ภิกษุเป็นผู้มีทวารอันคุ้มครอง

 
เมตตา
วันที่  24 ธ.ค. 2557
หมายเลข  25960
อ่าน  1,597

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ 13

ข้อความบางตอน

ภิกษุเป็นผู้มีทวารอันคุ้มครอง

เธอเห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ไม่ถือนิมิต ไม่ถืออนุพยัญชนะ เธอย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะเป็นเหตุให้อกุศล ธรรมอันลามก คืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำนั้น ชื่อว่า รักษาจักขุนทรีย์ ชื่อว่า ถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์ เธอฟังเสียงด้วยโสตะ. . . ดมกลิ่นด้วยฆานะ. . . ลิ้มรสด้วยชิวหา. . . ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย. . . รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจ แล้วไม่ถือนิมิต ไม่ถืออนุพยัญชนะ เธอย่อมปฏิบัติ เพื่อสำรวมมนินทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำนั้น ชื่อว่า รักษามนินทรีย์ ชื่อว่า สำรวมในมนินทรีย์ ภิกษุประกอบด้วยอินทรีย์สังวร

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ 394

ข้อความบางตอน

เรื่อง อินทรีย์สังวร

ลำดับนั้น เพราะอินทรีย์สังวรเป็นการรักษาศีล หรือเพราะเทศนานี้ ที่พระองค์ทรงแสดงตามลำดับนี้ เป็นที่สบายของเทวดาทั้งหลาย ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงปฏิปทาเริ่มตั้งแต่อินทรีย์สังวรไป จึงทรงปรารภคำมีอาทิว่า จกฺขูหิ ดังนี้เป็นต้น. ในบทเหล่านั้น บทว่า จกฺขูหิ เนว โลลสฺส ภิกษุไม่พึงเป็นผู้โลเลด้วยจักษุทั้งหลาย คือไม่พึงเป็นผู้โลเลด้วยจักษุทั้งหลาย ด้วยอำนาจมีรูปที่เราไม่เคยดู ควรดูเป็นต้น. บทว่า คามกถาย อาวรเย โสตํ พึงป้องกันหูจากคามกถา (คำพูดของชาวบ้าน) คือพึงป้องกันหูจากติรัจฉานกถา. แต่พระโบราณาจารย์กล่าวไว้ว่า

จักษุไม่เห็นรูปเพราะไม่มีจิต จิตไม่เห็นรูป เพราะไม่มีจักษุ ย่อมเห็นด้วยจิตอันมีปสาทจักษุ กระทบ อารมณ์ทางทวาร ความในข้อนี้จึงมีว่า เห็นรูปด้วยจักษุวิญญาณ.

บทว่า นิมิตฺตคฺคาหี เป็นผู้ถือนิมิต คือถือนิมิตหญิงและชาย หรือ นิมิตอันเป็นที่ตั้งแห่งกิเลส มีสุภนิมิตเป็นต้น ด้วยอำนาจฉันทราคะ. เพียงเห็นเท่านั้นนิมิตไม่ปรากฏ.

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ 46

ข้อความบางตอน

ก็ภิกษุเป็นผู้มีทวารอันคุ้มครองแล้วในอินทรีย์ทั้งหลายเป็นอย่างไร

ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เห็นรูปด้วยตาแล้ว ฟังเสียงด้วยหูแล้ว ดมกลิ่นด้วยจมูกแล้ว ลิ้มรสด้วยลิ้นแล้ว ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกายแล้ว รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว

เป็นผู้ไม่ถือเอาโดยนิมิต ไม่ถือเอาโดยอนุพยัญชนะ อภิชฌา โทมนัส ธรรมทั้งหลายที่เป็นบาปเป็นอกุศล จะพึงไหลไปตามภิกษุผู้ไม่สำรวมอินทรีย์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจอยู่ เพราะเหตุความไม่สำรวมอินทรีย์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อันใด ปฏิบัติเพื่อปิดกั้นเสียซึ่งอินทรีย์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนั้น รักษาอินทรีย์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถึงความสำรวมในอินทรีย์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อย่างนี้แล ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้มีทวารอันคุ้มครองแล้วในอินทรีย์ทั้งหลาย

หมายเหตุ ข้อปฏิบัติไม่ผิด คือ เป็นผู้ไม่ถือเอาโดยนิมิต ถือโดยนิมิต ได้แก่รวบถือเอาทั้งหมดในรูปที่ได้เห็น ฯลฯ ว่างาม ท่านเปรียบด้วยกิริยาที่จระเข้ฮุบเหยื่อ ถือโดยอนุพยัญชนะ ได้แก่เลือกถือเอาเป็นอย่างๆ ในรูป ฯลฯ นั้น ว่าคิ้วงาม นัยน์ตางาม จมูกงาม เป็นต้น ท่านเปรียบด้วยกิริยาที่เป็ดไซ้หาเหยื่อ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
สิริพรรณ
วันที่ 2 ก.ย. 2560

กราบนอบน้อมพระรัตนตรัยด้วยเศียรเกล้า

กราบบูชาพระคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ด้วยความเคารพยิ่ง

กราบอนุโมทนาขอบพระคุณกุศลวิริยะพี่เมตตาด้วยค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 5 มิ.ย. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ