ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา มาฆบูชา ๔ มีนาคม ๒๕๕๘
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
เมื่อวันพุธที่ ๔ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๕๘ ที่ผ่านมา มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา โดยการนำของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ประธานมูลนิธิฯ และ คณะวิทยากรของมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา ได้จัดให้มีการสนทนาธรรม เนื่องในโอกาสวันมาฆบูชา ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๕๘ ณ มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา ซอยเจริญนคร ๗๘ ดาวคะนอง กรุงเทพมหานคร
ขออนุญาตนำข้อความจากกระทู้ ความสำคัญวันมาฆบูชา มาลงไว้เพื่อประโยชน์ คือ ความระลึกถึงความสำคัญของวันนี้ อีกครั้งหนึ่ง ดังนี้
วันมาฆบูชา เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ มีเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในวันนี้ คือ เป็นวันจาตุรงคสันนิบาต ซึ่งมีการประชุมพร้อมกันด้วยองค์ ๔ ประการ ได้แก่
๑. เป็นวันอุโบสถขึ้น ๑๕ ค่ำ ประกอบด้วยมาฆนักษัตร
๒. ภิกษุ ๑,๒๕๐ รูป ประชุมกันที่พระวิหารเวฬุวัน (อารามแห่งแรกในพระพุทธศาสนา พระเจ้าพิมพิสาร เป็นผู้ถวาย) โดยเป็นการมาตามธรรมดาของตนๆ ไม่มีใครนัดหมาย
๓. ภิกษุทั้ง ๑,๒๕๐ รูป ไม่มีแม้สักรูปหนึ่งที่เป็นปุถุชนหรือพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และ พระอรหันต์ผู้สุกขวิปัสสกะ ภิกษุทั้งหมด ล้วนเป็นพระอรหันต์ผู้ได้อภิญญาหกทั้งนั้น
๔. ภิกษุทั้ง ๑,๒๕๐ รูป มิได้ปลงผมด้วยมีดโกนบวชแม้แต่รูปเดียว ทั้งหมด ล้วนเป็นเอหิภิกขุ (คือได้รับการอุปสมบทจากพระผู้มีพระภาคเจ้า โดยพระองค์ทรงเปล่งพระวาจาว่า เอหิ ภิกขุ = เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวไว้ดีแล้ว เธอจงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อกระทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบเถิด)
และในวันนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ แก่พระภิกษุทั้งหลาย มีว่า การไม่ทำบาปทั้งสิ้น การยังกุศลให้ถึงพร้อม การยังจิตของตนให้ผ่องใส เป็นต้น สำหรับโอวาทปาติโมกข์นั้น เป็นพระโอวาทคาถา ที่พระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ ทรงแสดงเหมือนกัน ไม่มีความแตกต่างกัน
ในวันมาฆบูชานี้เอง ก่อนที่พระผู้มีพระภาคเจ้า จะได้ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์แก่ภิกษุทั้งหลายนั้น ท่านพระสารีบุตร ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ เมื่อได้ฟังพระธรรมเทศนา ชื่อว่า ทีฆนขสูตร (มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์) ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแก่ทีฆนขปริพาชก (ผู้เป็นหลานของท่านพระสารีบุตร) ณ ถ้ำสุกรขาตา เขาคิชฌกูฏ เขตพระนครราชคฤห์ ดังนั้น ในวันมาฆบูชานี้ จึงเป็นวันที่ท่านพระสารีบุตร ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ด้วย
และ อีกประการหนึ่ง วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ (ก่อนที่พระผู้มีพระภาคเจ้า จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน ในวันเพ็ญเดือน ๖) เป็นวันที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงปลงอายุสังขาร ใกล้จะปรินิพพาน ตามข้อความที่ว่า “ จากนี้ล่วงไปสามเดือน ตถาคตจักปรินิพพาน ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า มีพระสติสัมปชัญญะ ทรงปลงอายุสังขาร ณ ปาวาลเจดีย์”
และ ตามข้อความที่ว่า “ โดยนักษัตร คือ ดาวฤกษ์เดือนมาฆะ (เดือน ๓) พระองค์ทรงประชุมพระสาวก และ ทรงปลงอายุสังขาร ”
ดังนั้นจึงควรอย่างยิ่งที่พุทธศาสนิกชน จะได้น้อมระลึกถึงพระมหากรุณาคุณของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่มีต่อสัตว์โลกทั้งปวง พร้อมทั้งน้อมประพฤติปฏิบัติตามในคำสอนที่พระองค์ทรงแสดง เพื่อขัดเกลากิเลสของตนเอง ด้วยการเป็นผู้ไม่กระทำบาป กล่าวคือ อกุศลทุกประเภท ถึงแม้จะเล็กๆ น้อยๆ ที่ควรเว้นได้ ก็ควรที่จะเว้น ไม่ประมาทในการเจริญกุศลทุกประการ เพราะในขณะที่จิตเป็นกุศลนั้น ก็ได้ชื่อว่ายังจิตของตนให้ผ่องใสแล้ว ชั่วขณะที่กุศลจิตเกิดขึ้น พร้อมทั้งจะต้องเป็นผู้มีความอดทนต่อทุกสถานการณ์ในชีวิตประจำวัน อีกทั้งจะต้องไม่เบียดเบียนทำร้ายผู้อื่นให้เดือดร้อนทั้งด้วยกายและวาจา เป็นต้น และประการสำคัญที่ขาดไม่ได้เลยนั้นก็คือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญา สะสมปัญญาไปตามลำดับ จนกว่าจะมีปัญญาคม เจริญขึ้น กล้าขึ้น ถึงขั้นที่จะดับกิเลสทั้งหลายทั้งปวงได้ ในที่สุด.
อันดับต่อไป ขอนำความการสนทนาในช่วงแรกของช่วงเช้าของวันนั้น มาฝากให้ทุกๆ ท่าน ได้พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นการสนทนาเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างเพศคฤหัสถ์กับเพศบรรพชิต ว่ามีความสำคัญอย่างไร? และแตกต่างกันอย่างไร? ซึ่งจะเป็นประโยชน์และเกื้อกูลอย่างยิ่ง ต่อความเข้าใจที่ถูกต้อง ในสถานการณ์ปัจจุบัน อย่างน้อยที่สุด เมื่อมีความเข้าใจในความะเอียดลึกซึ้ง ที่ท่านอาจารย์ได้กรุณาบรรยายไว้ พระศาสนา ก็จะไม่เสื่อมไปจากใจของผู้นั้น เป็นอันดับแรก เป็นที่แน่นอนที่สุด
อ.คำปั่น สำหรับในช่วงแรก ก็จะกราบเรียนท่านอาจารย์ ถึงความสำคัญของการที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ซึ่งจริงๆ แล้ว ชีวิตของแต่ละคน ก็มีความประพฤติเป็นไป ตามการสะสม มีความเป็นไป ตามควรแก่ฐานะของแต่ละบุคคล แต่เมื่อจำแนกเพศใหญ่ๆ ก็มีสองประเภท คือ เพศคฤหัสถ์ กับเพศที่เป็นบรรพชิต หรือว่า เป็นพระภิกษุ ก็จะกราบเรียนถึง ความสำคัญของการมีโอกาสได้เกิดมาเป็นมนุษย์ แล้วก็มีชีวิตที่แตกต่างกันออกไป ควรที่จะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพศที่สูงยิ่ง ก็คือ ผู้ที่เป็นบรรพชิต เป็นพระภิกษุ ในพระพุทธศาสนา ความเป็นพระภิกษุที่แท้จริง ความเป็นบรรพชิตที่แท้จริงนั้นเป็นอย่างไรครับ กราบเรียนท่านอาจารย์ในเบื้องต้น ครับ
ท่านอาจารย์ ค่ะ คุณคำปั่น ก็ให้ความหมายของคำว่า ภิกษุ ก่อนนะคะ จะได้ทราบว่า แท้ที่จริงแล้ว คำนี้ หมายความถึงอะไร?
อ.คำปั่น โดยศัพท์ของคำว่า "ภิกษุ" หรือ "ภิกขุ" ก็มีหลากหลายความหมาย ที่ทรงแสดงไว้ ทั้งในพระบาลี และ ในอรถกถา ความหมายหนึ่ง ก็คือ ผู้ที่เห็นภัย ในสังสารวัฏฏ์ นอกจากนั้น ก็ยังแสดงถึงว่าผู้ที่สามารถตัดกิเลสทั้งหลาย มี ราคะ โทสะ โมหะ เป็นต้น ได้ และ ยังหมายถึง ผู้ที่เห็นคุณ ในก้อนข้าว ที่คฤหัสถ์ได้ถวาย เป็นผู้ที่เห็นคุณว่า เมื่อได้รับสิ่งเหล่านี้แล้ว ควรที่จะประพฤติ ปฏิบัติ ในสิ่งที่ดี เหมาะควรแก่การรับอาหาร ที่ชาวบ้านได้ถวาย ซึ่งก็เป็นความหมายเบื้องต้น ครับ
ท่านอาจารย์ การที่จะเข้าใจคำสอน ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่ติดอยู่ที่ "คำ" นะคะ แต่ต้องเป็น "ผู้ที่ละเอียด" ที่จะรู้ว่า เมื่อได้ยินคำไหน อย่าเพิ่งผ่าน และ คิดว่าเข้าใจแล้ว แต่ความจริง ต้องพิจารณาจริงๆ ว่า แต่ละคำ มีความหมาย ที่ทำให้ผู้ที่ได้ฟัง สามารถที่จะเข้าใจความจริงได้ แม้แต่คำว่า "ภิกขุ" โดยมาก เราก็จะคิดถึงแต่เพศบรรพชิต พระภิกษุที่ท่านบิณฑบาตรตอนเช้า หรือ บวชกันมา ที่จะเป็นผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนา แต่ว่า ตามความเป็นจริง ยิ่งกว่านั้น ความหมายที่ถูกต้อง ก็คือว่า เป็นผู้ที่เห็นภัย ในสังสารวัฏฏ์ แม้แต่คำว่า สังสารวัฏฏ์ ก็ต้องเข้าใจทุกคำ ไม่ใช่ว่า เราเหมือนเข้าใจแล้ว เคยได้ยินมาแล้ว ตั้งแต่เด็ก จนกระทั่ง โตขึ้น แต่ว่า ความจริง ทุกคำ ละเอียดอย่างยิ่ง "วัฏฏะ" คือ อะไรคะ คุณคำปั่น
อ.คำปั่น วัฏฏะ โดยความหมายก็คือ การวนเวียน ซึ่งก็คือ สภาพธรรมะ ที่เกิดดับ สืบต่อ เป็นไป อย่างไม่ขาดสาย ครับ
ท่านอาจารย์ สังสาระ
อ.คำปั่น สังสาร คือ การท่องเที่ยวไป ครับ
ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้!!! หรือเปล่า? ข้อสำคัญที่สุด ฟังธรรมะ เพื่อเข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ สิ่งที่มีจริง พระผู้มีพระภาคตรัสในภาษาบาลี ว่า "ธรรมะ" แต่เราผ่านไป โดยที่ไม่คิดว่า "เห็น" นี่แหละ "ธรรมะ" "ได้ยิน" เดี๋ยวนี้ ก็ "ธรรมะ" "คิด" ก็ "ธรรมะ" เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคฯ ทรงแสดงให้เข้าใจความจริงของสิ่งที่มีจริงๆ ในทุกกาลสมัย ผู้ที่เห็นภัย ก็ต้องรู้ว่า ถ้าไม่มีการเกิดขึ้น วนเวียนไป เดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวเห็น เดี๋ยวได้ยิน แล้วก็จากโลกนี้ไป แล้ว เกิดมาทำไม? ในเมื่อเกิดมาแล้ว ก็ต้องจากโลกนี้ไปแน่นอน แต่ว่า ก่อนจะจากไป ก็มีชีวิตที่ดำเนินไป แต่ละหนึ่งขณะ ซึ่งไม่มีใครสามารถที่จะบังคับบัญชาได้ ไม่ให้ "เกิด" ได้ไหม? ไม่ให้ "เห็น" ได้ไหม? ไม่ให้ "สุข" ได้ไหม? ไม่ให้ "คิด" ได้ไหม? ไม่ได้ !!!
เพราะฉะนั้น ผู้ที่เห็นภัย รู้ว่า เมื่อเกิดมาแล้ว "ชั่วคราว" ชั่วขณะ แต่ละขณะ แต่ละวัน จนกระทั่ง ในที่สุด ทุกอย่าง หมดแล้ว ไม่เหลือ แล้วก็จากโลกนี้ไป เกิดมา "เห็น" เกิดมา "ได้ยิน" สนุกสนาน สุข ทุกข์ แล้วก็ไม่เหลือ แล้วก็จากโลกนี้ไป เพราะฉะนั้น การที่จะมีสาระ ในการที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ แล้วก็มีโอกาสที่จะได้เข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ ซึ่งไม่มีใครสามารถที่จะเข้าใจได้ด้วยตัวเอง นอกจาก ได้รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วก็ ได้ฟังพระธรรมเมื่อไหร่ เข้าใจเมื่อไหร่ ก็ "เห็นพระคุณ" เมื่อนั้น !!!
เพราะฉะนั้น กว่าจะเป็นผู้ที่เห็นภัยของสังสารวัฏฏ์ คือ สภาพธรรมะที่เกิดดับในขณะนี้นี่เอง ก็ นานมาก จนกว่าจะรู้จริงๆ ว่ามีโอกาสได้ฟังพระธรรม ได้รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่เพียงแต่กราบไหว้ !!! แต่ว่า เมื่อได้เข้าใจพระธรรมเมื่อไหร่ ก็เห็นความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อนั้น !!!
เพราะฉะนั้น การที่มีผู้ที่เห็นประโยชน์ ของการที่จะได้เข้าใจความจริงของสิ่งที่ปรากฏ ไม่ใช่มีแต่เฉพาะเดี๋ยวนี้ นานมาแล้ว ในสมัยพุทธกาล ก็มีผู้ที่เห็นประโยชน์ ของการที่รู้ว่า เมื่อมีผู้ที่ตรัสรู้ความจริงทุกอย่าง ทุกขณะ ที่มีจริงๆ ในชีวิต ก็สมควรที่จะได้มีความเข้าใจถูก มีความเห็นถูก เพราะมิฉะนั้นแล้ว ตลอดชาติ ก็ไม่มีการที่จะเข้าใจถูกต้อง ในสิ่งที่มีจริงในขณะนี้ ซึ่ง เพียงปรากฏ แล้วก็หมดไป
ธรรมะ เป็นเรื่องที่ละเอียดมาก ฟัง แล้วก็ ไตร่ตรอง จนกระทั่ง มีความเข้าใจที่ถูกต้อง แล้วก็เป็นผู้ที่เห็นประโยชน์ ของการที่จะได้เข้าใจความจริง ซึ่งมีอยู่ทุกขณะ แสนสั้น ผู้นั้น ก็เป็นผู้ที่เป็น "ภิกขุ" ไม่ต้องอุปสมบท ก็เห็นภัยได้ เข้าใจธรรมะได้ ฟังธรรมะ ศึกษาธรรมะ ได้
แต่ถ้า ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้ว ไม่ศึกษาธรรมะ ไม่เข้าใจความจริงที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง แล้ว ผู้นั้น ก็ไม่ใช่ผู้ที่เห็นภัย แล้วก็ไม่ใช่ภิกษุ ในธรรมวินัยด้วย เพราะเหตุว่า ผู้ที่จะเป็นภิกษุ ไม่ใช่เพราะอยากบวช แต่เป็นผู้ที่ได้ฟังพระธรรมแล้ว รู้จักตนเองตามความเป็นจริง แต่ละหนึ่ง ไม่เหมือนกันเลย ไม่ว่าในสมัยใดทั้งสิ้น ในสมัยพุทธกาล มีทั้งภิกษุที่เป็นพระอรหันต์ ได้อภิญญา สมาบัติ คุณวิเศษต่างๆ และ เป็นผู้ที่ แม้ไม่ถึงคุณวิเศษนั้น ก็ถึงความเป็นพระอริยบุคคล รู้แจ้งสภาพธรรมะที่มีจริงๆ ในขณะนี้ได้ จากความเข้าใจ คือ ปัญญา ที่ค่อยๆ สะสมความเห็นถูก ทีละเล็ก ทีละน้อย จนกระทั่ง สามารถที่จะรู้แจ้ง อริยสัจจธรรม เป็นอริยสาวก เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีความเห็นถูกอย่างนี้ แล้วก็รู้อัธยาศัยของตนเองว่า ชีวิตจริงๆ ของแต่ละคน จะอบรมเจริญปัญญา ในเพศไหน?
ท่านที่นั่งอยู่ที่นี่ ส่วนใหญ่ก็รู้จักตัวเอง ใช่ไหม? อบรมเจริญปัญญา ในเพศคฤหัสถ์ ผู้ครองเรือน แต่ก็มีบางท่าน หนึ่ง ในที่นี้ ที่ก็มีศรัทธา ที่จะอุปสมบท ศึกษาพระธรรม ในเพศของ บรรพชิต
ซึ่งทั้งสองพวก คือ พุทธบริษัท ๔ ในสมัยโน้น มีภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ต่างก็ศึกษาพระธรรม เกื้อกูลกัน ที่จะให้ประพฤติ ปฏิบัติ ตามพระธรรมวินัยที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้น เมื่อกาลสมัยล่วงเลยมา แต่...พระธรรม เปลี่ยนไม่ได้ !!! พระวินัย เปลี่ยนไม่ได้ !!! คำใด ที่พระผู้มีพระภาคฯ ตรัสแล้ว ไม่มีทางที่จะเปลี่ยนได้เลย !!! ด้วยเหตุนี้ "ผู้ที่ได้รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า" จีง "เคารพ" ในพระคุณของพระองค์ แล้วก็ ศึกษา ด้วยความเคารพยิ่ง เพื่อที่จะปฏิบัติให้ถูกต้อง ตามพระธรรมวินัย
ซึ่งสำหรับ โอวาทปาฏิโมกข์ บางคนก็จำได้ มีอะไรบ้าง แต่ว่า พระธรรมที่ทรงแสดง ๔๕ พรรษา ซึ่งในวันที่ทรงแสดงพระปาฏิโมกข์ ยังไม่ถึง ๔๕ พรรษาเลย แล้วก็ตรัสกับพระภิกษุ ที่เป็นพระอรหันต์ ซึ่งท่านได้ดับกิเลสหมดแล้ว แต่ว่า ประมวลแล้ว ไม่ว่าพระธรรมจะมีมากสักเท่าไหร่ ๔๕ พรรษา ทั้งพระธรรม และ พระวินัย ซึ่งจำแนกเป็น พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก และ พระอภิธรรมปิฎก ทั้งหมด ประมวลมาอยู่ที่ ละชั่ว ส่วนใหญ่ชีวิตประจำวันเป็นอย่างไร? ถ้าไม่ศึกษา ไม่รู้เลยว่า ขณะไหน ชั่ว หรือ บาป แล้วก็ยังไม่พอ เพราะเหตุว่า กิเลสมาก ถ้าไม่ศึกษาธรรมะ ดูเหมือนไม่มีกิเลส บางคนก็คิดว่า ตัวเอง มีกิเลสน้อย แต่หารู้ไม่ เดี๋ยวนี้!!! มีกิเลสหรือเปล่า? ใครรู้? ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม !!!
เพราะฉะนั้น พระธรรม ทำให้บุคคล ที่ไม่เคยเข้าใจถูก เห็นถูก ในสิ่งที่มีจริง เริ่มมีความเข้าใจขึ้น !!! เมื่อเห็นโทษของอกุศล ก็ละบาป ไม่พอ เพราะเหตุว่า ขณะใดก็ตาม ที่ไม่เจริญกุศล หรือ จิตไม่เป็นกุศล ขณะนั้น เป็นอกุศล !!! เพราะฉะนั้น จึงต้องทำความดีด้วย แล้วก็ ชำระจิตให้บริสุทธิ์ เมื่อมีความเข้าใจธรรมะ ถ้าไม่มีความเข้าใจธรรมะ ไม่มีทาง ที่จิตจะบริสุทธิ์ได้ !!!
อ.คำปั่น กราบท่านอาจารย์ครับ ในช่วงต้น ที่ท่านอาจารย์ได้สนทนาว่า พระธรรมวินัย ไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงได้ ความจริงเป็นอย่างไร ก็ต้องเป็นอย่างนั้น ในความละเอียดในส่วนนี้ จะเกื้อกูลสำหรับผู้ศึกษาพระธรรมวินัยอย่างไรครับ
ท่านอาจารย์ ก็ต้องเข้าใจ ในพระปัญญาคุณ ในพระบริสุทธิคุณ และในพระมหากรุณาคุณ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงเห็นประโยชน์ว่า ผู้ที่มีศรัทธา ที่จะบวชในพระธรรมวินัย ก็ควรที่จะได้มีการศึกษาธรรมะ ได้เข้าใจธรรมะ ประพฤติตน เพื่อขัดเกลากิเลส จึงสมกับการที่ต้องการที่จะเป็นผู้ที่ได้เข้าใจพระธรรม จนกระทั่งสามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ เพราะฉะนั้น ก่อนอื่น เราคงจะไม่รีบร้อนไปไหน แต่ให้เห็น "ความต่างกันจริงๆ " ของแต่ละหนึ่ง ซึ่งสะสมมาต่างๆ กัน ทำไมคฤหัสถ์ ในสมัยที่พระผู้มีพระภาคฯทรงแสดงธรรม ไม่บวชเป็นบรรพชิต? นี่ก็แสดงแล้ว ถึง "ความต่าง" ว่า "เพศบรรพชิต" ต้องห่างไกล จาก "เพศคฤหัสถ์" มาก!!! เพราะเหตุว่า แม้แต่การสะสม ถึงการที่จะเห็นประโยชน์ ของการที่จะละอาคารบ้านเรือน แล้วก็ศึกษาพระธรรมวินัย ขัดเกลากิเลสอย่างยิ่ง ก็ต้องเป็นผู้ที่มีอัธยาศัยใหญ่ คือ สะสมบารมี คุณความดีมา พอที่จะดำรงอยู่ในเพศนั้นได้
ด้วยเหตุนี้ ก็จะเห็นได้ว่า มีข้อความหลายตอน ที่หลายท่านอาจจะไม่คุ้นหู เช่น การที่เมื่อบวชเข้ามาแล้ว แล้วก็มีวินัยสำหรับผู้ที่ต้องประพฤติ ปฏิบัติตาม ถ้าล่วงละเมิดสิ่งที่พระผู้มีพระภาคฯ ได้ทรงบัญญัติแล้ว ผู้นั้น ต้องโทษ อาบัติ คฤหัสถ์ ไม่มีอาบัติ กิเลสอย่างไร รับประทานอาหารหลังเที่ยง กี่โมง อย่างไร จะสนุกสนาน รื่นเริงอย่างไร ไม่เป็นอาบัติเลย แต่สำหรับ บรรพชิต พระวินัย ที่ทรงบัญญัติไว้ ละเอียดอย่างยิ่ง เพื่อการขัดเกลา เพื่อจะให้รู้ว่า ภิกษุ ในพระธรรมวินัย เป็นผู้ที่ควรแก่การที่จะเป็นหัวหน้าของพุทธบริษัท เพราะเหตุว่า เป็นผู้ที่มีเวลาทั้งวัน จะกล่าวว่าไม่มีอะไรทำ ไม่ได้เลย เพราะเหตุว่า คฤหัสถ์ ยังมีเวลาทำโน่น ทำนี่ บรรพชิตเอง ก็มีกิจของท่านด้วย ตามพระวินัยหลายอย่าง แต่ ทั้งหมด เพื่อที่จะขัดเกลากิเลส !!! ไม่ใช่กิจอย่างคฤหัสถ์ ไม่ใช่การทำมาค้าขาย ไม่ใช่การอนุเคราะห์เด็กเล็ก หรือว่า ทำไร่ ทำนา ทำสวน ต่างๆ อันนั้น ไม่ใช่กิจของบรรพชิตเลย !!!
ด้วยเหตุนี้ ในครั้งโน้น เมื่อเวลาที่ภิกษุรูปใด กระทำสิ่งที่ไม่สมควร ชาวบ้าน โพนทะนา เพราะเขาเข้าใจ ว่านั่น ไม่ใช่บรรพชิต !!! ไม่ใช่ภิกษุ ในพระธรรมวินัย !!! เมื่อมีชาวบ้านติเตียน พระผู้มีพระภาคฯ ก็ทรงประชุมสงฆ์ เพื่อที่จะให้ภิกษุ ได้รับรู้ แล้วก็ได้พิจารณาร่วมกัน ว่า การกระทำนั้นๆ เหมาะสมสำหรับเพศบรรพชิตหรือไม่? เพราะฉะนั้น ที่เราฟัง เราก็ข้ามขั้นตอนไปหลายขั้นตอน เช่น แม้แต่ผู้ที่จะบวช ก็จะต้องประกอบด้วยคุณสมบัติอย่างไร? ใครบวชไม่ได้ ไม่ใช่หมายความว่า ใครอยากบวช ก็ไปขอบวช แล้วก็บวช เป็นไปไม่ได้เลย เพราะเหตุว่า ไม่ใช่จุดประสงค์ ในการที่พระผู้มีพระภาคฯ จะให้ผู้หนึ่งผู้ใด บรรพชา อุปสมบท โดยไม่ศึกษาธรรมะ และ ไม่ปฏิบัติตามพระธรรมวินัย
ด้วยเหตุนี้ หลายคำที่ได้ยิน ถ้าสนใจก็ถาม แล้วก็ไปศึกษา หรือว่าอ่านพระวินัยก็ได้ เพราะว่า มีความละเอียดอย่างยิ่ง ในแต่ละคำ ซึ่งยาก เท่าๆ กับ ธรรมะ เพราะเหตุว่า เรื่องของวินัย เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องของการขัดเกลา กาย วาจา และ ใจ เมื่อเข้าใจธรรมะแล้ว ซึ่ง คฤหัสถ์ เมื่อเข้าใจธรรมะแล้ว ก็อบรมเจริญปัญญา รู้สภาพธรรมะที่มีจริง เป็นจริง ตามการสะสมของแต่ละท่าน ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงอะไรเลย !!! เป็นปกติ !!! ที่จะรู้ความจริงว่า สิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตาม ขณะนี้ มีจริงๆ เกิดแล้ว แต่ไม่มีใครรู้ ว่า เกิด แล้ว ดับไป
เพราะฉะนั้น การฟังพระธรรม ต้องละเอียดอย่างยิ่ง ด้วยความเคารพอย่างยิ่ง แม้แต่ในเรื่องของ "อาบัติ" อาบัติ ก็คือ ภิกษุ ที่ประพฤติผิดตามพระวินัย ที่พระผู้มีพระภาค ทรงบัญญัติ แล้วสำนึกหรือเปล่า? ถ้ารู้ว่า ทำผิด สามารถที่จะปลงอาบัติ แสดงคืนตามโทษที่มี เพื่อที่จะได้กลับสู่ความเป็นบรรพชิตร่วมกัน ร่วมกับสหธรรมทั้งหลาย ได้ มิฉะนั้นแล้ว บรรพชิต ที่มีความถูกต้อง บริสุทธิ์ตามพระธรรมวินัย สะอาด ขัดเกลากิเลส จะอยู่ปนกับผู้ที่ไม่ใช่บรรพชิตได้อย่างไร? นี่เป็นความละเอียดมาก!!! ซึ่งไม่ใช่ว่า คนที่ไม่รู้ ก็อนุโลมตาม
อ.คำปั่น กราบท่านอาจารย์ครับ ความสำคัญของพระธรรมวินัย ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงบัญญัติไว้ แล้วก็ทรงแสดงไว้ ซึ่งก็เป็นประโยชน์เกื้อกูล สำหรับผู้ที่มีโอกาส ได้ยิน ได้ฟัง ได้ศึกษา แล้วก็น้อมประพฤติ ปฏิบัติ อย่างแท้จริง แม้แต่ในเรื่องของพระวินัยแต่ละสิกขาบท ที่พระองค์ได้ทรงบัญญัติไว้ ก็เพื่อประโยชน์จริงๆ ก็จะกราบเรียนท่านอาจารย์ ถึงความสำคัญว่า แม้พระอริยสงฆ์สาวกในอดีต ท่านล้วนแล้วแต่เป็นผู้ที่เห็นคุณประโยชน์ของพระพุทธศาสนา มีการศึกษา และ น้อมประพฤติ ปฏิบัติตาม ในสิ่งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดง ไม่เพิกถอน ในสิ่งที่พระองค์บัญญัติ และ ไม่เพิ่ม ในสิ่งที่พระองค์ ทรงบัญญัติไว้
เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้เลยว่า พระธรรมวินัย ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะยุคใด สมัยใด ก็ตาม แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลง ก็คือ กิเลสของคน ครับท่านอาจารย์ครับ ในความละเอียดในส่วนนี้ จะเป็นอย่างไร? เพราะว่า แต่ละสิกขาบท ที่พระองค์ทรงบัญญัติไว้ เป็นเครื่องวัด ความละอาย ครับท่านอาจารย์ ครับ
ท่านอาจารย์ คงไม่ลืม นะคะ เรื่อง ทุกคนมีกิเลส แต่ก็ไม่รู้ว่า มีกิเลส มาก หรือ น้อย จนกว่าจะได้ฟังพระธรรม เมื่อได้ฟังแล้ว ก็สามารถที่จะรู้จักตัวเอง ตามความเป็นจริง และ สำหรับผู้ที่มีความประสงค์ ที่จะขัดเกลากิเลส ในเพศบรรพชิต ก็ต้องทำให้ถูกต้อง ตามพระวินัย ตั้งแต่เริ่ม ในการบวช เมื่อบวชแล้ว จะบอกว่าไม่รู้พระวินัย ไม่ได้ !!!
เพราะเหตุว่า จุดประสงค์ เพื่อขัดเกลากิเลส แล้วก็จะรู้ได้ว่า ทำไมพระผู้มีพระภาคฯ จึงทรงบัญญัติพระวินัย ทีละข้อ เพิ่มขึ้น!!! ตามกำลังของกิเลส ของผู้ที่ไม่รู้ว่า มีกิเลส แล้วก็ทำผิด !!! เพราะฉะนั้น เมื่อเป็นความผิด ที่ไม่ควรแก่เพศบรรพชิต ก็ทรงประชุมสงฆ์ ให้สงฆ์ รับรองว่า ความประพฤติอย่างนั้น ไม่เหมาะสม เมื่อสงฆ์รับรองแล้ว ก็บัญญัติเป็นพระวินัย หมายความว่า ทุกท่านที่เป็นภิกษุ ต้องประพฤติตาม ถือตาม เป็นข้อประพฤติ ปฏิบัติ ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงไม่ได้ !!! เพราะเหตุว่า ทุกคน รับรองแล้ว ว่าถูกต้อง !!!
แล้วก็ ทั้งหมด ไม่มีใครสามารถที่จะบัญญัติพระวินัยได้ นอกจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะทรงเห็นกิเลสอย่างละเอียด แม้เพียงเล็กน้อย ว่า ถ้าไม่รู้จัก และ ไม่ระมัดระวัง ในกิเลสนั้น กิเลสนั้น ก็จะเพิ่มมากขึ้น จนกระทั่ง ไม่สามารถที่จะตรงตามจุดประสงค์ที่บวช คือ เพื่อขัดเกลากิเลสได้ ด้วยเหตุนี้ พระวินัย เป็นสิ่งที่น่ารู้ น่าอ่าน สำหรับทุกท่าน ที่ต้องการที่จะขัดเกลากิเลส ไม่ใช่ว่า เฉพาะบรรพชิต แล้วก็ไม่ไปแตะต้อง เพราะว่าเราเป็นคฤหัสถ์ นั่นไม่ถูกเลย !!! เพราะเหตุว่า พระวินัย ละเอียดยิ่ง ตั้งแต่เล็กน้อย เป็นความประพฤติ ที่ไม่เหมาะควร ทางกาย วาจา แค่นี้ จะนำไปสู่ความประพฤติ ซึ่งเต็มไปด้วยกิเลสมากขึ้น แค่ไหน? เพราะฉะนั้น ก็ทรงบัญญัติ ตั้งแต่ความประพฤติผิด เล็กๆ น้อยๆ ทางกาย เป็นทุกกฏ เช่น อะไรบ้างคะ? คุณคำปั่น
อ.คำปั่น ครับ อย่างเช่น ขณะที่บริโภคอาหาร ก็มีการพูดคุย ขณะที่อาหารอยู่ในปากครับ
ท่านอาจารย์ ค่ะ นี่คือ ได้ทรงบัญญัติไว้ แม้แต่มรรยาท ที่เหมาะสมทางกาย เพราะเหตุว่า ทุกคน ขณะที่กำลังรับประทานอาหาร ไม่รู้ว่ามีกิเลสแค่ไหน? เพียงแค่เห็นอาหาร ก็เกิดกิเลสแล้ว ทุกครั้งที่เอื้อมมือไปตัก ตักอะไร? อาหารที่ตนชอบ !!! เมื่อมีหลายๆ อย่าง จะรู้เลย ว่าชอบอย่างไหน ตักอย่างนั้น!!!
และ ขณะที่รับประทาน ก็ยังรับประทาน ด้วยการที่ไม่ระมัดระวัง กิริยาที่สมควรด้วย อย่างนั้น จะเหมาะกับเพศบรรพชิตไหม? เพราะฉะนั้น ทรงแสดงพระธรรม โดยละเอียดยิ่ง ในเรื่องของการที่ประพฤติผิดทางกาย วาจา เป็นโทษเพียงเล็กน้อย แต่ ก็ต้องปลงอาบัติ เพื่ออะไร? เพื่อการสำนึก ในเพศของบรรพชิต แม้สิ่งเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งเคยทำ ก่อนที่จะบวช เป็นคฤหัสถ์ เคยทำอย่างไร แต่เวลาบวชแล้ว ต้องศึกษา เพื่อที่จะให้รู้ว่า อย่างนั้น ไม่เหมาะแก่เพศบรรพชิต ด้วยเหตุนี้ อาบัติทุกข้อ ต้องปลงอาบัติ ถูกต้องไหมคะ คุณสงบคะ?
อ.สงบ เฉพาะอาบัติ ที่สามารถที่จะปลงได้ ยกเว้น ปาราชิก คือ ขาดจากความเป็นภิกษุ แม้จะไม่ลาสิกขา ก็ขาดโดยอัตโนมัติ ณ ขณะนั้น !!! ใน ๔ ข้อ ตามที่อาจารย์วิชัย ได้พูดถึงแล้ว ส่วนอีก ๑๓ ข้อ ต้องอยู่กรรม จึงจะพ้น ก็คือ จะต้องถูกลงโทษ ด้วยการประจานตนเอง ตามกำหนดระยะเวลา อาบัติที่จะแสดงได้ ก็จะมี อาบัติขนาดเบา ตั้งแต่ ปาจิตตีย์ , นิสสัคคียปาจิตตีย์ , ถุลลัจจัย , ทุกกฏ , ทุพภาสิต อันนี้ แสดงได้ ก็คือ จะสำรวมระวังต่อไป ไม่กระทำเช่นนั้นอีก
อ.วิชัย เรียนสนทนากับอาจารย์สงบ นะครับ ถ้าภิกษุที่ต้องอาบัติ ปาราชิก แล้ว อย่างเช่น ข้อที่ ๒ อทินนาทานสิกขาบท คือ มีจิตคิดจะลักทรัพย์ ตั้งแต่ ๕ มาสก ขึ้นไป โดยที่มีเจ้าของหวงแหน บุคคลที่ต้องอาบัติ ปาราชิก แล้ว จะมีวิธีการ หรือ จะมีบุคคลใด ที่จะสามารถให้บุคคลนั้น พ้นจากอาบัตินี้ ได้ไหมครับ คือ ไม่ต้องอาบัติ ปาราชิก ได้ไหมครับ?
อ.สงบ คนตายแล้ว ไม่มีใครเสกเป่าให้คืนมาได้ คนที่ คอขาดแล้ว ไม่มีใครจะมาต่อ แล้วให้มีชีวิตอยู่ได้ ต้นตาล ที่ยอดขาดด้วนไปแล้ว ไม่สามารถที่จะมีชีวิตอยู่ได้ ฉันใด ผู้ที่ต้องอาบัติ ปาราชิก ขณะนั้น ก็ขาดจากความเป็นภิกษุแล้ว แม้จะห่มจีวร หรือ ประพฤติ ปฏิบัติ เยี่ยงภิกษุ ก็ไม่ใช่ภิกษุ เช่น คนตายแล้ว จะมาบอกไม่ตาย ไม่ได้!!! ไม่มีใครที่จะตัดสิน หรือ ไม่ตัดสิน แต่บุคคลนั้นเอง ตัดสินตัวเองแล้ว ในขณะนั้น!!! คำว่า ปาราชิก หมายถึง ความพ่ายแพ้แก่ตัวเอง ที่จะประพฤติ ปฏิบัติ ตามพระวินัยของพระพุทธเจ้า ไม่มีสิทธิ์แล้ว หมดสิทธิ์แล้ว คนอื่นจะทราบหรือไม่ทราบก็ตาม แต่ผู้นั้น ทราบด้วยตนเองว่า ตัวเอง ไม่ใช่ภิกษุ !!!
อ.วิชัย กราบเรียนถามท่านอาจารย์สุจินต์ ครับ ท่านอาจารย์ครับ ในอัคคิขันโธปมสูตร ที่ทรงแสดงด้วยพระมหากรุณา คือ ภิกษุ ๖๐ รูป ที่ฟังพระสูตรนี้ บรรลุเป็นพระอรหันต์ เพราะเหตุว่า ท่านมีศีลที่บริสุทธิ์ อีก ๖๐ รูป ซึ่งย่ำยีสิกขาบทเล็กน้อย ก็คิดกันว่า พระธรรมวินัยในพระพุทธศาสนา ประพฤติได้ยาก ก็พากันลาสิกขาเป็นคฤหัสถ์ อีก ๖๐ รูป ก็รากเลือด กระอักเป็นเลือด เพราะเหตุว่า ภิกษุเหล่านั้น ต้องอาบัติ ปาราชิก ก็เลยอยากจะกราบเรียนถามท่านอาจารย์ ซึ่งในอรรถกถา ก็กล่าวถึงว่า ภิกษุที่ต้องอาบัติ ปาราชิก ถ้าไม่พึงอาจละฐานะ คือ ความเป็นภิกษุ แต่นั้น บาปของภิกษุเหล่านั้น กำเริบขึ้น จะพึงทำให้เธอ จมในอบายอย่างเดียว แต่เมื่อฟังธรรมเทศนานี้ ก็อาจจะตั้งอยู่ในภูมิของสามเณร แล้วก็สามารถที่จะบรรลุมรรคผลได้ ก็คิดว่า ถ้าภิกษุที่ต้องอาบัติปาราชิกแล้วไม่ละฐานะนี้ อันไหน ที่จะเป็นเหตุให้เขาเกิดในอบายครับ ท่านอาจารย์ครับ
ท่านอาจารย์ ก็เป็นผู้ที่หลอกลวง เพราะเหตุว่า เมื่อไม่ใช่ภิกษุ ยังทำให้คนอื่นเห็นและเข้าใจว่าเป็นภิกษุ ถ้าไม่ลาสิกขา ถึงอย่างไรก็ตามแต่ เมื่อ ปาราชิกแล้ว จะกลับมาเป็นภิกษุอีก ไม่ได้!!! แต่ว่า ปาราชิก ๔ ข้อ ก็แล้วแต่ว่า โทษของข้อไหน จะมีประการใด แต่ ทั้งหมด ต้องเป็นผู้ที่สำนึก !!! และ เมื่อสำนึกแล้ว ก็รู้ตัวเองว่า ต้วเองไม่สามารถที่จะเป็นเพศบรรพชิตได้ ลาสิกขา แล้วก็เป็นสามเณร ก็สามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้
[เล่มที่ 32] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ ๑๑๘
อัคคิขันโธปมสูตร
พระศาสดา ประทับนั่งแล้ว ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมา ตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงดูกองไฟใหญ่โน้น แล้วทรงแสดงอัคคิขันโธปมสูตร. ก็เมื่อตรัสไวยากรณ์นี้อยู่ ภิกษุประมาณ ๖๐ รูปรากเลือด. ภิกษุประมาณ ๖๐ ลาสิกขาเป็นคฤหัสถ์. ภิกษุประมาณ ๖๐ รูปมีจิตไม่ยึดมั่นก็หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย.
ก็เพราะได้ฟังไวยากรณ์นั้น นามกายของภิกษุประมาณ ๖๐ รูป ก็กลัดกลุ้ม เมื่อนามกายกลัดกลุ้ม กรัชกายก็รุ่มร้อน เมื่อกรัชกายรุ่มร้อน โลหิตอุ่นที่คั่งก็พุ่งออกจากปาก. ภิกษุ (อีก) ประมาณ ๖๐ รูป คิดว่าการประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ตลอดชีวิตในพระพุทธศาสนา ทำได้ยากหนอ แล้วพากันลาสิกขาเป็นคฤหัสถ์ ภิกษุประมาณ ๖๐ รูป ส่งญาณมุ่งตรงต่อเทศนาของพระศาสดา ก็บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา.
บรรดาภิกษุเหล่านั้น ภิกษุเหล่าใด รากเลือด ภิกษุเหล่านั้นต้องอาบัติปาราชิก ภิกษุเหล่าใดสึกเป็นคฤหัสถ์ ภิกษุเหล่านั้นพากันย่ำยีสิกขาบทเล็กน้อย. ภิกษุเหล่าใดบรรลุพระอรหัต ภิกษุเหล่านั้นเป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์แล.
พระธรรมเทศนาของพระศาสดา เกิดมีผลแม้แก่ภิกษุ ๓ จำพวก ดังกล่าวนี้.
ถามว่า พระธรรมเทศนาเกิดมีผลแก่ภิกษุผู้บรรลุพระอรหัต ยกไว้ก่อน อย่างไรจึงเกิดผลแก่ภิกษุนอกนี้.?
แก้ว่า ก็ภิกษุแม้เหล่านั้น ถ้าไม่ได้ฟังธรรมเทศนากัณฑ์นี้ไซร้ เป็นผู้ประมาท ไม่พึงอาจละฐานะได้ แต่นั้นบาปของภิกษุเหล่านั้น กำเริบขึ้น จะพึงทำเธอให้จมลงในอบายถ่ายเดียว แต่ฟังเทศนากัณฑ์นี้แล้ว เกิดความสังเวช ละฐานะ ตั้งอยู่ในภูมิแห่งสามเณร บำเพ็ญศีล ๑๐ ประกอบขวนขวายในโยนิโสมนสิการ บางพวกเป็นพระโสดาบัน บางพวกเป็นพระสกทาคามี บางพวกเป็นอนาคามี บางพวกบังเกิดในเทวโลก. พระธรรมเทศนา ได้มีผล แม้แก่ภิกษุผู้ต้องอาบัติปาราชิก ด้วยอาการอย่างนี้. ฝ่ายภิกษุนอกนี้ ถ้าไม่พึงได้ฟังพระธรรมเทศนากัณฑ์นี้ไซร้ เมื่อกาลล่วงไปๆ ก็จะพึงต้องอาบัติสังฆาฑิเสสบ้าง ปาราชิกบ้าง ครั้นได้ฟังพระธรรมเทศนากัณฑ์นี้แล้ว คิดว่า พระพุทธศาสนา ช่างขัดเกลาจริงหนอ พวกเราไม่สามารถจะบำเพ็ญข้อปฏิบัตินี้ตลอดชีวิตได้ จำเราจักลาสิกขา บำเพ็ญอุบาสกธรรม จักพ้นจากทุกข์ได้ ดังนี้แล้ว จึงพากันสึกไปเป็นคฤหัสถ์. ชนเหล่านั้น ตั้งอยู่ในสรณะ ๓ รักษาศีล ๕ บำเพ็ญอุบาสกธรรม บางพวกเป็นพระโสดาบัน บางพวกเป็นสกทาคามี บางพวกเป็นอนาคามี บางพวกบังเกิดในเทวโลกแล. พระธรรมเทศนาได้มีผลแม้แก่ภิกษุเหล่านั้น ด้วยอาการอย่างนี้.
อนึ่งหมู่เทพได้ฟังพระธรรมเทศนากัณฑ์นี้แล้ว ได้เที่ยวไปบอกแก่ภิกษุทั้งหลายผู้ไม่ได้ฟังทุกรูปทีเดียว. ภิกษุทั้งหลายฟังแล้วคิดว่า ท่านผู้เจริญ การประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์ บริบูรณ์ตลอดชีวิตในพระพุทธศาสนา ทำได้ยาก. ภิกษุ ๑๐ รูปบ้าง ๒๐ รูปบ้าง ๖๐ รูปบ้าง ๑๐๐ รูปบ้างบอกลาสิกขา เป็นคฤหัสถ์ไปทันที.
.........
กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ครับ
อนุโมทนาคุณวันชัยช่างภาพเป็นอย่างยิ่ง ที่หมั่นเจริญกุศลทั้งการถ่ายภาพ การถอดเทป การบรรยาย..เห็นได้ชัดถึงการสะสมของแต่ละบุคคล ว่า..เป็นอย่างไร..การเจริญกุศลนั้นไม่ควรประมาทแม้เพียงเล็กน้อย ชีวิตนี้น้อยนัก...จุติจิตจะเกิดเมื่อไรไม่มีใครรู้..ดังนั้นจึงควรหมั่นเจริญกุศลทุกประการ... สาธุ..
เมื่อได้เข้าใจพระธรรมเมื่อไหร่ ก็เห็นความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อนั้น
อนุโมทนาค่ะ
กราบอนุโมทนาในกุศลจิต ของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และ วิทยากรทุกท่าน รวมทั้งขออนุโมทนาในกุศลจิตของคุณวันชัย ที่ถ่ายทอดทั้งภาพและเนื้อหาการสนทนาธรรมมาโดยตลอด และอนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านมา ณ.ที่นี้ค่ะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่ง
ขอกราบอนุโมทนาในกุศลวิริยะ ของคุณวันชัย ภู่งามค่ะ
และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านด้วยค่ะ