ตัตรมัชฌัตตตา
เรียน อาจารย์ทั้งสองท่าน
"ตัตรมัชฌัตตตา" ขอความอนุเคราะห์อาจารย์ช่วยกรุณาให้คำอธิบายเกี่ยวกับคำนี้ด้วยครับ
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ตัตตรมัชฌัตตตาเจตสิก เป็นเจตสิกที่เป็นกลาง ไม่เอนเอียง ปราศจากอคติ จึงเป็นอาการวางเฉย อุเบกขาในอารมณ์อันเป็นสภาพธรรมที่เกิดกับจิตฝ่ายดีเท่านั้น มีกุศลจิต เป็นต้น และมีความเป็นกลาง เป็นอาการที่ปรากฏ เพราะไม่หวั่นไหวไปในอกุศล
ชื่อว่า ตัตรมัชฌัตตตา ตัตรมัชฌัตตตานั้น มีการทรงไว้ซึ่งจิตและเจตสิกให้เสมอกันเป็นลักษณะ มีการห้ามจิตและเจตสิกไม่ให้ยิ่งและหย่อนเป็นรส หรือมีการตัดขาดจากการตกไปในฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นรส มีความเป็นกลางเป็นปัจจุปัฏฐาน ด้วยอำนาจแห่งความวางเฉยต่อจิตและเจตสิก (และมีสัมปยุตตธรรมเป็นปทัฏฐาน) ตัตรมัชฌัตตตานี้ พึงเห็นเหมือนสารถีผู้วางเฉยต่อม้าอาชาไนยทั้งหลายที่วิ่งไปเรียบร้อย ฉะนั้น ในชีวิตประจำวันตัตรมัชฌัตตา เมื่อกุศลจิตเกิดขึ้น เมื่อเป็นกุศลในขณะนั้น จึงเป็นกลาง เป็นผู้วางใจเป็นกลางในขณะนั้นด้วยตัตตรมัชฌัตตตาเจตสิกด้วยกุศลจิต อย่างเช่น อุเบกขาบารมี ความเป็นผู้วางเฉย เป็นกลางในสิ่งที่ดีหรือไม่ดี เป็นผู้มีจิตเสมอกัน คือ ไม่หวั่นไหวไปด้วยความชอบในสิ่งที่ดีและไม่ชอบ (เป็นโทสะ) ในสิ่งที่ไม่ดี ด้วยกุศลจิตที่เป็นตัตตรมัชฌัตตตาเจตสิก หรือ มีปัญญา เข้าใจความจริงว่า สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของๆ ตน จึงวางเฉย ไม่หวั่นไหวไปในเมื่อสัตว์ได้รับความเดือดร้อน จึงมีใจเป็นกลางด้วยตัตตรมัชฌัตตตาเจตสิก ครับ
ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม เป็นปกติในชีวิตประจำวัน เป็นการค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกในสิ่งที่มีจริงๆ เป็นธรรม ตามความเป็นจริง เพราะสิ่งที่กำลังฟัง กำลังศึกษาให้เข้าใจนั้น ล้วนมีจริงๆ ในชีวิตประจำวัน แต่เพราะไม่รู้ จึงต้องฟัง ต้องศึกษาให้มีความเข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริง จากที่มากไปด้วยความไม่รู้ ไม่รู้อะไรเลย ก็จะค่อยๆ รู้ขึ้น เข้าใจขึ้นในสิ่งที่มีจริงๆ ตั้งแต่ขั้นฟังว่าเป็นสิ่งที่มีจริงๆ ไม่ใช่เรา เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย จนกว่าปัญญาจะค่อยๆ เจริญขึ้น รู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ตามความเป็นจริงได้ในที่สุด แม้แต่ ตัตรมัชฌัตตตาเจตสิก ก็มีจริงในชีวิตประจำวัน ถ้าไม่ศึกษาจะไม่สามารถรู้ได้เลยว่ามีจริง ในขณะที่ความดีเกิดขึ้นเป็นไป
ตัตรมัชฌัตตตาเจตสิก เป็นเจตสิกธรรมที่เป็นกลาง เที่ยงตรง ไม่เอนเอียง เกิดร่วมกับจิตที่ดีงามทุกประเภท คำว่า ตัตตรมัชฌัตตตาเจตสิก ถ้าได้ฟังบ่อยๆ ก็คงจะจำได้ เจตสิกนี้เป็นสภาพธรรมที่ไม่เอนเอียง เที่ยงตรง เป็นกลาง จึงจะเป็นกุศลได้ ซึ่งเป็นการยาก ลองคิดดูถึงการที่จะเป็นผู้ที่ตรง ไม่เอนเอียง ในเมื่อยังมีความเห็นผิดบ้าง มีความเห็นถูกบ้าง มีความเข้าใจผิดบ้าง มีความเข้าใจถูกบ้าง แล้วยังเป็นผู้ที่หนาแน่นด้วยโลภะ โทสะ โมหะ แล้วจะเป็นอย่างไร นี่เป็นเรื่องที่ละเอียดที่จะต้องพิจารณาและจะต้องเป็นผู้ตรงต่อสภาพของจิตจริงๆ
พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง จึงเป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกโดยตลอด เป็นไปเพื่อเกื้อกูลให้ได้เข้าใจว่า กุศลเป็นกุศล อกุศลเป็นอกุศล กุศลควรอบรมเจริญ ควรสะสมให้มีขึ้น แต่ถ้าเป็นอกุศลแล้ว ควรเห็นโทษแล้วถอยกลับจากอกุศล ไม่ควรสะสมให้มีมากขึ้น สภาพธรรมที่ดีงามในชีวิตประจำวันย่อมคล้อยไป เป็นไปตามความเข้าใจพระธรรมอย่างแท้จริง ครับ.
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...