โลภะที่ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิดกรณีสักกายะทิฎฐิ
เรียนถามอ.ทั้งสองท่านค่ะ
พระนางวิสาขา ท่านบรรลุคุณธรรมพระโสดาบันแล้ว
1.หลานตายท่านร้องไห้ด้วยความรักอาลัยที่ต้องสูญเสียบุคคลที่ท่านรักด้วยโลภมูลจิตใช่ไหมคะ
2.แต่ท่านไม่เห็นผิดว่าเป็นหลานของท่าน ถูกต้องไหมคะ
3. รบกวน อ.ทั้งสองท่าน อธิบาย โลภมูลจิตที่ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด เปรียบเทียบกับ โลภมูลจิตที่ประกอบด้วยความเห็นผิด ในกรณีความไม่มีเรา ให้เข้าใจจะเป็นพระคุณยิ่งค่ะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
กิเลสย่อมละเป็นไปตามลำดับ พระโสดาบันละกิเลสคือความเห็นผิดว่าเป็นสัตว์ บุคคลก่อน แต่ยังมีความติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส ดังนั้นการที่ท่านเศร้าโศกเพราะหลานตาย ขณะที่ท่านเศร้าโศก ท่านไม่ได้ยึดถือว่าความเศร้าโศกเป็นเราเลยเพราะดับความเห็นผิดแล้ว แต่ท่านมีความติดข้องพอใจในหลาน จึงเกิดโทสะ คือความเสียใจได้เพราะมีโลภะที่ติดข้องในรูป เสียง..ที่ยังไม่ได้ดับเป็นปัจจัย และท่านไม่ยึดถือว่าเป็นหลานของท่านด้วยความเห็นผิด ครับ
โลภะที่ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด คือ เพียงติดข้อง ยินดีพอใจ แต่ไม่ได้มีความยึดถือว่าเป็นเรา เป็นสัตว์ บุคคล หรือ เห็นว่า เที่ยง เป็นสุขในขณะนั้น ครับ แต่ถ้าเป็นโลภะที่ประกอบด้วยความเห็นผิด ขณะนั้นมีความเห็นผิดเกิดขึ้น ที่เห็นว่ามีเรา มีสัตว์ บุคคล เที่ยง เป็นสุข ซึ่งก็ยินดีพอใจในความเห็นนั้น ครับ ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ที่ควรจะได้พิจารณา คือ การเห็นเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นสักกายทิฏฐิเสมอไป เพราะจะเป็นความเห็นผิดก็ต่อเมื่อเห็นว่ามีเราจริงๆ มีตัวตนจริงๆ เป็นสิ่งนั้นจริงๆ ที่เที่ยงแท้ยั่งยืน เป็นต้น เพราะตามความเป็นจริงแล้ว ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม เมื่อเห็นแล้ว ก็คิดนึกจำเป็นรูปร่างสัณฐานต่างๆ หมายรู้ว่า เป็นใคร เป็นอะไร ซึ่งก็เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ที่จะต้องเป็นอย่างนี้ เมื่อไม่ได้มีความเห็นว่าเป็นสิ่งนั้นจริงๆ ที่เที่ยงแท้ยั่งยืน ก็ไม่ใช่ความเห็นผิด แต่เมื่อใดก็ตามที่มีความเห็นว่าเป็นสิ่งนั้นจริงๆ เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดจริงๆ ที่เที่ยงแท้ ยั่งยืน ก็เป็นความเห็นผิด แต่สำหรับพระอริยบุคคล ท่านดับความเห็นผิดได้อย่างหมดสิ้นแล้ว ไม่ได้มีความเห็นผิดว่ามีสัตว์ มีบุคคล หรือมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดจริงๆ ในขณะนั้น เพียงแต่จำ ในนิมิต สัณฐาน หรือ ส่วนละเอียดต่างๆ นั้น ตามที่เป็นอย่างนั้น หมายรู้ว่า เป็นใครหรือสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่ไม่ใช่ด้วยความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน สัตว์ บุคคล หรือสิ่งหนึ่งสิ่งใด
ตราบใดก็ตามที่ยังไม่ได้เป็นพระอริยบุคคล ก็ยังไม่สามารถดับความเห็นผิดใดๆ ได้เลย แต่ความเห็นผิดทุกประการจะถูกดับได้อย่างหมดสิ้น เมื่อรู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระโสดาบัน พระโสดาบันดับความเห็นผิดได้อย่างหมดสิ้น สักกายทิฏฐิ ซึ่งเป็นความเห็นผิดที่ยึดถืดสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน สัตว์บุคคล ก็ดับได้ ไม่เกิดขึ้นอีกเลย พระโสดาบันไม่มีความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน สัตว์ บุคคล
การมีโอกาสได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม มีประโยชน์อย่างยิ่ง ขณะที่ฟังแล้วเข้าใจ ขณะนั้นกุศลธรรมเจริญขึ้น ศรัทธา ปัญญา เป็นต้น เกิดขึ้น เป็นการขัดเกลาละคลายความเห็นผิด รวมถึงอกุศลธรรมประการอื่นๆ ด้วย ขณะที่กุศลธรรมเกิด อกุศลธรรมจะเกิดร่วมด้วยไม่ได้ และความเห็นผิดจะถูกดับได้อย่างเด็ดขาดเมื่ออบรมเจริญปัญญาถึงความเป็นพระโสดาบัน เมื่อนั้นความเห็นผิด จะไม่เกิดขึ้นอีกเลยในสังสารวัฏฏ์ ซึ่งจะต้องเริ่มสะสมอบรมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับจริงๆ ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
กราบขอบพระคุณ และอนุโมทนาในกุศลจิต
อาจารย์ผเดิม และ อาจารย์คำปั่น ทั้งสองท่านเป็นอย่างสูงค่ะ
ได้ความเข้าใจ ชัดเจนขึ้นมากค่ะ
กราบขอบพระคุณและอนุโมทนาอาจารย์ผเดิมและอาจารย์คำปั่นเป็นอย่างยิ่ง
เป็นคำตอบที่ชัดเจนกระจ่างแจ้งมาก ครับ.
นโม พุทฺธาย
ขอนอบน้อมคุณพระพุทธ
สวัสดีทุกๆ ท่านครับ ขอร่วมสนทนาด้วยนะครับ.
เรื่องนี้ ต้องเข้าใจเกี่ยวกับ ลักขณาทิจตุกะของโลภะกับทิฏฐิ, และ วิปลาส 12 ครับ
.
โลภะ เป็นสภาพที่ยึดติด, ทิฏฐิ เป็นสภาพที่เข้าใจผิด. แตกต่างกันชัดเจนนะครับ
.
การที่นางวิสาขาร้องไห้เพราะหลานตาย เนื่องจากนางยังมีสภาพยึดติดคือโลภะเกิดได้อยู่, แต่นางเป็นพระโสดาบัน เพราะนางไม่มีความเข้าใจผิดคือมิจฉาทิฏฐิ, ความคิดผิดคือทิฏฐิคตสัมปยุตตจิต, ความจำผิดคือทิฏฐิคตสัมปยุตตสัญญา ว่า "มีอัตตาอยู่ ณ ที่ใดๆ " (อัตตสัญญา-อัตตจิตต-อัตตทิฏฐิวิปลาส) .
สรุป นางไม่ได้เข้าใจผิดว่ามีอัตตา แต่ยังยึดติดในขันธ์ด้วยโลภทิฏฐิคตวิปปยุตอยู่เท่านั้นเอง การที่โลภะตัวนี้จะเป็นอุปนิสสยปัจจัยให้โทสะยังน้ำตาให้ไหลออกมาได้ จึงไม่แปลกอะไร ครับ.
อนึ่ง ทิฏฐิ ไม่ได้ยึดติดเลย ทิฏฐิไม่ใช่สภาพยึดติดนะครับ, โลภะเท่านั้นเป็นสภาพยึดติด ส่วนทิฏฐินั้นเป็นสภาพเห็นผิด ครับ.