ฉันทะ

 
papon
วันที่  30 ม.ค. 2558
หมายเลข  26118
อ่าน  2,005

เรียน อาจารย์ทั้งสองท่าน

"ฉันทะ" ขอความอนุเคราะห์อาจารย์กรุณาให้อรรถาธิบายในคำนี้ด้วยครับ

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 31 ม.ค. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ฉันทะ เป็นปกิณณกเจตสิก คือ ฉันทะเจตสิก เป็นสภาพธรรมที่พอใจ ใคร่ที่จะทำ ซึ่งเป็นไปในทางกุศล อกุศลก็ได้ ซึ่งก็แล้วแต่ว่า จะเกิดร่วมกับจิตประเภทอะไรเป็นสำคัญ ครับ

แต่ก็ควรเข้าใจโดยทั่วไปว่า ฉันทะเจตสิก ก็เป็นสภาพธรรม ที่พอใจ ใคร่ที่จะทำ ที่ยังไม่ได้ติดข้อง ที่เป็นฉันทะเจตสิก แต่เมื่อใดที่เกิดความติดข้อง ขณะนั้นเป็นโลภเจตสิกที่ทำหน้าที่ และก็มีฉันทะเจตสิกเกิดร่วมด้วย ที่พอใจ ใคร่ที่จะทำในขณะนั้นด้วย ที่เกิดร่วมกันได้ ซึ่งการจะรู้ความละเอียดของความแตกต่างของสภาพธรรมทั้ง 2 อย่าง ก็ด้วยปัญญาที่ละเอียด คือ สติปัฏฐาน ที่รู้ลักษณะของสภาพธรรม ในขณะนั้นย่อมจะรู้ความแตกต่างของสภาพธรรมทั้งสองอย่างได้จริงๆ ครับ และ ที่สำคัญ จะต้องเริ่มรู้ก่อนครับว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ซึ่งเป็นการเจริญปัญญาเป็นลำดับ ดั่งข้อความที่ท่านอาจารย์สุจินต์ อธิบายไว้ดังนี้ ครับ

จาก การสนทนาเรื่องปฏิบัติธรรม อาทิตย์ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๕๐

ผู้ฟัง ท่าน อ. ครับ มันแยกไม่ออกระหว่าง ฉันทะ และ โลภะ

อ. ค่ะ ไม่ใช่ให้แยกด้วยความเป็นเรา แต่เข้าใจลักษณะที่เป็นธัมมะ

ผู้ฟัง คือต้องเข้าใจธรรมไปก่อน

อ. ตั้งต้นค่ะ สุตมยปัญญา จินตามยปัญญา ภาวนามยปัญญา ใครจะไปกลับ ไป สลับภาวนามยปัญญาก่อนแล้วก็มาสุตมยปัญญา จินตามยปัญญา เป็นไปไม่ได้เลยค่ะ

ผู้ฟัง จินตามยปัญญา ก็คือ เราทบทวนที่ได้ยินได้ฟังก็เป็น จินตามยปัญญา

อ. คิด ปัญญาสำเร็จจากการคิด การไตร่ตรอง ความเข้าใจขึ้น ไม่ใช่ฟังแล้วหมด เลย แล้วฟังใหม่ แล้วก็หมดไปอีกนะคะ

ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นก็คือเกิดสลับกันได้ระหว่าง....

อ. ทุกอย่างเป็นธัมมะทั้งหมด ที่เกิดขึ้นจะไม่พ้นไปจากจิต เจตสิก รูป บังคับบัญชาไม่ได้

และ คำบรรยายเพิ่มเติมในเรื่องนี้ โดยท่านอาจารย์สุจินต์

ฉะนั้น ลักษณะของ "ฉันทะ" ในการเจริญกุศลจึงต่างกับลักษณะของ "โลภะ" ผู้ที่ไม่ได้อบรมเจริญสติปัฏฐาน ไม่สามารถรู้ชัดในลักษณะที่ต่างกันของฉันทะและโลภะ เวลาที่อยากเจริญกุศลก็เป็นไปด้วยความต้องการ คือ ต้องการกุศลบ้างหรือต้องการอานิสงส์คือผลของกุศลบ้าง ยังไม่สามารถที่จะทิ้งโลภะหรือความต้องการได้ เพราะรู้ว่า ถ้าทำกุศลแล้วย่อมได้รับผลของกุศล ใจที่มุ่งหวังผลของกุศลนั้นเป็นโลภะ ต่างกับผู้ที่มีฉันทะในการอบรมเจริญกุศลซึ่งไม่ใช่ต้องการกุศลด้วยโลภะ แต่เป็นความพอใจที่จะเจริญกุศลโดยไม่หวังผล เพราะเป็นอัธยาศัยจริงๆ จึงเป็นฉันทะในการอบรมเจริญกุศล

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
j.jim
วันที่ 31 ม.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 31 ม.ค. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง แสดงให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงตามความเป็นจริง และสิ่งที่มีจริงนั้นก็มีจริงในขณะนี้ ไม่เคยขาดธรรมเลย แต่ไม่รู้ จนกว่าจะมีโอกาสได้ฟังได้ศึกษาพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง แม้แต่ ฉันทะ ก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้

ฉันทะ เป็นสภาพธรรมที่พอใจใคร่ที่จะกระทำ เป็นสภาพธรรมที่เกิดกับจิตได้ทุกชาติเลย ขึ้นอยู่กับว่าจะเกิดกับจิตประเภทใด ถ้าเกิดกับจิตที่เป็นกุศล ก็เป็นกุศล ถ้าเกิดกับจิตที่เป็นอกุศล ก็เป็นอกุศล ถ้าเกิดกับจิตชาติวิบาก ก็เป็นชาติวิบาก ถ้าเกิดกับจิตชาติกิริยา ก็เป็นกิริยา ในขณะที่มีการเจริญกุศลประการต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ให้ทานบ้าง รักษาศีลบ้าง ฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมบ้าง อย่างนี้ มีฉันทะที่เป็นไปในทางที่เป็นกุศล เป็นผู้ไม่ทอดทิ้งฉันทะในการเจริญกุศล แต่ถ้าอกุศลเกิด ที่เป็นประเภทที่มีโลภะเกิดร่วมด้วย กับ ประเภทที่มีโทสะเกิดร่วมด้วย ก็จะต้องมีฉันทะเกิดร่วมด้วย ฉันทะในลักษณะอย่างนี้ เป็นอกุศลฉันทะ ไม่ใช่กุศล ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
wannee.s
วันที่ 31 ม.ค. 2558

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
papon
วันที่ 31 ม.ค. 2558

เรียน อาจารย์ทั้งสองท่าน

ฉันทะต่างจากเจตนาอย่างไรครับ?

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
khampan.a
วันที่ 31 ม.ค. 2558

เรียน ความคิดเห็นที่ 5 ครับ

ฉันทะ เป็นความพอใจใคร่ที่จะกระทำ เป็นไปทางกุศลก็ได้ อกุศลก็ได้

เจตนา เป็นความจงใจขวนขวายกระทำกิจ ตามประเภทของเจตนาและสัมปยุตตธรรมที่เกิดร่วมกันในขณะนั้นๆ แต่ก่อนอาจจะเข้าใจเพียงว่า มี เจตนาดีกับ เจตนาไม่ดี เท่านั้น แต่พระธรรมละเอียดมาก แสดงถึงความเป็นจริงของสภาพธรรม ตรง ไม่เปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น เป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น เจตนาเจตสิกเป็นสัพพจิตตสาธารณเจตสิก คือ เป็นเจตสิกที่เกิดกับจิตทุกดวง ทั่วไปกับจิตทุกดวง ไม่ว่าจิตนั้นจะเป็นกุศลหรืออกุศล หรือวิบาก หรือกิริยา จะไม่ปราศจากเจตนาเจตสิกเลย

เพราะฉะนั้น โดยชาติของเจตนา ซึ่งอาจจะเคยเข้าใจเพียงในลักษณะ ที่ว่าเป็นกุศลเจตนา หรือเป็นอกุศลเจตนา แต่ตามความจริงแล้ว เจตนาเจตสิกเกิดกับจิตทุกดวง เพราะฉะนั้น ลักษณะสภาพของเจตนาเจตสิก โดยชาติ (ความเกิดขึ้น) จึงมี ทั้ง ๔ ชาติ คือเจตนาที่เป็นอกุศล ก็มี เจตนาที่เป็นกุศลก็มี เจตนาที่เป็นวิบากก็มี เจตนาที่เป็นกิริยาคือ ไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล และไม่ใช่วิบาก ก็มี ขึ้นอยู่กับว่าเจตนาจะเกิดกับจิตประเภทใด ก็มีความเสมอกันกับจิตประเภทนั้น แต่ที่จะเป็นเหตุที่จะให้เกิดผลในภายหน้า ต้องเป็นเฉพาะกุศลเจตนา กับ อกุศลเจตนา เท่านั้น

เพราะฉะนั้นแล้ว เจตนาที่เป็นประโยชน์ มีคุณ ก็ต้องเป็นเจตนาที่เป็นไปกับกุศลเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกุศลเจตนาในการที่จะฟังที่จะศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ ส่วน อกุศลเจตนา นั้น ไม่มีประโยชน์ มีแต่โทษโดยส่วนเดียวและโทษนั้นก็เกิดกับตนเองเท่านั้น ถ้าเป็นอกุศลเจตนาที่เป็นไปในทางเบียดเบียนผู้อื่น เช่น ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ เป็นต้น ก็จะเบียดเบียนตนเองในขณะที่ผลที่ไม่น่าปรารถนาเกิดขึ้น ตรงกับข้อความที่ว่า เจตนาที่จะเบียดเบียนผู้อื่น ก็จะเบียดเบียนตนเอง ซึ่งจะประมาทอกุศลไม่ได้เลยทีเดียว ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
peem
วันที่ 1 ก.พ. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
ธุลีพุทธบาท
วันที่ 1 ก.พ. 2558

กราบเท้าบูชาพระคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ที่เคารพอย่างสูงยิ่ง

กราบขอบพระคุณและอนุโมทนาอาจารย์ทั้งสองท่าน ครับ.

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
chatchai.k
วันที่ 16 ม.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
Jarunee.A
วันที่ 19 พ.ค. 2567

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ