วิญญาณ

 
papon
วันที่  26 ก.พ. 2558
หมายเลข  26242
อ่าน  1,099

เรียน อาจารย์ทั้งสองท่าน

"วิญญาณ" ขอความอนุเคราะห์อาจารย์ช่วยกรุณาให้อรรถาธิบายในคำนี้ด้วยครับ

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 26 ก.พ. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

วิญญาณ เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง เป็นนามธรรม แปลตามศัพท์ได้ว่า เป็นสภาพธรรมที่รู้แจ้ง (ซึ่งอารมณ์) เป็นสภาพธรรม ที่เป็นใหญ่เป็นประธาน ในการรู้แจ้งอารมณ์ วิญญาณ กับ จิต เป็นสภาพธรรมอย่างเดียวกัน มีพยัญชนะหลายประการ ที่หมายถึงจิต เช่น มนะ หทยะ วิญญาณ วิญญาณขันธ์ วิญญาณธาตุ เป็นต้น เพื่อให้ผู้ที่ศึกษาได้เข้าใจถึงลักษณะของจิตซึ่งเป็นสภาพธรรมที่แต่ละบุคคลมีด้วยกันทั้งนั้น (ในชีวิตไม่ปราศจากจิตเลยแม้แต่ขณะเดียว) หนึ่งในนั้น คือ วิญญาณ ดังนั้น จิต กับ วิญญาณ จึงเป็นธรรมอย่างเดียวกัน ต่างกันเพียงพยัญชนะเท่านั้น วิญญาณไม่มีการล่องลอย ไม่มีรูปร่าง วิญญาณเป็นธรรมประเภทหนึ่ง เมื่อเกิดแล้วดับไป ไม่กลับมาอีกเลย จิตขณะหนึ่งดับไป เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อทันที เป็นอย่างนี้อย่างไม่ขาดสาย จนกว่าจะสิ้นสุดสังสารวัฏฏ์

วิญญาณ ในพระพุทธศาสนา ไม่ใช่หมายถึง วิญญาณล่องลอย ที่เป็นผี ตามที่เข้าใจกัน แต่หมายถึงสภาพธรรมที่รู้อารมณ์ คือ เป็นสภาพรู้ เป็นใหญ่ในการรู้ เรียกว่า วิญญาณ คือ จิตนั่นเอง ครับ ดังนั้น เมื่อกล่าวถึงวิญญาณ ก็คือสภาพธรรมที่เป็น จิต ซึ่งมีหลายประเภท เช่น จักขุวิญญาณ หรือ จิตเห็น โสตวิญญาณ หรือ จิตได้ยิน เป็นต้น ดังนั้น เมื่อ วิญญาณ หรือ จิต เกิดขึ้นเป็นสภาพรู้ ก็ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ เช่น จิตเห็น (จักขุวิญญาณ) เมื่อเกิดขึ้นก็ต้องมีสิ่งที่ถูกเห็น คือสีที่ปรากฏให้เห็นได้ทางตาเป็นต้น วิญญาณ จึงไม่ได้หมายถึง ผี ตามที่เข้าใจกันครับ แต่ วิญญาณ หมายถึง สภาพธรรมที่เป็นจิต มีลักษณะเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้อารมณ์ ครับ

จึงกล่าวได้ว่า จิต กับ วิญญาณ เหมือนกัน ที่เป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่ในการรู้ แต่เพียงใช้พยัญชนะที่แตกต่างกันเท่านั้น ครับ ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 26 ก.พ. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

วิญญาณ เป็นสภาพธรรมที่รู้แจ้ง กล่าวคือ รู้แจ้งซึ่งอารมณ์ (อารมณ์ คือ สิ่งที่จิตรู้) , วิญญาณ เป็นนามธรรมประเภทหนึ่ง ที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งซึ่งอารมณ์ ลักษณะของวิญญาณ คือ มีการรู้แจ้งซึ่งอารมณ์เป็นลักษณะเท่านั้น ตั้งแต่เกิดจนตายไม่พ้นจากวิญญาณเลย และในที่สุดเมื่อถึงขณะสุดท้ายของชาตินี้ วิญญาณขณะสุดท้าย คือ จุติจิต ก็เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ ทำให้สิ้นสุดความเป็นบุคคลในชาตินี้ (และเมื่อยังมีกิเลสอยู่ วิญญาณ ในชาติต่อไปก็เกิดสืบต่อทันทีโดยไม่มีระหว่างคั่น)

สิ่งที่สำคัญที่แต่ละชีวิตไม่เคยขาด นั่นก็คือ สภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งซึ่งอารมณ์ แต่จะไม่เข้าใจความจริงของสภาพธรรมนี้เลย แม้จะมีจริงอยู่ทุกขณะ จนกว่าจะได้ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง สภาพธรรมที่กล่าวถึงนั้น คือ วิญญาณ หรือ จิต นั่นเอง ซึ่งก่อนฟังพระธรรมเคยพูดคำเหล่านี้โดยที่ไม่รู้จัก กล่าวได้ว่า พูดคำที่ไม่รู้จักตั้งแต่เกิดจนตาย จนกว่าได้ฟังพระธรรม ถ้าไม่มีวิญญาณหรือจิตเกิดขึ้นเห็น ใครก็ทำให้มีสิ่งที่ปรากฏขณะนี้ไม่ได้ ถ้าไม่มีวิญญาณหรือจิตเกิดขึ้นได้ยิน ก็จะไม่รู้ว่ามีเสียงให้ได้ยิน เป็นต้น ถ้าไม่มีสภาพธรรมนี้ ก็ไม่รู้ว่ามีอะไร เพราะฉะนั้น การได้ยินได้ฟังพระธรรมบ่อยๆ จะทำให้เราไม่ลืมความเป็นจริงของสภาพธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริงแต่ละหนึ่ง เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป ไม่กลับมาอีก ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
papon
วันที่ 26 ก.พ. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ธุลีพุทธบาท
วันที่ 28 ก.พ. 2558

ถึงแม้ว่า จะเคยได้ยินคำว่า "จิต"หรือ "วิญญาณ" จากการฟังพระธรรมมาแล้ว ความประมาททำให้คิดว่าเหมือนรู้แล้ว เข้าใจแล้ว แต่ลืมเสมอว่า คือ "ขณะนี้" เพราะไม่ได้เข้าใจในแต่ละคำจริงๆ กราบขอบพระคุณและอนุโมทนาในกุศลวิริยะและเมตตาของอาจารย์ทั้งสองท่าน ที่เกื้อกูลให้มีโอกาสได้ศึกษาแต่ละคำ แต่ละข้อความ ซึ่งหาได้ยากในสังสารวัฏฏ์ ครับ.

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
wannee.s
วันที่ 6 มี.ค. 2558

จะใช้คำว่าวิญญาณ หรือจิต ก็หมายถึงสภาพรู้ ธาตุรู้ อาการรู้ เช่น จิต หรือ วิญญาณ เป็นใหญ่ในการรู้แจ้งอารมณ์ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
chatchai.k
วันที่ 10 มี.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
เซจาน้อย
วันที่ 19 มี.ค. 2564

อนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
เซจาน้อย
วันที่ 19 มี.ค. 2564

อนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
Jarunee.A
วันที่ 7 ก.พ. 2567

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
ก.ไก่
วันที่ 22 ก.ย. 2567

ขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ