อกุศลวิบากไม่มีเหตุปัจจัยเกิดร่วมด้วย ถ้าเป็นฝ่ายกุศลจะมีเหตุปัจจัยเกิดร่วมด้วย

 
papon
วันที่  25 ก.พ. 2558
หมายเลข  26231
อ่าน  1,961

เรียนอาจารย์ทั้งสองท่าน

"...อกุศลวิบากไม่มีเหตุปัจจัยเกิดร่วมด้วย ถ้าเป็นฝ่ายกุศลจะมีเหตุปัจจัยเกิดร่วมด้วย" พจนาท่านอาจารย์ ขอความอนุเคราะห์อาจารย์ช่วยกรุณาให้คำอธิบายในประโยคนี้ด้วยครับ

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 25 ก.พ. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เหตุในที่นี้ หมายถึง สภาพธรรมทีเป็นเหตุ ที่เป็นเจตสิก 6 ดวง คือ โลภเจตสิก โทสเจตสิก โมหเจตสิก อโลภเจตสิก อโทสเจตสิก และอโมหเจตสิก

คำถามที่ว่า

"อกุศลวิบากไม่มีเหตุปัจจัยเกิดร่วมด้วย ถ้าเป็นฝ่ายกุศลจะมีเหตุปัจจัยเกิดร่วมด้วย"

ในเหตุ 6 ก็มีเหตุที่ดี โสภณเหตุ มี อโลภะ อโทสะ อโมหะเหตุ ซึ่ง อกุศลวิบาก ไม่ประกอบด้วยเหตุ 3 นี้ แต่ถ้าเป็น กุศลวิบาก ก็สามารถประกอบด้วยเหตุที่ดี 2 หรือ 3 ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
papon
วันที่ 25 ก.พ. 2558

เรียนอาจารย์ทั้งสองท่าน

วิบากจิต มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย 7 ดวง กุศลเหตุเกิดร่วมกับกับกุศลวิบาก ด้วยหรือครับ?

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 25 ก.พ. 2558

เรียนความเห็นที่ 2 ครับ

ถ้าพูดถึง วิบากจิต กว้างขวางกว่า กุศลวิบาก มาก ครับ

วิบากจิตมี ๓๖ วิบากจิต ๓๖ ได้แก่ อเหตุวิบาก ๑๕, มหาวิบาก ๘, มหัคคตวิบาก ๙, ผลจิต ๔ รวมเป็น ๓๖

อเหตุกวิบากจิต

อเหตุก (ไม่มีเหตุประกอบ) + วิปาก (ความสุกวิเศษ , ผล) + จิตฺต (จิต)

วิบากจิตที่ไม่มีเหตุเจตสิกประกอบ หมายถึง วิบากจิต ๑๕ ดวง ที่ไม่มีเหตุเจตสิก ๖ เกิดร่วมด้วย แบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ

อเหตุกกุศลวิบากจิต ๘ ดวง อกุศลวิบากจิต ๗ ดวง

๑. อุเบกขาจักขุวิญญาณกุศลวิบาก ๑. อุเบกขาจักขุวิญญาณอกุศลวิบาก

๒. อุเบกขาโสตวิญญาณกุศลวิบาก ๒. อุเบกขาโสตวิญญาณอกุศลวิบาก

๓. อุเบกขาฆานวิญญาณกุศลวิบาก ๓. อุเบกขาฆานวิญญาณอกุศลวิบาก

๔. อุเบกขาชิวหาวิญญาณกุศลวิบาก ๔. อุเบกขาชิวหาวิญญาณอกุศลวิบาก

๕. สุขกายวิญญาณกุศลวิบาก ๕. ทุกขกายวิญญาณอกุศลวิบาก

๖. อุเบกขาสัมปฏิจฉันนกุศลวิบากจิต ๖. อุเบกขาสัมปฏิจฉันนอกุศลวิบากจิต

๗. อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบากจิต ๗. อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบากจิต

๘. โสมนัสสันตีรณกุศลวิบากจิต

อเหตุกกุศลวิบากทุกดวง (เว้นสันตีรณจิตทั้ง ๒) รู้อารมณ์ที่ดีปานกลาง (อิฏฐมัชฌัตตารมณ์) หรืออารมณ์ที่ดียิ่ง (อติอิฏฐารมณ์) ก็ได้

ส่วนอุเบกขาสันตีรณจิตรู้อารมณ์ที่ดีปานกลางเท่านั้น

โสมนัสสันตีรณจิตรู้อารมณ์ที่ดียิ่งเท่านั้น

อกุศลวิบากทุกดวงรู้อารมณ์ที่ไม่ดี (อนิฏฐารมณ์) เท่านั้น

มหาวิบากจิต

มหา (ใหญ่ , มาก) + วิบาก (ความสุกวิเศษ , ผล) + จิตฺต (จิต)

วิบากจิตซึ่งเป็นผลของมหากุศลจิต หมายถึง จิตที่เป็นผลของมหากุศลจิต เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า กามโสภณวิบากจิต หรือ กามาวจรสเหตุกวิบากจิต ก็ได้ เป็นทวิเหตุกะ (เหตุ ๒) และติเหตุกะ (เหตุ ๓) อย่างละ ๔ ดวง เหมือนมหากุศลจิตและมหากิริยาจิต ที่ชื่อว่า มหาวิบาก มิได้เป็นไปในอาการมากมายเหมือนมหากุศลและมหากิริยา แต่เพราะเป็นผลของมหากุศลจิต จึงมีชื่อตามมหากุศล เพราะมหาวิบากจิตทำกิจปฏิสนธิ ภวังค์ จุติ และตทาลัมพณกิจ ไม่สามารถเป็นไปในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ไม่มีอธิบดี ๔ ไม่ทำให้เกิดวิญญัติรูป ไม่มีกรุณาและมุทิตาเจตสิกเกิดร่วมด้วย ทั้งวิรตี ๓ ก็ไม่เกิดกับมหาวิบาก มหาวิบาก ๘ ดวง มีความต่างกัน ๓ อย่าง คือ เวทนา ๑ (เป็นโสมนัส ๔ ดวง และอุเบกขา ๔ ดวง) สัมปยุตต์ ๑ (เป็นญาณสัมปยุตต์ ๔ ดวง และญาณวิปปยุตต์ ๔ ดวง) สังขาร ๑ (เป็นอสังขาริก ๔ ดวง และสสังขาริก ๔ ดวง) ชื่อบาลีเหมือนมหากุศลจิตทุกประการ

รูปาวจรวิบากจิต

รูป (รูป) + อวจร (ท่องเที่ยวไป) + วิปากจิตฺต (จิตที่เป็นผล)

วิบากจิตที่ท่องเที่ยวไปในรูปภูมิเท่านั้น หมายถึง รูปฌานวิบากจิตซึ่งเป็นผลของรูปฌานกุศล สำหรับบุคคลที่ได้รูปฌานกุศลจิต แล้วไม่เสื่อมก่อนสิ้นชีวิต ในขณะจะมรณะ รูปฌานกุศลจิตจะเกิดก่อนจุติจิตในมรณาสันวิถี คือวิถีจิตสุดท้ายใกล้ตาย มีผลทำให้รูปฌานวิบากจิตทำกิจปฏิสนธิในรูปพรหมภูมิ และทำภวังคกิจสืบต่อความเป็นรูปพรหมบุคคลจนกว่าจะสิ้นกรรม และทำจุติกิจเคลื่อนจากความเป็นรูปพรหมบุคคลเมื่อสิ้นกรรมแล้ว

รูปาวจรวิบากจิตมี ๕ ดวง คือ ...

๑. รูปฌานวิบาทจิตดวงที่ ๑ มีองค์ฌาน ๕ คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข และเอกัคคตา

๒. รูปฌานวิบาทจิตดวงที่ ๒ มีองค์ฌาน ๔ คือ วิจาร ปีติ สุข และเอกัคคตา

๓. รูปฌานวิบาทจิตดวงที่ ๓ มีองค์ฌาน ๓ คือ ปีติ สุข และเอกัคคตา

๔. รูปฌานวิบาทจิตดวงที่ ๔ มีองค์ฌาน ๒ คือ สุข และเอกัคคตา

๕. รูปฌานวิบาทจิตดวงที่ ๕ มีองค์ฌาน ๒ คือ อุเบกขา และเอกัคคตา

รูปวจรวิบากจิต ๕ ดวง เกิดได้ในรูปพรหมภูมิ ๑๕ ภูมิ เพราะทำกิจปฏิสนธิ ภวังค์ จุติ ในรูปพรหมภูมิที่มีขันธ์ ๕ เท่านั้น

อรูปาจรวิบากจิต ๔ ดวง

๐ อากาสานญฺจายตนวิปากจิตฺต 

๐ วิญฺญาณญฺจายตนวิปากจิตฺต 

๐ อากิญฺจญฺญายตนวิปากจิตฺต 

๐ เนวสญฺญานาสญฺญายตนวิปากจิตฺต 

เมื่ออรูปาวจรวิบากจิตดวงใดดวงหนึ่งปฏิสนธิเกิดขึ้นเป็นอรูปพรหมบุคคลในอรูปพรหมภูมิตามขั้นของอรูปฌานจิตนั้นแล้ว ก็ดำรงความเป็นอรูปพรหมบุคคลนั้นๆ จนกว่าจะจุติเมื่อสิ้นอายุของพรหมภูมินั้นๆ ระหว่างที่เป็นอรูปพรหมบุคคลนั้น ไม่มีรูปขันธ์ใดๆ เกิดเลย มีแต่นามขันธ์ ๔ เท่านั้น จึงเป็นอรูปพรหมบุคคล

โลกุตรวิบากจิต

โลกุตฺตร (เหนือโลก) + วิปาก (ความสุกวิเศษ , ผล) + จิตฺต (จิต)

วิบากจิตที่เป็นโลกุตรภูมิ หมายถึง ผลจิตทั้ง ๔ ดวง คือ โสดาปัตติผลจิต สกทาคามิผลจิต อนาคามิผลจิต อรหัตตผลจิต ซึ่งเป็นผลของโลกุตรกุศลกรรม คือ เจตนาเจตสิกที่เกิดกับโลกุตรกุศลจิตที่ให้ผลไม่มีระหว่างคั่น เรียกว่า อกาลิโก หรือ อกาลิกธรรม (ผลจิตเกิดต่อจากมรรคจิตโดยไม่มีระหว่างคั่น ในมรรควิถีเดียวกัน)

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

เพราะฉะนั้น วิบากจิต ที่ประกอบด้วย เจตสิก 7 ดวง มุ่งหมายถึง อเหตุกจิต ครับ แต่ถ้าเป็น กุศลวิบากจิต เช่น มหาวิบาก กามโสภณวิบาก เป็นต้น ก็มี เจตสิก ที่เป็นเหตุที่ดีเกิดร่วมได้ มี อโลภเจตสิก เป็นต้น ครับ ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
papon
วันที่ 25 ก.พ. 2558

เรียนอาจารย์ทั้งสองท่าน

กามโสภณวิบาก เมื่อมีเหตุ ก็จะส่งผลในกาลต่อไปด้วยหรือไม่อย่างไรครับ?

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
paderm
วันที่ 25 ก.พ. 2558

ไม่ส่งผล เพราะเป็นชาติวิบากครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
khampan.a
วันที่ 25 ก.พ. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ประโยชน์ของการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรม คือ ความเข้าใจถูกเห็นถูกในแต่ละคำที่ได้ยินได้ฟังนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกโดยตลอด และที่สำคัญคือ ไม่พ้นไปจากเพื่อความเข้าใจในสิ่งที่มีจริง แม้แต่ที่กล่าวว่า อกุศลวิบาก ก็ดี กุศล ก็ดี กุศลวิบาก ก็ดี หรือแม้แต่ที่กล่าวถึง เหตุปัจจัย ก็คือธรรมที่มีจริงๆ อกุศลวิบาก เป็นธรรมที่เป็นผลของอกุศลกรรม ได้แก่ วิบากจิตและเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ตัวอย่างของอกุศลวิบาก ก็คือ ขณะเห็น ได้ยิน ได้ยินกลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย ซึ่งมีเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยน้อยที่สุดเพียง ๗ ดวงเท่านั้น กุศล เป็นสภาพธรรมที่ดีงาม ได้แก่ กุศลจิตและเจตสิกธรรมที่เกิดร่วมด้วย ขณะที่กุศลจิตเกิดขึ้น ต้องมีเหตุเกิดร่วมด้วยอย่างน้อย ๒ เหตุ คือ อโลภะ กับ อโทสเหตุ ซึ่งเป็นเหตุที่ดีงาม และถ้ามีปัญญาเกิดร่วมด้วย ก็มีเหตุ ๓ ในขณะที่เป็นกุศลนั้น เหตุที่เป็นอกุศลเหตุ คือ โลภะ โทสะ และโมหะ จะเกิดร่วมด้วยไม่ได้เลย เนื่องจากอกุศลเหตุจะเกิดร่วมกับจิตชาติอกุศลเท่านั้น และถ้ากล่าวถึงกุศลวิบากแล้ว ก็ขึ้นอยู่กับว่าเป็นวิบากที่มีเหตุเกิดร่วมด้วยหรือไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย อย่างเช่น เห็นในสิ่งที่ดี ได้ยินเสียงที่ดี เป็นต้น เป็นกุศลวิบาก แต่ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย ถ้าเป็นมหาวิบาก เป็นต้น ก็มีเหตุที่เป็นโสภณเหตุเกิดร่วมด้วยตามควรแก่วิบากจิตประเภทนั้นๆ ทั้งหมดคือ สภาพธรรมที่มีจริงๆ เกิดเพราะเหตุปัจจัยไม่ใช่เรา ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
papon
วันที่ 25 ก.พ. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
ดวงทิพย์
วันที่ 27 ก.พ. 2558

ขอร่วมสนทนาด้วยคะ....

จิตชาติ วิบาก...เป็นผลของกรรมเท่านั้น..ไม่ให้ผลต่อไปในอนาคต..

ดังนั้น มหาวิบาก มี 4 กิจ คือ

1.ปฏิสนธิกิจ

2.ภวังคกิจ

3.จุติกิจ

4.ตทารัมพนกิจ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
ประสาน
วันที่ 28 ก.พ. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
ธนฤทธิ์
วันที่ 28 ก.พ. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
ธนฤทธิ์
วันที่ 28 ก.พ. 2558

เป็นหัวข้อที่ควรศึกษาอย่างละเอียด

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
thilda
วันที่ 1 มี.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
Jarunee.A
วันที่ 17 ก.พ. 2567

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ