ภวังคจิต

 
azide
วันที่  26 มี.ค. 2558
หมายเลข  26386
อ่าน  3,467

ทุกอย่างล้วนเกิดแต่เหตุ ขณะที่หลับนั้นเป็นจิตชาติวิบาก เป็นผลของกรรมเรียกว่า ภวังคจิต ที่มีเหมือนกันทุกคน มันคงเป็นกรรมพื้นฐานของมนุษย์ไช่ไหมครับ...

ในภพภูมิอื่นมีผลของกรรมเรียกว่า ภวังคจิตนี้ไหมครับ ....การสลบในแบบต่างๆ เป็นภวังคจิตไหมครับ ..ความสงบขั้นสูงๆ เป็นภวังคจิตไหมครับ... เหตุอันใดทำให้หมดผลของกรรมเรียกว่า ภวังคจิตได้ครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 26 มี.ค. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาัสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ทุกขณะของชีวิต ก็คือ การเกิดดับสืบต่อกันของจิตแต่ละขณะๆ เป็นไปอย่างไม่ขาดสาย จิต เมื่อจำแนกเป็นประเภทใหญ่ๆ แล้ว มี ๒ ประเภท คือ จิตที่เป็นวิถีจิตกับจิตที่ไม่ใช่วิถีจิต ซึ่งก็ต้องกล่าวถึงความหมายของจิต ๒ ประเภทนี้เป็นเบื้องต้นก่อนว่า วิถีจิต คือ จิตที่เกิดขึ้นโดยอาศัยทวารหนึ่งทวารใดใน ๖ ทวาร (ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ) ในการรู้แจ้งอารมณ์

จิตที่ไม่ใช่วิถีจิต คือ จิตที่เกิดขึ้นรู้แจ้งอารมณ์โดยไม่อาศัยทวารหนึ่งทวารใดใน ๖ ทวารเลย จิตที่ไม่ใช่วิถีจิต มี ๓ ประเภท คือ ปฏิสนธิจิต ภวังคจิต และจุติจิต จะเห็นได้ว่าปฏิสนธิจิตเกิดแล้ว เป็นจิตขณะแรกในภพนี้ชาตินี้ จะไม่มีปฏิสนธิจิต ๒ ๓ ขณะในชาติเดียวกัน ส่วนจุติจิตยังไม่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น จิตที่ไม่ใช่วิถีจิตในชีวิตประจำวันนี้ ก็คือ ภวังคจิต นั่นเอง

ในชีวิตประจำวัน วิบากจิต (จิตที่เป็นผลของกรรม) ที่เกิดขึ้นเป็นไปนั้น สำหรับผู้ที่เกิดมาเป็นมนุษย์ ไม่พิการตั้งแต่กำเนิด นอกจากจะมีวิบาก อันเป็นผลของกุศล ที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ เช่น ได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย ที่ดีที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ แล้ว ยังมี่วิบากจิตอีกประเภทหนึ่ง ที่เกิดขึ้นเป็นไป ทำกิจหน้าที่ดำรงรักษาความเป็นบุคคลนี้ไว้จนกว่าจะจุติ นั่นก็คือภวังคจิต ขณะนี้ก็มีภวังคจิตเกิดขึ้นเป็นไป จะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม ซึ่งเป็นธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย

จิตทุกขณะเมื่อเกิดขึ้นย่อมทำกิจหน้าที่ เช่น ภวังคจิต เกิดขึ้นก็ทำกิจหน้าที่ดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนี้ไว้ จิตเห็น (จักขุวิญญาณ) เกิดขึ้นก็ทำหน้าที่เห็น เป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นธรรมที่มีจริงทั้งหมด ก็ต้องค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อยจริงๆ

ขณะที่สลบ ชวนจิตเกิด ๖ ขณะ ซึ่งเป็นขณะที่อ่อนกำลังกว่าขณะปกติ ซึ่งปกติจะมีชวนจิต ๗ ขณะ และในขณะที่เป็นชวนะก่อนที่จุติจะเกิดขึ้น มีชวนจิต เกิด ๕ ขณะ ซึ่งเป็นจิตที่มีกำลังอ่อนมากแล้ว ซึ่งก็ย่อมแตกต่างจากขณะที่เป็นปกติอย่างสิ้นเชิง ดังนั้น ขณะที่สลบจึงเป็นวิถีจิต ไม่ใช่ ภวังคจิต ครับ ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 26 มี.ค. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น สำคัญคือความเข้าใจถูกเห็นถูกต้องแต่ต้นจริงๆ ภวังคจิต คือ จิตที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนี้ไว้ จนกว่าจะจุติ ในชีวิตประจำวัน มีจิตที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และ ทางใจ สลับกับภวังคจิต (ที่เกิดขึ้นโดยไม่อาศัยทวารทั้ง ๖ เลย) เพราะเหตุว่า ปฏิสนธิจิต เกิดแล้วดับแล้ว ตั้งแต่ขณะแรกในภพนี้ชาตินี้ ส่วนจุติจิต ซึ่งเป็นจิตขณะสุดท้ายของภพนี้ชาตินี้ ยังไม่เกิดขึ้น แต่ต้องเกิดแน่ๆ ไม่วันใดก็วันหนึ่ง ซึ่งไม่สามารถจะทราบได้ว่าจะเป็นที่ไหน เวลาใด ภวังคจิต เป็นจิตชาติวิบาก เป็นผลของกรรม

ตราบใดที่ยังไม่ได้ดับกิเลสทั้งหมดได้อย่างหมดสิ้นถึงความเป็นพระอรหันต์แล้วดับขันธปรินิพพาน ก็ยังมีสภาพธรรมเกิดขึ้นเป็นไป ยังมีจิต เจตสิก และ รูป เกิดขึ้นเป็นไป จะเห็นได้ว่า ผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่นั้น เมื่อจุติจิต เกิดขึ้นแล้วดับไป จิตขณะต่อไป คือ ปฏิสนธิจิตในภพต่อไป ก็จะเกิดสืบต่อทันทีโดยไม่มีจิตอื่นคั่น แต่จะเกิดเป็นใครในภพไหนนั้น ขึ้นอยู่กับกรรม เป็นสำคัญ ว่า กรรมใด จะให้ผลนำเกิด กล่าวคือ ถ้าเป็นผลของกุศล ก็ทำให้เกิดในสุคติภูมิ เกิดเป็นมนุษย์ หรือเกิดเป็นเทวดา ถ้าเป็นผลของอกุศล ก็ทำให้เกิดเป็นสัตว์ในอบายภูมิ ถ้าเป็นผลของรูปฌาน ก็ทำให้เกิดเป็นรูปพรหมบุคคล ในรูปพรหมภูมิ และถ้าเป็นผลของอรูปฌาน ก็ทำให้เกิดเป็นอรูปพรหมบุคคลในอรูปพรหมภูมิ เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว จิตที่กระทำปฏิสนธิ มีทั้งหมด ๑๙ ดวง คือ มหาวิบาก ๘, อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบาก ๑, อุเบกขาสันตรีณอกุศวิบาก ๑, รูปาวจรวิบาก ๕ และ อรูปาวจรวิบาก ๔ ขึ้นอยู่กับว่าจะเป็นวิบากจิตประเภทใดที่ทำกิจปฏิสนธิ ในภพนั้น เมื่อวิบากจิตใดที่ทำกิจปฏิสนธิ วิบากจิตนั้น ก็ทำกิจภวังค์และทำกิจจุติ ในภพนั้นๆ ด้วย ความจริงเป็นอย่างนี้ จะไปเปลี่ยนแปลงความจริงของสภาพธรรมนั้นๆ ไม่ได้เลย สำคัญที่ความเข้าใจที่ถูกต้องว่าเป็นธรรมที่มีจริง ภวังคจิตก็เป็นธรรมที่มีจริง เป็นธรรมที่เกิดขึ้นทำกิจดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนี้ไว้จนกว่าจะจุติ ไม่ใช่เราเลย ดังนั้น ไม่ใช่เฉพาะมนุษย์เท่านั้นที่มีภวังคจิต ในภพภูมิอื่นก็มี ด้วย

ภวังคจิต ไม่ใช่ความสงบสุข เพราะเป็นเพียงวิบาก คือ ผลของกรรม ถ้าเป็นความสงบจริงๆ ต้องเป็นเรื่องของกุศลธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ กุศลขั้นที่สามารถดับกิเลสได้, หนทางแห่งการอบรมเจริญปัญญาเท่านั้น ที่จะเป็นไปเพื่อการดับกิเลส เมื่่อดับกิเลสได้หมดสิ้นแล้ว ไม่มีการเกิดอีกในสังสารวัฏฏ์สภาพธรรมทั้งปวง รวมถึงภวังคจิต ด้วย ก็ไม่เกิดอีกเลย

ขณะที่สลบ มีจิตเกิดขึ้น เพราะยังไม่ตาย แต่เป็นจิตที่มีกำลังอ่อน แผ่วเบา ซึ่งก็เป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจเบื้องต้นต้องไม่ลืมในความเป็นจริงของจิต และที่สำคัญไม่ว่าจะฟังจะศึกษาในเรื่องใดก็เพื่อเข้าใจความจริงว่าเป็นธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
azide
วันที่ 27 มี.ค. 2558

ขอขอบพระคุณ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
wannee.s
วันที่ 10 เม.ย. 2558

ภวังคจิต หมายถึงจิตที่ดำรงรักษาภพชาติ เช่น เกิดเป็นมนุษย์ก็เป็นมนุษย์ไปตลอดชีวิต ถ้าเกิดเป็นปลาภวังคจิตของปลาก็ดำรงรักษาภพชาติของปลาตลอดไปเช่นกัน ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
Jumzper
วันที่ 6 มี.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 6 มี.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
Jarunee.A
วันที่ 19 ธ.ค. 2566

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ