ณ กาลครั้งหนึ่ง ท่านอาจารย์ดวงเดือน บารมีธรรม ที่ ศูนย์เด็กเล็กวัดซองกาเรีย ๓-๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘

 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่  21 ก.พ. 2558
หมายเลข  26202
อ่าน  2,216

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เมื่อวันที่ ๓-๕ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๕๘ ที่ผ่านมา ท่านอาจารย์ดวงเดือน บารมีธรรม รองประธานกรรมการ มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา และคณะฯ ได้เดินทางไปยังศูนย์เด็กเล็กวัดซองกาเรีย อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี เป็นการเดินทางไปในช่วงเวลานี้ของทุกๆ ปี นับแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๔๗ เป็นต้นมา ตั้งแต่เริ่มแรกจนถึงบัดนี้ ก็เป็นเวลาสิบปีแล้ว จุดประสงค์ของการเดินทางไปในทุกๆ ครั้ง คือ การนำสิ่งของอุปโภค บริโภค ไปแจกจ่ายแก่ประชาชนผู้ยากไร้ตามแนวชายแดนไทย-พม่า ทั้งเพื่อเยี่ยมเยียนเด็กนักเรียนและครอบครัว ที่อยู่ในความอุปการะของท่าน และมอบทุนการศึกษาประจำปีให้แก่เด็กๆ เหล่านั้น ซึ่งบัดนี้มีจำนวนนับสิบคนแล้ว

และเช่นเคย ในทุกครั้งของการเดินทางไป ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ประธานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา ได้เมตตาร่วมเดินทางไปกับคณะฯ สำหรับข้าพเจ้า ครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๓ ที่ท่านอาจารย์ได้เมตตาให้ร่วมเดินทางไปด้วย พร้อมคุณภรรยาและลูกสาว ซึ่งข้าพเจ้ากราบขอโอกาสจากท่านเพื่อเดินทางไปด้วย ซึ่งท่านมีเมตตามาก ได้กรุณาโทรมาบอกข้าพเจ้าว่า ให้นั่งรถตู้ไปด้วยกัน ไม่ต้องขับรถไป ท่านคงทราบว่าข้าพเจ้าชอบที่จะขับรถติดตามคณะฯของท่านอาจารย์ไปในที่ต่างๆ เอง

เคยได้ยินหลายท่านพูดถึงความห่วงใยของท่านอาจารย์ดวงเดือน ที่ไม่อยากให้ทุกคนลำบากที่ต้องขับรถไปไกลๆ ทุกครั้งที่ไปสังขละฯ ท่านจึงจัดรถตู้อย่างดี ที่ท่านใช้บริการมานาน คนขับทุกคน ล้วนเป็นเจ้าของรถเองที่นำรถมาเข้ารวมกลุ่มกันเป็นบริษัทฯ รถแต่ละคัน จึงได้รับการตกแต่งอย่างดี เบาะที่นั่งก็เป็นเบาะที่นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีราคาแพง มีขนาดใหญ่ กว้าง นุ่ม และนั่งสบาย มากๆ ครับ มีการแต่งช่วงล่างให้เกาะถนน คนนั่งที่นั่งตอนท้าย ไม่โคลงเคลงเวียนหัวเลย ทราบว่ารถแต่ละคันตกแต่งกันคันละหลายแสนเลยทีเดียว ที่สำคัญ คนขับซึ่งเป็นเจ้าของรถทุกคนมีความสุภาพอ่อนน้อม มีความรับผิดชอบ ดูแลชาวคณะทุกคนดีมากๆ ครับ การเดินทางครั้งนี้มีรถตู้ในขบวนรวม ๗ คัน มีวิทยุสื่อสารติดต่อกัน เพื่อการขับแซงที่ปลอดภัยจากรถที่นำขบวน และ เพื่อการแวะพักตามทางที่สะดวกสบาย ตลอดการเดินทาง นอกจากที่ท่านจะจัดรถตู้อย่างดีให้ทุกๆ คน ได้เดินทางไปด้วยความสะดวกสบายแล้ว ท่านยังพาแวะรับประทานอาหารอร่อยๆ ที่ร้านชื่อดังของกาญจนบุรีทั้งขาไปและขากลับอีกด้วย

เมื่อเดินทางถึงที่พัก ทุกคนก็กุลีกุจอ ช่วยกันขนสิ่งของที่จะนำไปแจกจ่ายในวันรุ่งขึ้นลงจากรถ มากองเตรียมไว้ที่ห้องโถง ที่ปรกติใช้เป็นที่รับประทานอาหาร ซึ่งมีวิวที่สวยงามตั้งอยู่บนจุดสูงสุดของรีสอร์ทที่พัก ซึ่งจะลดหลั่นลงไปสู่ลำน้ำซองกาเรีย

คณะทั้งหมดราวสี่สิบห้าท่าน ที่ร่วมเดินทางไป ได้รับความดูแลอย่างดียิ่งในที่พักที่สะดวกสบาย คือที่ พนธ์นทีรีสอร์ท รีสอร์ทที่สร้างด้วยไม้ สวยงาม ลดหลั่นไปตามเนิน หันหน้าสู่ลำน้ำซองกาเรีย ทะเลสาบเหนือเขื่อนเขาแหลม ที่มีทัศนียภาพงดงามเกินบรรยาย ข้าพเจ้ายอมรับว่าหลงไหลในทัศนียภาพของที่นี่ เป็นที่สุด

เนื่องจากมีความงดงามในแต่ละช่วงของเวลาที่ไม่เหมือนกันเลย แม้ในแต่ละวันด้วย ครั้งนี้ ท่านอาจารย์ดวงเดือน ท่านเมตตาจัดห้องพักที่มีวิวที่สวยมากๆ ของรีสอร์ทให้ข้าพเจ้าและครอบครัวได้พัก ซึ่งดูจะใหญ่โตกว้างขวางมาก มีเตียงใหญ่ถึงสามเตียง เป็นห้องพักที่มีระบียงไม้ มองเห็นวิวของลำน้ำได้กว้างไกล สวยงามมากๆ ครับ

แม้จะนึกคิดถึงสิ่งที่ได้รับอันเลิศทั้งหลาย ที่หมดไปแล้ว สิ้นไปแล้ว เป็นครั้งหนึ่งของสังสารวัฏฏ์ ที่บุคคลได้รับอารมณ์ อันโอฬารประการต่างๆ เป็นการคิดถึงด้วยกุศลจิต ถึงความเป็นกัลยาณมิตร ในบุคคลผู้ให้ ผู้มีนามว่าท่านอาจารย์ดวงเดือน บารมีธรรม ก็ทำให้จิตใจของข้าพเจ้ารู้สึกเบิกบาน อนุโมทนาสาธุการ กับท่านฯ ผู้เจริญกุศลทุกประการ ท่านเป็นผู้ให้ด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน เป็นที่ทราบกันดี ถึงกุศลศรัทธาของท่านอาจารย์ดวงเดือน บารมีธรรม ที่มีต่อพระศาสนา คือ คำสอนที่ถูกต้อง ตรงตามที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ด้วยการเมตตาถ่ายทอดจากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ซึ่งท่านได้พบทางวิทยุในปีพุทธศักราช ๒๕๑๖ ซึ่งเป็นเวลากว่าสี่สิบปีที่ผ่านมาแล้ว

ซึ่งเมื่อจะเขียนกระทู้นี้ ข้าพเจ้าได้เซิร์จหาข้อมูลของท่าน ในกูเกิ้ล ก็พบข้อความที่น่าสนใจ เป็นบทความการสัมภาษณ์ ในคอลัมน์ เพชรในตม ของหนังสือพิมพ์สาส์นสวรรค์ ประจำวันที่ 1- 31 ธันวาคม พ.ศ. 2553 ที่ลงบทสัมภาษณ์ท่านอาจารย์ดวงเดือนไว้ และคุณวรรณี แซ่โง้ว ได้กรุณานำมาลงบันทึกไว้ในเวปไซต์แห่งนี้ ซึ่งข้าพเจ้าเห็นว่า ควรที่จะนำมาลงไว้อีก เพื่อให้ทุกท่านที่ได้ติดตามการเจริญกุศลของท่านอาจารย์ดวงเดือน บารมีธรรม ได้ทราบประวัติความเป็นมาของท่าน ตามควร เพื่อประโยชน์ ในการศึกษาและพิจารณาแง่มุมของชีวิตที่ ล้วนเป็นแต่ธรรมทั้งสิ้น ที่เกิดขึ้นไปในทุกๆ ขณะ หาใช่ตัวตน สัตว์ บุคคลใดไม่ ทั้งหมด เป็นธรรม ที่เกิดขึ้น ตามเหตุ ตามปัจจัย ตามการสะสมมา เป็นเหตุให้พิจารณาว่า การที่บุคคลได้รับผลของกุศลกรรมที่มากน้อยประการใด เพราะมีเหตุ ทั้งยังเป็นผู้ที่สร้างเหตุนั้นอยู่ ในปัจจุบันสมัย ด้วยอัธยาศัยที่สะสมมาจนมีกำลัง บุคคลจะถึงฝั่งได้ ก็ด้วยกุศลธรรม ความดี และบารมีทุกประการที่เจริญและถึงพร้อมในขณะสำคัญที่สุด คือ ปัญญา ความเข้าใจถูกในธรรรมะ คือ สิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏในขณะนี้

หากมิได้เป็นผู้ที่ได้สั่งสมบุญ คือ ความเข้าใจธรรมที่ถูกต้องไว้แต่ปางก่อนแล้วไซร้ ไหนเลยบุคคลจะหาหนทางอันแสนยากนี้ จนพบได้ เนื่องเพราะหนทางแห่งการรู้ความจริงที่ทรงตรัสรู้และทรงมีพระมหากรุณาแสดงไว้นั้น ยากยิ่ง และ แสนไกล กว่าบุคคลจะเดินทางไปถึง ทั้งมิใช่การเดินทางด้วยความเป็นตัวตน สัตว์ บุคคลใดไม่ แต่เป็นการเดินทางของปัญญา ความเข้าใจถูก ความเห็นถูก ในสิ่งที่มีจริงๆ ในขณะนี้ "ปัญญา" ที่เกิดขึ้น เจริญขึ้น จากการอบรมในแต่ละชาติๆ ที่นับประมาณไม่ได้จนกว่าจะถึงแก่กาละ ที่ มีกำลัง ถึงการรู้แจ้งความจริง ของสิ่งที่มีอยู่จริงๆ ในขณะนี้ ซึ่งเป็นการรู้ ตรงตามที่ได้ฟังมา ได้ศึกษามา จนมีความรอบรู้ มีความเข้าใจที่มั่นคงนั้นเอง หาใช่เป็นการไปรู้ สิ่งอื่นใดไม่!!! แต่เป็นการรู้ที่มั่นคงขึ้นๆ ว่า "ทุกขณะที่กำลังปรากฏ" อยู่ในขณะนี้ เช่น เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส และ เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ที่กระทบสัมผัสกาย นี้ เป็น "แต่ละขณะของธรรมะ" ที่เกิดขึ้น ตามเหตุตามปัจจัย "ไม่ใช่เรา" ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคลใด ทั้งสิ้น ทั้งหมด "เป็นธรรมะ"

ทั้งเป็นการรู้ ในขณะที่เป็นปกติในขณะนี้เอง ไม่ใช่ในขณะที่ไปทำสิ่งที่ผิดปกติใดๆ เมื่อบุคคลเข้าใจหนทางที่ถูกต้องแล้ว จึงมีการเจริญกุศลทุกประการ ด้วยความเป็นปรกติ ทั้งเป็นผู้ที่อบรมเจริญปัญญา ในชีวิตประจำวัน ด้วยความเป็นปรกติเช่นกัน ความเข้าใจจากการฟังที่มั่นคงขึ้น ย่อมเป็นที่พึ่งแก่บุคคล ในทุกๆ ขณะของชีวิตในแต่ละวัน บุคคลย่อมรู้ได้ด้วยตน ว่าขณะของความเข้าใจเพียงน้อยนิดนั้น มีค่ายิ่งกว่าสิ่งใด อนึ่ง สำหรับท่านผู้ใหม่ ที่ยังไม่เคยติดตามอ่านกระทู้ที่ข้าพเจ้าทำมาก่อน ใคร่ขอปรารภอีกครั้งหนึ่งว่า กระทู้ที่ข้าพเจ้าทำขึ้นนี้ มีจุดประสงค์ในการบันทึกกิจกรรมของสมาชิกชมรมบ้านธัมมะ มศพ. ซึ่งคือ การทำดี และ ศึกษาพระธรรม บางกระทู้ มีภาพและข้อความที่ยาว เหมาะสำหรับท่านที่เห็นประโยชน์ของการได้อ่าน และพิจารณาข้อความที่ลงไว้ อย่างช้าๆ ซึ่งต้องใช้เวลาพอสมควร อันดับต่อไป ข้าพเจ้าขออนุญาตนำบทความการสัมภาษณ์ ที่ได้ปรารภไว้ มาลงไปพร้อมๆ กับภาพของความประทับใจ จากการเดินทางไปเจริญกุศลในครั้งนี้ ดังนี้

บทสัมภาษณ์ อ.ดวงเดือน กับ หนังสือพิมพ์สาส์นสวรรค์

ประจำวันที่ 1-31 ธันวาคม พ.ศ. 2553

จากคอลัมน์ เพชรในตม

.........

มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา เป็นศูนย์รวมของคนดี เริ่มตั้งแต่ท่านอาจารย์ผู้สอน ผู้บริจาคที่ดินให้กับมูลนิธิฯ อาสาสมัคร และยังมีอีกหลากหลายท่าน ที่ยังไม่ได้กล่าวถึง คนที่นี่ส่วนใหญ่มีไมตรีจิต โอบอ้อมอารี เอื้อเฟื้อ และพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือด้านต่างๆ เสมอ เช่น ในเวลาที่ผู้สัมภาษณ์ มีปัญหาติดขัดในเรื่องต่างๆ ต้องขอขอบพระคุณทุกท่านนะคะ ผู้สัมภาษณ์รู้สึกยินดีและเต็มใจอย่างยิ่ง ที่ได้เขียนคอลัมน์ "เพชรในตม" นี้ เพราะมีความตั้งใจอยู่แล้ว ว่าต้องการที่จะส่งเสริมและสนับสนุนคนที่ทำดีในสังคม โดยที่ไม่หวังสิ่งตอบแทน ไม่ว่าจะเป็นลาภ ยศ สรรเสริญ อยากจะบอกกล่าวให้ทุกคนได้รับรู้ว่า ทุกวันนี้คนที่ทำดียังมีอยู่ แต่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้รับรู้ เพราะท่านเหล่านั้น มักจะไม่ค่อยแสดงตัวตนหรือเปิดเผยว่า ตัวเองได้ทำดีอะไรบ้าง

เป็นสิ่งที่อึดอัดใจพอสมควร สำหรับผู้สัมภาษณ์ เพราะว่าผู้สัมภาษณ์ ต้องค้นหาข้อมูล จากคนรอบข้างหลายๆ ท่าน เช่น ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ เจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ วิทยากร และ อาสาสมัคร แล้วนำข้อมูลที่ได้มา มาถามเจ้าตัวอีกครั้งหนึ่ง ตอนแรกที่จะขอสัมภาษณ์ คุณดวงเดือน บารมีธรรม ไม่ค่อยอยากให้สัมภาษณ์เท่าไหร่นัก เนื่องจาก ท่านเป็นคนที่ต้องการสร้างกุศลแบบเงียบๆ ไม่อยากประกาศตัวให้ใครได้รับรู้ แต่พอผู้สัมภาษณ์ได้สนทนากับคุณดวงเดือน ผู้สัมภาษณ์ ก็ได้เห็นถึงความเมตตา และจิตใจที่โอบอ้อมอารีที่มีอยู่ในตัวท่าน คุณดวงเดือน เป็นผู้ที่พยายามสร้างกุศลทุกทาง ผู้สัมภาษณ์ขอกราบขอบพระคุณเป็นอย่างมาก ที่ได้กรุณาเสียสละเวลาอันมีค่าให้กับทางหนังสือพิมพ์ สาส์นสวรรค์ และขออนุโมทนากับกุศลทุกอย่าง ที่คุณดวงเดือนได้สร้างขึ้นค่ะ ท้ายสุด คุณดวงเดือน ได้กล่าวว่า

” ถ้าทุกคนเข้าถึงธรรมะ ก็จะสร้างกุศลเอง เพราะธรรมได้ขัดเกลา ”

ลองอ่านเส้นทางในการดำเนินชีวิตของ คุณดวงเดือนดูนะคะ เผื่อว่าจะได้เป็นแรงบันดาลใจ ให้กับผู้ที่คิดจะทำดี ได้เป็นแบบอย่างค่ะ

“ เมื่อตอนเด็กไม่ได้ทำบุญเลย หมายถึงบุญในลักษณะวัด เพราะเรียนอยู่โรงเรียนวัฒนา ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำ เขาสอนเกี่ยวกับศาสนาคริสต์ เราต้องเรียนพระคัมภีร์ เขาจะพูดถึงพระเยซู พอจบมัธยมแปด ก็ไม่ค่อยได้เกี่ยวข้องกับศาสนาพุทธ แต่ก็นับถือพุทธเหมือนทุกคน ตอนที่จบจากโรงเรียนวัฒนาแล้ว ก็ไปสอบเข้าจุฬา ก็ไม่ได้สนใจพุทธศาสนา เพราะมุ่งแต่เรียน แล้วก็ไปเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษ

ตอนช่วงอยู่ที่อังกฤษ ปิดเทอมภาคฤดูร้อนสองเดือน ก็จะไปตามร้านหนังสือ แล้วได้เจอหนังสือ ชื่อ “Buddhism” ซึ่งเป็นหนังสือเกี่ยวกับพุทธศาสนานิกายมหายาน ทำให้ได้ความคิดว่าศาสนาของเราก็มีดีเยอะ เลยเริ่มต้นสนใจตรงนั้น และทำให้เป็นจุดสนใจ หลังจากนั้น ก็รู้จักท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ จากการฟังรายการทางวิทยุ ปีพ.ศ.2516 คิดว่าเป็นธรรมะที่ถูกต้อง เพราะสอนจากพระไตรปิฎก สอนเกี่ยวกับการเจริญวิปัสสนา และการดำเนินชีวิตประจำวัน ศึกษามา 37 ปีแล้ว (เมื่อปี ๒๕๓๓)

ในตอนแรก ท่านอาจารย์สุจินต์ ได้บรรยายที่วัดมหาธาตุ ต่อมา ก็มาอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร แล้วก็ออกมาจากวัดบวร และ ต้องอาศัยบ้านท่านอาจารย์สุจินต์เป็นที่ตั้งมูลนิธิอยู่ 1 ปี แล้วก็ย้ายมาที่บ้านดิฉัน ก็คิดว่า มูลนิธิฯ น่าจะมีสถานที่เป็นของตัวเอง เพราะแม้แต่ที่สนทนาธรรม ก็ต้องอาศัยเขาอยู่ เรามีของเราดีกว่า ในช่วงนั้นคุณแม่เสียชีวิต ก็คิดว่าเป็นการอุทิศกุศลให้คุณแม่ และเป็นการบูชาพระธรรม บูชาท่านอาจารย์สุจินต์ด้วย ไม่เช่นนั้นการเผยแพร่ศาสนา ก็จะแคบ ก็เลยบริจาคที่ดินให้กับมูลนิธิฯ 432 ตารางวา (1 ไร่ 32 ตารางวา) มูลค่า 20 ล้านบาท และค่าโอนอีกต่างหาก จำนวน 977,177.00 บาท

พอมีมูลนิธิฯ ผู้ที่สนใจธรรมะก็ได้ประโยชน์เต็มๆ การที่จะเผยแพร่พุทธศาสนาก็กว้างไปอีกเยอะ บางคนก็มาขอหนังสือ บางคนชรา ท่านอยากมีเพื่อนแล้วก็สนใจธรรมะ ก็มากัน บางคนก็ได้พบปะกัน แต่ส่วนใหญ่สนใจธรรมะ ที่นี่มีห้องสมุดเล็กๆ อยู่ ใครสนใจธรรมะ จะเข้ามาอ่านหนังสือในห้องสมุดก็ได้ เข้าออกได้ตลอดเวลา ในวันและเวลาราชการ ส่วนวันเสาร์และวันอาทิตย์ จะมีการสนทนาธรรม โดยท่านอาจารย์สุจินต์ และวิทยากร 8 ท่าน ห้องสนทนาธรรม บรรจุคนได้ประมาณ 200 คน

(หลังรับประทานอาหารเสร็จ เดินออกกำลังกาย ย่อยอาหาร ชมงานวัดใกล้ๆ ที่พัก ยามค่ำ)

ผู้สัมภาษณ์ได้สอบถามท่านอาจารย์สุจินต์ ถึงเรื่องกุศลด้านต่างๆ ที่คุณดวงเดือนได้สร้างขึ้น ท่านอาจารย์สุจินต์ ก็ได้กรุณาให้ข้อมูลดังนี้ค่ะ

คุณดวงเดือนเป็นผู้ที่ปิดทองหลังพระ อุปถัมภ์เด็กยากจนที่เรียนดีแต่ด้อยโอกาส ที่ไม่มีเงินหลายคน จนจบ ทำเช่นนี้ อย่างเสมอต้นเสมอปลาย ให้คนโดยไม่ได้บอกอะไร และไม่ประสงค์สิ่งตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น ท่านจะไม่ประกาศโฆษณาตัวเอง ท่านเป็นผู้บริจาคที่ดินมูลนิธิฯ จัดรถรับส่งให้ท่านอาจารย์สุจินต์ เพื่อรับมาสนทนาธรรม ตั้งแต่ที่ท่านอาจารย์สุจินต์บรรยายธรรมอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร จนกระทั่งถึงปัจจุบัน เมื่อก่อนนี้คุณดวงเดือนขับรถรับส่งท่านอาจารย์สุจินต์ด้วยตัวเอง แต่เดี๋ยวนี้ ให้คนขับรถรับส่งแทน

(ตื่นแต่เช้า เดินออกกำลังไปชมสะพานไม้ ยามเช้า ก่อนไปมีโอกาสชมรายการบ้านธัมมะ ด้วย)

และเลี้ยงข้าวคนที่มาฟังธรรม ที่บ้านคุณดวงเดือนประมาณ 50-60 คน อาทิตย์ละครั้ง ทุกวันอาทิตย์ หลังมูลนิธิฯสร้างไม่กี่ปี และทำมาตลอด ท่านเป็นเหรัญญิกของมูลนิธิฯ สนับสนุนมูลนิธิฯ อยู่ด้านหลัง ตรวจหนังสือของท่านอาจารย์สุจินต์ แปลหนังสือธรรมะ จากหนังสือภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย (พระอภิธรรมในชีวิตประจำวัน) การเผยแพร่ธรรมะ หนังสือเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เวลาที่พูดแล้ว ถ้าไม่มีการรวบรวมเก็บเป็นหนังสือ คนที่ไม่ได้มาฟัง ก็ไม่มีโอกาสที่จะได้เข้าใจ

เพราะฉะนั้น หลักของเรา ก็คือ มีการพิมพ์หนังสือเป็นธรรมบรรณาการ เพราะมีผู้บริจาค ที่ได้เห็นประโยชน์ของธรรม ได้ช่วยงานหนังสือ เป็นงานที่ละเอียดมาก ต้องเป็นคนที่เอาใจใส่ สนใจ เห็นประโยชน์จริงๆ จึงสามารถที่จะทำได้ ทั้งในเรื่องพิสูจน์อักษร ทั้งในเรื่องเนื้อความ หนังสือทุกเล่ม ก็จะผ่านคุณดวงเดือน คุณดวงเดือน เป็นผู้พิจารณา แล้วก็ตรวจดูแลความเรียบร้อยของมูลนิธิฯ และก็ทำทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นด้านสถานี เป็นผู้ที่ศึกษาธรรม อย่างไม่ขาดการฟังเลย

ท่านให้ความอุปถัมภ์และช่วยเหลือทุกอย่างที่เกี่ยวกับมูลนิธิฯ อุทิศกายใจและกำลังทรัพย์ นับว่าเป็นบุคคลที่หาได้ยากมาก เป็นตัวอย่างที่ดี เป็นคนตรง ช่วยเหลือคน โดยไม่เลือกว่าเป็นใคร ไม่ต้องการชื่อเสียง ถ้าเห็นว่าสิ่งที่เป็นกุศล ก็จะช่วย ทุ่มเทกับพระพุทธศาสนา บริจาคเงินเพื่อศาสนาเยอะ

คุณดวงเดือนเห็นประโยชน์ว่า ถ้าช่วยคนทั่วไป ช่วยแล้วสามารถทำให้พ้นทุกข์ได้จริงๆ ก็เลยมีศรัทธาทางพุทธศาสนามาก ทำอะไรไม่หวังผลตอบแทน ใจบุญ และ มีความเข้าใจธรรมะ ด้วย โดยปวารณาตัวว่า อยากช่วยเหลือทุกอย่าง ที่เกี่ยวกับมูลนิธิฯ ทั้งแม่และลูก มีความศรัทธาในพระพุทธศาสนา

ปัจจุบันนี้คุณดวงเดือน ได้สร้างศูนย์เด็กเล็กซองกาเรีย มีเด็กประมาณ 62 คน (เด็กกระเหรี่ยงที่สังขละ จังหวัดกาญจนบุรี) เป็นเด็กกระเหรี่ยงที่ยากจน ไม่มีสัญชาติ อยู่ตามแนวตะเข็บชายแดน ระหว่างประเทศไทยกับประเทศพม่า ป่วยเจ็บต้องรักษาเอง ที่ไปเจอ เพราะเผอิญไปเที่ยว ก็เลยได้โอกาสทำกุศล

เด็กเหล่านี้ไม่ได้รับการศึกษามาก่อน พอดีคุณศุภชัย ชาวกระเหรี่ยง เขาก็เอาใจใส่คนชาติเขา เขาก็เลยขอให้คุณดวงเดือน สร้างอาคารให้สำหรับนำเด็กเล็กมาอยู่ แล้วก็ให้อาหารกลางวันเขา บางคนเรียนดีก็จะส่งเข้าโรงเรียนรัฐบาล ขณะนี้มีอยู่ 5 คน (ปัจจุบันปี ๒๕๕๘ มี ๑๐ คน)

เป็นอย่างไรบ้างคะ สำหรับเรื่องราวของคุณดวงเดือน ผู้สัมภาษณ์คิดว่า ใครที่ได้อ่านเรื่องราวของคุณดวงเดือน คงร่วมอนุโมทนากับกุศล ที่คุณดวงเดือนสร้างขึ้น

ภายหลังการรับประทานอาหารเช้าในวันที่ ๒ แล้ว ทุกท่านได้ออกเดินทางไปยัง ศูนย์เด็กเล็กวัดซองกาเรีย พร้อมชุดข้าวของเครื่องใช้ที่ทุกคนได้ร่วมกันบรรจุลงถุงผ้า ที่ตัดเย็บมาอย่างดี จำนวนหลายร้อยใบ ซึ่งท่านอาจารย์ดวงเดือน บารมีธรรม สั่งตัดเย็บมาจากโรงงานของคุณทวีชัย อยู่มั่นธรรมา ทั้งยังสกรีนข้อความ "ที่ระลึก ศูนย์เด็กเล็ก วัดซองกาเรีย สังขละบุรี" ขออนุโมทนาทุกๆ ท่าน ที่นำข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ มาร่วมเจริญกุศลกับท่านอาจารย์ดวงเดือน ซึ่งท่านอาจารย์มีกุศลจิตที่จะทำทานกุศลนี้เอง ท่านไม่เคยบอกกล่าวเรี่ยไรใครเพื่อการนี้เลย ท่านมีกุศลจิตเต็มเปี่ยมในการให้อย่างยิ่ง ไม่ให้ใครต้องจ่ายทรัพย์ใด เพื่อการนี้เลย ท่านเป็นผู้จ่ายทรัพย์ของท่านเองทุกประการเพื่อการนี้ ไม่ว่าจะเป็นค่ารถ ค่าที่พักทั้งหมด ค่าอาหารทุกมื้อ ค่าเช่าแพเพื่อนำเที่ยวในลำน้ำ ตลอดจนค่าจัดหา จัดซื้อ สิ่งของ เครื่องอุปโภค บริโภค ทุกอย่างทุกประการ ส่วนที่ว่า ท่านใดจะมีกุศลจิต ใคร่ที่จะร่วมเจริญกุศลกับท่านด้วยใจจริง ท่านผู้นั้น ต้องไปกราบเรียนขอโอกาสกับท่านเองเป็นการเฉพาะคราว เนื่องจากท่านมีกุศลจิตที่แน่วแน่ ในทานกุศลนี้ ที่จะไม่ให้เป็นการเบียดเบียนใครๆ

อย่างไรก็ดี จากบทสัมภาษณ์ ที่ได้ยกมาข้างต้น จะเห็นได้ว่าท่านทำกุศลด้วยใจจริง เป็นการให้ โดยไม่หวังในลาภ ยศ ชื่อเสียงใดๆ ตอบแทนเลย เป็นตัวอย่างของการทำความดีของบุคคล ที่ มีความเข้าใจธรรมะ ดังคำปรารภของท่าน กับผู้สัมภาษณ์ ที่ว่า...

” ถ้าทุกคนเข้าถึงธรรมะ ก็จะสร้างกุศลเอง เพราะธรรมได้ขัดเกลา ”

อันดับต่อไป ข้าพเจ้าจึงขอนุญาต นำจดหมายของท่านอาจารย์ดวงเดือน บารมีธรรม ที่ได้มีไปถึงท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๑๖ ปรากฏในคำบรรยายแนวทางเจริญวิปัสสนา (ชุดเทปวิทยุ) ครั้งที่ ๓๒๓ มาให้ทุกท่านได้อ่าน และ พิจารณา ทั้งนี้เพื่อเป็นเกียรติแก่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา และ บันทึกไว้เป็นเกียรติคุณ แด่ท่านอาจารย์ดวงเดือน บารมีธรรม ในโอกาสอันควรนี้ อีกครั้งหนึ่ง นะครับ

.........

บ้านเลขที่ ๕๙๐ ซอยตากสิน ๘ ถนนเจริญนคร

บุคคโล กรุงเทพมหานคร

๑๓ มีนาคม ๒๕๑๖

กราบเรียนท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพ

ความจริง ดิฉันได้ศึกษาแนวทางปฏิบัติกับท่านอาจารย์เป็นประจำ แต่ยังนับว่าเป็นนักเรียนใหม่อยู่ เพราะเริ่มมาเรียนได้ ๓ – ๔ เดือนเท่านั้น แม้ว่าจะได้รับฟังการบรรยายมาก่อนหน้านี้ก็ตาม ดิฉันขอยอมรับว่า เพิ่งจะเริ่มเข้าใจแนวการสอนของท่านอาจารย์ ทั้งนี้ ก็คงเป็นด้วยที่ไม่ได้อบรมสติปัญญาในอดีตมาเพียงพอ อีกประการหนึ่ง ในวัยเด็กจนเติบใหญ่ ดิฉันห่างไกลกับวัดและธรรมมาก ใช้เวลาร่วม ๑๓ ปี ในโรงเรียนประจำของพวกมิชชันนารี และเมื่อจบการศึกษาจากโรงเรียน ก็ให้ความสนใจแต่การศึกษาทางโลก

ดิฉันเริ่มสนใจและศึกษาพระพุทธศาสนาก็เมื่ออายุ ๒๕ ปีแล้ว และในขณะนั้น ศึกษาอยู่ในประเทศอังกฤษ จึงต้องอาศัยตำรับตำรา ที่ชาวพุทธตะวันตกเขียนขึ้น ซึ่งบางท่านก็นำเอาอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์มาแทรกไว้ บางท่านก็เป็นชาวพุทธนิกายเซนของญี่ปุ่น และบางท่าน ก็แทรกเอาทัศนะของตนเองไว้ แต่ก็มีหลายท่าน ที่ได้จำกัดขอบเขตหัวข้อ ให้ตรงตามพุทธวัจนะ

อย่างไรก็ตาม กว่าดิฉันจะสามารถวิเคราะห์แยกได้ว่า ธรรมข้อใดเป็นพุทธวัจนะ ธรรมใดเป็นเนื้องอก และธรรมใด ที่ไม่ได้ปรากฏอยู่ในพุทธศาสนาเลย ก็ใช้เวลาอยู่หลายปี และก็ในประเทศไทยนี้เอง ธรรมที่สอนกันอยู่ก็แตกต่างกันออกไป โดยเฉพาะ ในด้านปฏิบัติ อันเป็นเหตุให้ผู้ใคร่ในธรรม แต่ยังด้อยด้วยปัญญา พากันสับสน วุ่นวาย

ดิฉันเองได้ผ่านการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานในสำนักต่างๆ หลายแห่งด้วยกัน แต่ละสำนัก ก็มีข้อปฏิบัติแตกต่างกัน ดิฉันจึงไม่ทราบว่า การปฏิบัติสำนักใดถูกต้องตามพุทธวัจนะ แต่ทราบอยู่ข้อหนึ่งว่า การปฏิบัติบางแห่งนั้น แทนที่จะเป็นวิปัสสนา กลับเป็น "สมาธิ" จนกระทั่งได้มีโอกาสฟังการบรรยายทางวิทยุของท่านอาจารย์โดยบังเอิญ ในรายการตอนเช้าวันหนึ่ง เมื่อประมาณ ๖ – ๗ เดือนก่อน

และ ในเวลาใกล้ๆ กันนั้น ดิฉันได้รับหนังสือ “Buddhist Outlook on Daily Life” โดย Nina Van Gorkom จากคำนำในหนังสือ ดิฉันทราบว่า ผู้เขียนได้รับคำแนะนำจากท่านอาจารย์ การที่ผู้เขียนได้เขียนถึงวิธีนำธรรมมาใช้ในชีวิตประจำวันนั้น เป็นที่สนใจแก่ดิฉันและเพื่อนชาวต่างประเทศมาก พระพุทธศาสนามีประโยชน์ต่อเวไนยสัตว์ก็ตรงนี้เอง การที่ท่านอาจารย์เน้นหนักการบรรยายธรรมในข้อนี้ นับว่าเป็นสิ่งสำคัญ นับเป็นประโยชน์ที่สุด

ดิฉันใคร่ขอกราบเรียนเพิ่มเติมว่า ดิฉันจับใจ ในข้อความที่ท่านอาจารย์ได้กล่าวไว้ในการบรรยายธรรม เมื่อ ๓ – ๔ สัปดาห์ก่อนนี้ว่า ความรู้สึกหวั่นไหวก็ดี ความโกรธ ความกลัว ความรักก็ดี ย่อมเกิดขึ้น เมื่อมีเหตุปัจจัย จะบังคับบัญชาให้เกิดหรือไม่ให้เกิด ก็ไม่ได้ เพราะสภาวธรรมเหล่านี้ เป็นอนัตตา ทำไมเราถึงต้องทำจิตให้สงบ? หรือ แสวงหาสถานที่ที่ทำจิตสงบ? การรู้ การเห็นสภาวธรรม ตามความเป็นจริงว่า เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จะทำให้จิตสงบขึ้นทีละน้อย ก็ขอให้ท่านผู้ฟังเลือกเองว่า จะรู้สภาวธรรมตามความเป็นจริงเสียก่อน แล้วปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่น จิตมีความสงบขึ้นภายหลัง หรือ ท่านจะเลือกวิธีทำจิตให้สงบ แต่ปัญญาไม่เกิด ที่จะเห็นสภาวธรรมตามความเป็นจริง

ขอประทานอภัย ที่ดิฉันไม่สามารถจดจำถ้อยคำของท่านอาจารย์ได้ จึงต้องใช้สำนวนของตนเอง ซึ่งค่อนข้างจะเยิ่นเย่ออยู่สักหน่อย อย่างไรก็ตาม ถ้อยคำดังกล่าวเป็นความจริงแท้ ก็เมื่อโลกปรากฏแก่เราในปัจจุบัน เราก็จะต้องเผชิญกับสภาวธรรมที่เกิดขึ้น ตามความเป็นจริง

เหตุที่ดิฉันจดหมายมาครั้งนี้ ก็ไม่ได้มีวัตถุประสงค์จะเรียนถามปัญหาแต่ประการใด แต่เพื่อกราบเรียนให้ทราบถึงความรู้สึกกตัญญู ที่ท่านอาจารย์ได้เสียสละเวลามาแสดงธรรม เป็นการเกื้อกูลแก่เพื่อนมนุษย์ ซึ่งดิฉันแน่ใจว่า ผู้ฟังประจำ หรือทางวิทยุก็ดี ย่อมมีความรู้สึกเช่นเดียวกัน

และใคร่ถือโอกาสกราบเรียนว่า ดิฉันจะปีติปราโมทย์อย่างยิ่ง หากดิฉันมีโอกาสรับใช้ท่านอาจารย์ ในกิจการเผยแพร่ธรรม ทั้งนี้เพื่อร่วมกิจการอันเป็นบุญกุศล และเป็นการสนองคุณท่านอาจารย์ ที่กรุณาเผยแพร่ธรรม อันเป็นมรดกอันล้ำค่าแก่พวกเรา ดิฉันพอจะทำหน้าที่พนักงานพิมพ์ดีดภาษาอังกฤษ แปลไทยอังกฤษและตอบรับจดหมายได้ แต่งานประจำวันของดิฉัน คือ สอนหนังสือค่ะ

ข้อความบางตอนจากหนังสือ บารมีในชีวิตประจำวัน โดนท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

"...บรรณาการที่ประเสริฐสุด คือ พระรัตนตรัย การที่ทุกท่านเกิดมาพบกัน แต่ละชาติ ในสังสารวัฏฏ์ บางชาติ ก็อาจจะเป็นมิตรสหาย บางชาติ ก็อาจเป็นศัตรู หรือบางชาติ ก็อาจจะเป็นมารดา บิดา เป็นญาติพี่น้อง แต่ชาติที่ได้เกื้อกูลกัน เป็นมิตรกันในพระธรรม หรือมีส่วนร่วมกันเผยแพร่พระธรรม ชาตินั้น ก็ต้องเป็นชาติที่ประเสริฐสุด ในสังสารวัฏฏ์ ยิ่งกว่าชาติอื่นๆ ที่เกิดมาโดยสถานอื่น..."

ข้อความจาก 00093 แนวทางเจริญวิปัสสนา แผ่นที่ ๒๗ - ชุด แนวทางเจริญวิปัสสนา

ครั้งที่ 1587

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฎราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๒๙

.........

เพราะฉะนั้น สำหรับที่ว่า “เจริญกุศลทุกประการ” ขออย่าได้เป็นผู้เว้นไม่เจริญกุศลประการหนึ่งประการใด ทั้งในขั้นของทาน ศีล ความสงบของจิตจากอกุศล และการเจริญสติปัฏฐานด้วย แม้แต่ในเรื่องของทานเรื่องเดียว ก็มีทั้งวัตถุทาน อภัยทาน และ ธรรมทาน ซึ่งก็ควรที่จะครบทั้ง ๓ ทาน เพราะเหตุว่า ผู้ที่ควรแก่วัตถุทานก็มีมากไม่ใช่น้อยเลย และก็วันหนึ่ง ถ้าไม่มีทานกุศลเลย ก็เป็นไปไม่ได้แน่ ที่จะดับกิเลสเป็นสมุจเฉทได้ ในชาติหนึ่งๆ ที่ทานกุศลไม่เกิด ถ้าไม่มีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่มีกุศลจิตแม้ขั้นทาน แล้วก็จะให้กิเลสดับ ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

สำหรับ "อภัยทาน" ไม่ต้องมีวัตถุไทยธรรม ที่จะให้ แต่ก็ควรพิจารณาว่า จะยากกว่าการสละวัตถุทานหรือเปล่า? เพราะเหตุว่า เป็นการสละ ความเห็นแก่ตัว ความรักตัว ในการที่ไม่อภัย ในความผิดของคนอื่น หรือ ในความบกพร่องของคนอื่น ขณะที่ไม่อภัยให้บุคคลอื่น ขณะนั้นลองพิจารณาดูว่า เพราะรักตัวเองหรือเปล่า? ที่ทำให้ไม่สามารถอภัยในความผิด หรือในความบกพร่องของคนอื่นได้ ลึกลงไปจริงๆ เป็นเพราะความรักตัว ความยึดมั่นในตัวตนหรือเปล่า? การสละความเห็นแก่ตัว ขั้นอภัยทาน ทำให้สละความคิดร้าย สละความแค้นเคือง สละความผูกโกรธ สละความไม่หวังดี สละความไม่เป็นมิตร สละความไม่เกื้อกูล สละความไม่มีน้ำใจต่อคนอื่น

ทุกคน พระธรรมเหมือนกระจก ที่จะส่องตัวท่าน ให้รู้จักตัวท่าน ตามความเป็นจริงชัดเจนว่า ท่านมีทานขั้นไหน เพียงวัตถุทาน หรือว่าอภัยทานด้วย เพราะบางคนสละวัตถุง่าย แต่อภัยทานยาก เพราะฉะนั้น ก็เห็นความเห็นแก่ตัว ความยึดมั่นในตัวตน ความรักตัว ซึ่งเป็นเหตุที่ทำให้ไม่อภัยในความผิด และความบกพร่องของคนอื่น ถ้าเห็นความบกพร่องของตัวเองที่ไม่อภัย เห็นความเห็นแก่ตัวเองที่ไม่ให้อภัยคนอื่น ก็ควรที่จะเห็นความเห็นแก่ตัวนั้นว่า เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ น่ากลัว และก็ควรที่จะรีบอภัยให้ทันที


การจะไม่มีอกุศลธรรมที่น่ารังเกียจ ที่เป็นความเห็นแก่ตัวนั้นๆ ก็ควรที่จะคิดต่อไปอีกว่า ผู้ที่ควรแก่การรับอภัยทานนั้น มีใครบ้าง? เพราะบางคนก็ช่างคิด คนนี้อภัยให้ได้ คนนั้นอภัยให้ไม่ได้ นี่ก็เป็นเรื่องของอกุศลทั้งนั้น ไม่มีความเสมอกันในสภาพธรรมที่ยึดถือว่าเป็นบุคคลต่างๆ เพราะฉะนั้น ก็ควรที่จะพิจารณาว่า ผู้ที่ควรแก่การที่จะรับอภัยทานนั้นมีใครบ้าง จะเว้นไหม? หรือ ไม่ควรเว้น? ทุกคน ไม่ว่าคนดีและคนชั่ว บางคนอาจจะอภัยให้เฉพาะคนดี เพราะเหตุว่าเขาดี ก็อภัยให้ แต่คนชั่วไม่อภัย

นี่ค่ะ ลองพิจารณาจิต ในขณะนั้นจริงๆ พระธรรมที่ทรงแสดงให้เห็นถึง โลภะ ความยึดมั่น ในความเป็นตัวตน และ อโลภะ ที่จะค่อยๆ สละความยึดมั่น ในความเห็นแก่ตัว หรือในความเป็นตัวตน ที่จะต้องไม่ใช่แต่เฉพาะสละวัตถุเป็นทาน เท่านั้น แม้อภัยทาน ก็ควรที่จะมีแก่ "ทุกคน" ไม่ใช่แต่เฉพาะกับคนดี เพราะเหตุว่า คนดีก็อาจจะมีบางครั้งบางคราว ซึ่งผิดพลาดพลั้งเผลอ ทำให้คนอื่นคิดมาก เป็นทุกข์โดยไม่ตั้งใจ เพราะว่าทุกคนเป็นอย่างนี้ค่ะ วันหนึ่งสุขทุกข์ ก็เกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ต่างๆ เรื่องราวต่างๆ บุคคลต่างๆ อาจจะเป็นโดยความบังเอิญ โดยความประจวบกัน ของเรื่องราวและเหตุการณ์อื่นๆ หรือว่าการฟังผิด การคิดผิด การเข้าใจผิดเล็กๆ น้อยๆ ก็ผสมผสานกัน ทำให้โลภะ ซึ่งเป็นความรักตน ยึดมั่นในตน เป็นเหตุให้ผูกโกรธ และ ไม่อภัย ในกายวาจา ใจ ของคนอื่น ซึ่ง ขณะที่ไม่อภัยให้นั้น ขณะนั้น ไม่ได้สละความเห็นแก่ตัว ของตนเอง

เพราะฉะนั้น ถ้าอภัยให้เมื่อไร ก็แสดงว่าสละความรักตน ความยึดมั่นในตน ความเห็นแก่ตนลง เพราะฉะนั้น ธรรม เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณา โดยละเอียดจริงๆ แม้แต่การไม่อภัย ก็ต้องรู้ว่า มีเพราะโลภะเป็นเหตุ เพราะฉะนั้น ถ้าสภาพธรรมที่เป็นโลภะเกิดขึ้น คลายความยึดมั่นในตัวตน ก็จะทำให้อโลภะเจริญขึ้น จนถึงขั้นที่สามารถจะดับกิเลสได้

สำหรับ "ธรรมทาน" เป็นการ "สละความเห็นแก่ตัวขั้นสูง" ทีเดียว เพราะเหตุว่า กุศลทั้งหลายจะเจริญขึ้นได้ ก็เพราะธรรมทาน แม้ว่าจะมีวัตถุทานสักเท่าไร ก็ไม่พอที่จะเกื้อกูลคนที่ยากไร้ ที่ควรแก่การที่จะรับวัตถุทาน ในสังสารวัฏฏ์ ทั้งในอดีต ทั้งปัจจุบัน ทั้งอนาคต การที่จะสงเคราะห์ช่วยเหลือบุคคลอื่นด้วยวัตถุทาน ก็เป็นเพียงการช่วยเหลือสงเคราะห์ ให้เขาอยู่ต่อไปในสังสารวัฏฏ์ เวียนสุข เวียนทุกข์ ซึ่งไม่พ้นจากการลำบากยากไร้ได้ โดยเด็ดขาด

เพราะฉะนั้น ธรรมทาน จึงเป็นการสละการเห็นแก่ตัว ความยึดมั่นในตัวตน โดยบำเพ็ญขั้นประโยชน์สูงสุด คือ ผู้ที่จะเกื้อกูลบุคคลอื่นในทางธรรม ต้องเป็นผู้ที่ศึกษาพระธรรม พิจารณาพระธรรม เผยแพร่พระธรรม ช่วยเหลือบุคคลอื่น ให้เข้าใจพระธรรม โดยทางหนึ่งทางใด ไม่ว่าจะเป็นโดยการสนทนา โดยการพิมพ์หนังสือ โดยการสงเคราะห์ช่วยเหลือในเรื่องที่จะเป็นไปในธรรมทั้งหมด ก็เป็นธรรมทาน และพร้อมกันนั้น ก็เป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติธรรม ทุกประการด้วย ไม่ใช่เพียงแต่เป็นผู้ที่จะให้ธรรมเป็นทาน เท่านั้น แต่จะต้องปฏิบัติธรรมด้วย

การฟังพระธรรม ไม่มีวันจบ การศึกษาพระธรรม ก็ไม่มีวันจบ กิจที่จะกระทำ ก็ไม่มีวันจบสิ้น จนกว่าจะถึงความเป็นพระอรหันต์ เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องซึ่ง ทุกท่านจะต้องเจริญกุศล เป็นบารมี ต่อไปเรื่อยๆ

เหตุให้เกิดโยนิโสมนสิการ ในชีวิต ทุกชาติ จากการฟังพระธรรมและศึกษาพระธรรม

ข้อความในสัมโมหวิโนทนี อรรถกถา วิภังคนิทเทส สมาธิสัมโพชฌงค์

มีข้อความว่า...

จิตสังเวช ด้วยการพิจารณาวัตถุ ๘ ประการ ชื่อว่า สังเวควัตถุ ๘ คือ ชาติ ชรา พยาธิ มรณะ รวมเป็น ๔ อบายทุกข์ เป็นที่ ๕ วัฏฏมูลกทุกข์ในอดีต เป็นที่ ๖ วัฏฏมูลกทุกข์ในอนาคต เป็นที่ ๗ อาหารปริเยฏติมูลกทุกข์ในปัจจุบัน เป็นที่ ๘ และยังความเลื่อมใสให้เกิด ด้วยการระลึกถึงคุณแห่งพระรัตนตรัย

นี่คือ การที่จิตจะสังเวช ถอยกลับจากการที่จะเป็นอกุศล ด้วยการพิจารณา สังเวควัตถุ ๘ ประการนี้

เพราะเหตุว่า มีชีวิตอยู่ในโลกนี้ตลอดไปไม่ได้ สิ่งใดที่เคยถือว่าเป็นของเรา ทั้งศีรษะตลอดเท้า ก็ไม่ใช่ เพราะเหตุว่า จะต้องถึงมรณะในวันหนึ่ง ซึ่งจะไม่มีความเป็นบุคคลนี้อีกต่อไป นี่คือสิ่งที่เคยหวงแหนเป็นที่สุด คือ สิ่งที่เคยยึดถือว่าเป็นตัวตน ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า

สำหรับทรัพย์สมบัติทั้งหลาย ก็แสดงให้เห็นถึงความไม่เที่ยง ความเปลี่ยนแปลง แม้ยังไม่จากโลกนี้ได้ เพราะฉะนั้น ก็ควรที่จะได้เห็นว่า ถึงอนาคตชาติ ก็ต้องเป็นอย่างนี้อีก คือ ไม่มีสิ่งใดเลย ที่จะเป็นสมบัติอันแท้จริง เพียงแต่ว่าสภาพธรรมแต่ละอย่าง เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้น มี ก็เหมือน ไม่มี เป็นสิ่งที่ว่างเปล่าจริงๆ เพราะเหตุว่าเมื่อดับไปแล้ว สิ่งนั้นไม่ได้กลับมาอีก

เคยเฉลียวใจบ้างไหมคะ ที่ในพระไตรปิฎก เต็มไปด้วยเรื่องของ โลภะ โทสะ โมหะ โลภะ โทสะ โมหะ มากกว่า เรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน ซึ่งเป็นเพียงบางสูตร เพราะเหตุว่า หนทางที่จะดับกิเลส มีหนทางเดียว คือ การเป็นผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐาน เมื่อได้เข้าใจหนทางนี้ถูกต้องแล้ว และ เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน ก็ย่อมระลึกรู้ ลักษณะของสภาพธรรม ในชีวิต ตามปกติ

เช่น ในขณะที่เป็นโลภะ ในขณะที่เป็นโทสะ ในขณะที่เป็นกุศล ซึ่งมีมากกว่า ในขณะที่เป็นกุศล ในวันหนึ่งๆ เพราะฉะนั้น แม้ว่าจะเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานแล้ว ก็ยังมีปัจจัย ที่จะทำให้กุศลเกิดขึ้นปรากฏให้รู้ ซึ่งถ้าไม่รู้จัก ลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ตามความเป็นจริง ก็ดับกิเลสไม่ได้เลย

ข้อความในอังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ทุติยปัณณาสก์ พราหมณวรรค ที่ ๑

ชนสูตรที่ ๑ ข้อ ๔๙๑ มีข้อความว่า

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาค ประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล พราหมณ์ ๒ คน เป็นคนชรา แก่เฒ่าล่วงกาลผ่านวัยมาโดยลำดับ มีอายุได้ ๑๒๐ ปีแต่กำเนิด ได้ชวนกันไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลว่า...

พวกข้าพระองค์เป็นพราหมณ์ชรา แก่เฒ่า กาลผ่านวัยมาโดยลำดับ มีอายุได้ ๑๒๐ ปีแต่กำเนิด แต่มิได้สร้างความดี มิได้ทำกุศล มิได้ทำกรรม อันเป็นที่ต้านทานความขลาดไว้ ขอพระโคดมผู้เจริญ ทรงโอวาทสั่งสอนพวกข้าพระองค์ถึงข้อที่จะพึงเป็นไป เพื่อประโยชน์และ ความสุข แก่พวกข้าพระองค์สิ้นกาลนานเถิด

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรพราหมณ์ ที่แท้ พวกท่านเป็นคนชรา แก่เฒ่า ล่วงกาลผ่านวัยมาโดยลำดับ มีอายุได้ ๑๒๐ ปีแต่กำเนิด แต่มิได้สร้างความดี มิได้ทำกุศล มิได้ทำกรรมอันเป็นที่ต้านทานความขลาดไว้

เมื่อโลกถูกชรา พยาธิ มรณะ นำเข้าไปอยู่เช่นนี้ ความสำรวมทางกาย ความสำรวมทางวาจา ความสำรวมทางใจ ในโลกนี้ ย่อมเป็นที่ต้านทาน เป็นที่เร้น เป็นเกาะ เป็นที่พึ่ง เป็นที่ยึดหน่วงของเขา ผู้ละไปแล้ว

ชีวิตถูกชรานำเข้าไปใกล้ความมีอายุสั้น ผู้ที่ถูกชรานำเข้าไปใกล้แล้ว ย่อมไม่มีที่ต้านทาน เมื่อบุคคลเล็งเห็นภัยในความตายนี้ ควรทำบุญทั้งหลาย อันนำความสุขมาให้ ความสำรวมทางกาย ทางวาจา และ ทางใจ ในโลกนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความสุข แก่ผู้ที่ละโลกนี้ไปแล้ว ผู้ซึ่งสร้างสมบุญไว้แต่เมื่อยังมีชีวิตอยู่

แนวทางเจริญวิปัสสนา แผ่นที่ ๒๙ - ชุด แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1749

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๓๐

.........

ถ้าจะเข้าใจว่า คำว่า ภาวนา หมายถึง การอบรมให้เกิดขึ้น ให้เจริญขึ้น ซึ่งแยกเป็น ๒ อย่าง ถ้าจะใช้คำว่าภาวนา ได้แก่ สมถภาวนา การอบรมเจริญ ให้ความสงบมั่นคงขึ้น ไม่ใช่เพียงแต่เป็นความสงบ ที่เป็นขณิกสมาธิ เช่น เวลาที่กุศลจิตเกิดขึ้นครั้งหนึ่งๆ ก็เป็นความสงบที่เป็นขณิกสมาธิ ชั่วขณะๆ แต่ไม่ปรากฏความสงบมั่นคง จนกระทั่งเป็นอุปจารสมาธิ หรือ อัปปนาสมาธิ เพราะฉะนั้น ถ้าจะกล่าวถึงสมถภาวนา ก็หมายความว่า เป็นการอบรมเจริญความสงบจากขณิกสมาธิ ให้มั่นคงขึ้น จนกระทั่งเป็นอุปจารสมาธิ และ อัปปนาสมาธิ ถ้าใช้คำว่า “สมถภาวนา” แต่สำหรับ "วิปัสสนาภาวนา" ก็คือ การอบรมเจริญปัญญา เพื่อที่จะรู้แจ้งแทงตลอดสัจจธรรม ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง โมหะ และ อกุศลทั้งมวล ไม่ได้เกิดขึ้นกระทำกิจการงานในขณะนั้น ขณะนั้น เมื่อเป็นกุศล จึงสงบ เพราะฉะนั้น สำหรับการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ซึ่งเป็นวิปัสสนาภาวนา เป็นทั้งสมถะและวิปัสสนา คือ จะกล่าวว่าไม่สงบในขณะนั้นไม่ได้ เพราะเหตุว่าเป็นกุศล แต่ ขณะที่จิตเป็นกุศล สงบนั้น ปัญญาก็อบรมเจริญ เพื่อจะรู้ "ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ" เพราะฉะนั้น นี่เป็นความต่างกันของสมถภาวนา และ วิปัสสนาภาวนา เพราะเหตุว่า สมถภาวนานั้นไม่ได้รู้ลักษณะของสภาพธรรม ที่ไม่ใช่ตัวตน เพียงแต่กุศลจิตเกิดประกอบด้วยปัญญาที่จะรู้ว่า มนสิการหรือว่าวิตก คือ ตรึกถึงอารมณ์ใด ที่จะทำให้จิตสงบมั่นคงได้นานๆ ไม่ใช่เกิดขึ้นเพียงชั่วครั้ง ชั่วครู่ ซึ่งเป็น ขณิกสมาธิ เวลาที่กุศลจิตเกิด ไม่ว่าจะเป็นไปในทาน ก็สงบ เป็นไปในศีล ก็สงบ ไม่จำเป็นต้องเรียกว่า “สมถภาวนา” เพราะเหตุว่า ขณะนั้นเป็นไปในการให้วัตถุเพื่อเป็นประโยชน์แก่บุคคลอื่น จิตสงบจากความตระหนี่ จากโลภะ กุศลนั้นจึงเกิดขึ้นเป็นไปได้ แต่ก็ไม่ใช่การที่จะอบรมเจริญให้ความสงบนั้น มั่นคงในขณะที่ให้ทาน เพราะว่า ทุกวันๆ ทุกคนก็ให้ทานเป็นปกติธรรมดา แล้วก็ สติสัมปชัญญะ ก็ไม่ได้เกิดขึ้น ที่จะรู้ลักษณะสภาพของจิตในขณะที่ให้ และสำหรับบางท่าน ก็จะเห็นได้ว่า อกุศลมากกว่ากุศล ในขณะที่ให้ เพราะเหตุว่าจิตใจอาจจะระแวดระวัง กระสับกระส่าย กระวนกระวาย เป็นห่วงกังวล ในขณะนั้นก็ได้ แต่แท้จริงแล้ว ในการให้ครั้งหนึ่งๆ กุศลจิตต้องเกิดด้วย แต่ว่า เมื่อสภาพลักษณะของอกุศลปรากฏมาก ก็ทำให้ไม่สังเกตลักษณะของจิตที่สงบ ที่ให้ในขณะนั้น เช่น บางคนให้ด้วยความรำคาญ ก็อาจจะไม่เห็นว่าจิตสงบในขณะที่ให้ ในขณะที่เป็นกุศล เพราะฉะนั้นในขณะนั้นก็ไม่ชื่อว่าเป็นการเจริญสมถภาวนา เพราะเหตุว่าความสงบจากอกุศลในขณะนั้น เป็นเรื่องของการให้ เฉพาะเรื่องของการให้ในขณะที่วิรัติทุจริต จิตนั้นก็สงบจากการเบียดเบียน จากการประทุษร้าย เพราะเหตุว่าวิรัติทุจริต ในขณะนั้นก็ไม่ชื่อว่า เจริญสมถภาวนา แต่ไม่ใช่ว่าไม่สงบ เพราะฉะนั้น ก็ต้องแยกว่า สงบ คือ ขณะที่เป็นกุศล และ เป็นสมถภาวนา ก็ต่อเมื่อ อบรมเจริญความสงบ ซึ่งเป็นกุศลนั้นให้มั่นคงขึ้น จนกระทั่ง ความสงบนั้น เพิ่มถึงขั้นที่ปรากฏเป็นสมาธิขั้นต่างๆ เช่น อุปจารสมาธิ และ อัปปนาสมาธิ นั่นคือ สมถภาวนา และในชีวิตประจำวันจริงๆ ไม่มีใครที่จะเลือกได้ แล้วแต่เหตุปัจจัยว่า ขณะใดเป็นโอกาสของกุศลขั้นทาน กุศลจิตจะเกิดไหม? ถ้ากุศลจิตไม่เกิด ทานนั้นก็เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น ที่จะเจริญสมถภาวนา โดยที่ไม่รู้อะไรเลย ไม่เข้าใจอะไรเลย ไม่ได้ฟังพระธรรม ไม่ได้พิจารณาในเหตุ ในผล ย่อมเป็นไปไม่ได้ เช่นเดียวกับ การเจริญสติปัฏฐาน เพราะฉะนั้น ชีวิตในวันหนึ่งๆ เมื่อได้ฟังพระธรรมแล้ว กุศลจะเพิ่มขึ้น ประเภทไหน? เรื่องของทานก็เคยมีมาแล้ว เรื่องของศีลก็มีมาแล้ว เพราะฉะนั้น เรื่องความสงบของจิตจะเพิ่มขึ้นไหม? ในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นกุศลที่ควรเจริญ ควรอบรม ไม่ใช่ว่า ควรจะเจริญอบรมแต่เฉพาะสติปัฏฐาน เพราะเหตุว่า ถ้าไม่ใช่กาลที่สติปัฏฐานจะเกิด ก็ควรจะให้กุศลขั้นอื่นเกิด ไม่ใช่ไปตั้งหน้าตั้งตาคอยกุศลประเภทเดียว คือ สติปัฏฐาน!!!

--------------------------------

แนวทางเจริญวิปัสสนา แผ่นที่ ๒๙ - ชุด แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1710

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ ที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๓๐

.........

นี่เป็นการแสดงให้เห็นถึงความลึกของการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เพราะฉะนั้นลองคิดดูอย่างนี้ว่า ถ้าขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา มีแน่ๆ แล้วก็มีเสียงด้วย ลองทิ้งความยึดถือความทรงจำว่า สิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นใคร หรือเป็นอะไร คือ ไม่ใส่ใจ ผ่านไปแล้วก็ผ่านไปเลย แล้วก็ใส่ใจในเสียงที่กำลังปรากฏ แล้วเมื่อเสียงนั้นหมด มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ก็ละความยึดถือ ขอให้ระลึกถึงคำว่า “ละความยึดถือ” เพราะว่าเคยยึดถือว่าเป็นคน แล้วก็เป็นคนนี้ที่เรารู้จัก นี่คือความยึดถือ เพราะฉะนั้น ถ้าละความยึดถือว่า เป็นคนนี้ที่เรารู้จัก ไม่สนใจว่าเป็นคนนี้ที่เรารู้จัก แต่เป็นสิ่งที่ปรากฏเท่านั้นเอง ไม่ทราบท่านผู้ฟังท่านอื่น ยังมีข้อสงสัยอะไรอีกบ้างไหมคะ? ตามจดหมายของพระคุณเจ้าที่เขียนมา ซึ่งก็เป็นความชัดเจนอยู่แล้ว ตามที่ท่านผู้ฟังได้กล่าวว่า การศึกษาปริยัติ คือ การศึกษาเรื่องที่สติจะต้องรู้ จะต้องระลึกแล้ว "ปัญญา จะต้องศึกษาพร้อมสติ" จนกว่าจะประจักษ์แจ้งตรงตามที่ได้ศึกษา เช่น ลักษณะของนามธรรม เพียงแต่ได้ยินก็ไม่ยากที่จะเข้าใจว่า เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้ แต่ยากไหม? ที่จะรู้ว่า ในขณะนี้ที่กำลังเห็น เป็นธาตุรู้อย่างไร? เป็นสภาพรู้อย่างไร? ซึ่งก็ได้กล่าวถึงมามากทีเดียว ทั้งในขั้นของปริยัติ และในขั้นของการอบรมเจริญปัญญา จนกว่าวิปัสสนาญาณจะเกิด ตามลำดับขั้น

-------------------------------

แนวทางเจริญวิปัสสนา แผ่นที่ ๒๙ - ชุด แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1711

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๓๐ (ต่อ)

ตอบปัญหาธรรมที่โรงเรียนนายทหารชั้นผู้บังคับฝูง ทหารอากาศ ดอนเมือง

วันพุธที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๓๐

.........

สุ. เพราะฉะนั้นก็ เราหยุด แล้วเราก็คิด ขณะนั้นไม่ใช่สติปัฏฐาน ถ้าสติปัฏฐาน ก็คือว่า จะต้องมีลักษณะสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ที่สติกำลังระลึกรู้ตรงลักษณะนั้น ซึ่งทางตา เห็นกันอยู่ทุกวัน ถ้าสติปัฏฐานเกิด ไม่ได้หมายความว่า ไม่มีความเป็นตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ในขณะที่เห็น แต่หมายความว่า สิ่งที่เห็น มี แล้วสติก็ระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรมนั้น แล้วปัญญาก็เริ่มสังเกตพิจารณา ที่จะรู้ว่า ลักษณะที่ปรากฏนั้น เป็นอะไร คือ รู้ความจริงว่าเป็นอะไร? ก่อนที่สติปัฏฐานจะเกิด เป็นคน เห็นคน เป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ เป็นถ้วย เป็นจาน เป็นอาหาร เป็นหนังสือ เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ เป็นวิทยุ เป็นโทรทัศน์ เป็นคนกำลังร้องเพลง เป็นหนังสือพิมพ์ เป็นเรื่องราวต่างๆ นี่คือ ขณะที่สติปัฏฐาน ไม่เกิด ในขณะที่เห็น เพราะฉะนั้น ในขณะที่เห็น ที่จะเป็นสติปัฏฐาน ก็คือว่า มีสิ่งที่กำลังปรากฏ แล้วปัญญาเริ่มพิจารณา ที่จะรู้ว่า สิ่งนั้นเป็นอะไร?

ปทุม. เราก็พิจารณาต่อจากนั้น

สุ. ยังไม่ต่อ ต่อไม่ได้เลย คือ จะต้องรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ อย่าไปต่อค่ะ สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา สติเกิดเป็นอย่างไร? ต่างกับหลงลืมสติอย่างไร? ขณะที่หลงลืมสติ เป็นสัตว์ เป็นบุคคล มากหน้าหลายตา เยอะแยะ ขณะที่สติปัฏฐานเกิด เริ่มรู้ความจริงว่า ไม่มีใครเลย มีแต่สิ่งที่ปรากฏได้ เฉพาะทางตา เคยเป็นคนที่รู้จัก แต่ว่าลักษณะจริงๆ แท้ๆ ของคน ไม่มี!!! มี สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ให้เห็น!!!เพราะฉะนั้น สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา จะเป็นลักษณะของคนได้ไหม? เพราะว่าลักษณะจริงๆ ของสิ่งที่ปรากฏทางตานั้น ปรากฏทางตา ลักษณะแท้จริง คือ เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งปรากฏทางตา แล้ว "เรานึกเอาเอง" ว่าสิ่งนั้นเป็นใคร เป็นอะไร เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ในขณะที่สิ่งนั้นกำลังปรากฏทางตาจริงๆ เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ เวลาที่สติปัฏฐานเกิดแล้ว ก็ระลึกลักษณะของสภาพธรรม ทั่วทั้ง ๖ ทาง ไม่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ "ปัญญา" สามารถที่จะแยกโลกของความคิดนึก ออกจากปรมัตถธรรมที่ปรากฏ แล้วก็จะรู้ได้จริงๆ ว่า ปรมัตถธรรมที่ปรากฏ สั้นมาก เพียงเล็กน้อย เพียงนิดเดียว แต่ว่าเรื่องราวที่คิดมากมายเหลือเกิน!!! เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ เป็นโลกของความคิดนึกของแต่ละคน ที่สลับกับ สิ่งที่ปรากฏทางตา เสียงที่ปรากฏทางหู กลิ่นที่ปรากฏทางจมูก รสที่ปรากฏทางลิ้น และ สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย นี่เป็นเหตุที่ไม่ศึกษาพระธรรมให้สอดคล้องกันว่า เหตุใดพระผู้มีพระภาค จึงได้ทรงแสดงปรมัตถธรรม หรือ อภิธรรมด้วย ถ้าปัญญาไม่ประจักษ์ลักษณะของปรมัตถธรรม ความเป็นตัวตน ก็ต้องมี ผม ก็ต้องเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดไม่เกิดดับแน่ เล็บ ฟัน หนัง ก็ต้องเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ซึ่งเกิดดับไม่ได้ เพราะเหตุว่า ไม่ได้รู้ลักษณะของปรมัตถธรรมสำหรับการอบรมเจริญสติปัฏฐาน จนกว่าปัญญาจะสมบูรณ์ ถึงการที่จะประจักษ์แจ้ง รู้ชัดในลักษณะของสภาพนามธรรม และ รูปธรรมที่ปรากฏ ก็จะต้องปฏิบัติคู่กันไปกับการฟังพระธรรม ไม่ใช่ว่าแยกกัน เพราะเหตุว่าชีวิตประจำวันเป็นนามธรรม เป็นรูปธรรมอย่างไร การฟังเรื่องของนามธรรม และรูปธรรมที่กำลังมีในขณะนี้ ที่กำลังปรากฏ ก็เพื่อให้เข้าใจชัด และ ถ้ามีปัจจัยเพียงพอ สติปัฏฐานก็เกิดระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ แม้แต่ในขณะกำลังฟังนี้เอง!!! เพราะเหตุว่า เป็นนามธรรมและรูปธรรม ทั้งนั้นสำหรับคำถามหนึ่ง คือ ในเมื่อพวกเราเป็นทหาร มีหน้าที่ที่จะต้องเกี่ยวข้องกับการสงคราม ซึ่งดูเหมือนเป็นบาปหนัก เราจะปฏิบัติธรรม ที่จะต้องเกี่ยวข้องกับการสงครามนี้ได้อย่างไร? พวกนักบิน ก็ต้องต่อสู้กับผู้ก่อการร้ายที่เป็นศัตรู เราก็ไม่มีโอกาสที่จะปฏิบัติธรรมได้เลยใช่ไหม?

อัลลัน. ไม่ทราบว่า ทำไมถึงต้องรอจนบินไปสงคราม กว่าจะเริ่มปฏิบัติธรรม วันนี้กำลังนั่งอยู่ มีโอกาสที่จะได้ฟังธรรม พิจารณาธรรม จำธรรมไว้ นำไปพิจารณาอีก หลังจากนั้นนำไปใช้บ้าง ทุกวัน ไม่ว่าอยู่ที่ไหน มีโอกาสที่จะปฏิบัติธรรมได้

สุชาดา. จะปฏิบัติอย่างไรคะ? คงจะไม่มีเวลาไปหาที่นั่งทำสมาธิเงียบๆ อยู่ห้องแคบๆ หรือ สวดมนต์นานๆ เพราะว่า มีภาระหน้าที่อยู่ทุกวัน จะปฏิบัติธรรมอย่างไร? จึงจะชื่อว่า ปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน

อัลลัน. ทำหน้าที่ประกอบด้วยเมตตาบ้าง แทนที่จะทำหน้าที่แบบอื่น แบบโมโหแต่ทำไป แบบไม่พอใจ ที่จะต้องทำบางสิ่งบางอย่าง แต่ทำไป รู้สึกว่า บางสิ่งบางอย่างต่ำ เราไม่ควรจะทำ แต่ต้องทำ ก็ทำด้วยความไม่พอใจ อันนี้ก็มีโอกาสที่จะปฏิบัติธรรมตอนนี้ ทุกเวลา ทุกวินาที ถ้ารู้เรื่องของจิตใจ ว่าจิตใจเป็นกุศล หรือ จิตใจเป็นอกุศล และกว่าจะรู้ได้ว่าจิตใจเป็นกุศล หรืออกุศล ก็ต้องศึกษาจิต ถ้ามีโอกาสจะศึกษาจิตทุกเมื่อ และการศึกษาจิต เป็นการปฏิบัติธรรม เดี๋ยวนี้มีโอกาสที่จะศึกษาจิตใจได้ว่า ตอนนี้จิตใจเป็นอย่างไร? ตอนนี้ฟังแล้วรู้สึกว่า ชอบหรือไม่ชอบ เข้าใจหรือไม่เข้าใจ ไม่เห็นด้วยหรือ ไม่รู้เรื่อง ถ้าไม่รู้เรื่องก็คงเป็นโมหะ เป็นอกุศล ถ้าไม่เคยรู้ก็เริ่มรู้ได้เดี๋ยวนี้ว่า ตอนที่ไม่รู้เรื่องเป็นอกุศล เป็นสิ่งที่มีอันตรายมีภัย เพราะว่าทุกครั้งที่จิตใจเป็นโมหะ เป็นอวิชชา เป็นความไม่รู้ ก็สะสมๆ ๆ จนกระทั่งในที่สุดก็ยากมาก ที่จะขจัดความไม่รู้ออกจากจิตใจได้

สุ. พูดถึงเรื่องการปฏิบัติธรรม ก็ไม่ทราบว่ามีความเข้าใจธรรมขั้นไหน? หรือแค่ไหนแล้วหรือยัง? ที่จะปฏิบัติ เพราะเหตุว่า ส่วนมากพอพูดถึงพระพุทธศาสนาหรือพระธรรม ก็ดูเสมือนว่าเข้าใจแล้ว แต่ถ้าถามจริงๆ แม้ "แต่ละคำ" ว่าเข้าใจคำนั้นว่าอย่างไร? ก็จะเป็นความคิดความเข้าใจเอง ซึ่งอาจจะไม่ตรงกับพระไตรปิฎก หรือ พระธรรม ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว แม้แต่คำว่า“ธรรม” คำเดียว ครอบคลุมโลกทั้งโลก จักรวาลทั้งหมด และ คำสอนทั้งหมด ของพระพุทธศาสนา ถ้าเข้าใจคำว่า “ธรรม” ว่า หมายความถึงสิ่งที่มีจริง และ สิ่งนั้นก็ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร จึงเป็น "ธรรม" เพราะฉะนั้น ในขณะนี้ ถ้าเข้าใจธรรมแล้ว ก็จะรู้ว่า ไม่มีอะไรเลย ซึ่งไม่ใช่ธรรม เสียงก็เป็นธรรมชนิดหนึ่ง เพราะเหตุว่า เป็นของจริงที่เกิดขึ้น ปรากฏให้พิสูจน์ได้ว่า มีจริง เพราะฉะนั้น สิ่งที่มีจริงนั้น ใครจะเรียกว่า "ธรรม" หรือ ไม่เรียกว่า“ธรรม” แต่ "ลักษณะสภาพนั้น" ก็เป็น "ธรรม" เพราะฉะนั้นการศึกษาพระธรรม จนกระทั่งถึง การปฏิบัติธรรม ไม่ใช่เพียงแต่คิดว่าเข้าใจแล้ว แต่ว่าจะต้องศึกษาโดยละเอียดจริงๆ ตั้งแต่ขั้นต้นว่า ธรรม คือ อะไร? และจะปฏิบัติธรรมอะไร? ถ้าเข้าใจธรรมแล้วว่า ทุกอย่างที่มีจริง เป็นธรรม ขณะที่กำลังเห็นนี้ เป็นธรรม หรือว่า เป็นเรา หมายความว่า จะต้องอบรมเจริญปัญญา จนกระทั่งรับรองคำสอนของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า เป็นคำสอนที่ได้พิสูจน์แล้ว เป็นสิ่งที่ ไม่ใช่เพียงเชื่อ แต่หมายความว่า เป็นสิ่งที่รับฟังแล้ว ไม่เชื่อทันที แต่ว่าพิจารณา ศึกษา ในเหตุผล จนกระทั่งประจักษ์แจ้งว่า คำสอนนั้น เป็นคำสอนที่ถูกต้อง!!! สภาพธรรมที่มีจริงทั้งหมด เป็นที่ตั้งให้สติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะที่ปรากฏตามความเป็นจริงได้ ไม่ว่าจะเป็นรูปธรรม หรือ นามธรรม สำคัญอยู่ที่ความเข้าใจถูกเห็นถูกในเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ มีเพียงพอหรือไม่? ที่จะเป็นเหตุให้สติปัฏฐานเกิด เป็นเรื่องของ "ความเข้าใจ" ทั้งหมด ตามความเป็นจริงแล้ว สติปัฏฐานเกิดได้ทั้งทางปัญจทวาร และ ทางมโนทวาร ตามเหตุ ตามปัจจัย ถ้าเป็นทางปัญจทวาร ก็ระลึกรู้รูปธรรมที่ปรากฏ ส่วนทางมโนทวาร ก็มีสภาพธรรมที่มีจริง เช่น ในขณะที่จิตคิดถึงรูปร่างสัณฐาน จากสิ่งที่ปรากฏทางตา ในขณะนั้น สภาพธรรมที่มีจริง คือ จิตซึ่งเป็นสภาพธรรมที่คิดนึก จิตคิดนึก มีจริง แต่เรื่องที่คิดไม่มีจริง เพราะเป็นเพียงเรื่องราว ที่คิดนึกในรูปร่างสัณฐาน จากสิ่งที่ปรากฏทางตา เท่านั้น เพราะฉะนั้น ขณะที่คิดนั้น จิตมีจริง ปัญญา ที่เกิดพร้อมสติ ที่เป็นสติปัฏฐานนั้น ก็ระลึกรู้ในลักษณะของจิตที่กำลังคิดนึกได้ เป็นสติปัฏฐาน ที่เกิดขึ้นเป็นไปทางมโนทวาร เป็นต้น สำหรับวิปัสสนาญาณ เป็นปัญญาที่รู้อย่างแจ่มแจ้ง มีเป็นลำดับขั้น ถ้าหากว่าไม่มีความความเข้าใจตั้งแต่ต้นแล้ว ทั้งสติปัฏฐาน ทั้งวิปัสสนาญาณ ย่อมไม่สามารถที่จะเกิดขึ้นเป็นไปได้เลย เพราะฉะนั้นแล้ว จึงสำคัญที่การเริ่มต้นฟังให้เข้าใจในสิ่งที่มีจริงๆ ในขณะนี้

---------------------------------

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

กราบขอบพระคุณ และ กราบอนุโมทนาในกุศลทุกประการ

ของ ท่านอาจารย์ดวงเดือน บารมีธรรม

และ ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
ผู้มีความประมาท
วันที่ 22 ก.พ. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
Thanapolb
วันที่ 22 ก.พ. 2558

ขออนุโมทนากับกระทู้พี่วันชัย ที่เผยแผ่สาระธรรมดีๆ เนื้อหายาวแต่ยาวด้วยสาระที่เป็นประโยชน์ อนุโมทนาในกุศลจิตของท่านอ.สุจินต์ ท่านอ.ดวงเดือน และทุกๆ ท่าน ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ผู้มีความประมาท
วันที่ 22 ก.พ. 2558

ขอขอบคุณคุณวันชัยค่ะที่ให้ชมภาพ พร้อมธรรมดีๆ ทำให้น่าอ่าน น่าติดตามมากค่ะ

กราบอนุโมทนากับท่านอาจารย์สุจินต์ และท่านอาจารย์ดวงเดือน และทุกท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
papon
วันที่ 22 ก.พ. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
siraya
วันที่ 23 ก.พ. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
phawinee
วันที่ 23 ก.พ. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
JANYAPINPARD
วันที่ 23 ก.พ. 2558

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
j.jim
วันที่ 23 ก.พ. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
orawan.c
วันที่ 23 ก.พ. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่ 25 ก.พ. 2558

สาธุ อนุโมทนา และขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
thilda
วันที่ 12 ส.ค. 2558

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาอย่างยิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
ปาริชาตะ
วันที่ 3 ธ.ค. 2564

กราบขอบพระคุณท่านอย่างสูงยิ่งค่ะ

และขอกราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
namarupa
วันที่ 3 ธ.ค. 2564

กราบอนุโมทนาในเมตตาจิตของอาจารย์ดวงเดือนมา ณ ที่นี้ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
Sottipa
วันที่ 3 ธ.ค. 2564

สาธุ มีความสุข เป็นสุขทั้งภายในและภายนอก

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
สิริพรรณ
วันที่ 3 ธ.ค. 2564

กราบยินดีในกุศลอาจารย์ดวงเดือนด้วยความเคารพ รวมทั้งขอบคุณ และยินดีในกุศลคุณวันชัยด้วยค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
chatchai.k
วันที่ 3 ธ.ค. 2564

กราบอนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ