สำนักของพระเถระในสมัยที่พระศาสดายังไม่ได้ปรินิพพาน
ใคร่เรียนถามว่า "สำนัก" ที่ปรากฏในพระไตรปิฎกนั้น โดยเฉพาะ "สำนักของพระเถระ" แต่ละท่านนั้นหมายความถึงอย่างไร ยกตัวอย่างจากพระไตรปิฎก เช่น
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑
- สำนักภิกษุ (พึงไปยังสำนักของภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ในวิหารนั้น)
- สำนักพระอุบาลีเถระ (พระทาสกเถระเรียนพระวินัยปิฎกจากสำนักพระอุบาลีเถระ)
- สำนักพระทาสกเถระ (พระโสณกเถระเรียนพระวินัยปิฎกจากสำนักพระทาสกเถระ)
- สำนักของพระนางสังฆมิตตาเถรี
- สำนักของพระเถระ (...พวกมหาชนฟัง (จากสำนัก) ของชนเหล่านั้น, ...พระเถระทั้งหลาย มีพระอริฏฐเถระ เป็นต้น เรียนจาก (สำนัก) พระมหินท์แล้ว) รวมถึง พุทธสำนัก (พระอุบาลีเถระเรียนพระวินัยปิฎกจากพุทธสำนัก) ต่างหรือเหมือนกับคำว่า "อาวาส" ที่ปรากฏในพระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๒ และภาค ๓ เช่น
- อาวาส (เสนาสนะ) (จำพรรษาอยู่ในอาวาสแห่งหนึ่ง)
- ...อาวาสของภิกษุเหล่านี้ มีอยู่; เหตุนั้น ภิกษุเหล่านี้ จึงชื่อว่าอาวาสิกะ (เจ้าอาวาส) . วิหารท่านเรียกว่า อาวาส.
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
คำว่า สำนัก เป็นคำที่แปลมาจากภาษาบาลีว่า " สนฺติกํ " แต่ในความเป็นจริงแล้วจะแปลว่า ที่เป็นที่อยู่ก็ได้ อย่างเช่น เวลาที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ สถานที่แห่งใด สถานที่ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ นั้นเป็นสำนัก ซึ่งแปลว่า ที่อยู่ธรรมดานั่นเอง ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นสำนักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือสำนักพระภิกษุท่านใด ก็คือ ที่เป็นที่อยู่ เท่านั้น
อาวาส ก็เป็นที่อยู่ของพระภิกษุสงฆ์ แม้พระวิหารต่างๆ มีพระเชตวัน พระเวฬุวัน เป็นต้น ก็เป็นที่อยู่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตลอดจนพระภิกษุสงฆ์ อยู่ ณ ที่นั้น ก็เรียกว่า เป็นสำนัก ได้ เพราะเป็นที่เป็นที่อยู่ ซึ่งก็มีหลากหลายมาก ดังนั้น จึงขึ้นอยู่กับว่าที่เป็นที่อยู่นั้นจะเป็นที่ใด ประโยชน์ คือเข้าใจว่า สำนัก คือ ที่เป็นที่อยู่ ไม่ใช่สถานที่เพื่อที่จะไปทำอะไรด้วยความไม่รู้ ด้วยความเห็นผิด ด้วยความเป็นตัวตน ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...