การทำบุญแบบจิตเราไม่โลภแต่คิดดีในการบำรุงพระศาสนา ต้องแยกแยะอย่างไรบ้าง

 
young
วันที่  16 ก.พ. 2558
หมายเลข  26187
อ่าน  1,052

ได้ฟังธรรมจากเว็บบ้านธัมมะ พบว่ามีความชัดเจนและเกิดปัญญามากขึ้น ฃึ่งข้าพเจ้ามีข้อสงสัยว่าการบริจาคเงินเป็นกองทุนค่าน้ำและไฟฟ้าให้เป็นค่าใช้จ่ายของวัดโดยไม่หวังผล แต่หากวัดนั้นมีการสอนคนให้รักษาศิลได้เป็นจำนวนมากแต่มักเจือด้วยโลภะ เช่น การทำบุญแล้วจะได้อะไร การทำบุญนั้นจะเป็นบาปหรือไม่ และหากผมบวชที่นั่น ตอนบวชการสอนก็เน้นให้เป็นคนดี และสอนธรรมะเชิงประยุกต์ใช้ประจำวันและผมลาสิกขามาก็ได้เลิกกินเหล้าและ เลิกผิดศิลข้อ 3 นั้น การทำบุญุนั้นถูกต้องไหมครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 16 ก.พ. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ควรเข้าใจแม้แต่คำว่าบุญ คือ อะไร? บุญ เป็นธรรม เป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ อยู่ที่จิต ย่อมหมายรวมถึงโสภณเจตสิก (สภาพธรรมฝ่ายดีที่เกิดร่วมกับจิต เช่น ศรัทธา สติ หิริ โอตตัปปะ เป็นต้น) ที่เกิดร่วมด้วย ถ้าหากไม่มีจิตและไม่มีโสภณเจตสิกแล้ว บุญก็เกิดไม่ได้ จิตเกิดขึ้นเป็นกุศลขณะใด ขณะนั้นเป็นบุญ เป็นการชำระจิตจากกุศล การทำบุญ ก็ควรที่จะเป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลสของตนเองเท่านั้น ไม่ใช่เพื่อความอยาก ติดข้องต้องการ หวังผลของบุญ

ซึ่งจากคำถาม การพิจารณาความเป็นบุญ ก็ต้องพิจารณาขณะจิต คือ ขณะที่เป็นบุญ คือ เจตนาที่เป็นไปในทางที่ดี มีเจตนาที่เป็นไปในการให้ทาน รักษาศีล ฟังธรรม เป็นต้น ซึ่งขณะที่ให้ ช่วยเหลือค่าน้ำ ค่าไฟกับวัด ก็ต้องพิจารณาว่าให้ด้วยเจตนาสนับสนุนในหนทางผิด ในคำสอนผิดหรือไม่ หรือมุ่งให้เพียงช่วยเหลือค่าใช้จ่ายทั่วไป โดยไม่ได้มีความเห็นผิดที่เจตนาให้หนทางผิดดำรงอยู่ ก็ต้องพิจารณาจิตของผู้ให้ในขณะนั้น

ส่วนการบวชไม่ว่าในสถานที่ใด ก็ต้องพิจารณาเป็นขณะจิตอีกเช่นกัน เพราะไม่ได้หมายความว่าเกิดบุญตลอดเวลา เพราะขณะที่เป็นบุญ คือ ขณะที่จิตที่ดีงามเกิดขึ้นเป็นไปในทาน ศีล ภาวนา ครับ แต่ถ้าไม่ใช่เป็นไปในทาน ศีล ภาวนา ขณะนั้นก็เป็นอกุศลธรรม

ความเห็นถูกเป็นเรื่องสำคัญในพระพุทธศาสนาเพราะเป็นเรื่องของปัญญาที่จะเข้าใจถูกว่าหนทางใดถูก หนทางใดผิด และไม่สนับสนุนหนทางผิดแต่สนับสนุนในหนทางที่ถูก ครับ ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 16 ก.พ. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เพราะได้อาศัยพระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง จึงมีความเข้าใจถูกเห็นถูก ความเข้าใจถูกเห็นถูกนี้เอง ที่จะเป็นเครื่องนำทางชีวิตที่ดี คอยประคองให้เป็นไปในทางที่ถูกที่ควร ทำในสิ่งที่ดี เป็นประโยชน์ ซึ่งขณะนั้นก็เป็นการสะสมเหตุที่ดี เป็นบุญ เพราะจิตไม่ได้เป็นไปกับโลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น ดังนั้น เรื่องของการเจริญกุศล หรือ ทำบุญ นั้น ไม่ใช่เพียงแค่การให้อย่างเดียว ยังมีความดีในส่วนอื่นๆ ด้วย แม้ไม่ได้ให้วัตถุสิ่งของ เช่น การช่วยเหลือผู้อื่น ความเป็นผู้อ่อนน้อมถ่อมตน การงดเว้นจากทุจริตกรรม การฟังพระธรรม เป็นต้น ล้วนเป็นความดีที่สามารถอบรมเจริญได้ในชีวิตประจำวัน และก็เป็นไปเพื่อการขัดเกลากิเลสเท่านั้น ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่น

ประเด็นเรื่องการบวช ควรที่จะได้พิจารณาจริงๆ เพราะการเข้าใจธรรมไม่ได้จำกัดที่เพศใดเพศหนึ่งโดยเฉพาะ ถ้าบวชไปแล้ว ไม่ได้น้อมประพฤติตามพระธรรมวินัย ไม่ได้ขัดเกลากิเลสของตนเอง ก็จะเป็นโทษกับผู้นั้น ซึ่งเป็นอันตรายมาก ถ้าหากมรณภาพในขณะที่ยังมีอาบัติประการต่างๆ อยู่ ก็จะเป็นผู้มีอบายเป็นที่ไปในเบื้องหน้า ไม่คุ้มอย่างแน่นอน แต่ถ้าได้น้อมประพฤติตามพระธรรม ก็ย่อมเป็นความดี เป็นบุญในขณะนั้น แต่เมื่อได้ลาสิกขาออกมาเป็นคฤหัสถ์แล้ว ก็ไม่ได้เป็นพระภิกษุอีกต่อไป การได้มีโอกาสฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญา ไม่ประมาทในการเจริญกุศลในชีวิตประจำวัน นั่นก็เป็นประโยชน์อย่างมากแล้วในเพศคฤหัสถ์ ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ธุลีพุทธบาท
วันที่ 17 ก.พ. 2558

กราบขอบพระคุณและอนุโมทนาอาจารย์ทั้งสองท่าน ครับ.

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
wannee.s
วันที่ 17 ก.พ. 2558

การให้การเสียสละทรัพย์แล้วไม่หวังผล เป็นกุศลจิตของผู้ให้ ส่วนคนอื่นหวังอะไรก็เป็นเรื่องของเขา การให้ทานประกอบด้วยปัญญาก็ได้ ไม่ประกอบด้วยปัญญาก็ได้ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
Jarunee.A
วันที่ 7 มี.ค. 2567

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ