การพิจารณากายในกาย ตามพระอภิธรรมปิฎก

 
pdharma
วันที่  2 ก.พ. 2558
หมายเลข  26123
อ่าน  1,813

พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้าที่ 1-21

๗. สติปัฏฐานวิภังค์ สุตตันตภาชนีย์

มีข้อความเกี่ยวกับ กายานุปัสสนานิทเทส ว่า

[๔๓๒] ก็ภิกษุ พิจารณาเห็นกายในกายภายในเนืองๆ อยู่ เป็นอย่างไร ภิกษุในศาสนานี้ พิจารณาเห็นกายภายใน แต่พื้นเท้าขึ้นไปในเบื้องบน แต่ปลายผมลงมาในเบื้องต่ำ มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ เต็มไปด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ ว่า ในกายนี้ มี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื้อในกระดูก ไต หัวใจ ตับ พังผืด ม้าม ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร. ฯลฯ ด้วยอาการอย่างนี้ ภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายในและภายนอกเนืองๆ อยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสเสียได้ในโลก.

การพิจารณาเช่นนี้ก็เพื่อกำจัดอภิชฌาและโทมนัส

อยากเรียนถามเพื่อความเข้าใจมากขึ้นว่า "การให้พิจารณาลักษณะที่เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว หรือ สี กลิ่น รส ที่เคยยึดถือผิดว่าเป็นกาย หรืออวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งของกาย พิจารณาว่าเป็นแต่เพียงธรรม คือ รูปธรรมที่ปรากฏทางกายเท่านั้นไม่มีใคร มีแต่ธรรม" นั้น มีปรากฏอยู่ในข้อความตอนใดของพระไตรปิฎก

ขอบพระคุณครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 2 ก.พ. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมเป็นเรื่องละเอียดลึกซึ้ง ทั้งอรรถและพยัญชนะ เพราะฉะนั้น ประโยชน์ของการได้อ่านพระไตรปิฎก ไม่ใช่การอ่าน แต่เป็นการเข้าใจในสิ่งที่อ่าน ว่า อรรถะ ความหมายนั้นเป็นอย่างไร แม้แต่เรื่องการเห็นกายในกาย การเห็นกายภายใน กายภายนอก ที่เป็นการเจริญสติปัฏฐาน ซึ่งถ้าเป็นผู้ละเอียดในการศึกษาพระธรรม ไม่ใช่เพียงส่วนใดส่วนหนึ่ง แต่ทั้ง ๓ ปิฎก ทั้งหมดย่อมสอดคล้องกัน ตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงว่า ธรรมไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และ เป็นอนัตตา ไม่ใช่เรา อะไรที่ไม่ใช่เรา ก็คือ สภาพธรรมที่มีจริง มีรูปธรรม และ นามธรรม เช่น ธาตุ ดิน น้ำ ไฟ ลม เป็นต้น ซึ่งก็เนื่องอาศัยกับกายภายใน กายภายนอก ไม่มีเรา ไม่มีใคร มีแต่ธรรม เพราะฉะนั้น ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงการเห็นกายภายใน กายภายนอก ก็เพื่อให้เข้าใจถูกว่า เป็นธรรมไม่ใช่เรา แม้คำว่า

"การให้พิจารณาลักษณะที่เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว หรือ สี กลิ่น รส ที่เคยยึดถือผิดว่าเป็นกาย หรืออวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งของกาย พิจารณาว่าเป็นแต่เพียงธรรม คือ รูปธรรมที่ปรากฏทางกายเท่านั้นไม่มีใคร มีแต่ธรรม"

ก็เป็นการแสดง ขยายความให้ถูกต้องตามความเป็นจริง ในภาษาไทย ให้เข้าใจถูกตามภาษาสมัยนี้ให้เข้าใจ พยัญชนะ ที่แสดงตามพระไตรปิฎก แม้คำนี้จะไม่มีในพระไตรปิฎกที่ตรงเป๊ะๆ ตามนั้น แต่อรรถะ ย่อมแสดงได้ตรงตามความเป็นจริง ตามพยัญชนะที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง เพราะแสดงถึงการรู้กายในกาย ก็คือ รู้ในความเป็นธาตุ คือ ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ก็คือ เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว ตามภาษาไทยที่เราใช้นั่นเองว่า ไม่ใช่เรา เป็นแต่เพียงธรรม ซึ่ง อรรถะ ก็ตรงตามความเป็นจริงที่จะทำให้ผู้ฟังเกิดปัญญา ความเข้าใจถูก เมื่อได้ยินได้ฟังคำนั้น อันไม่ได้มีอรรถะ แยกไปจากพยัญชนะในพระไตรปิฎก และทำให้เกิดความเข้าใจถูกในสิ่งที่ได้ยินได้ฟังด้วย

ซึ่งขอยกข้อความที่ขยายความ พระไตรปิฎก ที่เป็นอรรถกถาจารย์ อธิบายให้เข้าใจถูก ก็มีอรรถะเดียวกับคำอื่นๆ ที่อธิบายว่าไม่ใช่เรา ในเรื่องกายในกาย ครับ

[เล่มที่ 78] พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้าที่ 42

คำว่า มีปกติตามเห็นกายในกาย ท่านกล่าวแล้ว เพื่อการแสดงการแยกฆนะเป็นต้น ด้วยประการฉะนี้ อนึ่ง ในอธิการนี้ บัณฑิตพึงทราบเนื้อความแม้นี้ ด้วยอาทิศัพท์ จริงอยู่ พระโยคาวจรนี้มีปกติตามเห็นกายในกายนี้เท่านั้น มิใช่มีปกติตามเห็นธรรมอื่น ถามว่า ข้อนี้ ท่านอธิบายไว้ อย่างไร ตอบว่า ท่านอธิบายว่าชนทั้งหลาย ผู้มีปกติตามเห็นพยับแดดแม้อันไม่มีน้ำ ว่าเป็นน้ำ ฉันใด พระโยคาวจรมีปกติตามเห็นกายนี้ อันเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เป็นอสุภะนั่นแหละว่า เป็นของเที่ยง เป็นสุข เป็นอัตตา เป็นสุภะ ฉันนั้นหามิได้ โดยที่แท้ มีปกติตามเห็นกายก็คือ มีปกติตามเห็นการประชุมแห่งอาการของความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เป็นอสุภะเท่านั้น ดังนี้


จากข้อความที่ยกมา ได้อธิบายในส่วนที่ผู้ถามได้ยกข้อความในพระไตรปิฎก ในส่วนพระอภิธรรม ก็อธิบายไว้ชัดเจน ที่ให้เข้าใจถูกว่า การเห็นกายในกาย คือ การเห็นด้วยปัญญาที่เข้าใจถูกว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และ เป็นอนัตตา อนัตตา คือ ไม่ใช่เรา แล้วอะไรที่ไม่ใช่เรา ก็คือ ธรรมนั่นเอง ดังนั้น ข้อความที่กล่าวว่า มีในพระไตรปิฎกหรือไม่ ก็เป็นการแสดงอรรถะที่ตรงตามพระไตรปิฎกและอรรถกถาได้อธิบายได้ถูกต้องและดีแล้วนั่นเองครับ

ใน อรณวิภังคสูตร พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่าไม่พึงดูหมิ่นภาษาชาวบ้าน เพราะ หม้อ บางท้องถิ่น ก็เรียกอีกอย่าง แต่การสื่อความหมายของภาษาท้องถิ่นนั้น ก็ได้ อรรถ ตรงกับสิ่งที่ต้องการสื่อ ฉันใด การตัดสินพระธรรม มิใช่จะให้คำนั้น ตรงทุกพยัญชนะ จึงจะเป็นคำของพระพุทธเจ้า แต่ภาษาใด คำใด ที่อธิบายให้เข้าใจถูกว่าเป็นแต่เพียงธรรม ไม่ใช่เรา ให้ไถ่ถอนความเป็นเรา เข้าใจในความเป็นอนัตตา แม้ถ้อยคำนั้น จะไม่ตรงตามพยัญชนะในพระไตรปิฎก แต่อรรถะนั้นก็ตรงตามความเป็นจริงและทำให้ผู้ฟังที่สะสมความเข้าใจถูกมาเกิดปัญญา และสามารถอบรมปัญญาตามภาษาของตนได้อย่างแท้จริง ก็ชื่อว่าเป็นคำของพระพุทธเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว ครับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่ ครับ

เห็นกายในกาย

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 2 ก.พ. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง มีความละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง เบื้องต้น ต้องเข้าใจว่า สติปัฏฐาน เป็นเรื่องของการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ เป็นปรมัตถธรรม ดังนั้น แม้จะกล่าวว่า ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น นั้น ถ้าไม่มีรูปธรรมเกิดขึ้นเป็นไป จะมีการเรียกว่าเป็นผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้นได้ไหม เพราะฉะนั้น สำคัญที่ความเข้าใจถูกเห็นถูกจริงๆ เมื่อเข้าใจถูกเห็นถูกจริงๆ มีการรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏจริงว่า เป็นธรรม ไม่ใช่เรา ก็เป็นการขัดเกลาละคลายความไม่รู้ ละคลายความเห็นผิดที่เคยยึดถือว่าเป็นผมของเรา เป็นขน ของเรา เป็นต้น เพราะเป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่มีจริงๆ แต่ละหนึ่งๆ เท่านั้น ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ..

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 2 ก.พ. 2558

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
pdharma
วันที่ 2 ก.พ. 2558

หากพิจารณาไปตามลำดับของปัญญาที่ค่อยๆ เจริญขึ้นไปตามลำดับจากปัญญาขั้นฟังแล้ว ควรพิจารณาสติปัฏฐาน ๔ เช่น กาย เริ่มจากพิจารณาว่า กายเต็มไปด้วยของไม่สะอาด มีประการต่างๆ มี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก .... อันนำไปสู่การกำจัดอภิชฌาและโทมนัส

หรือเริ่มจากการพิจารณาสภาพธรรม เช่น เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว ไปเลย

ขอบพระคุณครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
paderm
วันที่ 2 ก.พ. 2558

เรียน ความเห็นที่ 4 ครับ

หากเข้าใจความจริงของสภาพธรรม คือ อนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ สติและปัญญาก็เป็นอนัตตา ก็บังคับไม่ได้ เพราะฉะนั้น จึงไม่มีตัวตนที่จะไปเลือกที่จะรู้สภาพธรรมอะไรก่อน ขณะนี้ เห็น เลือกที่จะเห็นอะไรได้ไหม ไม่ได้เลย ได้ยินก็เช่นกัน จะได้ยินเสียงอะไรก็ไม่สามารถเลือกได้ อารมณ์ของการเจริญสติ ก็ไม่สามารถเลือกได้ เพราะแล้วแต่ว่า สติจะเกิดระลึกรู้อารมณ์ใด ต้องไม่ขัดกับหลักอนัตตา เพราะฉะนั้นหนทางที่ถูกคือ ฟังพระธรรมต่อไปในหนทางที่ถูกต้อง สติและปัญญาและธรรมจะเกิดทำหน้าที่เอง โดยไม่มีเราไปเลือกที่จะรู้อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดก่อนหรือหลัง ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ธุลีพุทธบาท
วันที่ 3 ก.พ. 2558

กราบขอบพระคุณและอนุโมทนาอาจารย์ทั้งสองท่าน ครับ.

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
สิริพรรณ
วันที่ 24 ก.พ. 2558

เป็นหัวข้อที่ควรศึกษาอย่างละเอียด

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
chatchai.k
วันที่ 16 ม.ค. 2564

เป็นหัวข้อที่ควรศึกษาอย่างละเอียด

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
Jarunee.A
วันที่ 19 พ.ค. 2567

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ