จดจ้อง เป็นสีลัพพตปรามาส หรือไม่

 
papon
วันที่  16 เม.ย. 2558
หมายเลข  26454
อ่าน  949

เรียนอาจารย์ทั้งสองท่าน

"จดจ้อง" เป็นสีลัพพตปรามาส หรือไม่อย่างไรครับ ขอความอนุเคราะห์ด้วยครับ

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 16 เม.ย. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สีลัพพตปรามาส คือ ความยึดถือ ด้วยข้อวัตรปฏิบัติที่ผิด ที่สำคัญว่า ข้อปฏิบัติ-วัตร นั้นจะทำให้ถึงความบริสุทธิ์ครับ

สีลัพพตปรามาส โดยองค์ธรรม ก็คือ ความเห็นผิดนั่นเอง คือ ทิฏฐิเจตสิก

สีลัพพตปรามาส เป็นความเห็นผิด-ที่ยึดถือ-ลูบคลำในข้อวัตรปฏิบัติที่ผิด ว่าเป็นหนทางที่ถูกต้อง เป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์ได้

สีลัพพตปรามาส การยึดถือข้อวัตรปฏิบัติที่เป็นความเห็นผิดที่คิดว่า ทำให้สัตว์บริสุทธิ์ได้อย่างละเอียด ก็ต้องมีอย่างหยาบก่อนครับ ตามธรรมดา อกุศลธรรม ก็มีทั้งอย่างหยาบ อย่างละอียด ตามกำลังของกิเลสเกิดขึ้น สีลัพพตปรามาส ที่เป็นข้อวัตรปฏิบัติที่ผิด อย่างหยาบ เช่น ขณะที่ทรมานตน เดินบนตะปู ด้วยสำคัญว่า จะทำให้พ้นทุกข์ด้วยความทุกข์ นี่ก็เป็นความเห็นผิด ที่เป็น สีลัพพตปรามาส ข้อวัตรปฏิบัติที่ผิดอย่างหยาบ เพราะแสดงออกมาทางกาย วาจา จนมีการทำการทรมานตน ทางกาย เป็นต้น นี่คือ ตัวอย่าง สีลัพพตปรามาส อย่างหยาบ ส่วน สีลัพพตปรามาส อย่างละเอียด ก็คือ กิเลสที่เป็นความเห็นผิด ที่เกี่ยวข้องกับหนทางปฏิบัติ แต่เป็นหนทางปฏิบัติที่ผิด แต่ไม่มีกำลัง ที่แสดงออกมาทางกาย ซึ่ง สีลัพพตปรามาส อย่างละเอียด เช่น แม้แต่ในพระพุทธศาสนา ผู้ที่คิดว่า วัตร-ปฏิบัตินั้น เป็นหนทางที่ถูกดับกิเลสได้ เช่น การสำคัญว่า การนั่งสมาธิ เป็นหนทางดับกิเลส อันนี้ ก็เป็นสีลัพพตปรามาส ครับ

และเมื่อว่าโดยละเอียด แม้แต่การเข้าใจหนทางที่ผิด เช่น สำคัญว่า ต้องจดจ้องในสภาพธรรมใดๆ จึงจะรู้ทั่วถึงสภาพธรรมใดๆ นั้น นี่ก็เป็นสีลัพพตปรามาสอย่างละเอียด แล้วครับ เพราะเป็นการยึดถือข้อปฏิบัติที่ผิด อันสำคัญว่าเป็นทางหลุดพ้น และแม้การตามดู ตามดูจิต นี่ ก็ไม่ใช่หนทางดับกิเลส เพราะเป็นตัวตนที่จะตามดู ไม่ใช่สติและปัญญา ครับ ดังนั้นก็เป็นสีลัพพตปรามาส โดยละเอียดอีกเช่นกันครับ ดังนั้นแม้ ความเป็นตัวตน ที่จะทำ เป็นตัวตนที่จะดูจิต เป็นตัวตนที่จะระลึกลักษณะของสภาพธรรม ก็เป็นสีลัพพตปรามาส อย่างละเอียดครับ

ดังนั้น สีลัพพตปรามาส เป็นการยึดถือข้อปฏิบัติที่ผิด ที่คิดว่าจะทำให้พ้นทุกข์ ดับกิเลส แต่ การปลุกเสก ไม่ใช่เป็นความคิดที่จะทำให้ดับกิเลส เพียงแต่เป็นการทำที่คิดว่าจะได้สิ่งที่ดี รวมทั้ง ความเชื่อในเครื่องราง ของขลัง ก็เป็นการเชื่อที่ขัดหลักกับกรรม แต่ ไม่ใช่คิดว่าจะทำให้พ้นทุกข์ จึงไม่เป็นสีลัพพตปรามาส แต่เป็นความเห็นผิดครับ ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 16 เม.ย. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง มีความละเอียดลึกซึ้งเป็นอย่างยิ่ง ที่สำคัญจะต้องมีความเพียร มีความอดทน ที่จะฟัง ที่จะศึกษา เพื่อความเข้าใจอย่างถูกต้องตรงตามความเป็นจริง จะเห็นได้ว่า ผู้ศึกษาธรรม ถ้ามีจุดประสงค์ที่ถูกต้อง ศึกษาด้วยความละเอียดถี่ถ้วนจริงๆ ความเข้าใจอย่างถูกต้องก็ค่อยๆ เจริญขึ้นไปตามลำดับ เมื่อกล่าวถึง ความเห็นแล้ว มี ๒ อย่าง คือ ความเห็นผิด กับ ความเห็นถูก ถ้าเป็นความเห็นผิดแล้ว เป็นมิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิดที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงทั้งหมด เป็นมิจฉาทิฏฐิ แต่ถ้าเป็นความเห็นอย่างถูกต้องตรงตามความเป็นจริงแล้ว ไม่ใช่มิจฉาทิฏฐิ แต่เป็นสัมมาทิฏฐิ (ปัญญาเจตสิก) สำหรับการยึดถือ หรือ ลูบคลำในข้อวัตรปฏิบัติที่ผิด นั้น เป็นความเห็นผิดประการหนึ่ง ที่เห็นว่า เป็นหนทางที่เป็นไปเพื่อความหมดจดบริสุทธิ์จากกิเลส ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว ไม่ใช่หนทางเพื่อความหมดจดเลย มีแต่เพิ่มพูนกิเลสให้มีมากขึ้น การจดจ้องสภาพธรรมก็เช่นเดียวกัน ไม่ใช่หนทางที่ถูกต้อง เพราะมีการไปทำด้วยความเป็นตัวตน ก็เป็นข้อวัตรปฏิบัติที่ผิดที่สำคัญว่าถูก เพราะฉะนั้นถ้าไม่ได้ศึกษาหรือศึกษาพระธรรมไม่ละเอียด ความเห็นผิดในข้อวัตรปฏิบัติที่ผิด ก็ย่อมจะเกิดขึ้นได้ ซึ่งจะเป็นผู้ประมาทไม่ได้เลยทีเดียว เพราะผู้ที่จะดับความเห็นผิดได้โดยประการทั้งปวง ต้องเป็นพระอริยบุคคล เท่านั้น ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
danai2523
วันที่ 17 เม.ย. 2558

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ธุลีพุทธบาท
วันที่ 17 เม.ย. 2558

กราบขอบพระคุณและอนุโมทนาอาจารย์ทั้งสองท่าน ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
tanrat
วันที่ 17 เม.ย. 2558

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
wannee.s
วันที่ 17 เม.ย. 2558

จดจ้องเป็นตัวตนเป็นเราที่ไปทำ ไปกำหนด ยังไม่ใช่การเจริญสติปัฏฐาน และการจดจ้อง ไม่ใช่ปัญญา และไม่ทำให้บรรลุมรรค ผล นิพพาน ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
ดวงทิพย์
วันที่ 17 เม.ย. 2558

โลภะเป็นเพื่อนสนิทจึงชวนให้ไปจดจ้อง..ไปตามรู้ตามดูกายและจิต..ไปสร้างสติไปทำความรู้สึกตัว..เมื่อทำแล้วทำมากๆ แล้ว..สิ่งที่เจริญคือโลภะค่ะ..

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
peem
วันที่ 18 เม.ย. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
Dechachot
วันที่ 18 เม.ย. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
azide
วันที่ 18 เม.ย. 2558

ถ้ายังไม่ถึงเหตุของอริยะบุคคล พวกเราอยู่ในครอบงำเดียวกัน จะเห็นถูกหรือเห็นผิดไม่มีอะไรบังคับได้ทุกอย่างเกิดแต่เหตุ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
thilda
วันที่ 19 เม.ย. 2558

พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงเป็นไปเพื่อความเห็นถูกทั้งสิ้น ควรศึกษาด้วยความละเอียด ค่อยๆ ศึกษาไปเรื่อยๆ อย่าทอดทิ้ง ก็จะมีความเข้าใจมากขึ้น หนทางยังอีกยาวไกลมาก ไม่ควรคาดหวังและไม่สามารถคาดหวัง ชีวิตนี้สั้นมาก ควรเริ่มต้นด้วยการศึกษาพระธรรมให้ค่อยๆ เข้าใจ ก่อนที่จะไปทำอะไรค่ะ ซึ่งเมื่อทำแล้วก็มักจะไม่เข้าใจอยู่ดี แต่เมื่อศึกษาพระธรรม จะมีความเข้าใจมากขึ้นค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
chatchai.k
วันที่ 1 ต.ค. 2565

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
Jarunee.A
วันที่ 2 ธ.ค. 2566

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ