จิตที่ไม่มีหทัยวัตถุเป็นที่อาศัยเกิด
พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ เล่ม ๒ ภาค ๑
๑. หน้าที่ 52 เรื่อง ๓. สัญญาขันธนิเทศ (บาลีข้อ ๑๔) มีข้อความว่า
"บรรดาสัญญาเหล่านั้น สัญญาที่เกิดแต่จักขุสัมผัส หรือในจักขุสัมผัสชื่อว่า จักขุสัมผัสสชา. แม้ในสัญญาที่เหลือก็นัยนี้แหละ ก็ในสัญญา ๖ เหล่านั้น สัญญา ๕ อย่างข้างต้นมีจักขุปสาทเป็นต้นเป็นที่อาศัยเกิดโดยเฉพาะ มโนสัมผัสสชาสัญญา (สัญญาเกิดแต่มโนสัมผัส) มีหทัยวัตถุเป็นที่อาศัยเกิดบ้าง ไม่มีหทัยวัตถุเป็นที่อาศัยเกิดบ้าง สัญญาแม้ทั้งหมดจึง ชื่อว่า เป็นไปในภูมิ ๔."
๒. หน้าที่ 55-56 เรื่อง ๔. สังขารขันธนิเทศ (บาลีข้อ ๒๐) มีข้อความว่า
...เจตนาที่เกิดแต่มโนสัมผัสมีหทัยวัตถุเป็นที่อาศัยเกิดบ้าง ไม่มีหทัยวัตถุเป็นที่อาศัยเกิดบ้าง...
๓. หน้าที่ 56 เรื่อง ๕. วิญญาณขันธนิเทศ (บาลีข้อ ๒๖) มีข้อความว่า
...มโนวิญญาณมีหทัยวัตถุเป็นที่อาศัยเกิดบ้าง ไม่มีหทัยวัตถุเป็นที่อาศัยเกิดบ้าง...
เรียนถามเพื่อความเข้าใจมากขึ้นดังนี้
มโนสัมผัสสชาสัญญา เจตนาที่เกิดแต่มโนสัมผัส และมโนวิญญาณ ที่กล่าวข้างต้น เป็นจิตที่ไม่ใช่ทวิปัญจวิญญาณจิต 10 ดวงใช่หรือไม่ ซึ่งเท่าที่ทราบจิตเหล่านี้จะอาศัยหทัยรูปเป็นที่เกิด แต่ทำไมจากที่ยกมาข้างต้น ทั้งมโนสัมผัสสชาสัญญา เจตนาที่เกิดแต่มโนสัมผัส และมโนวิญญาณ จึงไม่มีหทัยวัตถุเป็นที่อาศัยเกิดได้ด้วย ถ้าเช่นนั้นจิตเหล่านี้เกิดที่ใด ขอรบกวนอธิบายเพิ่มเติมครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
โดยทั่วไปแล้ว จิตและเจตสิก จะต้องอาศัยที่เกิด คือ มีที่เกิดของจิต และ เจตสิก นั่นคือ อาศัย วัตถุ 6 คือ มี จักขุปสาทรูป โสตปสาทรูป ฆานปสาทรูป ชิวหาปสาทรูป กายปสาทรูป และ หทยรูป ซึ่งสำหรับภพภูมิที่มีขันธ์ 5 ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น จะต้องอาศัยที่เกิด คือ รูปที่เป็นหทยรูป แต่ถ้าเป็นบางภพภูมิที่ไม่ใช่ภูมิที่มีขันธ์ 5 เช่น อรูปพรหม อรูปพรหม คือ บุคคลที่อบรมสมถภาวนา จนถึงได้ฌานที่ 5 ขึ้นไป และเมื่อฌานไม่เสื่อมก็ไปเกิดในอรูปพรหมภูมิ เป็นอรูปพรหมบุคคล ซึ่งไม่มีรูปเลย มีแต่นามเท่านั้น ครับ คือ มีแต่ จิตและเจตสิกเท่านั้นที่เกิดขึ้น
อรูปพรหม ไม่มีรูปเกิดขึ้นเลย แต่สามารถเกิดปฏิสนธิได้ โดยไม่ต้องอาศัย ที่เกิด ที่เป็นรูป คือ หทยรูป ครับ ที่ปฏิสนธิจิตเกิดได้ โดยไม่อาศัยที่เกิด คือ หทยรูปได้ เพราะการทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด ก็คือ อาศัยการเป็นปัจจัยของกันและกัน ของจิต และ เจตสิก ที่เกิดร่วมด้วยกันนั่นเองที่ทำให้เกิดขึ้น แม้ไม่มีรูป แต่เพราะมีเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยกับจิต เจตสิกนั่นเอง ปรุงแต่งให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น และจิตนั่นเองก็เป็นปัจจัยกันและกันกับเจตสิก เป็นปัจจัยให้เจตสิก และปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น สรุปได้ว่า เพราะอาศัย จิตและเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยกันนั่นเอง ทั้งสองอย่างเป็นปัจจัยกันและกัน (อัญญมัญญปัจจัย) แม้ไม่มีรูปแต่ก็เป็นปัจจัยให้เกิดปฏิสนธิจิตได้ โดยความเป็นปัจจัยของกันและกันระหว่างจิตและเจตสิก
ที่สำคัญที่สุด อรูปพรหม เกิดได้ เพราะมีกรรมเป็นปัจจัยสำคัญ แม้ไม่มีรูป แต่นาม คือ จิต และเจตสิกที่เกิดพร้อมกัน ก็สามารถเกิดได้ แม้ไม่มีรูป เพราะมีกรรมที่มีกำลังถึงระดับฌานทำกิจปฏิสนธิ ด้วยอำนาจของกรรมเป็นปัจจัย ครับ ดังนั้น ในภพภูมิบางภูมิ แม้เพียง จิต และ เจตสิก ที่อาศัยกันเกิดขึ้น ก็เป็นปัจจัยให้เกิดปฏิสนธิจิตได้
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
สำคัญที่ความเข้าใจว่า จิต ในภพภูมิที่มีรูป นั้น ต้องเกิดที่รูป รูปหนึ่งรูปใดใน ๖ รูป คือ จักขุวัตถุ โสตวัตถุ ฆานวัตถุ ชิวหาวัตถุ กายวัตถุ และ หทยวัตถุ ตามควรแก่จิตประเภทนั้น โดยที่จิตเห็นเกิดที่จักขุวัตถุ จิตได้ยินเกิดที่โสตวัตถุ จิตได้กลิ่นเกิดที่ฆานวัตถุ จิตลิ้มรสเกิดที่ชิวหาวัตถุ จิตรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกายเกิดที่กายวัตถุ ทั้งที่เป็นกุศลวิบากและทั้งที่เป็นอกุศลวิบาก จิตที่เหลือนอกจากนี้เกิดที่หทยวัตถุ ดังนั้น เมื่อกล่าวถึง ที่เกิดของจิต กล่าวคือ จิต เกิดที่วัตถุรูปใด เจตสิกที่เกิดร่วมด้วยก็ต้องเกิดที่วัตถุรูปนั้นๆ ด้วย เพราะเหตุว่า จิตและเจตสิกเกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน รู้อารมณ์เดียวกัน และในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ก็เกิดที่วัตถุรูปเดียวกัน
จึงพิจารณาได้ว่า สัญญาเจตสิกเกิดกับจิตทุกขณะ ซึ่งจะต้องเข้าใจว่าเป็นสัญญาที่เกิดกับจิตขณะใด ก็ต้องอาศัยวัตถุรูปอันเป็นที่เกิดที่เดียวกันกับจิตขณะนั้น ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
สัพพจิตสาธารณเจตสิกเกิดกับจิตทุกดวง..ทุกภพภูมิ..คือเจตสิก 7ดวง ได้แก่ ผัสสะ เวทนา สัญญา เจตนา เอกัคคตา ชีวิตินทริย มนสิการ..และ..การที่จิตในอรูปพรหมภูมิสามารถเกิดได้โดยไม่ต้องอาศัยหทยวัตถุๆ จึงไม่เป็นอินทริยปัจจัย เหมือนปสาททั้งห้าคะ..
สาธุขออนุโมทนาทุกท่านคะ