ตระหนี่ขันธ์

 
papon
วันที่  26 ก.พ. 2558
หมายเลข  26244
อ่าน  1,055

เรียนอาจารย์ทั้งสองท่าน

"ตระหนี่ขันธ์" พจนาของท่านอาจารย์ในแนวทางวิปัสสนาตอนเที่ยงวันที่ 26 กพ.2558 ขอความอนุเคราะห์อาจารย์ช่วยกรุณาให้คำอธิบายเกี่ยวกับคำนี้ด้วยครับ

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 26 ก.พ. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

มัจฉริยะ หรือ ความตระหนี่ หมายถึง ความเหนียวแน่น ความหวงแหน ในสมบัติของตน หรือ ปกปิดสมบัติของตนไม่ให้ผู้อื่นรู้ หรือ อยากให้สิ่งที่มีอยู่กับตน หรือ สิ่งที่ดีๆ นั้นมีอยู่กับเราผู้เดียว ไม่อยากให้ผู้อื่นมี เป็นต้น นี่คือ ลักษณะของความตระหนี่ครับ

มัจฉริยะ คือ ความตระหนี่ ๕ อย่าง ได้แก่

๑. อาวาสมัจฉริยะ ตระหนี่ ที่อยู่อาศัย

๒. กุลมัจฉริยะ ตระหนี่ ตระกูล

๓. ลาภมัจฉริยะ ตระหนี่ ลาภ

๔. วรรณมัจฉริยะ ตระหนี่ วรรณะ คือคำสรรเสริญ

๕. ธรรมมัจฉริยะ ตระหนี่ ธรรม รวมถึง ความรู้

แต่ในความตระหนี่นั้น ยังมีความละเอียดลึกลงไปอีก ดังข้อความที่ว่า

"อีกอย่างหนึ่ง แม้ความตระหนี่ขันธ์ ท่านก็เรียกว่ามัจฉริยะ แม้ความตระหนี่ธาตุ ท่านก็เรียกว่ามัจฉริยะ"

คือ มีทั้ง ความตระหนี่ขันธ์ ความตระหนี่ธาตุ และความตระหนี่อายตนะ ซึ่งความตระหนี่ขันธ์ ธาตุ อายตนะ ยังหมายถึง ความหวงแหนในความเป็นเรา ในความเป็นไปของสภาพธรรมที่สมมติว่าเป็นเรา ที่มาจากขันธ์ ธาตุ อายตนะ นั่นเอง คือ ไม่อยากให้ใครเป็นอย่างตน ตระหนี่ในความเป็นเรา เป็นลักษณะของสภาพธรรมอย่างนี้ ขณะนั้นก็เป็น ความตระหนี่ขันธ์ ธาตุ อายตนะ เพราะสภาพธรรมที่เป็นขันธ์ ธาตุ อายตนะ ก็คือสภาพธรรมที่มีจริง ที่เป็น จิต เจตสิก และรูป ที่ประชุมรวมกัน และสมมติว่าเป็นเรา ผู้ที่มีความหวงแหน ตระหนี่อย่างยิ่ง ย่อมไม่อยากแม้ให้ใครเป็นอย่างตน ตระหนี่ในลักษณะรูปร่าง ในความเป็นเรา ในขันธ์เช่นนี้ ในธาตุ ในอายตนะ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ที่มีลักษณะเช่นนี้ ให้อยู่กับตนเองเท่านั้น ไม่อยากให้คนอื่นเป็นดังเช่นลักษณะรูปร่าง สภาพธรรมดังเช่นตน ขณะนั้น ชื่อว่า มีความตระหนี่ขันธ์ ธาตุ อายตนะ ครับ

ซึ่งก็มีอรรถกถาได้อธิบายให้เข้าใจอย่างละเอียดในประเด็นนี้ คือ ความตระหนี่ขันธ์ ธาตุ อายตนะ ว่าเป็นอย่างไร เชิญอ่าน ครับ

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้าที่ ๒๗๗

บทว่า ขนฺธมจฺฉริยมฺปิ มจฺฉริยํ ความว่า อุปบัติภพกล่าวคือเบญจขันธ์ของตนไม่สาธารณะถึงคนอื่นๆ ชื่อว่าความตระหนี่ ความตระหนี่ที่เป็นไปว่า ขอจงเป็นของเราเท่านั้น อย่าเป็นของผู้อื่น ชื่อว่าความตระหนี่ขันธ์. แม้ในความตระหนี่ธาตุและความตระหนี่อายตนะ ก็นัยนี้แหละ.

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 26 ก.พ. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ข้อความบางตอนจากคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

อีกอย่างหนึ่ง แม้ความตระหนี่ขันธ์ ท่านก็เรียก มัจฉริยะ แมัความตระหนี่ธาตุ ท่านก็เรียก มัจฉริยะ ไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล เพราะฉะนั้นที่ตระหนี่ นี่ตระหนี่อะไร ลองคิดดู ถ้าไม่ตระหนี่ขันธ์ คือ รูปขันธ์บ้าง เวทนาขันธ์บ้าง สัญญาขันธ์บ้าง สังขารขันธ์บ้าง วิญญาณขันธ์บ้าง ท่านมีความสุข แล้วเห็นคนอื่นทุกข์เดือดร้อน อยากจะให้คนอื่นเขามีความสุขอย่างเรา ขณะนั้นไม่ตระหนี่ใน สุขเวทนา ใช่ไหม? แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีความสุข และ คนอื่นมีความทุกข์เดือดร้อน ก็ไม่มีความคิดที่จะเกื้อกูลบุคคลนั้นให้มีความสุขบ้าง ขณะนั้นก็เป็น การตระหนี่ ขันธ์ คือตระหนี่ สุขเวทนา

_________________________

ไม่ว่าจะกล่าวถึงสิ่งใด ก็ไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่จริงในขณะนี้เลย สิ่งที่มีจริงๆ นั่นแหละ คือ ธรรม มีจริง เกิดขึ้นจริง ซึ่งเป็นเครื่องพิสูจน์พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นจริง มีจริงนั้น ตรงตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงทุกประการ รวมทั้งมัจฉริยะ ความตระหนี่ด้วย ความตระหนี่ก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นอกุศลธรรมที่หวงแหนทรัพย์สมบัติสิ่งของของตน ไม่อยากให้ผู้อื่นมีส่วนในในสมบัติของตน ขณะที่เกิดขึ้นนั้น มีความไม่สบายใจอย่างแน่นอน ซึ่งจะแตกต่างไปจากขณะที่มีการให้ มีการสละ เพื่อประโยชน์สุขแก่บุคคลอื่นอย่างสิ้นเชิง

ตราบใดที่ยังไม่สามารถดับความตระหนี่ถึงความเป็นพระโสดาบันได้ ความตระหนี่ก็ย่อมจะเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย แต่สำหรับผู้ที่เห็นโทษ ก็ย่อมจะขัดเกลาละคลายความตระหนี่ของตนๆ ด้วยการให้ ด้วยการสละ เพราะถ้าไม่ขัดเกลาไปตามลำดับ ทีละเล็กทีละน้อย แล้วจะสามารถดับได้อย่างหมดสิ้นได้อย่างไร

ประโยชน์ของการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ก็เพื่อเข้าใจธรรมตามความเป็นจริง กุศลก็เป็นธรรม อกุศลก็เป็นธรรม สิ่งที่ไม่ใช่ทั้งกุศล และ ไม่ใช่ทั้งอกุศล ก็เป็นธรรม ไม่ใช่เราเลย เป็นแต่เพียงธรรมที่เมื่อมีเหตุปัจจัยก็เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ ไม่มีเราแทรกอยู่ในสภาพธรรมเหล่านั้นเลย เมื่อได้ศึกษาถึงส่วนที่เป็นอกุศลธรรม ก็จะเป็นเครื่องเตือนที่ดีสำหรับผู้ที่ยังมีอกุศลอยู่ ที่จะได้เห็นโทษ และขัดเกลาด้วยกุศลธรรม เพราะกุศลธรรมเท่านั้นที่จะขัดเกลา กำจัดอกุศลได้ ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
papon
วันที่ 26 ก.พ. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ธุลีพุทธบาท
วันที่ 27 ก.พ. 2558

กราบเท้าบูชาพระคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพอย่างสูงยิ่ง

กราบขอบพระคุณและอนุโมทนาอาจารย์ทั้งสองท่านเป็นอย่างยิ่ง ครับ.

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
วิริยะ
วันที่ 27 ก.พ. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
peem
วันที่ 27 ก.พ. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
Jarunee.A
วันที่ 6 ก.พ. 2567

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ