คนธรรมดาฝึกอานาปานสติ ได้ไหม

 
nadthakrich
วันที่  15 มี.ค. 2558
หมายเลข  26313
อ่าน  2,104

ทำไมจึงกล่าวว่า อานาปนสติ ใช้ได้กับมหาบุรุษครับ คนธรรมดาไม่ฝึก


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 15 มี.ค. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

อานาปานสติ เป็นอารมณ์ที่ละเอียด ประณีต จึงเป็นอารมณ์ของมหาบุรุษ

อานาปานสติ คือ สติที่ระลึกรู้เป็นไปในลมหายใจ ซึ่งก็ต้องเป็นผู้ละเอียดว่า ไม่ใช่มีแต่สติเท่านั้น แต่ต้องมีปัญญาด้วย ซึ่งอานาปานสติ มีทั้งที่เป็นใน สมถภาวนา และ วิปัสสนาภาวนา

ก็ต้องเข้าใจเบื้องต้นว่าใครทำ เราหรือธรรม หากไม่มีความเข้าใจเบื้องต้น แม้แต่คำว่า ธรรมคืออะไรให้ถูกต้อง ไม่ต้องกล่าวถึงอานาปานสติ แม้แต่การเจริญสติปัฏฐานที่เป็นปกติในชีวิตประจำวัน ก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องที่จะทำ แต่เป็นเรื่องที่จะค่อยๆ เข้าใจ ซึ่งในพระไตรปิฎกแสดงถึงเรื่องอานาปานสติว่าเป็นอารมณ์ของมหาบุรุษ คือ ผู้ที่ปัญญามาก สะสมบารมีมามาก จึงจะอบรมอานาปานสติได้ เพราะอานาปานสติเป็นอารมณ์ที่ละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง หากอยากจะทำ ก็ไม่มีทางถึง เพราะด้วยความต้องการ ไม่ใช่ด้วยความเข้าใจครับ

ขณะนี้กำลังหายใจ แต่ไม่รู้เลยว่ากำลังหายใจอยู่ และหากบอกว่ารู้ไหมที่กำลังหายใจขณะนี้ ก็ตอบได้ ว่ากำลังหายใจ แต่การรู้ว่ากำลังหายใจอยู่ ไม่ใช่เป็นการเจริญวิปัสสนา ที่เป็นอานาปานสติเลยครับ ซึ่งการเจริญวิปัสสนา ต้องมีสภาพธรรมที่มีจริง เป็นอารมณ์ให้สติและปัญญารู้ นั่นคือ ขณะที่หายใจ มีอะไรปรากฏที่กำลังหายใจ ขณะที่มีลมกระทบ ก็มี เย็น ร้อน เป็นต้น สภาพธรรมเหล่านี้มีจริง ก็รู้ความเป็นธรรม ไม่ใช่เรา ขณะที่หายใจ เช่น เย็นก็เป็นธรรมไม่ใช่เรา ขณะที่สติและปัญญาเกิดในขณะนั้นครับ ทีละขณะ แต่ละสภาพธรรมครับ

เรื่องที่สำคัญที่สุดคือ ความเข้าใจถูก นั่นคือ ปัญญา ซึ่งปัญญาจะเจริญได้ ก็ต้องเริ่มจากปัญญาขั้นการฟัง ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจเป็นเบื้องต้น เพราะเมื่อมีความเข้าใจเบื้องต้น ก็สามารถทำให้เข้าใจในคำแต่ละคำ และหนทางปฏิบัติที่ถูกต้อง แม้แต่เรื่องของ อานาปานสติ ครับ

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๒ หน้าที่ 364

จริงอยู่ กรรมฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง ย่อมสำเร็จแก่ผู้มีสติ มีความรู้ตัวเท่านั้น แม้ก็จริง, ถึงกระนั้น กรรมฐานอย่างอื่น นอกจากอานาปานสติกรรมฐานนี้ ย่อมปรากฏได้แก่ผู้ที่มนสิการอยู่. แต่อานาปานสติกรรมฐานนี้เป็นภาระหนัก เจริญสำเร็จได้ยาก ทั้งเป็นภูมิแห่งมนสิการ ของมหาบุรุษทั้งหลาย คือ พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพุทธบุตรเท่านั้น,ไม่ใช่เป็นกรรมฐานต่ำต้อย, ทั้งมิได้เป็นกรรมฐานที่สัตว์ผู้ต่ำต้อยซ่องเสพ,เป็นกรรมฐานสงบและละเอียด โดยประการที่มหาบุรุษทั้งหลายย่อมทำไว้ในใจ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 15 มี.ค. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ไม่ใช่ว่ามีตัวตนที่จะไปทำอะไร ไปกำหนดอะไร เพราะนั่นเป็นเรื่องของความไม่รู้ การทำอะไรด้วยความไม่รู้ ผลก็คือ ไม่รู้ เพราะพระธรรมทั้งหมดเป็นไปเพื่อการอบรมเจริญปัญญาโดยตลอด จึงควรตั้งต้นด้วยการฟังพระธรรมให้เข้าใจ ซึ่งก็ไม่พ้นไปจากการฟังในเรื่องของรูปธรรมและนามธรรม เพื่อความเข้าใจอย่างถูกต้องตามความเป็นจริง เมื่อเหตุปัจจัยพร้อมก็จะเป็นเหตุให้มีการระลึกรู้สภาพธรรมที่มีจริงตามความเป็นจริง แม้แต่ในเรื่องของลมหายใจก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ไม่ว่าจะเป็นสภาพธรรมใดปรากฏ ก็สามารถเข้าใจได้ จึงสำคัญอยู่ที่การตั้งต้นจริงๆ

อานาปานสติ เป็นสติที่มีลมหายใจเป็นอารมณ์ เป็นได้ทั้งสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา ซึ่งจะขาดปัญญาไม่ได้เลยทั้งสมถภาวนาและวิปัสสนา แต่ผลต่างกัน เพราะสมถภาวนา เพียงระงับกิเลสด้วยการข่มไว้เท่านั้น ไม่สามารถดับกิเลสใดๆ ได้เลย แต่ถ้าเป็นวิปัสสนาหรือสติปัฏฐานแล้ว สามารถทำให้รู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 16 มี.ค. 2558

ปุถุชนส่วนมากเป็นไปกับนิวรณ์ 5 จิตไม่สงบ ถ้าไม่เป็นไปกับทาน ศีล ภาวนา ก็เป็นอกุศล เพียงกุศลขั้นระลึกรู้ลักษณะสภาพธรรมะที่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ยังเกิดยากค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
wannee.s
วันที่ 16 มี.ค. 2558

อานาปานสติจึงเป็นอารมณ์ของมหาบุรุษ เพราะต้องสำหรับผู้มีปัญญามากจริงๆ จึงจะรู้ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
kullawat
วันที่ 17 มี.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
Patchanon
วันที่ 17 มี.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
ดวงทิพย์
วันที่ 17 มี.ค. 2558

สาธุคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
j.jim
วันที่ 18 มี.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
jirat wen
วันที่ 31 ต.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
Jarunee.A
วันที่ 23 ม.ค. 2567

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ