สติและมหาสติในอานาปานสติเป็นมรรคสัจจ์และทุกข์สัจจ์ครับ

 
สืบต่อพุทธ
วันที่  23 มี.ค. 2558
หมายเลข  26362
อ่าน  1,243

อานาปานสติเป็นอริยสัจ ๔

ในอานาปานบรรพนั้น สติที่กำหนดลมอัสสาสปัสสาสะเป็นอารมณ์เป็นทุกขสัจ ตัณหามีในก่อนอันยังทุกขสัจนั้นให้ตั้งขึ้นเป็นสมุทัยสัจ ความไม่เป็นไปแห่งสัจจะทั้งสอง เป็นนิโรธสัจ อริยมรรคที่กำหนดรู้ทุกขสัจ ละสมุทัยสัจ มีนิโรธสัจเป็นอารมณ์ เป็นมรรคสัจ. ภิกษุโยคาวจรขวนขวายด้วยอำนาจสัจจะ ๔ อย่างนี้ ย่อมบรรลุความดับทุกข์ได้ฉะนี้.

นี้เป็นทางปฏิบัตินำออกจากทุกข์ จนบรรลุพระอรหัตของภิกษุผู้ตั้งมั่นแล้ว ด้วยอำนาจแห่งลมอัสสาสปัสสาสะ รูปหนึ่งฉะนี้แล.

//84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=10.0&i=273

จากข้อความข้างบน อยากทราบความแตกต่างของสติและมหาสติอย่างไรครับ และสติเป็นมรรคสัจจ์หรือทุกข์สัจจ์ครับ หรือเป็นทั้งสองอย่างได้ครับ ช่วยไขข้อข้องใจด้วยครับ ขอบคุณ สาธุ สาธุ สาธุครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 23 มี.ค. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สติ ตามพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ที่เป็นเจตสิก สติเป็นเจตสิกฝ่ายดี คือเกิดกับจิตที่ดีงาม ไม่เกิดกับอกุศลจิตเลย สติ ทำหน้าที่ระลึกเป็นไปในทางที่ดี และ สติเป็นธรรมที่เป็นเครื่องกั้นกระแสกิเลส

สติ มีหลายอย่าง หลายชนิด แต่ สติ ก็ต้องกลับมาที่ สติเป็น สภาพธรรมฝ่ายดี ครับ สติ แบ่งตามระดับของกุศลจิต เพราะเมื่อใด กุศลจิตเกิด สติจะต้องเกิดร่วมด้วย กุศลจิต มี 4 ขั้น คือ ขั้นทาน ศีล สมถภาวนา และ วิปัสสนาภาวนา

สติจึงมี 4 ขั้น คือ สติที่ระลึกเป็นไปในทาน สติที่ระลึกไปในศีล สติที่ระลึกเป็นไปในสมถภาวนา และ สติที่ระลึกเป็นไปในวิปัสสนาภาวนา

สติขั้นทาน คือ เมื่อสติเกิดย่อมระลึกที่จะให้ สติขั้นศีล คือ ระลึกที่จะไม่ทำบาป งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ สติขั้นสมถภาวนา เช่น ระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า และสติขั้นวิปัสสนา คือ สติที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่มีในขณะนี้ เกิดพร้อมปัญญารู้ความจริงว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ครับ

ดังนั้น สติ จึงเป็นสภาพธรรม ที่ระลึกเป็นไปในกุศลทั้งหลาย และ ขณะใดที่สติเกิด ขณะนั้น อกุศลไม่เกิด เพราะ กั้นกระแสกิเลสในขณะนั้น

ซึ่ง สติเป็นสภาพธรรมที่มีจริง จึงเป็นอารมณ์ของ สติปัฏฐานได้ จึงเป็นทุกขสัจจะ และ สติ ก็ยังเป็น สัมมาสติ ที่เป็น มรรคสัจจะได้ด้วย ครับ ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ธุลีพุทธบาท
วันที่ 24 มี.ค. 2558

กราบขอบพระคุณและอนุโมทนาอาจารย์ผเดิมเป็นอย่างยิ่ง ครับ.

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 24 มี.ค. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ความเข้าใจเบื้องต้นคือ สติเป็นสภาพธรรมที่ดีงาม เกิดร่วมกับจิตที่ดีงามทุกประเภท สติ เป็นสภาพธรรม ที่ระลึกได้ เป็นไปในกุศลทั้งในขั้นของทาน ศีล และ ภาวนา (การอบรมเจริญความสงบของจิตและอบรมเจริญปัญญา) สติจึงเป็นธรรมที่จำปรารถนาใน ที่ทั้งปวง เพราะเหตุว่าชีวิตในวันหนึ่งๆ ที่เต็มไปด้วยอวิชชา ความหลง ความไม่รู้ ขณะนั้นหลงลืมสติ ไม่เป็นกุศล ไม่สามารถที่จะพิจารณาสภาพธรรมในชีวิตประจำวันได้ตามความเป็นจริง จนกว่าสติจะเกิดเมื่อใด มีการระลึก ได้แม้ในเหตุในผล ในความถูกต้อง ในความเหมาะควรในชีวิตประจำวันขณะใด ขณะนั้นก็เป็นการเกิดขึ้นของสติ นี้คือชีวิตประจำวันที่จะสังเกตได้ว่า สติจะเกิดเพิ่มขึ้น คือ เมื่อเห็นคุณ เห็นประโยชน์ของสติทุกขั้นในชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้น การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม จึงเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน เป็น เรื่องที่สุขุมลึกซึ้ง เมื่อไม่ขาดการฟัง ความเข้าใจก็จะค่อยๆ เจริญขึ้นไปตามลำดับ จนกว่าจะมีเหตุปัจจัยให้มีการระลึกรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง และที่สำคัญ ไม่ใช่อยู่ที่การเรียกชื่อว่าเป็นอะไร เพราะสำคัญที่ความ เข้าใจถูกเห็นถูก เพราะสติ เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย เกิดแล้วดับไป สติเกิดร่วมกับกุศล ทุกระดับขั้น ถ้าเกิดพร้อมกับกุศลขั้นสูงสุดที่เป็นโลกุตตรกุศล ก็เป็นไปในฝ่ายของการดับกิเลสดับทุกข์ดับวัฏฏะ ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
สืบต่อพุทธ
วันที่ 24 มี.ค. 2558

ขอบคุณและสาธุ สาธุ สาธุกับอ.ผเดิมด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
wannee.s
วันที่ 24 มี.ค. 2558

สติระลึกเป็นไปในทาน ศีล ภาวนา สติเกิดมีปัญญาเกิดร่วมด้วยก็ได้ ไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วยก็ได้ แต่ถ้าสติปัฏฐานเกิดมีปัญญาเกิดร่วมด้วย ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
Jarunee.A
วันที่ 31 ธ.ค. 2566

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ