มานะและธรรมที่จะละ

 
papon
วันที่  24 ก.พ. 2558
หมายเลข  26223
อ่าน  6,345

เรียนอาจารย์ทั้งสองท่าน

"มานะและธรรมที่จะละ" ขอความอนุเคราะห์อาจารย์ช่วยกรุณาให้อรรถาธิบายเกี่ยวกับคำนี้ด้วยครับ

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 24 ก.พ. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

มานะ ในภาษาไทย ตามที่เข้าใจกัน คือ ความพยายาม บากบั่น ไม่ย่อท้อ แต่ในความเป็นจริง มานะ ที่เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ที่เป็นภาษาบาลี มานะ ไม่ได้หมายถึง ความพยายาม บากบั่น แต่ความพยายามบากบั่นเป็นลักษณะของวิริยะ ครับ ซึ่ง มานะ ในภาษาบาลี หมายถึง

มานะ คือ ความสำคัญตน สำคัญกว่าดีกว่าเขา เสมอเขา ต่ำกว่าเขา ขณะที่เปรียบเทียบมีการสำคัญตนเช่นนี้ ขณะนั้นมีมานะเจตสิกที่เกิดกับโลภมูลจิตครับ พระอรหันต์เท่านั้นที่สามารถดับมานะได้จนหมดสิ้นเป็นสมุจเฉท.

ซึ่งข้อความในพระไตรปิฎกแสดงถึง ลักษณะ ของมานะ ที่เป็นความสำคัญตน เปรียบเทียบ ดังนี้ ครับ

ที่ชื่อ "ความถือตัว" เนื่องด้วยกระทำมานะ คำว่า "กิริยาถือตัว ความถือตัว" แสดงขยายถึงอาการและภาวะ ที่ชื่อว่า "การยกตน" เกี่ยวกับ การเชิดชูตน การยกตนเกิดขึ้นแก่บุคคลใด ย่อมยังบุคคลนั้นให้เทิดขึ้น คือ สถาปนาตนยกขึ้นไว้ เหตุนั้นจึงชื่อว่า "ความเทิดตน" ที่ชื่อว่า "การเชิดชูตนดุจธง" โดยความหมายว่า ทำตัวให้เด่นขึ้น (ทำให้เด่นหรือสำคัญขึ้น)

ที่ชื่อว่า "การยกจิตขึ้น" ด้วยอรรถว่า ประคองจิตไว้โดยความหมายว่ายกขึ้นไว้ บรรดาธงหลายคัน ธงที่ยกขึ้นสูงกว่าเขา ชื่อว่า "เกตุ" หมายความว่า ธงเด่น แม้มานะเกิดขึ้นบ่อยๆ ก็เปรียบได้กับธงเด่น โดยเทียบกับมานะต่อๆ มา เหตุฉะนั้นจึงชื่อว่า "เกตุ" แปลว่าดุจธงเด่น ธรรมชาติที่ชื่อว่า "เกตุกมฺย" ด้วยอรรถว่าปรารถนาเป็นดุจธง ภาวะแห่งธรรมชาติที่ต้องการ ดุจธง ชื่อว่า เกตุกมฺยตา แปลว่า ความต้องการเป็นดุจธง และความต้องการเป็นดุจธงนั้นเป็นของจิต ไม่ใช่ของตน ด้วยเหตุนั้นจึงตรัสว่า "ความที่จิตต้องการเป็นดุจธง" จริงอยู่ จิตที่สัมปยุตต์ด้วยมานะ ย่อมปรารถนาเป็นดุจธงและภาวะแห่งจิตนั้นชื่อว่าความต้องการเป็นดุจธงได้แก่ "มานะ" ที่นับว่าเป็นดุจธง

มานะ ในทางโลกเข้าใจกันว่าเป็นความพยายามบากบั่นขยันหมั่นเพียร แต่ในทางธรรม มานะ เป็นความสำคัญตน เป็นความทะนงตน ถือตน เป็นเจตสิกประเภทหนึ่ง เป็นอกุศลเจตสิกที่เกิดร่วมกับโลภมูลจิตเท่านั้น

มานะ เป็นความถือตนทะนงตน ซึ่งไม่มีใครชอบอย่างแน่นอน ผู้ที่ยังไม่ได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระอรหันต์ มานะก็ยังมี แต่ว่าความหยาบ ความเบาบางก็แตกต่างกันออกไป เมื่อศึกษาในเรื่องของมานะ ซึ่งเป็นอกุศลเจตสิกประเภทหนึ่ง ทำให้เห็นว่าอกุศลในชีวิตประจำวันมีมากจริงๆ แล้วแต่ว่าใครจะสะสมหนักมากไปในทางใด หรือว่า ใครจะสามารถขัดเกลาให้เบาบางลงได้ในแต่ละทาง ซึ่งธรรมที่ตรงกันข้ามกับมานะ ก็จะต้องเป็นกุศลธรรมเท่านั้น ที่ควรอบรมเจริญให้มีขึ้นในชีวิตประจำวัน มีความอ่อนน้อมถ่อมตน เป็นต้น เพราะขณะนั้น จิตใจอ่อนโยน ไม่หยาบกระด้าง และประการสำคัญ การอบรมเจริญปัญญา ซึ่งเริ่มจากการฟัง การศึกษาพระธรรมในชีวิตประจำวัน เป็นหนทางเดียวที่จะทำให้สามารถไปถึงซึ่งการดับกิเลสได้ รวมถึงกิเลสที่กำลังกล่าวถึง คือ มานะ ด้วย กิเลสทั้งหลายที่มีนั้น ต้องเป็นผู้มีปัญญา ถึงจะดับได้ ถ้าไม่มีปัญญาก็ไม่สามารถดับกิเลสใดๆ ได้เลย

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 24 ก.พ. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เมื่อได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ก็จะมีความเข้าใจถูกเห็นถูก ที่ค่อยๆ เจริญขึ้น จากที่เคยคิดเอาเองว่าจะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ โดยที่ไม่ตรงตามความเป็นจริงของสภาพธรรม ก็จะมีความเข้าใจถูกเห็นถูกตรงตามความเป็นจริงของธรรมตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ก็เพราะอาศัยเหตุที่สำคัญคือ การฟังพระธรรมด้วยความละเอียดรอบคอบ ไม่ประมาทในแต่ละคำที่ได้ยินได้ฟัง ซึ่งมีความละเอียดลึกซึ้งเป็นอย่างมาก เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกโดยตลอด แม้แต่ในเรื่องของ มานะ ก็เช่นเดียวกัน

มานะ ในทางธรรม เป็นอกุศลธรรม เป็นความสำคัญตน มีการเปรียบเทียบเกิดขึ้น เป็นธรรมที่มีจริง เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย ตราบใดก็ตามที่ยังไม่ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ก็ยังมีเหตุปัจจัยที่จะทำให้มานะเกิดขึ้นเป็นไปได้ ตามการสะสมของแต่ละบุคคล มานะ เมื่อเกิดขึ้น ก็เกิดร่วมกับจิตที่เป็นโลภมูลจิตประเภทที่ไม่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย นี้คือ ความเป็นจริงของธรรม จะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม แสดงให้เห็นถึงความเป็นจริงของธรรมที่เป็นอกุศลธรรมว่า มากมายทีเดียว เมื่อได้เหตุปัจจัยก็เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ ที่ตั้งแห่งความสำคัญตนนั้นมีมากทีเดียว ทั้งชาติตระกูล ยศ วิชาความรู้ การได้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นต้น ล้วนเป็นที่ตั้งของมานะได้ทั้งนั้น มีความสำคัญว่าได้ดีกว่าผู้อื่น ต่ำกว่าผู้อื่น หรือเท่าเทียมกับผู้อื่น แต่ชีวิตประจำวันก็ไม่ได้มีเฉพาะขณะที่มีความสำคัญตนเกิดขึ้นเท่านั้น ยังมีขณะอื่นๆ อีก เป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้าง เป็นวิบากซึ่งขณะที่ได้รับผลของกรรมกรรม และยังมีขณะที่เป็นกิริยาด้วย (ถ้าได้ศึกษาในรายละเอียดต่อไป)

ทั้งหมดที่ได้ฟังได้ศึกษาก็เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริงว่า เป็นธรรม ไม่ใช่เรา เห็นถึงความหลากหลายของอกุศลธรรมในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะต้องขัดเกลาด้วยกุศลธรรมและความเข้าใจถูกเห็นถูกต่อไป หนทางแห่งการอบรมเจริญปัญญาเท่านั้นที่จะเป็นไปเพื่อละกิเลสทั้งหลาย รวมถึงมานะด้วย เพราะมานะจะถูกดับได้อย่างหมดสิ้นเมื่อได้บรรลุถึงความเป็นพระอรหันต์ ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
papon
วันที่ 24 ก.พ. 2558

เรียนอาจารย์ทั้งสองท่าน

สติปัฏฐาน สามารถละมานะได้หรือไม่อย่างไรครับ?

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
paderm
วันที่ 24 ก.พ. 2558

เรียนความเห็นที่ 3 ครับ

สติปัฏฐานที่เป็นระดับโลกุตตระ ถึง อรหัตตมรรคจิต ย่อมละมานะได้จนหมดสิ้นครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
nopwong
วันที่ 25 ก.พ. 2558

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
wannee.s
วันที่ 6 มี.ค. 2558

อันดับแรกท่านให้ละความเห็นผิดก่อน เริ่มด้วยการฟัง การศึกษาธรรมะ ตามลำดับค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
peem
วันที่ 13 ก.ย. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
papon
วันที่ 15 ก.ย. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
chatchai.k
วันที่ 4 ส.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
Jarunee.A
วันที่ 27 ก.พ. 2567

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ