ผู้ตรง...ต่อ การฟังพระธรรม สนทนาพระสูตร ๗ ก.พ.๕๘
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺสฺส ฯ
(ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้น)
----------
กราบเท้าบูชาพระคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพอย่างสูงยิ่ง
ผมขออนุญาตนำข้อความสั้นๆ บางตอน ที่ท่านอาจารย์ได้กล่าวไว้
ในชั่วโมงสนทนาพระสูตร วันเสาร์ที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘
เกี่ยวกับเรื่องของ "การฟังธรรม"
ซึ่งแสดงให้เห็นว่า พระธรรมแต่ละคำ ลึกซึ้ง และมีค่าประเสริฐสุด
เป็น "ธรรมรัตนะ" จริงๆ
และการจะได้รับสาระประโยชน์จากการฟังพระธรรม คือ อย่างไร?
ผมขอน้อมนำข้อความดังกล่าวมาแบ่งปันให้ท่านอื่นได้ศึกษาด้วย ครับ.
..............................
"...เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นนะคะ คนที่จะฟังธรรม ประการแรก 'ต้องเป็นผู้ตรง' จะรู้ว่าใคร 'ตรง' หรือ 'ไม่ตรง' ก็คือ สนทนากัน เพราะฉะนั้น เมื่อ (ถูก) ถาม ไม่ตอบ แต่พูดเรื่องอื่น ตรงมั้ย? ไม่ตรง ! ถามคำนี้ ไปกล่าวถึงอีกคำหนึ่ง ตรงมั้ย? ก็ไม่ตรง ! แต่ถ้าถามคำนี้ ตอบคำนี้ ก็เป็นผู้ที่ตรง
เพราะว่าจะมีการสนทนาต่อไปเรื่อยๆ เพราะเหตุว่า การสนทนาไม่ได้หมายความว่า คำถามเดียว หรือ ข้อเดียวนะคะ แต่เป็นเรื่องที่ทุกคน 'มีความจริงใจ ที่จะเป็นผู้ตรงสัจธรรม' ที่จะเข้าใจถูก เห็นถูก ในคำที่ได้ยินซึ่งหายากมากในชาติหนึ่งว่าจะได้ยินหรือเปล่า? แม้แต่ 'แต่ละคำ' ...
และแต่ละคำ 'ลึกซึ้ง' จนพระผู้มีพระภาคเองทรงแสดง ๔๕ พรรษา สำหรับผู้ที่สะสมปัญญามา และพอที่จะเข้าใจ และสามารถที่จะประจักษ์ความจริง รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ตามที่พระองค์ทรงบำเพ็ญพระบารมี เพื่อที่จะอนุเคราะห์สัตว์โลก ให้สามารถรู้ตามความจริงของธรรม ตามที่พระองค์ได้ทรงตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง..."
ขอบพระคุณและอนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ครับ.
----------
.ขณะอย่าได้ล่วงเลยท่านทั้งหลายไปเสีย.
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺสฺส ฯ
(ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้น)
----------
เก็บตก "ประมวลธรรม" จาก ชั่วโมงสนทนาพระสูตร
"อุมมังคสูตร" วันเสาร์ที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘
ณ มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
- ลืมจิตใช่มั้ยค่ะเดี๋ยวนี้ (ศึกษาพระธรรม เรื่อง 'จิต') ให้เข้าใจ 'จิต' ที่กำลังมี
- ถ้าไม่เข้าใจเรื่องจิต ไม่รู้จักจิต ก็คิดถึงแต่สิ่งที่จิตรู้
- "โลกเป็นไปตามอำนาจของจิต" คำว่า "อำนาจ" ในที่นี้ ไม่ใช่การบังคับบัญชาสภาพธรรมด้วยความเป็นตัวตน แต่เพื่อแสดงให้เห็นว่า ถ้าไม่มีจิตก็มีโลกไม่ได้ เพราะฉะนั้น "อำนาจ" ในที่นี้หมายถึง "ความสำคัญยิ่ง" ของธาตุรู้ ซึ่งเป็นใหญ่ เป็นประธาน ในการรู้สิ่งที่ปรากฏ
- อยากเกิดเป็นต้นไม้ ดิน ภูเขา หรืออะไรที่ไม่ใช่ธาตุรู้มั้ยคะ? แต่ยังยั้งธาตุรู้ไม่ได้
- บางคนคิดว่า มีทุกข์มาก อยู่ในโลกนี้ไม่ไหวแล้ว ตายดีกว่า ! แต่ไม่รู้ว่า ไม่มีอะไรที่จะหยุดยั้งการเกิดดับของจิตได้เลย เพราะฉะนั้น ตายจากโลกนี้ไปเป็นอะไร?
- "อกุศลมีมาก" เดี๋ยวนี้พิสูจน์แล้ว แต่ก็ยังมีโอกาสได้ฟังพระธรรม เพราะฉะนั้น อะไรคือ สิ่งที่มีค่าที่สุด? "ความเห็นถูก ความเข้าใจถูก" ซึ่งไม่สามารถจะรู้ได้ ด้วยตนเอง ต้องฟังพระธรรม
- "ทรงแสดงพระธรรมเป็นอันมาก" เพราะฉะนั้น ต้องฟัง ต้องศึกษาด้วยความละเอียดรอบคอบ
- "เป็นอันมาก" คือ ๔๕ พรรษา เรื่อง จิต เจตสิก รูป และนิพพาน
- สมัยก่อนฟังแล้วเป็นพระอริยบุคคล สมัยนี้ต้องเข้าใจไปทีละคำ (ปัญญาต่างระดับ)
- "พหูสูตร" จะฟังคนอื่นได้มั้ย? ที่ไม่ใช่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วก็ไม่ได้กล่าวตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วย (ไม่ได้)
- ฟังแล้ว เข้าใจแค่ไหน? รอบคอบหรือเปล่า?
- เราฟังแล้วกี่สุตตะ? แล้วข้อความที่เราศึกษาสอดคล้องกันมั้ยกับสูตรอื่นๆ หรือว่าคัดค้านกัน ไม่สอดคล้องกันกับพระอภิธรรม หรือ พระวินัย เพราะทรงตรัสรู้และทรงแสดงพระธรรมจนถึงที่สุดแล้ว
- การฟังมาก ไม่เข้าใจอะไรได้มั้ย? "เข้าใจ" ที่นี่ หมายความว่า เห็นว่าเป็น "ธรรม"
- เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้แล้ว ยังจะมีบุคคลอื่นกล่าวแก้คำที่พระองค์ทรงตรัสรู้แล้วได้มั้ย?
- รอบรู้ในคำที่ตรัสไว้ พร้อมทั้ง "เหตุ-ผล" ด้วย
- สภาพธรรมคล้ายคลึงกันมาก เช่น จิต และเจตสิก เป็นธาตุรู้ เป็นสภาพรู้เหมือนกัน แล้วจิตเป็นปัจจัยแก่เจตสิกอย่างไร โดยฐานะใด? ทั้งหมดเพื่อเข้าใจว่า "ไม่ใช่เรา"
- การฟังพระธรรม ต้องเข้าใจไปตามลำดับ และเป็นผู้ที่ "ตรง"
- ฟังพระธรรมมากี่ปี? กี่ปี...กี่คำ? ทรงธรรมไว้หรือเปล่า? ไม่ต้องจำทั้งหมดนะคะ แต่ว่า "เข้าใจ" สิ่งที่ได้ฟัง สำคัญที่สุดค่ะ ไม่ใช่เพียงจำ แต่ไม่เข้าใจ
- ยากมั้ย? จาก "ปุถุชน" ไปสู่ "กัลยาณปุถุชน" จนถึง "พระอริยบุคคล"
- เมื่อมีโอกาสได้ยินได้ฟัง ฟังอีก เพราะเหตุว่า ลืมแน่ๆ เพียงไม่ฟังก็ลืมแล้ว คิดถึงเรื่องอื่นแล้ว เพราะสะสมการที่จะคิดถึง "เรื่องอื่น" มากกว่า "ธรรม" ... จนกว่าจะเป็น "ผู้ทรงธรรม" มีความเข้าใจ ไม่ว่าที่ไหน เมื่อไหร่ เรื่องไหน พูดถึงอะไรก็เข้าใจเรื่องนั้นได้ เพราะเหตุว่า ได้ฟังแล้ว แล้วก็เข้าใจแล้ว เมื่อเข้าใจแล้วก็ไม่ลืม ก็ทรงธรรมไว้ด้วย
- พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่อง "พหูสูตร" และ "ทรงธรรม" ควบคู่กันไป บางแห่งก็ทรงแสดงจนถึงการรู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจจธรรม แต่ว่าก่อนหน้านั้น...ลืมหมด แล้วพอแทงตลอดถึงจะทรงธรรมหรือคะ? ธรรมต้องเป็นเหตุผล แม้ว่าจะตรัสโดยนัยใด ผู้นั้นก็ต้องเข้าใจตามความเป็นจริง
- เมื่อเข้าใจแล้วสามารถที่จะ "ทรงความเข้าใจนั้นไว้ได้" จนกระทั่งเจริญขึ้น...จนถึงการรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ เพราะจากการที่ได้ฟังธรรม แล้วเข้าใจธรรมนั่นเอง
- "ฟังมาก" เป็นปัจจัยให้คิดนึกตรึกถึงสิ่งที่ได้ยินได้ฟังซึ่งจะเป็นเหตุให้ปัญญาเจริญขึ้น เพราะเหตุว่า "เราคิดเรื่องอื่นมาก" แล้วเมื่อไหร่ เราจะคิดถึงธรรมเหมือนเรื่องอื่น ? "ฟัง" จนกว่า "เรื่องอื่นไม่เป็นสาระ" แต่ว่า "ธรรมที่ได้ฟังแล้ว เข้าใจแล้ว" นั่นแหละเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง
- พอได้ยินแค่ "คาถา ๔ บาท" ก็...พอใจมั้ย? ไม่ต้องรู้มาก แค่ ๔ บาท ! คิดอย่างนี้ก็มี คิดแต่จะเอา คิดแต่จะได้ แต่ไม่คิดที่จะ "รู้แล้วละ"
- ฟังหมด ๔๕ พรรษา...แต่ถ้าเข้าใจ ๔ บาทจริงๆ แต่ละคำ ก็หมายความว่า รวมกับ "ทุกคำ" ที่ได้ตรัสไว้แล้วด้วย
- ฟังไว้ๆ เข้าใจไว้ เก็บเล็กผสมน้อยไป...ทีละเล็ก...ทีละน้อย...
- ก่อนที่จะถึงคาถา ๔ บาท ท่านพระสารีบุตรฟังมาเท่าไหร่? ๑ อสงไขย แสนกัปป์ ! ในระหว่างนั้นได้ฟังมั้ย? เกิดเป็นใคร ทำอะไร อยู่ที่ไหน? ... ไม่ย้อนกลับไปอีกเลย แต่ที่ผ่านมาแล้วทั้งหมด "ปรุงแต่ง"...จนถึงขณะที่ท่านได้ฟังคาถา ๔ บาท จากท่านพระอัสสชิ พร้อมหรือยังคะ คาถา ๔ บาท? วันหนึ่ง ! ... เพราะตอนนี้ไม่รู้ว่าอยู่กัปป์ไหน ใช่มั้ยคะ? แต่ก็มีโอกาสได้ฟัง เพราะฉะนั้น สำคัญที่สุดอยู่ที่ "ความตรง" และ "ความจริงใจ" ... ฟังธรรมเพื่อ "เข้าใจ" ค่ะ
- เป็นผู้ปฏิบัติธรรม สมควรแก่ "ธรรม" อะไร? สมควรแก่ "ธรรม" ที่เป็น "โลกุตตรธรรม" คือ "การรู้แจ้งอริยสัจจธรรม" ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่นเลย ฟังเพื่อเข้าใจ ... เข้าใจเพื่ออะไร? เพื่อรู้ความจริง ... รู้เพื่ออะไร? เพื่อละความไม่รู้ เพราะเหตุว่า "กิจของปัญญา" คือ "ละความไม่รู้" แล้วเมื่อละความไม่รู้ ก็ละความติดข้อง จนกระทั่งสภาพธรรมสามารถปรากฏกับปัญญา
ขอกราบนมัสการอย่างสูงสุดแด่พระรัตนตรัย
กราบเท้าบูชาพระคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพอย่างสูงยิ่ง
กราบขอบพระคุณและอนุโมทนาอาจารย์วิทยากรทุกท่าน
และอนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ครับ.
----------
.ขณะอย่าได้ล่วงเลยท่านทั้งหลายไปเสีย.