สัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗
ขอถามปัญญหา
-การเกิดขึ้นของจิตทุกกดวง จะต้องมีสัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ เกิดขึ้นเสมอไหมครับ
-เอกัคคตาเจตสิกเกิดร่วมกับ โมหะอุทธัจจะได้อย่างไร
ขอบคุณครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ความเป็นจริงของสภาพธรรมเป็นจริงอย่างไรก็เป็นจริงอย่างนั้น ในขณะที่จิตแต่ละขณะเกิดขึ้น จะไม่ปราศจากเจตสิก ๗ ประเภทที่จะต้องเกิดกับจิตทุกขณะ (สัพพจิตตสาธารณเจตสิก) ดังนั้น จิตทุกประเภทจะต้องมีเจตสิก ๗ ประเภทนี้เกิดร่วมด้วยเสมอ ได้แก่ ผัสสะ (สภาพธรรมที่กระทบอารมณ์) เวทนา (ความรู้สึก) สัญญา (ความจำ) เจตนา (ความจงใจขวนขวาย) เอกัคคตา (ความตั้งมั่นในอารมณ์) ชีวิตินทรีย์ (สภาพธรรมที่เป็นในการอนุบาลรักษาสภาพธรรมที่เกิดพร้อมกันให้ดำรงอยู่จนกว่าจะดับไป) มนสิการ (สภาพธรรมที่ใส่ใจในอารมณ์) เฉพาะจิต ๑๐ ประเภท ได้แก่ จิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส จิตรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย กุศลวิบากและอกุศลวิบาก เท่านั้น ที่มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยที่สุด คือ มีเพียงเจตสิก ๗ ประเภทนี้เท่านั้นเกิดร่วมด้วย แต่ถ้าเป็นจิตประเภทอื่นๆ ก็มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยมากกว่านี้ตามควรแก่จิตประเภทนั้นๆ แต่ถึงอย่างไรก็ตาม จะไม่ปราศจากเจตสิก ๗ ประเภทนี้เลย
เมื่อเข้าใจอย่างนี้ ก็จะไม่สงสัยเลยว่า ในขณะที่ โมหะ และอุทธัจจะ เกิดขึ้นนั้นต้องเป็นอกุศลจิต เอกัคคตาเจตสิก ก็เป็นหนึ่งในเจตสิกธรรมที่จะต้องเกิดร่วมกับจิตทุกขณะ ไม่มีเว้น นี้คือความเป็นจริงของสภาพธรรมซึ่งใครๆ ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ และที่สำคัญ เป็นสภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่เรา ครับ
ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
คือ ผมสงสัยว่า เอกัคคตา คือธรรมชาติที่สงบและให้สัมปยุตตธรรมตั้งอยู่ในอารมณ์เดียวส่วน ในโมหะอุทธัจจะนั้น ธรรมชาติที่ฟุ้งซ่านคือรับอารมณ์ไม่มั่น ถ้าเอกัคคตาเจตสิกไปเกิดร่วมในโมหะอุทธัจจะนั้น จะเข้ากันได้อย่างไรครับ ไม่ค่อยเข้าใจ
เรียน ความเห็นที่ 3 ครับ
ก่อนอื่นเราจะต้องเข้าใจ เอกัคคตาเจตสิก ให้ละเอียดนะครับว่า คืออะไร เอกัคคตาเจตสิกเป็นเจตสิกที่ทำให้ตั้งมั่นในอารมณ์นั้น คือ ในอารมณ์ที่ เอกัคคตาเจตสิก รู้ ซึ่งไม่ได้หมายถึงความสงบ แต่หมายถึง ความตั้งมั่น เพราะถ้าพูดถึงความสงบ หมายถึง ขณะที่สงบจากกิเลส แต่ถ้ามุ่งหมายถึง เอกัคคตาเจตสิก หมายถึง ตั้งมั่นในอารมณ์ เช่น ขณะที่ เอกัคคตาเจตสิก มี สี เป็นอารมณ์ ก็ตั้งมั่น ในอารมณ์นั้น ไม่ใช่อารมณ์อื่น ส่วนขณะที่ฟุ้งซ่านเป็น โมหะอุทธัจจะ ขณะนั้น ฟุ้งซ่านในที่นี้ คือ ฟุ้งซ่านไปในอกุศล แต่ก็ฟุ้งซ่านในอารมณ์นั้นนั่นแหละไม่ไปอารมณ์อื่น เพราะมีเอกัคคตาเจตสิกเกิดร่วมด้วยที่ฟุ้งซ่านในอารมณ์นั้นด้วยจิตซัดส่ายไป ฟุ้งซ่านไปในอกุศล ครับ เพราะฉะนั้น เอกัคคตาเจตสิก จึงเกิดกับจิตทุกประเภท และ เกิดกับ โมหะอุทธัจจะ ได้ ครับ
ขออนุโมทนา
จิตมีอารมณ์หนึ่ง รู้อารมณ์ทีละหนึ่ง เอกัคคตาเจตสิกมีหน้าที่ให้จิตและเจตสิกเกิดร่วมกัน เอกัคคตาเจตสิกที่เกิดร่วมกับโมหะอุทธัจจะก็รู้อารมณ์ฟุ้งช่าน รู้อารมณ์ทีละอย่างแต่ความฟุ้งซ่านทำให้จิตไม่สงบคิดโน้นคิดนี่ ค่ะ