เรื่องที่ขัดขวางทางสวรรค์และนิพพาน
ข้อความในพระไตรปิฎกมีบางเรื่องที่ทรงแสดงไว้ว่า ขัดขวางทางสวรรค์และนิพพาน
ขอเรียนถามว่าเรื่องอะไรบ้างที่ขัดขวางทางสวรรค์และนิพพาน และเรื่องที่ขัดขวางทางไปสวรรค์และนิพพาน จะขัดขวางการเกิดเป็นมนุษย์ด้วยไหมครับ
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
ติรัจฉานกถาหรือเดรัจฉานกถาคือคำพูดอันเป็นเครื่องปิดกั้นทางไปสวรรค์และทางแห่งความหลุดพ้น ปิดกั้นการบรรลุนิพพาน
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้าที่ ๒๑๗
อรรถกถาปฐมวัตถุกถาสูตรที่ ๙
บทว่า ติรจฺฉานกถ ได้แก่ เรื่องที่ขัดขวางทางสวรรค์และนิพพานเพราะเป็นเรื่องที่ไม่นำสัตว์ออกทุกข์.
------------------------------------------------------------------------------
เพราะเหตุว่าขณะที่พูดเรื่องราวด้วยจิตเป็นอกุศล จิตที่เป็นอกุศลนั้นไม่ใช่ทางที่จะให้ผลไปสวรรค์และให้ผลด้วยการบรรลุธรรมได้เลยครับเพราะจิตเป็นอกุศลครับ
------------------------------------------------
เดรัจฉานกถา เมื่อไหร่เป็นเดรัจฉานกถา?
เดรัจฉานกถาคือคำพูดที่เป็นไปในเรื่องราวต่างๆ มีเรื่องราวของชาวบ้าน เรื่องราวของสิ่งต่างๆ ด้วยเจตนาที่เป็นอกุศลเจตนา อันมีความประสงค์จะพูดเรื่องราวที่ไม่มีประโยชน์ ดังนั้นเมื่อไหร่ที่มีเจตนา ต้องย้ำว่ามีเจตนานะครับ มีเจตนาที่เป็นอกุศลด้วยโลภะ เป็นต้น พูดเรื่องราวที่เป็นบุคคลต่างๆ สิ่งต่างๆ ด้วยจิตอกุศลไม่ใช่กุศล ขณะนั้นเป็นเดรัจฉานกถา คำพูดที่กั้นสวรรค์ มรรคผลนิพพาน
จะเป็นเดรัจฉานกถาเพราะเรื่องราวที่พูดหรือไม่?
จะเป็นกุศลหรืออกุศลจิตนั้นสำคัญที่จิตและสำคัญที่เจตนาครับ ดังนั้นคำพูดใดเป็นเดรัจฉานกถาก็สำคัญที่เจตนา ไม่ใช่เรื่องที่จะพูด สำคัญที่จิตครับ เช่น แม้จะพูดเรื่องราวของบุคคลอื่น เช่น เรื่องข้าว เรื่องน้ำ เรื่องโจร แต่พูดด้วยจิตที่เห็นถึงความไม่เที่ยงว่า แม้โจรคนนี้จะเก่งเพียงใดก็ต้องตาย มีความไม่เที่ยงเป็นที่สุด แม้ข้าว น้ำที่มีมากเพียงใด ข้าวและน้ำนั้นก็ต้องถึงความสิ้น เสื่อมไปเป็นธรรมดา คำพูดนี้ไม่ใช่เดรัจฉานกถา แม้จะกล่าวเรื่องของโจร เรื่องของข้าว เรื่องของน้ำ เพราะเจตนากล่าวด้วยจิตที่เป็นกุศล ด้วยจิตที่เห็นตามความเป็นจริงของสภาพธรรมที่ไม่เที่ยงโดยปรารภเรื่องราวในชีวิตประจำวัน แต่จิตขณะนั้นเป็นความเห็นถูก หากจิตเป็นกุศลแล้ว เรื่องราวที่พูดจะเป็นเดรัจฉานกถาไม่ได้เลยครับ
เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ...คำพูดที่ไม่เป็นเดรัจฉานกถา [ปฐมวัตถุกถาสูตร]
------------------------------------------------------------
อีกอย่าง แม้การถามสาระทุกข์ เมื่อพบปะกันก็ด้วยจิตที่เป็นกุศลได้ อกุศลก็ได้ เรื่องราวเดียวกัน แต่จิตต่างกัน ทักทายกันเพราะโลภะก็ได้ แม้จะคำพูดเดียวกัน แต่อีกบุคคลพูดด้วยจิตที่ดีงามเป็นกุศลหรือกิริยาจิตก็ได้ครับ ดังเช่น พระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ย่อมมีธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันคือ ย่อมถามถึงสาระทุกข์ ถามถึงความเป็นไปของภิกษุผู้อาคันตุกะที่มาถึง ว่าเธอพออดทนได้หรือ ถามถึงความเป็นไปต่างๆ ด้วยจิตที่ดี ดังนั้นเรื่องราวที่พูดจึงไม่ใช่การตัดสินว่าเป็นเดรัจฉานกถาครับ สำคัญที่จิตและเจตนาเป็นสำคัญครับ ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ดิรัจฉานกถา คือ พูดเรื่องอื่นซึ่งไม่ใช่เรื่องที่จะให้กุศลเจริญขึ้น ไม่ใช่เรื่องที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม คำพูดใดก็ตามที่ไม่ได้ทำให้กุศลธรรมเจริญขึ้น ไม่ได้เป็นไปเพื่อการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ก็เป็นคำที่ไม่ควรพูดจริงๆ เนื่องจากเป็นการพูดที่ทำให้อกุศลธรรมเกิดมากขึ้น เมื่ออกุศลเกิดขึ้นสะสมมากขึ้น ก็ไม่มีทางที่จะทำให้เกิดในสุคติภูมิ คือ เกิดเป็นมนุษย์หรือเกิดเป็นเทวดา และไม่สามารถทำให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้เลยครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...