ฟังธรรมมากกิเลสบางลง
เหตุใดบางคนศึกษาธรรมมากแต่กิเลสอย่างหยาบมิได้ลดลงเลย
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
กิเลส เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นอกุศลธรรม เป็นเครื่องเศร้าหมองของจิต พระอริยบุคคลเท่านั้นที่จะดับกิเลสได้ตามลำดับมรรค เมื่อว่าโดยจำนวนแล้ว กิเลสไม่พ้นจากอกุศลธรรม ๑๐ ประการ คือ โลภะ (ความติดข้องยินดีพอใจ) โทสะ (ความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ) โมหะ (ความหลง ความไม่รู้) มานะ (ความสำคัญตน) ทิฏฐิ (ความเห็นผิด) วิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัยในสภาพธรรม) อหิริกะ (ความไม่ละอายต่ออกุศลธรรม) อโนตตัปปะ (ความไม่เกรงกลัวต่ออกุศลธรรม) อุทธัจจะ (ความฟุ้งซ่าน) และถีนะ (ความท้อแท้ท้อถอย หดหู่) ทั้งหมดนั้น เป็นอกุศลธรรม เป็นธรรมฝ่ายดำ ให้ผลเป็นทุกข์ ทั้งนั้น ซึ่งจะถูกดับด้วยปัญญาขั้นโลกุตตระ
จะเห็นได้ว่า กิเลสในชีวิตประจำวัน มีมากมายมหาศาล แม้แต่ในวันนี้เอง เมื่อเทียบส่วนกันระหว่างอกุศล กับ กุศล แล้ว เทียบส่วนกันไม่ได้เลย เพราะมีอกุศลจิตเกิดขึ้นมากกว่ากุศลนั่นเอง ทุกครั้งที่อกุศลจิตเกิด จะไม่ปราศจากกิเลสเลย ตามแต่ประเภทของอกุศลจิต นั้นๆ และสะสมอยู่ในจิตทุกขณะอีกด้วย
เพราะฉะนั้น เมื่อกิเลสสะสมมาเนิ่นนาน และมีมากมาย แม้จักรวาลก็ไม่เพียงพอที่จะเก็บกิเลส ถ้ากิเลสเป็นรูปธรรม เพราะฉะนั้น เพียงเริ่มฟัง เริ่มศึกษาพระธรรมไม่นานเพียงไม่กี่ปี ปัญญาที่มีน้อย เพียงปัญญาขั้นการฟัง ไม่สามารถจะทำอะไรกิเลสได้เลย เมื่อมีเหตุปัจจัย กิเลสที่ได้สะสมมา และ ยังไม่ได้ดับจากปัญญาที่เพียงขั้นการฟัง ก็สามารถเกิดกิเลสขั้นหยาบ มีการ ล่วงศีล เป็นต้นได้เป็นธรรมดา ดั่งตัวอย่างในชาดกที่ พระภิกษุได้คิดถึงภรรยาเก่า พระพุทธเจ้าตรัสว่า ขึ้นชื่อว่า แม้เขาหินใหญ่ ยังถูกลมพัดได้ ให้ราบได้ จะกล่าวไปใยถึงใบไม้เก่าๆ ย่อมถูกพัดด้วยลมไปได้ง่าย แม้พระองค์เมื่อครั้งเป็นพระโพธิสัตว์ แม้ได้ฌาน ด้วยอำนาจกิเลส ก็ยังล่วงศีล ทำบาปได้ จะกล่าวไปใยถึงเธอที่ไม่ได้มีกำลังปัญญาเช่นนั้น ย่อมไหลไปตามกิเลสได้เป็นธรรมดา ดั่งเช่น ใบไม้เก่าๆ ที่ถูกลมพัดให้ปลิวไปได้ง่าย ฉันนั้น
นี่แสดงให้เห็นว่า แม้แต่เรื่องของการละกิเลส ก็ต้องเข้าใจถูกว่า อะไรที่ควรละ และเมื่อศึกษาธรรม จะละกิเลสได้เลย หรือไม่ เพราะในความเป็นจริง การศึกษาธรรม ประโยชน์คือ ค่อยๆ เข้าใจถูกขึ้น แม้กิเลสที่เกิดขึ้นก็เกิดเป็นธรรมดา แม้จะเป็นกิเลสที่หยาบ รุนแรง ก็เกิดได้ แสดงถึงความไม่ใช่เรา และ เป็นธรรมที่เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย การค่อยๆ เข้าใจถูกมั่นคงไปเรื่อยๆ ในการศึกษาธรรม ว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา ที่เป็น สัจจญาณ สะสมต่อไป เป็นจิรกาลภาวนา อบรมอย่างยาวนานนับชาติไม่ถ้วน เพื่อถึงการละกิเลสอันดับแรก คือ ความยึดถือว่าเป็นเรา เป็นสัตว์ บุคคล จนเมื่อถึงความเป็นพระโสดาบัน กิเลสหยาบ มีการล่วงศีล เป็นต้น ย่อมไม่เกิดอีกอย่างแน่นอน
นี่คือ ความเป็นผู้ตรง ของสภาพธรรมที่เป็นไปตามเหตุปัจจัย การศึกษาพระธรรมจึงต้องเป็นผู้ละเอียด ที่เห็นถึงการสะสมมาของกิเลสและการละกิเลสเป็นลำดับ ความเป็นผู้ตรงที่สะสมปัญญาเพียงขั้นการฟังเพียงเล็กน้อย แต่หนทางอีกยาวไกล ที่จะเดินต่อไปในหนทางที่ถูก คือ ฟัง ศึกษาพระธรรมต่อไปด้วยความเข้าใจถูกว่า เป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา ไม่ว่า กุศล หรือ อกุศลที่เกิดขึ้น ก็ไม่ใช่เรา ครับ ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
กิเลสเป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นสภาพธรรมที่เป็นเครื่องเศร้าหมองของจิต กิเลสมีหลายระดับขั้น มีทั้งขั้นหยาบ ขั้นกลาง และขั้นละเอียด จะเห็นได้ว่า กิเลสที่ปรากฏให้รู้ได้ในชีวิตประจำวัน ก็เป็นกิเลสขั้นกลาง กับขั้นหยาบ และที่รู้ว่ายังมีกิเลสขั้นละเอียดอยู่ ก็เพราะมีกิเลสขั้นกลาง คือ ขณะที่เกิดขึ้นกลุ้มรุมจิต และกิเลสขั้นหยาบคือ ล่วงออกมาเป็นทุจริตกรรมทางกาย ทางวาจานั่นเอง, เพราะยังมีกิเลสขั้นละเอียด จึงเป็นเหตุให้มีกิเลสขั้นกลางและกิเลสขั้นหยาบ, กิเลสขั้นละเอียดจะหมดไปได้นั้นเมื่อมีการอบรมเจริญปัญญา รู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมทั้งหลายที่ปรากฏตามความเป็นจริงของธรรมนั้นๆ เมื่อปัญญารู้แจ้งอริยสัจจธรรม กิเลสขั้นละเอียดก็จะหมดสิ้นไปเป็นประเภท และหมดไปตามลำดับมรรค (โสตาปัตติมรรค เป็นต้น) ด้วย
กว่าจะดำเนินไปถึงการดับกิเลสได้นั้น ต้องเริ่มที่การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ ไม่ขาดการฟังพระธรรมและจะต้องอาศัยกาลเวลาอันยาวนานในการอบรมเจริญปัญญา หนทางแห่งการอบรมเจริญปัญญาเท่านั้นที่จะเป็นเหตุให้ดับกิเลสได้ เพราะสะสมกิเลสมามากและยาวนานในสังสารวัฏฏ์ จึงต้องอาศัยกาลเวลาที่ยาวนานทีเดียวในการอบรมเจริญปัญญา ไม่ใช่เพียงแค่ชาติเดียว หรือสองสามชาติเท่านั้น ครับ.
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
การฟังอะไร ขณะใด ต้องพิจารณาไตร่ตรอง ทั้งนี้ทั้งนั้น การฟังอะไรก็ตามขั้นแรกต้องพิจารณาสิ่งที่กำลังฟัง ตั้งใจ ไม่ใช่ฟังเพื่อเกิดกิเลส ไม่ให้โกรธ ไม่ให้ชอบ ให้รู้ทันที นี่แสดงว่าไม่มั่นคงแล้วค่ะ พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง ไม่ง่าย เพราะกิเลสที่สะสมมาเนิ่นนานหนาแน่นมาก พอท่านอาจารย์กล่าวว่าต้องฟังให้เข้าใจจริงๆ ก็ยังไม่รู้เลยว่าท่านหมายความว่าอะไร ก็ตอบว่าก็เข้าใจแล้ว แต่เข้าใจจริงๆ ต้องจรดกระดูก แล้วรู้เอง ธรรมะทำกิจของเขา ทางเดียวคือต้องอบรมต่อไปค่ะ
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺสฺส ฯ
(ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้น)
การศึกษาพระธรรมมาก ไม่ได้หมายความว่า จะมีความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่ศึกษามาก
เพราะถ้าเป็นการศึกษาพระธรรมด้วยความเป็น "เรา"
เป็น "เรา" ที่ศึกษาพระธรรม เพียงรู้คำ จำชื่อ สามารถกล่าวตามที่ทรงจำไว้ได้
ไม่ได้ศึกษาพระธรรมเพราะเห็นโทษของความไม่รู้และกิเลสทั้งหลาย
ไม่ได้มีความ "จริงใจ" ศึกษาพระธรรมเพื่อ "เข้าใจ"
ก็ย่อมถูกหลอกลวงจากอกุศลที่พร้อมจะชักจูงให้ไปสู่การศึกษาที่ผิด
นั่นไม่ใช่ความรู้ ความเข้าใจ พระธรรมจริงๆ ครับ.
เพราะการศึกษาพระธรรมจริงๆ คือ การศึกษาพระธรรม "ด้วยความเคารพ"
เป็นผู้อ่อนโยน อ่อนน้อม และจริงใจ ในพระธรรมแต่ละคำ
ไม่ประมาทที่จะศึกษาแต่ละคำ เพื่อเข้าใจขึ้น
ความเข้าใจที่เก็บสะสมไว้ ย่อมน้อมมาเพื่อศึกษา พิจารณาไตร่ตรอง
สภาพธรรมที่เกิดกับตนเองตามความเป็นจริง ตามที่ได้ยินได้ฟัง
เป็นปัญญาขั้นฟัง และขั้นคิดพิจารณาไตร่ตรองตามสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง
ว่าเป็น "ธรรม" ไม่ใช่ "เรา"
ทั้งเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส กับสิ่งที่ปรากฏในแต่ละทางก็เป็น "ธรรม"
และหลังจากเห็น เป็นต้น แล้ว ก็เป็นความคิด ซึ่งมีสองอย่าง คือ "กุศล" กับ "อกุศล"
ถ้าเริ่มที่จะเป็นผู้ตรงต่อพระธรรม ก็จะรู้ว่า
"กุศล" เป็น "กุศล" เป็น "ธรรม" ไม่ใช่ "เรา"
"อกุศล" ก็เป็น "อกุศล" เป็น "ธรรม" ไม่ใช่ "เรา" เช่นกัน
และตามความเป็นจริง "อกุศล" ย่อมปรากฏมากกว่า "กุศล" อย่างเทียบกันไม่ได้เลย
เพราะได้สะสมอกุศลธรรมมามาก เป็นความคิดที่ไม่ดีต่างๆ
จึงมีการกระทำ คำพูด ที่คล้อยไปตามจิตที่ไม่ดี เพราะกิเลส อกุศลทั้งหลาย
เป็นไปไม่ได้เลยที่ผู้ที่ศึกษาพระธรรม อบรมปัญญา จะไม่เห็นอกุศลของตนเองที่สะสมมา
เพราะเป็นสภาพธรรมที่มีปัจจัยปรากฏให้รู้ได้ตามความเป็นจริง ในชีวิตประจำวัน
สภาพของ "อกุศล" ไม่ว่าหยาบ ละเอียดประการใด ย่อมปรากฏให้ปัญญาศึกษาและเข้าใจ
ปัญญาที่รู้ว่า "อกุศล" เป็น "ธรรม" ไม่ใช่ "เรา"
ทำให้เป็นผู้ตรง ที่จะเห็นว่า "อกุศล" เป็น "อกุศล" เป็นโทษภัยอย่างยิ่ง
และสิ่งที่จะชำระล้างอกุศลได้จริงๆ คือ "ทำดี และ ศึกษาพระธรรม"
ไม่ใช่ด้วย "ความประมาท" "ความอยาก" หรือ ด้วยความเป็น "เรา"
ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้โดยละเอียดยิ่ง ครบถ้วน สมบูรณ์ ทุกประการแล้ว
ผู้ที่มีความเข้าใจธรรมจริงๆ ย่อมรู้ความจริงว่า
ถ้ากุศลจิตไม่เกิด อกุศลก็เกิดแล้วทันที
จึงไม่ละเลย ทอดทิ้งโอกาสในการทำความดี เมื่อมีปัจจัยให้กุศลสามารถเกิดได้
เพราะ "บารมี" เป็นสิ่งสำคัญมากในการอุปการะเกื้อกูลต่อปัญญา
ให้ค่อยๆ เข้าใจธรรม แม้ตั้งแต่ในขั้นการฟัง เรื่อยไปจนกระทั่งถึงฝั่งคือการดับกิเลส
"บารมี" คือ คุณความดีที่บริสุทธิ์จากความหวัง ความต้องการ
เพราะเห็นโทษของกิเลส จึงทำความดีประการต่างๆ เพื่อขัดเกลากิเลส
โดยไม่หวังอะไรเลยทั้งสิ้น นอกจาก เพื่อ "เข้าใจธรรม"
จนกว่าจะถึงฝั่ง คือ "การตรัสรู้ความจริง"
เพราะถ้าสภาพจิตยังมีกิเลสมากๆ มีแต่โทษ ทุจริต ความเห็นแก่ตัวประการต่างๆ
ย่อมยากต่อการที่จะเข้าใจธรรมตามความเป็นจริง
เพราะกุศลที่ประกอบด้วยปัญญาที่เห็นว่า "ธรรม" ไม่ใช่ "เรา" ตามที่ได้ศึกษา
ไม่ได้มีปัจจัยเกิดขึ้นตลอดเวลา
แต่เมื่อได้ศึกษาธรรม เห็นคุณของพระธรรมแล้ว
จึงเป็นปัจจัยให้สติขั้นอื่นเกิดขึ้น เป็นความดีประการต่างๆ แทนที่อกุศลที่เคยมี
ที่สำคัญที่สุด ขาดไม่ได้เลย คือ ความไม่ประมาทในการศึกษาพระธรรม
ถ้าไม่มีการศึกษาพระธรรมด้วยความเป็นผู้ตรง และจริงใจแล้ว
ก็จะเป็นแต่เพียงการรู้คำ จำชื่อ แต่ไม่มีความเคารพเอื้อเฟื้อในพระธรรม
ที่จะศึกษาพระธรรมเพื่อ "เข้าใจ"
และถ้าเป็นความเข้าใจจริงๆ ความเข้าใจนั้น เป็นไปเพื่อ "ละ"
เพราะเห็นโทษภัยของอกุศลที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้
เมื่อศึกษาพระธรรมผิดทางจึงเป็นธรรมดาที่ กายก็เหมือนเดิม วาจาก็เหมือนเดิม
เพราะไม่เข้าใจสภาพธรรมที่ปรากฏให้ศึกษาตลอดเวลา
ซึ่งก็คือ "จิต" และ "เจตสิก" ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว เป็น "อกุศล"
เมื่อไม่เข้าใจว่าเป็น "อกุศล" ก็ยังคงเป็น "เรา" ที่ไม่รู้ตัวว่าเป็นอกุศล
หรือถึงรู้ ก็รู้ด้วยความเป็น "เรา" รู้ ไม่ใช่ "ปัญญา" รู้
ก็ไม่มีความเข้าใจ และความจริงใจมากพอที่จะเห็นโทษภัยของอกุศล ครับ.
ผู้ที่ศึกษาพระธรรมด้วยความเคารพในครั้งพุทธกาล
เป็นผู้มีปกติศึกษาสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จากการได้ยินได้ฟังพระธรรม
ไม่ประมาทที่จะน้อมประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมที่ทรงแสดงไว้
ซึ่งเป็นความดีที่อุปการเกื้อกูลต่อการที่จะเข้าใจธรรมมากขึ้น
แต่เมื่อยังมีกิเลสที่มีกำลังที่ท่านได้สะสมมาแล้ว
มีการกระทำทางกาย ทางวาจาที่ไม่ดี ถึงขั้นล่วงทุจริตกรรมก็มี
แต่ท่านอาศัยพระดำรัสของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อาศัยกัลยาณมิตร
จึงรู้ความจริงว่า เป็น "ธรรม" ไม่ใช่ "เรา"
เพราะสะสมปัจจัยมาจึงมีจิต เจตสิก และความประพฤติเป็นไปอย่างนั้น
จึงเป็นผู้ศึกษา เห็นโทษภัยในอกุศล เพื่อออกจากโทษนั้น
แล้วค่อยๆ ละคลายตามกำลังปัญญา
บางท่านละกิเลสได้ทันทีจนถึงความเป็นพระอริยบุคคลไปตามลำดับ
บางท่านละจากความประพฤติที่ไม่ดีนั้นๆ ได้ทันที
บางท่านแม้ยังละไม่ได้ทันที ก็มีปกติศึกษาพระธรรมต่อไป
ค่อยๆ ละคลาย ขัดเกลาความประพฤติที่ไม่ดีนั้นๆ ด้วยปัญญาที่ค่อยๆ เข้าใจขึ้น
เริ่มที่จะมีความประพฤติที่ดีขึ้นทีละเล็กทีละน้อย
ตามกำลังปัญญาที่ค่อยๆ เจริญขึ้น
เมื่อพลาดพลั้งทำอกุศลกรรม ก็เห็นโทษภัย แล้วกลับมาตั้งต้นด้วยกุศลธรรม
ผู้ที่ศึกษาพระธรรมจริงๆ มีปกติอย่างนี้ ครับ.
เป็นไปไม่ได้ที่เมื่อมีความเข้าใจธรรมมากขึ้น แล้วจะ "ประมาท" เป็นอกุศลต่อไปเรื่อยๆ
โดยไม่เห็นโทษภัยอะไรเลย
ถ้าเป็นอย่างนั้นแสดงว่า ขณะนั้นกำลังหลงลืมพระธรรมที่เคยเข้าใจ
กำลังเป็นไปกับความประมาท
กำลังศึกษาพระธรรมผิดทาง อย่างบุคคลจับงูพิษข้างหาง เป็นโทษภัยแก่บุคคลนั้น ครับ.
ด้วยเหตุนี้ ถ้าศึกษาธรรมมาก กายยังเหมือนเดิม วาจายังเหมือนเดิม
ไม่ทำความดีอะไรเลย ไม่ขัดเกลาความประพฤติที่ไม่ดีอะไรเลย
ไม่เห็นโทษภัยในอกุศลเลย ขณะนั้นไม่ได้เข้าใจธรรม แต่กำลังถูกหลอกลวงด้วยอกุศล
เพราะกุศล และความเข้าใจพระธรรมจริงๆ จะไม่เป็นแบบนี้
ก็ควรพิจารณาสภาพจิตใจที่ตนเองได้สะสมมาตามความเป็นจริงว่า
เป็นผู้ที่ "ตรง" และ "จริงใจ" ในการศึกษาพระธรรมด้วยความเคารพหรือไม่?
"ผู้มีปัญญากล้า ก็โลดแล่นเขวไปว่า
กุศลมีได้ด้วยเพียงจิตตุปบาทใจคิดขณะหนึ่งเท่านั้น ดังนี้แล้ว
ก็ไม่ทำบุญ มีทานเป็นต้น ย่อมเกิดในนรก."
ขอกราบนมัสการอย่างสูงสุดแด่พระรัตนตรัย
กราบเท้าบูชาพระคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพอย่างสูงยิ่ง
กราบขอบพระคุณและอนุโมทนาอาจารย์ทั้งสองท่านเป็นอย่างยิ่ง
ขอบพระคุณและอนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ครับ.
.ขณะอย่าได้ล่วงเลยท่านทั้งหลายไปเสีย.