เหยียบสร้อยพระโดยไม่ได้ตั้งใจ

 
ปิ่นทอง
วันที่  16 มี.ค. 2558
หมายเลข  26318
อ่าน  13,824

คืออยากทราบว่าถ้าเราเหยียบพระโดยไม่ได้ตังใจเราจะบาปมั้ยครับ เพราะว่าครั้งหนึ่งสร้อยพระผมร่วงอยู่ที่พื้นแล้วผมไม่รู้ พอผมเดินมาเลยเหยียบเข้า ถ้าเป็นแบบนี้แล้วจะยาปมั้ยครับ ส่วนพระจะศักดิ์สิทธ์หรือไม่ก็อยู่ที่เราศรัทธาใช่มั้ยครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 16 มี.ค. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

บาปไม่บาป สำคัญที่เจตนา ถ้ามีเจตนาลบหลู่ ไม่ดี อย่างนี้บาป แต่ถ้าไม่มีเจตนาลบหลู่ ไม่มีเจตนาทุจริต เผลอเหยียบไป ก็ไม่บาป ครับ

ส่วนในเรื่องพระ เรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สิ่งที่ศักดิ์สิทธิ์ ที่สามารถที่จะมีใคร มีสัตว์ บุคคล บันดาลให้ ไม่มี เพราะมีแต่ สภาพธรรม ที่เป็น จิต เจตสิก และรูปที่เกิดขึ้นเป็นไป ไม่มีสัตว์ บุคคล เมื่อไม่มีสัตว์ บุคคล ก็ไม่มีใครบันดาลและไม่มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นสัตว์ บุคคลด้วย เพราะฉะนั้น ศักดิ์สิทธิ์จริงๆ ที่เป็นไปตามสัจจะ ความจริง ศักดิ์สิทธิ์ไม่เปลี่ยนแปลง คือ ทำดีก็ย่อมได้รับผลดี ทำชั่วก็ได้รับผลชั่ว การได้รับการช่วยเหลือ ได้รับสิ่งที่ดี ก็เพราะการทำดีเป็นปัจจัยนั่นเองครับ ดังนั้น กรรมต่างหากที่ศักดิ์สิทธิ์ เพราะแม้เทวดา พรหมที่คิดว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็ไม่พ้นไปจากกรรม และตัวเทวดาเองและพรหมเอง ก็ต้องได้รับผลของกรรมที่ตัวเองทำมา ไม่สามารถบันดาลให้ตัวเองไม่ตาย ได้รับผลของกรรมดีได้ตลอด เพราะเป็นไปอำนาจความศักดิ์สิทธิ์ของกรรม ไม่ใช่เพราะของตัวเองครับ จึงไม่ใช่พรหมลิขิต ไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นสัตว์ บุคคล แต่เป็นกรรมลิขิต คือ สัตว์ทั้งหลายเป็นไปตามกรรม ครับ

คำว่า ศักดิ์สิทธิ์ โดยทั่วไปหมายถึง สิ่งน่าควรศรัทธา น่าเชื่อถือ และนำมาซึ่งสิ่งที่ควรได้ ซึ่งในพระไตรปิฎกก็มีใช้คำนี้เช่นกันครับ

แสดงโดย ใช้กับความเห็นผิดที่มีคนบูชา จอมปลวก ต้นไม้ ที่สำคัญว่า ศักดิ์สิทธิ์ คือ น่าเลื่อมใส น่าเคารพ และจะนำสิ่งที่ดีๆ มาให้ เพราะในความเป็นจริง ต้นไม้ จอมปลวก ไม่รู้อะไรเลย ไม่ได้มีความศักดิ์สิทธิ์ที่จะนำมาซึ่งความเลื่อมใส น่าศรัทธา และจะนำมาซึ่งสิ่งที่ดีๆ ที่ได้ตามปรารถนา ครับ นี่คือ การแสดงโดยนัย ความศักดิ์สิทธิ์ ประการหนึ่ง ที่ใช้ในความเห็นผิดในพระไตรปิฎก

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑- หน้าที่ 436

เหมือนอย่างที่ว่า จอมปลวก พระเจดีย์ และต้นไม้ที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นต้น คนบางพวกบูชาด้วยดอกไม้ของหอม ธูปและผ้า เป็นต้น

------------------------------------------------------------

อีกนัยหนึ่ง แสดงคำว่า ศักดิ์สิทธิ์ไว้ ที่หมายถึง การที่ควรเคารพ น่าเชื่อถือ น่าเลื่อมใส ดังเช่น เทพธิดา ผู้มีฤทธิ์ มีความศักดิ์สิทธิ์ เพราะเป็นผู้ที่ควรเคารพในคุณความดีที่ได้ทำให้เกิดเป็นเทวดา แต่ไม่ได้หมายความว่า จะเป็นความศักดิ์สิทธิ์ที่จะบันดาลอะไรมาให้ เพราะฉะนั้น ความศักดิ์สิทธิ์ในพระไตรปิฎก จึงมุ่งหมายถึง สิ่งที่ควรเคารพ น่าเลื่อมใส ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 16 มี.ค. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ขณะที่ตั้งใจจะเหยียบสร้อยพระ โดยตรงๆ กับ เผลอเหยียบโดยไม่รู้ตัว ก็ย่อมจะแตกต่างกันอย่างแน่นอน แต่สิ่งที่น่าจะพิจารณา คือ การศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ

พระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ดีแล้วเท่านั้น ที่จะเป็นเครื่องป้องกันความเห็นผิดคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง พระธรรมย่อมจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่มีโอกาสได้ฟัง ได้ศึกษาอย่างแท้จริง ทำให้มีความมั่นคงในความเป็นจริง มั่นคงในความถูกต้อง ไม่หวั่นไหวคล้อยตามในสิ่งที่ผิด ไม่ตรงตามพระธรรมคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะคำสอนของพระองค์ เกิดจากพระปัญญาตรัสรู้ ซึ่งกว่าจะได้ทรงตรัสรู้นั้น ต้องอาศัยการสะสมพระบารมีมาเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน สิ่งที่พระองค์ทรงตรัสรู้และทรงแสดง ย่อมไม่พ้นจากสิ่งที่มีจริง

พระสาวกในครั้งสมัยพุทธกาลเป็นผู้มีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง ย่อมไม่ให้ความสำคัญกับสิ่งอื่นที่ไม่ได้เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก นอกจากพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้งมนุษย์ เทวดา พรหม ย่อมถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง เป็นสรณะ เป็นสิ่งสูงสุด ด้วยความเข้าใจพระธรรมตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ดังนั้น ก็ควรที่จะได้คล้อยตามความประพฤติที่ดีงามเหล่านั้น ด้วยความเป็นผู้ตั้งใจฟังพระธรรมศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย ความเข้าใจถูกนี้เองจะเป็นเครื่องขัดเกลาความไม่รู้ ความเห็นผิดและกิเลสทั้งหลาย ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
papon
วันที่ 17 มี.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
kullawat
วันที่ 18 มี.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
Komsan
วันที่ 25 ต.ค. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ