ปฏิบัติไม่อดทนเป็นอย่างไร
ไม่ทราบว่าปฏิบัติไม่อดทนท่านอธิบายว่าอย่างไร
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ปฏิบัติไม่อดทน ต้องเป็นเรื่องของสภาพธรรมที่เป็นอกุศล คือ ความเข้าใจผิด เห็นผิด ด้วยอกุศลธรรม ซึ่งการปฏิบัติที่อดทน คือ ด้วยขันติ ด้วยความเพียร วิริยะที่เกิดพร้อมกับความเห็นถูก ปัญญา ซึ่ง การปฏิบัติที่ไม่ถูกต้อง ที่อดทน คือ การนั่งสมาธิได้นาน จงกรมได้นาน นั่นไม่ใช่ การปฏิบัติที่อดทนด้วยความเห็นถูก เพราะเป็นความเข้าใจผิด แต่เมื่อใดที่มีความเข้าใจถูก การที่เห็นประโยชน์ของการฟัง ศึกษาพระธรรม ที่รู้ว่าเป็นเหตุให้เกิด ปฏิบัติที่ถูก ขณะนั้น อดทนที่จะฟังต่อไป ก็เป็นการน้อมนำไปสู่ปฏิบัติ เป็นเบื้องต้นด้วยความอดทนด้วยความเข้าใจถูก และ ขณะใดที่สติปัฏฐานเกิด ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ขณะนั้น มี ขันติและสภาพธรรมที่ดี อดทนที่รู้ความจริง เป็นการปฏิบัติด้วยความอดทนด้วยปัญญา ครับ
ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
คำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ มีดังนี้
"ถ้าจะพิจารณาจากชีวิตประจำวันจริงๆ จะเห็นได้ว่า ความทุกข์ทั้งหมดเกิดจากความไม่อดทน ลองพิจารณาจริงๆ มีท่านผู้หนึ่งเล่าให้ฟังว่า คนร่วมบ้านของท่าน เวลาที่อาหารไม่อร่อย โกรธเกรี้ยว นี่แสดงให้เห็นถึงขณะนั้นไม่อดทน เพียงอาหารไม่อร่อย ยังไม่ได้เดือดร้อน ยังไม่ได้เจ็บไข้ได้ป่วย ยังไม่ได้มีทุกข์เรื่องอื่นๆ เลย แต่แม้กระนั้นเพียงอาหารไม่อร่อย ก็ไม่อดทนโวยวายบ่นว่าเอ็ดตะโร ลองเปรียบเทียบคิดดูว่า ถ้าเป็นผู้ที่อดทน อาหารไม่อร่อยก็เป็นเรื่องแสนจะธรรมดา จะให้อาหารอร่อยได้อย่างไรทุกมื้อ บางมื้อก็อาจจะเป็นอาหารที่ไม่อร่อยก็ได้ ไม่ถูกปากคนนี้ แต่ก็อาจจะถูกปากคนนั้น แต่ถ้าตนเองรู้สึกว่า อาหารไม่อร่อยแล้วก็แก้ไขโดยดี มีกายวาจาที่ประกอบด้วยเมตตาปรุงใหม่ ช่วยกันเติมนิดนี่หน่อยให้รสชาติดีขึ้น ทุกคนก็สบายใจ คือ แทนที่จะบ่น โวยวาย เกรี้ยวกราด เวลาที่สติเกิดจะรู้ได้ว่า เพียงอดทนนิดเดียว จะทำให้ทุกอย่างดี และก็ทุกคนก็มีความสุข ไม่เดือดร้อน
แต่ความอดทนก็เป็นสิ่งที่ละเอียด เพราะเหตุว่าทุกท่านที่ศึกษาธรรมเป็นผู้ที่อดทนต่อการที่จะฟัง และพิจารณาให้เข้าใจธรรมโดยฉลาด โดยแยบคายไม่ใช่เป็นผู้ที่เพียงแต่ฟัง แล้วก็คิดว่าเข้าใจแล้ว แต่ความจริงอาจจะมีการหลงผิด หรือว่ามีความเข้าใจผิดบางประการได้ เพราะเหตุว่า ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้ง เพราะฉะนั้นการฟังธรรมก็จะต้องมีความอดทนเพิ่มขึ้น คือ พิจารณาในเหตุในผลที่ถูกต้อง จนกระทั่งสามารถที่จะเห็นประโยชน์และเจริญกุศลยิ่งขึ้น มิฉะนั้นแล้วก็เพียงฟังแล้วไม่พิจารณาด้วยความแยบคาย ก็จะทำให้ประพฤติผิดปฏิบัติผิดได้"
...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...