สนทนาธรรมกันที่ไซ่ง่อน [คุณโรเบิร์ตและครอบครัวจะกลับก่อน] ตอน ๗ (จบ)

 
เมตตา
วันที่  28 ม.ค. 2558
หมายเลข  26104
อ่าน  1,686

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

(คุณโรเบิร์ต อุ้มลูกอยู่)

คุณโรเบิร์ต พร้อมด้วยภรรยา ลูกสาว (คุณด๊อกแซน) และลูกชายตัวน้อยๆ ที่แสนน่ารักได้บินมาที่เวียดนามร่วมสนทนาธรรมด้วย แต่มีเวลาน้อยอยู่ได้แค่สามสี่วันเท่านั้น ก็ต้องบินกลับก่อนเพื่อมาพักผ่อนที่ประเทศไทย ก่อนกลับหนึ่งวันก็มีการสนทนาธรรมกันตามปกติ คือ ช่วงเช้า และช่วงบ่าย แล้วหลังจากนั้นช่วงค่ำท่านอาจารย์ก็เกื้อกูลคุณโรเบิร์ตและครอบครัวให้มีสนทนาธรรมต่อที่ข้างๆ ห้องท่านอาจารย์ซึ่งอยู่ที่ชั้น ๘ พวกเราทั้งชาวต่างชาติหลายท่านชาวเวียดนาม พี่นพดลรวมทั้งดิฉันก็มีโอกาสเข้าร่วมสนทนาธรรมกัน แต่เนื่องด้วยด้านข้างๆ ห้องนั้นมีที่ไม่มากนัก ด้วยความกรุณาของพี่นพดล ที่เสนอให้สนทนาที่ห้องพี่เขาซึ่งพี่เขาพักอยู่คนเดียวแล้วก็กว้างพอสำหรับพวกเราร่วมยี่สิบท่าน ซึ่งไม่ว่าอยู่ ณ.ที่ใด บนเครื่องบินในครัว ทุ่งนา หรือบนรถไฟ ที่ๆ มีการสนทนาธรรม ณ.ที่นั้นเป็นที่สมควร เป็นถิ่นที่สมควรทั้งนั้นขณะที่เข้าใจธรรมเป็นที่ๆ เหมาะ สติปัฏฐานเกิดระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ที่นั้นก็เป็นสถานที่สัปปายะ

การสนทนาก็เป็นไปตามปกติ เพื่อรู้ความจริงตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษา ก็เพื่อเข้าใจความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ว่าอะไรจะเกิด เกิดแล้วเพราะเหตุปัจจัย ปัญญาสามารถรู้ได้ ... ลูกชายตัวน้อยคุณโรเบิร์ตเป็นเด็กน่ารักมาก และก็ซนมากด้วยหยิบโน่น จับนี่ วิ่งเข้าออกห้อง เมื่อคุณพ่อไม่ตามใจก็ร้องไห้เสียงดัง เสียงเกิดแล้วตามเหตุปัจจัย เห็นขณะนี้เกิดแล้วไม่มีใครทำเห็นให้เกิดได้ ท่านอาจารย์เตือนให้รู้ว่า ทุกๆ ขณะที่เกิดขึ้นเป็นไปของสภาพธรรม ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เห็นขณะนี้เป็นปกติ ได้ยินขณะนี้ปกติ ปกติก็คือปัญญาที่เข้าใจความจริงที่กำลังปรากฏตามปกติ ไม่ใช่เรา ไม่มีคุณโรเบิร์ตไม่มีลูกคุณโรเบิร์ต มีแต่สภาพธรรมที่เกิดขึ้นแล้วดับไปตามเหตุปัจจัย ฟังธรรมเพื่อมั่นคงความเป็นอนัตตา

ท่านหนึ่งให้ท่านอาจารย์อธิบายเพิ่มเติมเรื่องของรูปนิมิต เวทนานิมิต สัญญานิมิต สังขารนิมิต และวิญญาณนิมิต กับนิมิตอนุพยัญชนะ ท่านอาจารย์ได้กล่าวว่าถ้าไม่มีสภาพธรรมจะมีนิมิตไหม? เพราะมีสภาพธรรมที่เกิดดับสืบต่ออย่างรวดเร็ว จึงปรากฏเป็นนิมิต เป็นรูปร่างสัณฐานเช่น ทันทีที่เห็นก็เป็นต้นไม้ เป็นภูเขา เป็นคน แม้ได้ยินเสียงว่าต้นไม้ สัญญาจำคำ ต้นไม้ จิตคิดเป็นต้นไม้ทันที จึงได้ยินเพียงนิมิตของเสียง แท้จริงเป็นเพียงจิตได้ยินเกิดขึ้นได้ยินเสียง ถ้าไม่มีเสียงก็ไม่มีนิมิตของเสียง สำหรับอนุพยัญชนะก็เป็นส่วนละเอียด เช่น คิ้ว จมูก กิ่งไม้ ใบไม้ แต่เพราะการเกิดดับอย่างรวดเร็วจึงไม่สามารถรู้แต่ละขณะที่เกิดขึ้นได้ สิ่งที่ปรากฏก็เป็นนิมิตเช่นสิ่งที่ปรากฏทางตา เสียง กลิ่น รส เป็นรูปนิมิต จิตเห็นก็เช่นเดียวกัน ขณะที่เห็นจึงเป็นนิมิตของจิตเห็นเป็นวิญญาณนิมิต โดยนัยเดียวกัน เวทนา สัญญา สังขาร (เจตสิก ๕๐ ที่ปรุงแต่ง) ที่เกิดขึ้นเกิดดับสืบต่ออย่างเร็ว ทุกครั้งที่ปรากฏจึงเป็นเวทนานิมิต สัญญานิมิตสังขารนิมิต

คุณTam Bach ก็ได้กราบเรียนถามถึงฉันทะเจตสิก ความพอใจที่เกิดขึ้นทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด ท่านอาจารย์อธิบายให้เข้าใจความเป็นไปของสภาพธรรม ทั้งหมดก็คือขณะนี้ ปัญญาสามารถเข้าใจได้ในขณะที่กำลังปรากฏ หากไม่ได้อบรมความเข้าใจถูกเห็นถูก ก็ยังเป็นเราที่จะไปรู้ ขณะที่มีความพอใจฟังธรรม เป็นฉันทะหรือไม่ ก็ได้แต่คาดเดาถึงสิ่งที่ดับไปแล้ว

ตามจริงแล้วมีการสนทนากันหลายเรื่องมากเกือบสองชั่วโมง สัญญาก็จำได้ไม่มาก เพราะไม่ได้โน๊ตไว้เลย และเรื่องที่เล่าสู่กันฟังเรื่องความจริงของสภาพธรรมตามที่ได้สนทนากัน ก็ไม่ไพเราะเหมือนที่ท่านอาจารย์อธิบายเลย ต้องกราบขออภัยด้วยค่ะ อ้อ! มีอีกคำถามซึ่งดิฉันไม่แน่ใจว่าได้สนทนากันที่นี่ หรือที่ห้องสนทนาใหญ่เรื่องของสมาธิ ซึ่งท่านอาจารย์ได้

อธิบายว่า สมาธิคืออะไรก่อน พูดคำไหนให้เข้าใจคำนั้นจริงๆ สมาธิก็คือเอกัคคตาเจตสิกเกิดกับจิตทุกขณะ จึงเกิดกับจิตทุกชาติ ขณะที่อกุศลจิตเกิด ขณะนั้นก็เป็นมิจฉาสมาธิ เช่น ขณะที่เพ่งจ้องสิ่งใดสิ่งหนึ่งด้วยความไม่เข้าใจ ก็เป็นมิจฉาสมาธิ ขณะใดที่กุศลจิต ขณะนั้นเอกัคคตาก็ตั้งมั่นสงบจากอกุศล เป็นชั่วขณะเป็นขณิกสมาธิ ขณะที่ฟังธรรมเข้าใจ ค่อยๆ อบรมความเข้าใจถูกเห็นถูกในสิ่งที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง เมื่อปัญญาเจริญขึ้นตามลำดับจนถึงสติระลึกตรงลักษณะสภาพธรรม สมาธิขณะนั้นเป็นสมาธินทรีย์ เมื่อปัญญาเจริญขึ้นถึงขั้นวิปัสสนาญาณ สมาธิก็ตั้งมั่นคงขึ้นตามลำดับของปัญญาขั้นนั้นๆ ปัญญายิ่งมีกำลังขึ้น สมาธิก็ตั้งมั่นคงขึ้นตามกำลังของปัญญา ไม่ใช่ว่าต้องอบรมให้สมาธิตั้งมั่นก่อนแล้วค่อยมาอบรมเจริญปัญญาซึ่งเป็นความเข้าใจผิดปฏิบัติผิด

ขออนุญาตจบการสนทนาธรรมที่ไซ่ง่อนเพียงเท่านี้นะคะ เพราะสัญญาจำ ทำกิจจำไม่ได้ที่จำได้บ้างเนื้อหาของธรรมก็ไม่สมบูรณ์ที่เล่าสู่กันฟัง ต้องกราบขออภัยด้วยจริงๆ ค่ะ ขอต่ออีกเล็กน้อย หลังจบการสนทนาธรรมค่ำนั้น รุ่งขึ้นช่วงเช้ามีสนทนาธรรมตามปกติ มื้อกลางวันคุณโรเบิร์ตและครอบครัว ก็เรียนเชิญท่านอาจารย์ และทุกๆ ท่าน ไปทานข้าวกันที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง บรรยากาศดี ก็เพลิดเพลินไปกับสิ่งที่ปรากฏทางตา รสอาหารก็อร่อย กลิ่นก็หอม ชีวิตประจำวันช่างติดข้องไปกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ หลงเพลิดเพลินไปกับสิ่งที่ไม่มีสาระอย่างเหนียวแน่นด้วยความไม่รู้ความจริง แต่บางขณะระลึกได้ถึงอกุศลที่เกิดขึ้นช่างมากมาย หากไม่ได้ฟังธรรมเพื่อเข้าใจความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏแต่ละอย่างเราก็หลงติดอยู่กับเรื่องราวต่างๆ ที่ไม่มีจริง อย่างน้อยพระธรรมที่ได้ฟังได้พิจารณาเข้าใจมาบ้าง ก็ช่วยให้รู้ว่าชีวิตประจำวันอกุศลเกิดมากมายเพียงใด เพราะถ้าไม่รู้จักอกุศลแต่ละอย่างตามความเป็นจริงว่าเป็นเพียงธรรม ไม่ใช่เรา ก็ละอกุศลนั้นๆ ไม่ได้ แค่คิดถึงอกุศลช่างมากมายเหลือเกิน ทันทีที่เห็น ได้ยิน ... แล้วก็เพลิดเพลินต่อโดยความเป็นอนัตตา

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาคุณโรเบิร์ตที่เป็นเจ้าภาพอาหารกลางวันมื้อนั้น หลังอาหารกลางวันคุณโรเบิร์ตและครอบครัวก็เดินทางต่อไปประเทศไทยเพื่อพาครอบครัวพักผ่อนที่พัทยา

ขอขอบพระคุณในกุศลจิตของทุกๆ ท่านที่ร่วมกันเจริญกุศลตามอัธยาศัยของแต่ละคนที่ได้สะสมกันมา สำหรับดิฉันเองช่างมีความสุขระหว่างที่สนทนาธรรมที่ไซ่ง่อน ๑๑ วันผ่านไปเร็วเหลือเกิน ชีวิต ก็คือแต่ละขณะของจิต เจตสิก และรูป ที่เกิดดับสืบต่ออย่างรวดเร็ว บุคคลไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว เห็น ได้ยิน เสียง สิ่งที่ปรากฏทางตา รส ... ขณะนี้ต่างหากเป็นสิ่งที่ควรรู้ยิ่ง เพราะมีจริงกำลังปรากฏ

...

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้าที่ 233

ข้อความบางตอนจาก มหากัจจานภัทเทกรัตตสูตร ผู้ไม่คำนึงถึงสี่งที่ล่วงแล้ว

[๕๕๕] ท่านพระมหากัจจานะจึงได้กล่าวดังนี้ว่า ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ข้อที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอุเทศโดยย่อแก่เราทั้งหลายว่า บุคคลไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ฯลฯ พระมุนีผู้สงบ ย่อมเรียกบุคคล ... นั้น แลว่า ผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ ดังนี้ มิได้ทรงจำแนกเนื้อความโดยพิสดาร แล้วทรงลุกจากอาสนะเสด็จเข้าไป ยังพระวิหาร นี้แล ข้าพเจ้าทราบเนื้อความโดยพิสดารอย่างนี้ .

[๕๕๖] ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็บุคคลย่อมคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว อย่างไร คือ มีความรู้สึกเนื่องด้วยฉันทราคะในจักษุและรูปว่า จักษุของเรา ได้เป็นดังนี้ รูปได้เป็นดังนี้ ในกาลที่ล่วงแล้ว เพราะ ความรู้สึกเนื่องด้วย ฉันทราคะ จึงเพลิดเพลินจักษุและรูปนั้น เมื่อเพลิดเพลิน จึงชื่อว่า คำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว. มีความรู้สึกเนื่องด้วยฉันทราคะในโสตและเสียงว่า โสตของเราได้เป็นดังนี้ เสียงได้เป็นดังนี้ ในกาลที่ล่วงแล้ว ... มีความรู้สึกเนื่องด้วยฉันทราคะในฆานะและกลิ่นว่า ฆานะของเราได้ เป็นดังนี้ กลิ่นได้เป็นดังนี้ ในกาลที่ล่วงแล้ว ... มีความรู้สึกเนื่องด้วยฉันทราคะในชิวหาและรสว่า ชิวหาของเราได้ เป็นดังนี้ รสได้เป็นดังนี้ ในกาลที่ล่วงแล้ว ... มีความรู้สึกเนื่องด้วยฉันทราคะในกายและโผฏฐัพพะว่า กายของเราได้เป็นดังนี้ โผฏฐัพพะได้เป็นดังนี้ ในกาลที่ล่วงแล้ว ... มีความรู้สึกเนื่องด้วยฉันทราคะในมโนและธรรมารมณ์ว่า มโนของเราได้เป็นดังนี้ ธรรมารมณ์ได้เป็นดังนี้ ในกาลที่ล่วงแล้ว เพราะความรู้สึกเนื่องด้วยฉันทราคะ จึงเพลิดเพลินมโนและธรรมารมณ์นั้น เมื่อเพลิดเพลิน จึงชื่อว่า คำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว. ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย อย่างนี้แล ชื่อว่า คำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว.

...

กราบเท้า บูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพอย่างยิ่งค่ะ ...


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 28 ม.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
peem
วันที่ 28 ม.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
j.jim
วันที่ 28 ม.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
JANYAPINPARD
วันที่ 28 ม.ค. 2558

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
khampan.a
วันที่ 28 ม.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ธุลีพุทธบาท
วันที่ 29 ม.ค. 2558

กราบเท้าบูชาพระคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพอย่างสูง ขอบพระคุณและอนุโมทนาในกุศลวิริยะของคุณป้าเมตตาเป็นอย่างยิ่ง ครับ.

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
Noparat
วันที่ 29 ม.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลวิริยะ กุศลศรัทธา ของพี่เมตตาและทุกๆ ท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
papon
วันที่ 29 ม.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
wirat.k
วันที่ 30 ม.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
ปวีร์
วันที่ 30 ม.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
thilda
วันที่ 1 ก.พ. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาพี่เมตตาอย่างยิ่งค่ะ

" ... สมาธิก็ตั้งมั่นคงขึ้นตามกำลังของปัญญา ไม่ใช่ว่าต้องอบรมให้สมาธิตั้งมั่นก่อน แล้วค่อยมาอบรมเจริญปัญญาซึ่งเป็นความเข้าใจผิดปฏิบัติผิด"

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ