คำว่า เหตุปัจจัย คืออะไร

 
amornrat44
วันที่  16 ม.ค. 2558
หมายเลข  26055
อ่าน  6,532

ฟังธรรมจะได้ยินคำว่าเหตุปัจจัยบ่อยมาก มักจะพูดว่า แล้วแต่เหตุปัจจัย เป็นไปตามเหตุปัจจัยบ้าง คำว่าเหตุปัจจัยคืออะไร


  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 17 ม.ค. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เมื่อกล่าวถึง ปัจจัย แล้ว มุ่งหมายถึงสิ่งที่อุปการะเกื้อกูลหรือเป็นเหตุให้ผลเกิดขึ้นเป็นไป ซึ่งกว้างขวางมากถึง ๒๔ ปัจจัย เหตุ ก็เป็นปัจจัยหนึ่งในปัจจัยเหล่านั้นด้วย ที่เรียกว่า เหตุปัจจัย ได้แก่ เจตสิก ๖ ประเภท คือ โลภะ โทสะ โมหะ และ อโลภะ อโทสะ อโมหะ อันเป็นเหตุให้ผลธรรมเกิดขึ้นเป็นไป ได้แก่ จิต และเจตสิกอื่นๆ ที่เกิดร่วมกัน ตลอดจนถึงรูปที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยนั้น ด้วย

แต่ถ้ากล่าวอย่างกว้างๆ ว่า สภาพธรรมเกิดเพราะเหตุปัจจัย เหตุปัจจัยในที่นี้ก็เป็นการกล่าวโดยรวมให้เข้าใจว่า สภาพธรรมไม่ได้เกิดขึ้นเองลอยๆ แต่ต้องอาศัยเหตุปัจจัยหลายอย่าง ที่จะเป็นเครื่องอุปการะเกื้อกูลให้สภาพธรรมนั้นๆ เกิดขึ้นเป็นไป เช่น ขณะที่เห็นเกิดขึ้น ก็ต้องอาศัยทั้งที่เกิดของจิตเห็น ต้องมีเจตสิกธรรมเกิดร่วมด้วย ต้องมีสีเป็นอารมณ์ ต้องมีกรรมที่ได้กระทำแล้วในอดีตให้ผลทำให้จิตเห็นเกิดขึ้นด้วย

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
peem
วันที่ 17 ม.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 17 ม.ค. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ทุกขณะ ไม่พ้นไปจากธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย เป็นความจริงอย่างนั้น ไม่เคยขาดธรรมเลย ทั้งที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม และสภาพธรรมเหล่านี้จะเกิดเองลอยๆ โดยปราศจากเหตุปัจจัยไม่ได้ ต้องเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย แม้แต่จิตเห็นขณะเดียว ก็ต้องอาศัยตาเป็นที่เกิด จิตเห็นเป็นวิบาก ก็มีกรรมเป็นเหตุให้เกิดขึ้น มีเจตสิกธรรมเกิดร่วมด้วย มีสีเป็นอารมณ์ของจิตเห็น

ข้อความบางตอนจากคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ดังนี้

นามและรูปอาศัยกันเกิดขึ้นโดยปัจจัย

ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า สภาพธรรมทั้งหลาย ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน และสภาพธรรม ซึ่งเป็นปรมัตถธรรม ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมบ้าง รูปธรรมบ้างเท่านั้น แต่ว่าสภาพธรรมที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นนามธรรมหรือไม่ว่าจะเป็นรูปธรรมก็ตาม อาศัยกันและกันเกิดขึ้นโดยปัจจัยใดปัจจัยหนึ่ง สภาพธรรมที่เกิดแล้วจะไม่เป็นปัจจัยให้สภาพธรรมอื่นเกิด ไม่มี และสภาพธรรมใดก็ตามซึ่งเกิดแล้ว จะเกิดโดยปราศจากปัจจัยที่จะทำให้เกิดขึ้น ก็ไม่มี

เพราะฉะนั้น ทั้งนามธรรม และรูปธรรมเป็นสภาพธรรม ที่ต่างกันก็จริง แต่ว่าอาศัยกันและกันเกิดขึ้นเป็นไปโดยละเอียด โดยสภาพของลักษณะของธรรมนั้นๆ ซึ่งถ้าศึกษาโดยละเอียด ก็จะเห็นได้ว่า ขณะจิตหนึ่งๆ ซึ่งเกิดขึ้น จะมีปัจจัยหลายประการที่ทำให้เกิดขึ้น เช่น เหตุปัจจัย ที่ได้เคยกล่าวถึงแล้ว ได้แก่เจตสิก ๖ ดวง คือ

- อกุศลเจตสิก ๓ ที่เป็นเหตุ ได้แก่ โลภเจตสิก ๑ โทสเจตสิก ๑ โมหเจตสิก ๑

- โสภณเหตุ ๓ คือ อโลภเจตสิก ๑ อโทสเจตสิก ๑ อโมหเจตสิก ๑

ไม่ใช่เกิดขึ้นเฉพาะโลภะเท่านั้น มีเจตสิกอื่นเป็นปัจจัยเกิดร่วมด้วย นี่ก็แสดงให้เห็นว่า โลภเจตสิกที่เกิดเป็นปัจจัยให้สภาพธรรมอื่นเกิดร่วมด้วย คือ เป็นปัจจัยที่ทำให้จิตเป็นโลภมูลจิตเกิด และทำให้อกุศลเจตสิกอื่นๆ เกิดร่วมด้วย เช่น ทำให้ความเห็นผิดเกิดร่วมด้วยก็ได้ ทิฏฐิเจตสิก หรือ ทำให้ความสำคัญตน คือ มานะ เกิดร่วมด้วยก็ได้ นอกจากนั้น เวลาที่โลภเจตสิกเกิดกับโลภมูลจิตและเจตสิกอื่นๆ ซึ่งเป็นสัมปยุตตธรรมเกิดขึ้นพร้อมกันแล้ว ยังเป็นปัจจัยให้รูปเกิดขึ้นด้วย

นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ทั้งนามธรรมและรูปธรรมซึ่งเกิดขึ้นเป็นไปตามปกติในชีวิตประจำวันนี้ แต่ละขณะที่เกิดขึ้นและดับไปอย่างรวดเร็ว ถ้าได้ทราบถึงความละเอียด ซึ่งสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดจะเกิดขึ้นโดยอาศัยสภาพธรรมใดเป็นปัจจัยแล้ว จะทำให้เห็นความเป็นอนัตตาจริงๆ ซึ่งแม้จะเป็นสภาพธรรมที่เกิดดับอย่างรวดเร็ว แต่ก็ยังต้องอาศัยความละเอียดของปัจจัยหลายปัจจัย สภาพธรรมนั้นจึงจะเกิดขึ้นได้

...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง ครับ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
wannee.s
วันที่ 17 ม.ค. 2558

สิ่งใดก็ตามที่เกิดขึ้น ต้องอาศัยธรรมะอะไรให้เกิดขึ้นเป็นไปได้ อาศัยธรรมเป็นเหตุและปัจจัย เช่น การที่ได้มาฟังธรรม ก็ต้องเคยทำเหตุทีดีคือได้สะสมบุญมาแต่ปางก่อน จึงได้ฟังธรรมค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ประสาน
วันที่ 18 ม.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
nong
วันที่ 18 ม.ค. 2558

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
วิริยะ
วันที่ 25 ม.ค. 2558

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
chatchai.k
วันที่ 22 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
chatchai.k
วันที่ 3 มิ.ย. 2565

เหตุปัจจัย

เหตุปัจจัย

เหตุ (เค้ามูล สิ่งที่ทำให้เกิดผล) + ปจฺจย (อาศัยเป็นไป)

สภาพธรรมที่เป็นปัจจัยให้เกิดผลโดยความเป็นเหตุ หมายถึง เหตุเจตสิก ๖ ดวง คือโลภะ โทสะ โมหะ อโลภะ อโทสะ อโมหะ ซึ่งประกอบกับจิต จึงเป็นปัจจัยให้จิตและเจตสิกอื่นที่เกิดร่วมด้วย รวมทั้งจิตตชรูปเกิดขึ้น และเป็นปัจจัยแก่ปฏิสนธิกัมมชรูปในขณะปฏิสนธิกาลด้วย

เหตุปัจจัย เป็นปัจจัยแรกในปัจจัย ๒๔ ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงในคัมภีร์ปัฏฐาน แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของเหตุปัจจัยเพราะถ้าไม่มีเหตุเจตสิก๖เหล่านี้ สัตว์ทั้งหลายก็จะไม่มีการกระทำที่เป็นบาปหรือเป็นบุญ และเมื่ออบรมเหตุที่เป็นฝ่ายกุศลจนสามารถดับเหตุฝ่ายที่เป็นอกุศลได้แล้ว เหตุที่เป็นฝ่ายกุศลก็จะถึงความสิ้นไปด้วยยังคงเหลือเหตุที่เป็นฝ่ายอัพยากตะเท่านั้น และเมื่อหมดกรรมที่ทำให้มีชีวิตอยู่ในชีวิตนั้นแล้วก็ถึงความดับขันธปรินิพพาน ไม่มีการปฏิสนธิในภพใหม่อีกต่อไป

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
สิริพรรณ
วันที่ 5 เม.ย. 2566

กราบขอบพระคุณ ด้วยความคารพค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
Jarunee.A
วันที่ 22 ก.ค. 2567

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ