ความตระหนี่

 
Pugwaree
วันที่  11 ม.ค. 2558
หมายเลข  26024
อ่าน  10,959

หนูขอกราบเรียนถามว่า เราจะเริ่มสละความตระหนี่ได้ยังไงคะ ควรเริ่มจากตรงไหนก่อน คือหนูก็ยังหาเงินไม่เป็น เวลาจะทำบุญอะไรก็คิดแล้วคิดอีก เลยรู้สึกว่าตัวเองตระหนี่ แม้กระทั่งการทำบุญ บางครั้งทำบุญไปแล้วก็เกิดเสียดายว่าเราทำเยอะไปหรือเปล่า หนูควรเริ่มต้นที่จะไม่ตระหนี่โดยเริ่มต้นจากอะไรก่อนดีคะ

ขอขอบพระคุณอาจารย์ทุกๆ ท่านล่วงหน้าค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 11 ม.ค. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

มัจฉริยะ หรือ ความตระหนี่ หมายถึง ความเหนียวแน่น ความหวงแหน ในสมบัติของตน หรือ ปกปิดสมบัติของตนไม่ให้ผู้อื่นรู้ หรือ อยากให้สิ่งที่มีอยู่กับตน หรือ สิ่งที่ดีๆ นั้นมีอยู่กับเราผู้เดียว ไม่อยากให้ผู้อื่นมี เป็นต้น นี่คือ ลักษณะของความตระหนี่ครับ

มัจฉริยะ คือ ความตระหนี่ ๕ อย่าง ได้แก่

๑. อาวาสมัจฉริยะ ตระหนี่ ที่อยู่อาศัย

๒. กุลมัจฉริยะ ตระหนี่ ตระกูล

๓. ลาภมัจฉริยะ ตระหนี่ ลาภ เงินทอง

๔. วรรณมัจฉริยะ ตระหนี่ วรรณะ คือคำสรรเสริญ

๕. ธรรมมัจฉริยะ ตระหนี่ ธรรม รวมถึง ความรู้

การละคลายความตระหนี่ ก็ต้องเริ่มจาก การเข้าใจถูก อันเกิดจากการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม เพราะอาศัยการได้ฟัง ศึกษาพระธรรม ย่อมทำให้เกิดปัญญา เกิดกุศลธรรมประการต่างๆ ทำให้คิดถูกว่า ควรที่จะสละ แบ่งปัน ตามสมควร มีก็ให้ และให้ตามกำลังตามสมควร ไม่ได้หมายความว่าจะให้หมด แต่เป็นประโยชน์กับผู้อื่น แม้เพียงเล็กน้อยก็เป็นประโยชน์กับเขา ความคิดเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ก็เพราะการฟัง ศึกษาพระธรรมอบรมอย่างยาวนาน

ความตระหนี่จะดับ ไม่เกิดอีกเลย คือ ถึงความเป็นพระโสดาบัน แต่จะค่อยๆ ละคลายความตระหนี่ได้ ก็เพราะ การศึกษาพระธรรมตามที่กล่าวมาอันเป็นเหตุละคลายความตระหนี่่ ครับ

ขอเพิ่มเติมรายละเอียดความตระหนี่ เพื่อสหายธรรมท่านอื่น ทราบความลึกซึ้งของความตระหนี่ ครับ

แต่ในความตระหนี่นั้น ยังมีความละเอียดลึกลงไปอีก ดังข้อความที่ว่า อีกอย่างหนึ่ง แม้ความตระหนี่ขันธ์ ท่านก็เรียกว่ามัจฉริยะ แม้ความตระหนี่ธาตุ ท่านก็เรียกว่ามัจฉริยะ คือ มีทั้ง ความตระหนี่ ขันธ์ ความตระหนี่ ธาตุ และความตระหนี่ อายตนะ ซึ่งความตระหนี่ ขันธ์ ธาตุ อายตนะ ยังหมายถึง ความหวงแหนในความเป็นเรา ในความเป็นไปของสภาพธรรมที่สมมติว่าเป็นเรา ที่มาจากขันธ์ ธาตุ อายตนะ นั่นเอง คือ ไม่อยากให้ใครเป็นอย่างตน ตระหนี่ในความเป็นเรา เป็นลักษณะของสภาพธรรมอย่างนี้ ขณะนั้นก็เป็น ความตระหนี่ ขันธ์ ธาตุ อายตนะ เพราะสภาพธรรมที่เป็นขันธ์ ธาตุ อายตนะ ก็คือสภาพธรรมที่มีจริง ที่เป็น จิต เจตสิก และรูป ที่ประชุมรวมกัน และสมมติว่าเป็นเรา ผู้ที่มีความหวงแหน ตระหนี่อย่างยิ่ง ย่อมไม่อยากแม้ให้ใครเป็นอย่างตน ตระหนี่ในลักษณะรูปร่าง ในความเป็นเรา ในขันธ์เช่นนี้ ในธาตุ ในอายตนะ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ที่มีลักษณะเช่นนี้ ให้อยู่กับตนเองเท่านั้น ไม่อยากให้คนอื่นเป็นดังเช่นลักษณะรูปร่าง สภาพธรรมดังเช่นตน ขณะนั้น ชื่อว่า มีความตระหนี่ขันธ์ ธาตุ อายตนะ ครับ

ท่าน อ.สุจินต์ ตระหนี่อะไรอย่างยิ่งคะ ความรักตัว มีอะไรที่จะสละได้ยากเท่ากับความรักตัวบ้าง เพราะฉะนั้นความรักตัวนี่ตระหนี่อย่างยิ่ง ตระหนี่ความเป็นเรา ไม่อยากให้หมดไปเลย บางคนคิดว่าฟังธรรมกันทำไม กลัวเหลือเกินที่จะหมดกิเลส คิดดูคะ กลัวหมดกิเลส ช่างคิดอะไรได้ปานนั้น กิเลสดีนักหรือที่จะเก็บไว้ทุกวัน มากๆ โดยไม่รู้สึกตัวด้วย แต่ก็ยังตระหนี่ไว้มาก เหนียวแน่น ไม่ยอมสละหรือละความติดข้องในความเป็นตน

เพราะฉะนั้น ธรรมคือเรื่องที่จริง ละเอียดและลึกซึ้ง ที่จะต้องอาศัยการไตร่ตรองของแต่ละบุคคล ไม่ใช่เป็นผู้ฟังแล้วเชื่อ แต่ว่าฟังแล้วเข้าใจ แม้เข้าใจ เดี๋ยวก็ลืม เพราะเหตุว่า ลืมก็เป็นธรรม เข้าใจก็เป็นธรรม เบื่อก็เป็นธรรม ไม่เบื่อก็เป็นธรรม ศรัทธา สภาพของจิตที่ผ่องใส ไม่มีอกุศล โลภะ โทสะ โมหะ ขณะที่กำลังฟังธรรมด้วยศรัทธาที่จะเข้าใจในสิ่งที่กำลังฟัง ขณะนั้นก็เป็นธรรม แต่พอเห็น เป็นอกุศลแล้ว ฟังไป ดูดอกไม้ไป ก็มีสภาพธรรมที่เกิดดับหลายอย่าง จำแนกออกไปเป็นประเภทต่างๆ ก็คือชีวิตตามความเป็นจริง

ทำไมวิชาอื่นศึกษาได้ และก็อยากศึกษามากๆ ปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก แต่ธรรมที่มีจริงๆ และผู้อื่นไม่สามารถสั่งสอนได้เลย มหาวิทยาลัยใดๆ ในโลกก็ไม่สามารถทำให้เกิดความเข้าใจในความจริงนี้ได้เลย นอกจากพระธรรม พุทธศาสนา คำสอนของผู้ที่ทรงตรัสรู้ตามความเป็นจริง ทำไมไม่สนใจที่จะเข้าใจ ไม่ได้เกิดโทษภัยใดๆ เลยทั้งสิ้น

ฟังแล้วเจ็บไหมคะ “ปรมมัจฉริยะ” เจ็บไหมคะ ไม่มีใครไปว่าใคร แต่พูดถึงธรรมที่เป็นจริงอย่างนี้ ให้เข้าใจถูกต้อง

เพราะฉะนั้น ความเข้าใจไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน ไม่ได้ทำให้ใครเป็นทุกข์เลย แต่นำมาซึ่งความเห็นที่ถูกต้อง และเห็นคุณค่าของสิ่งที่ได้ยินได้ฟังด้วยว่า ทุกคำที่ได้ยินได้ฟังเป็นวจีสัจจะ วาจาสัจจะ คำพูดจริง เพราะพูดถึงสิ่งที่กำลังมีจริงๆ และพูดถึงความจริงของสิ่งที่มีจริง เพื่อให้เข้าใจความจริงถูกต้องยิ่งขึ้น จนสามารถไม่เป็น “ปรมมัจฉริยะ”

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
tanrat
วันที่ 12 ม.ค. 2558

กราบอนุโมทนาสาธุค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
JANYAPINPARD
วันที่ 12 ม.ค. 2558

ตราบใดที่ยังมีความเห็นผิดว่าเป็นตัว ตน สัตว์บุคคล ก็ยังมีความตระหนี่ มากหรือน้อยตามการสะสม อะไรละตระหนี่ ปัญญาขณะที่เป็นโสดาปัตติมัคคจิต ปัญญาระดับนั้นต้องเริ่มต้นจากการฟังพระธรรมให้เข้าใจ เพราะการดับกิเลสต้องอาศัยพระธรรมเท่านั้น ไม่สามารถคิดเองหรืออาศัยแนวทางอื่นได้

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
Pugwaree
วันที่ 12 ม.ค. 2558

ขอบพระคุณมากๆ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
peem
วันที่ 12 ม.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
khampan.a
วันที่ 12 ม.ค. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ไม่ว่าจะกล่าวถึงสิ่งใด ก็ไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่จริงในขณะนี้เลย สิ่งที่มีจริงๆ นั่นแหละ คือ ธรรม มีจริง เกิดขึ้นจริง ซึ่งเป็นเครื่องพิสูจน์พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นจริง มีจริงนั้น ตรงตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงทุกประการ รวมทั้งมัจฉริยะ ความตระหนี่ด้วย ความตระหนี่ก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นอกุศลธรรมที่หวงแหนทรัพย์สมบัติสิ่งของของตน ไม่อยากให้ผู้อื่นมีส่วนในในสมบัติของตน ขณะที่เกิดขึ้นนั้น มีความไม่สบายใจอย่างแน่นอน ซึ่งจะแตกต่างไปจากขณะที่มีการให้ มีการสละ เพื่อประโยชน์สุขแก่บุคคลอื่นอย่างสิ้นเชิง

ตราบใดที่ยังไม่สามารถดับความตระหนี่ถึงความเป็นพระโสดาบันได้ ความตระหนี่ก็ย่อมจะเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย แต่สำหรับผู้ที่เห็นโทษ ก็ย่อมจะขัดเกลาละคลายความตระหนี่ของตนๆ ด้วยการให้ ด้วยการสละ เพราะถ้าไม่ขัดเกลาไปตามลำดับ ทีละเล็กทีละน้อย แล้วจะสามารถดับได้อย่างหมดสิ้นได้อย่างไร

ประโยชน์ของการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ก็เพื่อเข้าใจธรรมตามความเป็นจริง กุศลก็เป็นธรรม อกุศลก็เป็นธรรม สิ่งที่ไม่ใช่ทั้งกุศล และ ไม่ใช่ทั้งอกุศล ก็เป็นธรรม ไม่ใช่เราเลย เป็นแต่เพียงธรรมที่เมื่อมีเหตุปัจจัยก็เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ ไม่มีเราแทรกอยู่ในสภาพธรรมเหล่านั้นเลย เมื่อได้ศึกษาถึงส่วนที่เป็นอกุศลธรรม ก็จะเป็นเครื่องเตือนที่ดีสำหรับผู้ที่ยังมีอกุศลอยู่ ที่จะได้เห็นโทษ และขัดเกลาด้วยกุศลธรรม เพราะกุศลธรรมเท่านั้นที่จะขัดเกลา กำจัดอกุศลได้ ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
wannee.s
วันที่ 12 ม.ค. 2558

ตราบใดที่่ยังเป็นปุถุชนความตระหนี่ก็ยังมี ยังละไม่ได้เป็นของธรรมดา ในสมัยพุทธกาล โกสิยะเศรษฐีท่านก็มีความาตระหนี่มาก พอได้ฟังธรรมแล้วบรรลุเป็นพระโสดาบันท่านก็ไม่ตระหนี่อีกเลย ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
h_peijen
วันที่ 12 ม.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
ธนฤทธิ์
วันที่ 12 ม.ค. 2558

ขอบคุณ และขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
napachant
วันที่ 12 ม.ค. 2558

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
thilda
วันที่ 13 ม.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
nong
วันที่ 14 ม.ค. 2558

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
ms.pimpaka
วันที่ 27 ก.พ. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
chatchai.k
วันที่ 3 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
Jarunee.A
วันที่ 27 ก.ค. 2567

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ