เป้าหมายของการศึกษาพระธรรม เพื่อยึดหรือเพื่อละ?

 
akrapat
วันที่  24 ก.พ. 2558
หมายเลข  26220
อ่าน  1,732

ผมกำลังบังเกิด ความสงสัยว่า ทำไมผมก็ฟังธรรมมาตั้งนาน อ่านหนังสือมาก็มาก เข้าใจทุกอย่าง ที่ทุกอย่างที่ท่านอาจารย์พูด แต่เหตุใดผมยังรู้สึกว่า "อัตตา" ยังเท่าเดิมบางครั้งยิ่งอ่านมาก ฟังมาก ก็ยิ่งยึดมั่นถือมั่น ในตัวเองมากขึ้น และไม่ยอมเปิดใจรับฟังคนอื่น

ผมก็เลยสงสัยว่า เป้าหมายของการศึกษาพระธรรม เป็นไปเพื่อละ (อัตตา) หรือเพื่อยึด (ตำรา) ?


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 24 ก.พ. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ปุถุชน คือ ผู้ที่หนาด้วยกิเลส เป็นธรรมดาที่ยังมากด้วยกิเลส ปัญญาขั้นการฟังไม่สามารถละกิเลสได้ เพียงแต่ค่อยๆ เข้าใจขึ้น หากได้อ่านประวัติพระสาวก แม้ก่อนจะบรรลุ ยังทำบาป ทำอกุศลกรรม ล่วงศีล 5 ได้เป็นธรรมดา ไม่ต้องกล่าวถึงความมีมานะตัวตนต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้เป็นธรรมดาของปุถุชน เพราะฉะนั้น ผู้ที่เข้าใจพระธรรม คือ ผู้ที่รู้ตัวเองตามความเป็นจริงว่ามีกิเลสมาก และกิเลสมีมากกว่าที่คิด เพราะสะสมมานับชาติไม่ถ้วน พระอริยเจ้าทั้งหลายกว่าจะได้บรรลุธรรม อบรมปัญญายาวนาน นับชาติไม่ถ้วน เพราะฉะนั้น จึงเป็นธรรมดาเหลือเกินที่จะเกิดกิเลสเป็นปกติธรรมดา เพราะฉะนั้น ผู้ที่ตรงต่อพระธรรม ตรงต่อความเป็นจริง จึงเข้าใจหนทางที่ถูกว่าเป็นหนทางที่ยาวไกล ที่อบรมยาวนานที่เรียกว่า จิรกาลภาวนา เพราะฉะนั้น ก็ฟังพระธรรมต่อไป กิเลสก็เกิดขึ้นได้เป็นปกติ เมื่อค่อยๆ อบรมนับชาติไม่ถ้วน กิเลสที่จะได้เป็นสมุจเฉท ก็คือ เมื่อมรรคจิตเกิดขึ้น และก็ต้องเป็นไปตามลำดับของกิเลสที่ควรละ ซึ่งยาวไกล แต่ถึงได้ด้วยการอบรม ศึกษาพระธรรมด้วยจุดประสงค์ที่ถูกต้อง และอบรมยาวนาน ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 24 ก.พ. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นเรื่องที่ละเอียด ลึกซึ้ง แสดงถึงความเป็นจริงของสภาพธรรมแต่ละอย่างๆ ตามความเป็นจริง ไม่ว่าจะทรงแสดงในส่วนใดก็ตาม ย่อมไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้

ถ้าเป็นผู้ที่มีความละเอียดรอบคอบ ไม่ประมาทพระธรรมว่าง่าย ศึกษาด้วยความตั้งใจ ความเข้าใจก็จะค่อยๆ เจริญขึ้นไปตามลำดับ พระธรรมแม้จะยากแต่ก็ไม่เหลือวิสัยที่จะเข้าใจได้

ที่สำคัญ คือ ไม่ขาดการฟัง ไม่ขาดการศึกษาพิจารณาไตร่ตรอง ไม่ว่างเว้นจากการฟังพระธรรม และมีจุดประสงค์ที่ถูกต้องในการศึกษาว่า เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง

เพราะฉะนั้น ในเมื่อพระธรรมละเอียดลึกซึ้ง ก็ยิ่งจะต้องมีความอดทนเป็นอย่างยิ่งที่จะค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูก เห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย เป็นการศึกษาพระธรรมตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ไม่ใช่คิดเอาเอง และจุดประสงค์ในการศึกษาต้องตรง คือ เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกขัดเกลาความไม่รู้ซึ่งมีมากเป็นอย่างยิ่ง ปัญญานี้เอง ที่ทำกิจขัดเกลาละคลายความไม่รู้และความเห็นผิดที่ยึดถือว่าเป็นตัวตน ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
akrapat
วันที่ 24 ก.พ. 2558

อ๋อ...ครับ ขอบคุณครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
peem
วันที่ 24 ก.พ. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
NYC
วันที่ 25 ก.พ. 2558

ขออนุโมทนาท่านอาจารย์และสหายธรรมผู้สดับพระธรรมทุกท่าน

ผมอ่านกระทู้นี้แล้วได้พิจารณาอยู่สักพักหนึ่ง จึงขออนุญาตท่านอาจารย์และท่านผู้ตั้งกระทู้ ขออนุญาตแสดงความเห็นนะครับ เพราะคิดว่าน่าจะมีประโยชน์ต่อผู้อ่านอยู่บ้าง ผมมีความคิดเห็นว่า การจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมไม่ใช่ของง่าย ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่จะเร่งรัดเหมือนวิชาการทางโลกที่มีหลักสูตรเร่งรัด การละคลายกิเลสเป็นคนละเรื่องคนละแนวทางกับการสะสมกิเลสเพื่อไปถึงเป้าหมาย คนมักจะเอาการเดินทางไปเที่ยวมาเปรียบเปรยกับพระนิพพาน แต่พระนิพพานซึ่งเป็นจุดหมายสูงสุด ก็ไม่ใช่สถานที่สนองกิเลสแบบนั้นเลย คนมักเอาหนทางปฏิบัติมาเปรียบเปรยกับวิธีการเดินทางแบบทางโลกที่พยายามจะหาทางลัดกันอยู่ตลอดเวลา ทุกครั้งที่ผมศึกษาปริยัติธรรม มักจะได้ยินผู้ศึกษาด้วยกันบอกผมอยู่เสมอว่าให้หยุดศึกษาหรือเผาตำราทิ้งเสีย เพื่อที่จะดูจิตบ้าง จงใจดูอารมณ์ต่างๆ บ้าง เพราะจะรีบพากันดับกิเลสกองต่างๆ โดยเร็ว หรือหาทางลัดดับมานะดับอัตตาตัวตนให้ไวที่สุด โดยที่ลืมไปว่าความเข้าใจขั้นฟังนั้นยังไม่สามารถละความเห็นผิดขั้นแรกได้เลยด้วยซ้ำ แต่พอได้ยินประโยคนี้ก็เข้าใจผิดคิดว่าไม่ควรฟังมากไม่ควรศึกษามาก เลยไปเน้นเผาตำราทิ้งการศึกษากันอีก ไม่แปลกใจว่าเหตุใดพระพุทธองค์ทรงมีใจใฝ่ไปในทางไม่แสดงธรรม แล้วปุถุชนคนธรรมดาจะทำอะไรได้ นอกจากฟังพระธรรมให้เข้าใจต่อไป ไม่หวั่นไหวกับคำดูหมิ่น การไม่ต้องศึกษานั้นเป็นสิ่งที่น่าน้อมใจมากๆ สำหรับปุถุชน เมื่อใครมาชักชวนว่าอย่าไปพยายามศึกษาพระธรรมมาก ก็จะนำไปเปรียบกับการศึกษาทางโลกทันที จากนั้นก็นำเอานิสัยส่วนตัวของผู้ศึกษาธรรมมาเป็นตัวเหมารวมว่าคนศึกษาธรรมมากๆ มักจะเป็นแบบนี้ๆ ทั้งๆ ที่ การสะสมนิสัยส่วนตัวแย่ๆ มา เป็นเหตุที่สะสมมาจากอดีตนับชาติไม่ถ้วน ไม่ได้เกิดจากเหตุที่ศึกษาพระธรรมในชาติปัจจุบัน และการที่จะสื่อสารให้เข้าใจกัน ก็ยังจำเป็นต้องพูดว่าผมพูดว่าคุณ พูดว่าเรา-เขา มิฉะนั้นจะสื่อสารกันรู้เรื่องได้อย่างไรในเมื่อต่างคนต่างยังอยู่ในขั้นการฟัง ยังไม่ใช่ขั้นถึงเฉพาะในลักษณะสภาพธรรมซึ่งมีเหตุมาจากขั้นการฟังที่สะสมมายาวนาน แต่อนุสัยกิเลสก็ลวงเราให้คิดว่าขั้นการฟังนั้นต่ำต้อยถ้าข้ามไปขั้นปฏิปัตติในทันทีที่ฟังก็คงจะดี แต่ที่ว่าดีนั้นเป็นโลภะที่ลวงเราให้ประมาทหรือเปล่าว่าพระธรรมง่าย ผมคิดว่า ตราบใดที่เรายังมีกิเลสและเป็นผู้ตรงต่อตนเองว่ายังอยู่ในขั้นการสะสมการฟังและยังสะสมกุศลที่เป็นบารมีไปทีละเล็กละน้อย การเข้าใจว่าตนเองจะดับอัตตาหรือทิฏฐิมานะง่ายๆ นั้นอาจจะเป็นทิฏฐิมานะที่แนบเนียนกว่าก็ได้ ในเมื่อกิเลสระดับหยาบอย่างวจีกรรม ก็ยังอยู่ในขั้นไม่บริสุทธิ์เท่าพระโสดาบัน แล้วจะคาดหวังอะไรกับกิเลสที่เป็นนิสัยส่วนตัวปุถุชน ซึ่งเป็นคนละส่วนกับความเข้าใจขั้นฟัง แล้วกิเลสที่ละเอียดกว่านั้นจะลวงคนเราให้เลิกศึกษาเผาตำรากันขนาดไหน ธรรมชาติของจิตที่ชอบใจและน้อมไปตามความเห็นผิดที่เชื่อมั่นในกิเลสตนเอง พยายามจะบัญญัติพระธรรมเองหรือทิ้งพระธรรมเสียเพื่อบรรลุกันไว จนถึงขั้นเข้าใจว่าตนเองบรรลุแล้ว ก็มีให้เห็นอยู่ทั่วไปนะครับ ก่อนเราจะคิดว่าใครไม่รับฟังความเห็น บางทีความเห็นเราอาจจะเป็นความเห็นผิดก็ได้ เขาจึงไม่รับฟัง เพราะการเสพความเห็นผิดก็เป็นภัยอย่างหนึ่ง การฟังพระธรรม การศึกษาพระธรรม อย่าเพิ่งนำนิสัยส่วนตัวของคนศึกษาพระธรรมมาเป็นตัวตัดสินว่าพระธรรมไม่ควรศึกษาเลยครับ เพราะพระธรรมไม่ได้ทำให้ใครมีทิฏฐิมานะ แต่เป็นการสะสมนิสัยส่วนตัวของเค้าเองจากอดีตหลายๆ ชาติซึ่งเป็นเหตุที่ให้ผลเป็นบุคคลกิเลสหนา ไม่ใช่เพราะเหตุจากการศึกษาพระธรรม เหมือนกับพ่อแม่ที่ตั้งใจสอนลูกให้เป็นเด็กใจเย็นและอ่อนน้อมถ่อมตน แต่ถ้าหากเด็กคนนั้นสะสมนิสัยแข็งกระด้างชอบยกตนข่มท่านมาหลายแสนชาติ แล้วจะโทษว่าคำสอนพ่อแม่ทำให้เด็กคนนี้เกิดมานิสัยแบบนั้นได้อย่างไร ในเมื่อเป็นการสะสมส่วนตัวของใครของมัน ไม่ได้เกิดเพราะเค้าฟังพระธรรมจึงเป็นคนแบบนั้น อย่าเพิ่งนำมาเป็นเครื่องชี้วัดเลยครับว่าฟังพระธรรมแล้วทุกคนจะต้องเป็นพระอริยะกันง่ายๆ เพราะไม่ใช่ของง่าย หากประมาทว่าง่ายและจะรู้แจ้งอย่างเร็วในชาตินี้ ทางนั้นอาจไม่ใช่พระนิพพานแล้วนะครับแต่หลงเข้าใจผิดว่าเป็นพระนิพพาน เป็นที่ทราบกันว่าการเจริญปัญญาที่จะปหานกิเลสทีละขั้นต้องสะสมความเข้าใจในสภาพธรรมกันเป็นจิรกาลภาวนา การขัดเกลากิเลสในชีวิตประจำวันก็เป็นเรื่องของการสะสมแต่ละบุคคลที่ต่างกันอีก แค่ที่กำลังอ่านกำลังพิมพ์กันอยู่นี้ โลภะโทสะก็เกิดไม่รู้เท่าไหร่ คงไม่ต้องกล่าวถึงการดับตัวตนหรอกครับ เพราะยังอยู่ในขั้นการฟังและมีการสะสมนิสัยส่วนตัวมาหลายชาตินับไม่ถ้วน จะเร่งอย่างไรในเมื่อสะสมนิสัยส่วนตัวกันมาเอง อย่าเพิ่งโทษว่าเป็นเพราะการศึกษาพระธรรม แล้วถ้าหากสะสมความเข้าใจพระธรรมมาในระดับที่เพิ่งได้สดับพระธรรมเพียงไม่กี่ชาติ แล้วจะพากันบรรลุสั้นๆ ง่ายๆ เพียงแค่คิดไปเองว่ากำลังดูจิตจนรู้แจ้ง จะเป็นเหตุที่สมควรแก่ผลหรือครับ หากคิดว่าจะต้องบรรลุกันในชาตินี้ โดยยังขาดเหตุปัจจัยหรือการสะสมที่ถึงพร้อม จะเป็นเหตุที่สมควรแก่ผลได้อย่างไรครับ พระธรรมไม่ใช่แค่มนสิการแบบทางโลกที่ศึกษาหลักสูตรลัดสั้นแล้วจะสอบติดได้เหรียญทองโอลิมปิกวิชาการ เพราะนั่นเป็นหนทางของกิเลสที่มีทางลัดมีรางวัลล่อใจ พระธรรมเป็นสิ่งที่ต้องสะสมไปตามลำดับเพื่อละคลายตัวตน ไม่มีการพยายามทำให้ลัดสั้น การละคลายกิเลสไม่ใช่เรื่องหลอกตัวเอง แต่ละคนก็สะสมกิเลสรวมทั้งกุศลบารมีมาจากอดีตชาติไม่เท่ากันและวิจิตรแตกต่างกันไป แล้วในชาติปัจจุบันก็ไม่มีทางที่จะทราบว่าในอดีตชาติเคยสะสมมาอย่างไรและแค่ไหน จะไปหวังให้ละกิเลสในขั้นมานะเจตสิกในทันทีที่ฟังธรรมเทียบเท่าพระอริยสาวกในสมัยพุทธกาลก็คงไม่ใช่ฐานะแก่ผู้เพิ่งสดับนะครับ อันที่จริงสาวกของพระพุทธองค์ย่อมถูกอบรมให้พิจารณาไปตามลำดับ แต่ไม่ใช่ให้คิดเอง จนโดนความเห็นผิดหลอก ขั้นแรกที่ต้องฟังพระธรรมให้เข้าใจ เพราะต้องเริ่มจากละคลายความเห็นผิดก่อน เข้าใจไปทีละเล็กละน้อยแล้วแต่การสะสมของแต่ละคน จะไปเร่งรัดก็ไม่ได้ ส่วนการที่เราไปหงุดหงิดว่า ทำไมคนนี้ฟังธรรมแต่ยังแต่งตัวสวยหรือรักสวยรักงาม ทำไมคนนี้ยังถือตัวถือตน ทำไมคนนี้ยังคิดจะจัดการคนอื่นให้คิดเห็นเหมือนตนเอง ทำไมคนนี้ยังโกรธ นั่นเป็นเพราะเรากำลังตัดสินการศึกษาพระธรรมจากนิสัยส่วนตัวที่สะสมมาต่างกันหรือเปล่า ขอรบกวนฝากให้คิดดูครับ และต้องขออภัยอย่างสูงที่เรียบเรียงไม่ดี เวลาที่ผมพูดกับมิตรสหายก็พูดประมาณนี้ ซึ่งสำนวนจะไม่ดูดีเท่าไหร่ ต้องขออภัยเจ้าของกระทู้และผู้อ่านด้วยนะครับ ขออนุโมทนาในกุศลศรัทธาของท่านเจ้าของกระทู้ที่ได้สดับพระธรรมในชาตินี้ ขออนุโมทนาท่านอาจารย์ธรรมกถึกทั้งหลายด้วยเศียรเกล้า ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัยยิ่งชีวิต

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
akrapat
วันที่ 25 ก.พ. 2558

...."ขอบคุณทุกท่านครับ ทุกความเห็นครับ"....

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
thilda
วันที่ 27 ก.พ. 2558

พจนาท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ค่ะ

"เป็นสิ่งที่มีประโยชน์มาก

ถ้าท่านผู้ศึกษาพระธรรมไม่รีบร้อน แล้วรู้ว่ากิเลสมีเยอะ

แล้วจะต้องอาศัยศรัทธาการที่จะต้องฟังพระธรรมต่อไป

เป็นผู้ที่จะขัดเกลาคือเริ่มมีความเห็นถูก ตั้งตนไว้ถูก

ในจุดประสงค์ของการฟังว่าเพื่อขัดเกลากิเลส

ก็จะมีความใกล้ชิดต่อพระศาสนา

เป็นอุบาสก อุบาสิกา ที่แท้จริง"

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
แต้ม
วันที่ 6 มี.ค. 2558

นี่คือสิ่งทีมีอยูู่จริงๆ ในปัจจุบันครับ ผู้ที่ศึกษาธรรมแล้วนำมาโต้เถียงกันว่าจริงหรือไม่จริง ใช่หรือไม่ใช่ แล้วก็ข่มกันมีอัตตาสูงคิดว่าตนเองศึกษามาเยอะ เข้าใจดีแล้ว ไม่ฟังคนอื่น พระที่บวชมาหลายพรรษาและตั้งใจปฏิบัติอบรมเผยแพร่พระธรรมของพระพุทธเจ้าอย่างน่าเลื่อมใส (ตามปัญญาแต่ละคน) ก็ยังต้องสึกออกมาก็มีให้เห็น หรือมีพฤติกรรมแบบฆราวาสก็มากมายเช่นกัน พระพุทธเจ้าตรัสว่า บุคคลที่มีกิเลสแล้วรู้ว่าตนมีกิเลส แสดงว่าเป็นคนที่แก้ไขได้ครับ ฉะนั้นพิจารณาตนเองให้ดีครับว่า สิ่งที่เราเป็นอยู่นั้น ใช่พระพุทธเจ้าสอนหรือเปล่า ควรต้องหากัลยาณมิตรและหมั่นศึกษาพระธรรมเนืองๆ ครับ อย่าละการฟังพระธรรมและศึกษาพระธรรมเสียก่อนก็แล้วกันครับ เพราะถ้าเราปฏิบัติอยู่เนืองๆ ก็จะเป็นการเตือนตนไปในตัว แล้วเราจะเข้าใจเองครับ ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
wannee.s
วันที่ 6 มี.ค. 2558

เป้าหมายของการศึกษาธรรม เพื่อละความไม่รู้ ละความเห็นผิดที่เคยยึดมั่นถือมั่น แต่ไม่ใช่แค่ชาติเดียว ต้องบำเพ็ญบารมีทั้ง 10 นับชาติไม่ถ้วน จนกว่าปัญญาจะดับกิเลสหมด ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
one_someone
วันที่ 15 เม.ย. 2560

ศึกษาธรรมะ เพราะเห็นประโยชน์ของพระธรรม

ศึกษาพระธรรมด้วยความละเอียดลึกซึ้งตามความเป็นจริง

อนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
Jarunee.A
วันที่ 28 ก.พ. 2567

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ