สอบถามความเห็น ลักษณะของ โกรธหรือโทสะ
ทุกครั้งที่ผมมี "โทสะ" ผมก็พยายามคิดนะครับว่า "โทสะ" มันก็เป็นธรรมะ ไม่ใช่เราแต่ทำไม "โทสะ" มันถึงยังดำรงอยู่ โดยที่รู้ทั้งรู้ว่า.."ไม่ใช่เรา"..
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ผู้ที่จะดับความโกรธ ไม่เกิดอีก คือ พระอนาคามี ซึ่งแม้พระโสดาบัน ละความเห็นผิดที่ยึดถือว่าเป็นเรา เป็นสัตว์ บุคคล ก็ยังเกิดความโกรธได้เป็นธรรมดา เพราะยังไม่สามารถละความโกรธได้หมดสิ้น เพียงแต่เบาบางลงเท่านั้น เพราะฉะนั้น ปุถุชน ที่เพิ่งเริ่มศึกษาธรรม เข้าใจเพียงขั้นการฟัง จึงเป็นผู้ที่ตรงว่า ปัญญายังน้อยมาก เพียงเข้าใจว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา ในขั้นการฟัง ไม่สามารถทำอะไรกิเลสได้ แต่ประโยชน์ของการเข้าใจถูกในขั้นการฟัง ที่เข้าใจถูกว่า ไม่ใช่เราเป็นแต่เพียงธรรม เป็นพื้นฐานที่จะทำให้เข้าไปถึงความเข้าใจถูกระดับสูง และบรรลุมรรคผลต่อไปในอนาคต เพราะฉะนั้นเป็นธรรมดาที่ยังเกิดกิเลส และแม้เข้าใจว่าเป็นธรรม กิเลสก็เกิดอีกเป็นธรรมดา หนทางที่ถูก คือ การฟัง ศึกษาพระธรรมอย่างยาวนานนับชาติไม่ถ้วน ซึ่งธรรมจะทำหน้าที่ละกิเลสเองไปตามลำดับ ครับ
ขออนุโมทนา
ขอนบอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
กล่าวถึงสภาพธรรมที่มีจริงๆ ในชีวิตประจำวัน คือ โทสะ, โทสะหรือความโกรธ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง สามารถที่จะเกิดได้กับทุกบุคคลตราบใดที่ยังไม่ได้ดับโทสะได้อย่างเด็ดขาดถึงความเป็นพระอนาคามีบุคคล เมื่อได้เหตุได้ปัจจัย โทสะก็เกิดได้ ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น
โทสะ เป็นข้าศึกภายในที่ประทุษร้ายทันทีที่เกิดขึ้น ตามความเป็นจริงแล้ว เราไม่ได้ถูกใครประทุษร้ายเบียดเบียนเลย นอกจากโทสะซึ่งเป็นสภาพที่ประทุษร้าย ซึ่งเป็นกิเลสของเราเอง สำหรับโทสะที่ว่าเป็นข้าศึกภายในที่ประทุษร้ายทันทีที่เกิดขึ้น ซึ่งก็มีหลายระดับตั้งแต่เพียงขุ่นเคืองใจเล็กน้อย จนกระทั่งมีกำลังกล้าถึงขั้นประทุษร้าย เบียดเบียนผู้อื่นด้วยกาย หรือด้วยวาจา เป็นความเกิดขึ้นเป็นไปของอกุศลธรรม ไม่มีประโยชน์เลยแม้แต่น้อย มีแต่โทษโดยส่วนเดียวเท่านั้น และไม่ได้หมายเอาเฉพาะโทสะเท่านั้นที่มีโทษ ต้องหมายรวมถึงอกุศลธรรมทุกประเภทด้วย ที่มีแต่โทษโดยส่วนเดียว ไม่นำมาซึ่งคุณประโยชน์ใดๆ เลย
ไม่มีอะไรที่สามารถที่จะกั้นข้าศึกนี้ได้เลย ถ้าจะพิจารณาแล้วข้าศึกภายนอกยังมีป้อมปราการเป็นเครื่องกั้น มีประตูหน้าต่างเป็นเครื่องกั้น แต่ว่าโทสะซึ่งเป็นข้าศึกภายใน เกิดขึ้นเมื่อใดประทุษร้ายทันที หนีไม่ทัน เพราะเหตุว่าไม่มีเครื่องกั้นเลย เมื่อเป็นเช่นนี้สำหรับบุคคลผู้มีปัญญา ท่านเห็นโทษของโทสะ ท่านเข้าใจว่าโทสะเป็นอกุศลธรรมที่พึงละ ไม่ควรพอใจ ไม่ควรยินดีที่จะโกรธต่อไป เพราะเหตุว่าความโกรธแม้เพียงเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เมื่อสะสมมากขึ้นก็อาจจะถึงขั้นผูกโกรธ พยาบาท เกลียดชัง แค้นเคือง ที่จะเป็นเหตุให้เกิดการประทุษร้ายเบียดเบียนผู้อื่นทั้งทางกาย หรือทางวาจาในภายหน้าได้ ซึ่งไม่เป็นผลดีทั้งแก่ตนและผู้อื่นเลย
ดังนั้น ธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นเครื่องเตือนที่ดี แม้อกุศล พระองค์ก็ทรงแสดงเพื่อให้เห็นอกุศลตามความเป็นจริง พร้อมทั้งทรงแสดงโทษไว้ด้วย เตือนให้ไม่หลงผิดไปในทางที่ไม่ดี แต่ให้ตั้งมั่นอยู่ในกุศลธรรมทั้งหลาย จึงควรอย่างยิ่งที่จะศึกษาและน้อมประพฤติปฏิบัติตามด้วยความจริงใจ ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ขอบคุณนะครับ ที่อธิบายมาทั้งหมดนั้น มันรูปแบบเดิมๆ ตรงนั้นใครอ่านเขาก็เข้าใจ แต่ความหมายที่ผมถาม คือ ดับในขณะที่ความโกรธ"กำลังปรากฏ" คือ รู้ทั้งรู้ว่า โทสะกำลังเกิดขึ้น แต่ขณะนั้นทำไม "โทสะ" ถึงไม่ดับ ไม่ได้หมายความว่า ดับแบบสมุทเฉทประหาร เหมือนพระอนาคามี หรือพระอรหันต์ ที่ละสังโยชน์ได้แบบเด็ดขาด