นโม พุทธายะ มีที่มาอย่างไร

 
bpkyod17
วันที่  26 มี.ค. 2558
หมายเลข  26388
อ่าน  3,626

อยากทราบที่มาของคำว่า นโม พุทธายะ ครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 26 มี.ค. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

คำว่า นโม พุทฺธาย นั้น พยัญชนะตรงๆ เท่าที่ค้นดูในพระไตรปิฎก และ อรรถกถา ไม่พบคำสองคำที่มาด้วยกัน แต่มีคำว่า นโม พุทฺธสฺส (ขอถวายความนอบน้อมแด่พระพุทธเจ้า) ตามข้อความจากขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ดังนี้

เจริญพุทธานุสสติป้องกันอมนุษย์ได้ [คาถาธรรมบท]

และที่พบมาก ก็คือ บท นะโม ตัสสะ ภควโต อรหโต สัมมาสัมพุทธัสสะ

(ขอถวายความนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ทรงเป็นพระอรหันต์ ทรงตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง พระองค์นั้น)

ดังนั้น ไม่ใช่เพียงคำ แต่สำคัญที่ความเข้าใจถูกเห็นถูกจริงๆ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทุกๆ พระองค์ ทรงเป็นบุคคลผู้เลิศ ผู้ประเสริฐที่สุดในโลก กว่าที่พระองค์จะได้ตรัสรู้นั้น ทรงบำเพ็ญพระบารมีมาเป็นเวลาที่นานมาก พระคุณของพระองค์นั้นมีมากมาย พระองค์ทรงอุบัติขึ้นในโลกเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์โลกอย่างแท้จริง ด้วยการทรงแสดงพระธรรม ประกาศความจริงให้สัตว์โลกได้เข้าใจตามความเป็นจริง เป็นผู้หลุดพ้นจากกองทุกข์ทั้งปวง

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเป็นบุคคลที่เสมอกับบุคคล ที่ไม่มีใครเสมอ นั่นก็คือ ทรงเสมอกันกับพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ การจะอธิบายให้เห็นว่าพระคุณของพระองค์มีมากมากเพียงใดนั้น ท่านแสดงไว้ว่า ในระยะเวลาหนึ่งกัปป์ไม่ต้องพูดเรื่องอื่นเลย กล่าวสรรเสริญพระคุณของพระพุทธเจ้า เพียงอย่างเดียว หนึ่งกัปป์ดังกล่าวนั้นสิ้นไปก่อนแล้ว แต่พระคุณของพระองค์ ก็ยังกล่าวสรรเสริญไม่หมด

พระคุณของพระพุทธเจ้า แม้ในบทที่กล่าวนอบน้อม (นโม) นั้น มีความละเอียดลึกซึ้งมากเริ่มจาก คำว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า (ภวคโต) หมายถึง ผู้ทรงหักราคะ โทสะ โมหะ และบาปธรรมทั้งหลาย ได้แล้ว, เป็นผู้ถึงที่สุดแห่งภพ, เป็นผู้คลายการไปในภพทั้งหลาย, ทรงเป็นผู้จำแนกธรรมสั่งสอนเวไนยสัตว์ ต่อไป คำว่า ผู้ทรงห่างไกลจากกิเลส (อรหโต) หมายถึง เป็นผู้ดับกิเลสได้หมดสิ้น, ทำลายข้าศึกคือกิเลสเสียได้, ทำลายซี่กำแห่งสังสารจักรได้, เป็นผู้ควรได้รับทักษิณาทาน มีปัจจัย ๔ เป็นต้น และเป็นผู้ไม่มีที่ลับในการทำบาป และ คำว่า ทรงตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง (สัมมาสัมพุทธัสสะ) ทรงตรัสรู้สภาพธรรมด้วยพระองค์เอง โดยไม่มีใครเป็นครูเป็นอาจารย์ ด้วยพระบารมีที่พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญมา และ เมื่อทรงตรัสรู้แล้ว ก็ทรงยังผู้อื่นให้ตรัสรู้ตาม ด้วย

ความเป็นพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เสมอกันหมดทุกๆ พระองค์ ผู้ที่ได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ที่พระองค์ทรงแสดง ก็มีการกล่าวคำนอบน้อม ถวายความเคารพบูชาในความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงประกอบด้วยพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระมหากรุณาคุณ ที่ไม่มีใครเสมอเหมือน และทรงอุบัติขึ้นเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์โลกอย่างแท้จริง จึงสรุปได้ว่า "พระพุทธเจ้า พระองค์ใด ทรงจำแนกธรรมสั่งสอนสัตว์ ทรงห่างไกลจากกิเลส ทรงตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง ข้าพระพุทธเจ้า ขอถวายความนอบน้อมแด่พระพุทธเจ้า พระองค์นั้น" พระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ ทรงประกอบด้วยพระคุณอย่างนี้เหมือนกันทั้งหมด

จะเข้าใจถึงพระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ ไม่ใช่ด้วยการกล่าวคำถวายความนอมน้อม แต่ต้องด้วยการฟังคำของพระองค์ คือ ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงด้วยความละเอียดรอบคอบ ไม่ประมาทในแต่ละคำที่พระองค์ทรงแสดง ครับ

... ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
swanjariya
วันที่ 5 พ.ย. 2566

กราบเท้าท่านอาจารย์ด้วยความเคารพยิ่ง

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chatchai.k
วันที่ 5 พ.ย. 2566

ยินดีในกุศลจิตครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
Jarunee.A
วันที่ 16 ธ.ค. 2566

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ