ขณิกสมาธิและการเจริญเมตตา

 
ทับทิม
วันที่  16 ส.ค. 2548
หมายเลข  260
อ่าน  1,699

ขอความกรุณาอธิบายเพิ่มเติม เรื่องการเจริญเมตตาได้ถึงขั้นขณิกสมาธิด้วยค่ะ

ขอบคุณค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 30 ธ.ค. 2563

ข้อความจากกระทู้ 27545 โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย

ขณิกสมาธิ ได้แก่ สมาธิที่เป็นไปชั่วขณะ หมายถึง เอกัคคตาเจตสิกที่เกิดกับจิตที่เป็นไปตามปกติ อุปจารสมาธิ เป็นความสงบของจิตซึ่งอบรมจนมีกำลังมากขึ้น (ส่วนอัปปนาสมาธิ เป็นความสงบของจิต ตั้งแต่ปฐมฌานขึ้นไป) จะเห็นได้ว่า สมาธิที่เป็นไปชั่วขณะ หมายถึง เอกัคคตาเจตสิกที่เกิดกับจิตที่เป็นไปตามปกติของบุคคลทั่วไป เช่น ขณะที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย เป็นต้น ก็มีขณิกสมาธิเกิดร่วมด้วย เอกัคคตาเจตสิก หรือ สภาพธรรมที่เป็นสมาธินั้น เกิดกับจิตทุกดวง แต่ถ้าอบรมจิตให้มีกำลังจนสงบจากกิเลสมากขึ้น เอกัคคตาเจตสิกที่เกิดพร้อมกับปัญญาจึงได้ชื่อว่า อุปจารสมาธิ และเอกัคคตาเจตสิกที่เกิดกับฌานจิตชื่อว่าอัปปนาสมาธิ

ธรรม เป็นเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้งมาก แสดงถึงสิ่งที่มีจริงทุกอย่างทุกประการตามความเป็นจริง ซึ่งถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม ก็จะไม่มีทางรู้เลยว่า เป็นธรรม ดังนั้นการตั้งต้นเป็นสิ่งที่สำคัญ เมื่อกล่าวถึง สมาธิ ก็ควรที่จะได้เข้าใจในคำดังกล่าวนี้ก่อนว่า คือ อะไร สมาธิมีจริงๆ เป็นธรรม เกิดขึ้นเป็นไปอยู่ทุกขณะ เพราะเป็นเอกัคคตาเจตสิก ที่เกิดกับจิตทุกขณะทุกประเภท ไม่ใช่ว่า พอได้ยินคำว่าสมาธิจะเป็นธรรมที่ดีเท่านั้น เนื่องจากว่าสมาธิที่เกิดกับจิตที่เป็นอกุศล จะดีไม่ได้ ก็ต้องเป็นอกุศลสมาธิ แต่ถ้าเกิดกับจิตที่เป็นกุศลก็เป็นกุศล ก็ขึ้นอยู่กับว่าจะเกิดกับจิตประเภทใด

ธรรม ไม่ได้มีเฉพาะสมาธิเท่านั้น มีมากมายทีเดียว ทั้งที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม ทั้งหมดนั้นควรที่จะได้ฟัง ได้ศึกษาสะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย เพราะหนทางแห่งการอบรมเจริญปัญญาเท่านั้น ที่จะเป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
yu_da2554hotmail
วันที่ 20 ก.พ. 2566

ยินดีในกุศลจิตค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ