญาตามที่คฤหัสถ์จะพึงกระทำได้ อย่างนี้ก็เป็นสิ่งที่ดีแล้ว ดีกว่าไปกระทำอะไรด้วยความไม่รู้หรือด้วยความเข้าใจผิด ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 20 ธ.ค. 2557

ศีลทุกข้อเป็นการขัดเกลากิเลส ให้ความไม่มีภัยกับตนเองและคนอื่น การรักษาศีลข้อ ๖ จุดประสงค์เพื่อไม่มัวเมาในอาหาร ขัดเกลากิเลสยิ่งขึ้นตามการสะสม ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
peem
วันที่ 20 ธ.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
tanrat
วันที่ 21 ธ.ค. 2557

พระวินัยที่พระผู้มีพระภาคทรงบรรญัติ นี่คือพระบริสุทธิคุณ เพื่อประโยชน์ต่อผู้ประพฤติ ปฏิบัติเอง มิได้ทรงเป็นไปเพื่อ ลาภ ยศ สรรเสริญ แต่อย่างใด เป็นการขัดเกลากิเลสของผู้ประพฤติ

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
abhirak
วันที่ 21 ธ.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบขอคำอธิบายเพิ่มเติมจากวิสัชชนาที่อาจารย์เผดิมได้กรุณากล่าวไว้ครับ เพราะเหตุว่าแม้ขณะที่กำลังแสวหาก็ดี ขณะที่กำลังบริโภคอาหารก็ดี ขณะนั้นเองย่อมมีเหตุมีปัจจัยที่ทำให้เกิดสภาวธรรมต่างๆ ขึ้นซึ่งสามารถยกขึ้นพิจารณาได้โดยง่าย ด้วยเหตุที่ท่านอาจารย์เผดิมชี้แนะว่า หากเว้นจากการบริโภคอาหารในยามวิกาล จะทำให้มีเวลาศึกษาและอบรมธรรมมากยิ่งขึ้น จึงทำให้เกิดข้อสงสัยว่า ก็ในขณะที่บริโภคอาหารอยู่ไม่ว่าจะเวลาใดก็ตาม ก็สามารถที่จะศึกษาและอบรมถึงความเป็นอยู่แห่งธรรมะด้วยได้มิใช่หรือครับ จึงใคร่ขอคำชี้แนะเพิ่มเติมครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
ati
วันที่ 21 ธ.ค. 2557

พอได้ข้อสรุปครับ ศีลข้อนี้ ขัดเกลาความเป็นผู้ขวนขวายมากในอาหารซึ่งนับว่าเป็นภาระ และหากสละภาระตรงนี้ไปได้ก็จะมีเวลาให้กับสิ่งที่เป็นประโยชน์ เช่น การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ได้มากขึ้น ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นกับอุปนิสัยของผู้นั้นว่าได้สั่งสมการเห็นโทษของการขวนขวายมากในอาหารหรือไม่ จึงจะเป็นการรักษาศีลที่เกิดจากความเข้าใจและรู้จักตนเองอย่างแท้จริง

ขอกราบขอบพระคุณทุกท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
paderm
วันที่ 21 ธ.ค. 2557

เรียน ความเห็นที่ 6 ครับ

ควรเข้าใจถูกครับว่า ปัญญาเป็นไปตามลำดับขั้น จากน้อยไปมาก ผู้ที่มั่นคง มีปัญญามาก แม้บริโภคอาหาร สติปัฏฐาน สามารถเกิดได้เป็นปกติ แต่สำหรับผู้ที่เริ่มฟังพระธรรม ปัญญาไม่มาก ย่อมเป็นการยากอย่างยิ่งที่สติปัฏฐานจะเกิดระลึกรู้ได้แม้เพียงขณะเดียว เพราะฉะนั้นหนทางที่ถูกของผู้ที่ศึกษาพระธรรมคือ การฟัง ศึกษาพระธรรมที่จะเป็นเหตุให้สติปัฏฐานเกิด การรักษาศีล ๘ ข้อ ๖ สำหรับผู้มีอัธยาศัย จึงได้เป็นโอกาสของเวลาที่มีค่าแทนที่จะไปหุงหาอาหาร บริโภค ก็ขวนขวายน้อย และได้เป็นเวลาของการฟัง ศึกษาพระธรรมมากขึ้น แม้ภิกษุในสมัยพุทธกาล หรืออุบาสก ผู้รักษาศีล ๘ ผู้มีปัญญามากแล้ว ก็ไม่บริโภคอาหารในเวลาวิกาล ยามเย็น ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เป็นต้น ผู้เป็นพระโสดาบัน แทนที่ท่านจะหุงหาอาหาร ทำกับข้าว หรือบริโภคอาหารในเวลาวิกาล มีเวลาเย็น เป็นต้น ก็ถือดอกไม้ ของหอมไปพระเชตวัน เอาเวลานั้นไปบูชาพระพุทธเจ้าและไปฟังพระธรรมที่พระวิหารเชตวัน อันนำมาซึ่งการเจริญขึ้นของกุศลธรรม ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
SuMitta
วันที่ 22 ธ.ค. 2557

เรียนถามค่ะว่า มีกล่าวไว้ที่ใดหรือไม่ว่า อุโบสถศีล จะมีในกาละสมัยของศาสนาพุทธเท่านั้น นอกคำสอนของพระองค์ไม่มีอุโบสถศีล จึงเป็นสิ่งที่เหมาะสมสำหรับฆราวาสที่ต้องการจะออกจากกามในวันหนึ่งและคืนหนึ่ง หรือเดือนหนึ่ง หรือ สามเดือน

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
abhirak
วันที่ 22 ธ.ค. 2557

กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์เผดิมครับ

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
เรือนแก้ว
วันที่ 22 ธ.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
ประสาน
วันที่ 24 ธ.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
orawan.c
วันที่ 25 ธ.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
chatchai.k
วันที่ 23 พ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ