การสะสมบารมีของพระสาวก

 
สืบต่อพุทธ
วันที่  25 เม.ย. 2558
หมายเลข  26484
อ่าน  3,960

ไม่ทราบว่าพระสาวกมีการแบ่งประเภทการสะสมบารมีเหมือนพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไหมครับ เช่นประเภทปัญญาธิกะ วิริยะธิกะ และศรัทธาธิกะครับ และถ้ามีการแบ่งประเภท ไม่ทราบแต่ละประเภทใช้ระยะเวลาสะสมยาวนานแค่ไหนครับ

ขอบคุณครับ สาธุ สาธุ สาธุครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 26 เม.ย. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สาวกคือ ผู้สำเร็จได้จากการฟัง ฟังอะไร คือ ฟังพระธรรมที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ ซึ่งพระสาวก ก็มีหลากหลาย ทั้ง อัครสาวก ผู้เป็นเลิศสองท่าน คือ เลิศด้านปัญญา เลิศด้านฤทธิ์ ซึ่งอัครสาวก อบรมบารมี 1 อสงไขยแสนกัป

พระสาวกที่เป็นผู้เลิศแต่ละด้าน เรียกว่า เอตทัคคะ อบรม หนึ่งแสนกัป

ส่วนพระสาวกทั่วไป ก็ไม่ถึงแสนกัป ก็แล้วแต่การสะสมของแต่ละท่าน ครับ

การจะถึงความสำเร็จเป็นสาวกก็ด้วยการเดินในหนทางที่ถูก คือ การฟัง ศึกษาพระธรรมเป็นสำคัญ ครับ ขออนุโมทนา:

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 26 เม.ย. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ประโยชน์อยู่ที่ความเข้าใจถูกเห็นถูก เพราะบุคคลผู้ที่เป็นสาวก จะต้องได้ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง จะเห็นได้ว่าพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสรู้และทรงแสดงนั้น มีความละเอียดลึกซึ้งยากที่จะตรัสรู้ตามได้ เป็นธรรมอันบัณฑิตเท่านั้นที่จะรู้ได้ ธรรมจึงไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะกว่าที่พระผู้มีพระภาคเจ้าจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้านั้น พระองค์ต้องใช้เวลาอันยาวนานในการบำเพ็ญพระบารมีตลอดระยะเวลาสี่อสงไขยแสนกัปป์ และเมื่อพระองค์ทรงตรัสรู้แล้ว ตลอดระยะเวลา ๔๕ พรรษา ในการประกาศพระศาสนาของพระองค์นั้น ก็เพื่ออนุเคราะห์สัตว์โลกได้เข้าใจความจริง หลุดพ้นจากทุกข์ หมดจดจากกิเลสโดยประการทั้งปวงตามพระองค์ ซึ่งจะเห็นได้ว่าจากการแสดงพระธรรมของพระองค์ในแต่ละครั้งๆ นั้นมีผู้ที่ได้ประโยชน์จากพระธรรม รู้แจ้งอริยสัจจธรรมบรรลุถึงความเป็นพระอริยบุคคลขั้นต่างๆ เป็นจำนวนมากมายนับไม่ถ้วน และพระอริยบุคคลทั้งหลายเหล่านั้นกว่าที่ท่านจะถึงวันดังกล่าวนั้นได้ ท่านก็ต้องเป็นผู้ได้สะสมการสดับตรับฟังพระธรรม สะสมปัญญามาเป็นเวลาอันยาวนาน ด้วยกันทั้งนั้น

จึงเป็นเครื่องเตือนใจที่ดี สำหรับผู้ที่มีโอกาสได้ฟังได้ศึกษาพระธรรม โดยเป็นผู้เห็นประโยชน์ของพระธรรม ว่า ไม่ควรที่จะท้อถอย ยิ่งยากก็ยิ่งจะต้องศึกษา เพราะปัญญาไม่สามารถจะเจริญขึ้นได้ภายในระยะเวลาอันสั้น ต้องค่อยๆ ฟังค่อยๆ ศึกษาไปตามลำดับ เพียงแค่วันนี้ พรุ่งนี้ หรือ ชาตินี้ ยังไม่พอ ต้องสะสมความเข้าใจต่อไปอีกเป็นเวลาอันยาวนาน (จิรกาลภาวนา) ซึ่งมีข้ออุปมาเหมือนการจับด้ามมีด เมื่อจับบ่อยๆ นานๆ รอยสึกย่อมปรากฏได้ ปัญญาก็เช่นกัน ต้องอาศัยกาลเวลาอันยาวนานในการสะสม ในการอบรม จึงจะเจริญขึ้นได้ เพราะฉะนั้น ในแต่ละภพในแต่ละชาติมีชีวิตอยู่ก็เพื่อได้ฟังพระธรรม ได้สะสมอบรมเจริญปัญญา เพื่อความเข้าใจถูก เห็นถูกยิ่งขึ้น เพราะเหตุว่าการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม เป็นเรื่องที่ไกลมาก ซึ่งกว่าจะถึงวันนั้นได้ ก็ต้องมีวันนี้ คือ ไม่ขาดการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมปัญญาต่อไป ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ธุลีพุทธบาท
วันที่ 26 เม.ย. 2558

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺสฺส ฯ

(ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้น)

คำว่า "สาวก" หมายถึง ผู้ฟังพระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่ฟังคำของบุคคลอื่น ความหมายอย่างอุกฤษณ์ (สูงสุด) หมายถึง ผู้ฟังพระธรรมแล้วตรัสรู้อริยสัจจธรรมเป็นพระอริยบุคคล ซึ่งสามารถจำแนกได้เป็น ๓ ประเภท คือ

๑.) พระอัครสาวก หมายถึง สาวกผู้เลิศ ผู้ยอดเยี่ยม ในสมัยของพระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบันนี้มีอยู่ ๒ ท่าน คือ ท่านพระสารีบุตรเถระ ท่านพระมหาโมคคัลลานเถระ

ท่านทั้งสอง ดำรงอยู่ในความเป็นเลิศด้วยคุณทั้งปวง พร้อมด้วยความพิเศษ เพื่อบรรลุบารมีอันอุกฤษฎ์ในปัญญาและสมาธิตามลำดับ ด้วยการปฏิบัติชอบอันตั้งมั่นแล้ว ตลอดกาลนานอย่างต่อเนื่องด้วยความเคารพอันนำมาเฉพาะอภินิหารที่เกิดจากเหตุเหล่านั้น เป็นเหตุแห่งความสำเร็จในกิจอื่นอย่างดียิ่ง ของสัมมาทิฏฐิ และสัมมาสมาธิอันเป็นตัวธุระ โดยเป็นประธานในโพธิปักขิยธรรมทั้งหลาย กล่าวคือ

ท่านพระสารีบุตรเถระผู้เลิศด้วยปัญญา มีสัมมาทิฏฐิ เป็นประธาน

ท่านพระมหาโมคคัลลานเถระผู้เลิศด้วยฤทธิ์ มีสัมมาสมาธิ เป็นประธาน

แม้เมื่อความเป็นพระมหาสาวกจะมีอยู่ก็ตามก็เรียกท่านทั้งสองว่าพระอัครสาวก เพราะทั้งสองท่านเป็นผู้ตั้งอยู่ในความเป็นเลิศกว่าสาวกทั้งปวงที่ถึงที่สุดแห่งสาวกบารมีญาณ

ทั้งสองท่านบำเพ็ญบารมีมา ๑ อสงไขย แสนกัปป์

๒.) พระมหาสาวก หมายถึง สาวกผู้ใหญ่ หรือ สาวกชั้นหัวหน้า ซึ่งพระอรรถกถาจารย์จัดไว้ ๘๐ รูป เรียกอีกชื่อว่า พระอสีติมหาสาวก

คำว่า อสีติ แปลว่า ๘๐, มหา แปลว่า ใหญ่หรือมาก พระอสีติมหาสาวกจึงหมายถึงพระสาวกที่ยิ่งใหญ่ เพราะถึงความเป็นเลิศ ชำนาญในด้านต่างๆ (เอตทัคคะ)

เพราะแต่ละท่านสะสมอบรมบารมีอันเป็นเหตุ เพื่อถึงผลต่างๆ กันตามฉันทะ (ความพอใจ) และอัธยาศัยที่แต่ละท่านได้สะสมมาตามความเป็นจริง

เช่น พระอัญญาโกณฑัญญะเถระเป็นเลิศด้านรัตตัญญูรู้ราตรีนาน ท่านพระมหากัสสปะเถระเป็นเลิศด้านทรงธุดงค์วัตร ท่านพระอนุรุทธะเถระเป็นเลิศด้านทิพยจักขุ เป็นต้น

ในพระไตรปิฎกเรียกพวกท่านว่าภิกษุผู้มีชื่อเสียง แต่อรรถกถาเรียกพระอสีติมหาสาวก เพราะเป็นผู้มีอภินิหาร (บุญที่สั่งสมไว้) มากกว่าปกติสาวก

ท่านให้คำอธิบายว่า "เพราะเป็นสาวกผู้ใหญ่ด้วยคุณมีศีลเป็นต้น และเป็นผู้สำเร็จคุณวิเศษอันดียิ่งในสันดานของตน โดยความเป็นผู้ใหญ่ด้วยอภินิหาร (อำนาจบุญที่สั่งสมไว้) และเป็นผู้ใหญ่ด้วยบุรพโยค (ความเพียรที่ประกอบไว้ในกาลก่อน) ... ฯลฯ ... "

ท่านเหล่านั้น บำเพ็ญบารมี ๑ แสนกัปป์

๓.) พระปกติสาวก หมายถึง สาวกธรรมดา เป็นพระอริยสาวกที่ไม่ใช่พระอัครสาวกและพระมหาสาวก แต่เป็นพระอริยบุคคลระดับต่างๆ กันไป ตามการสะสมซึ่งท่านอธิบายว่า

"พระอริยสาวกเหล่าใด เปรียบ (ด้านคุณวิเศษ) ไม่ได้เลยกับพระอัครสาวกและพระมหาสาวก โดยที่แท้มีเป็นร้อย เป็นพัน พระอริยสาวกเหล่านั้นเป็นพระปกติสาวก." ซึ่งการบำเพ็ญบารมีของปกติสาวกก็มากน้อยต่างกันตามควรแก่เหตุปัจจัยของสภาพธรรมที่ได้สะสมมา

"ปัญญาบารมี (ของพระปัจเจกโพธิสัตว์และสาวกโพธิสัตว์) อันบารมีทั้งหลายมีทานบารมีเป็นต้น บำรุงเลี้ยงแล้ว ย่อมก่อตัวให้เจริญแก่กล้า ยังพระปัจเจกโพธิญาณและพระสาวกโพธิญาณให้บริบูรณ์ตามลำดับโดยสมควร"

ขอกราบนมัสการอย่างสูงสุดแด่พระรัตนตรัย

กราบขอบพระคุณและอนุโมทนาอาจารย์ทั้งสองท่านเป็นอย่างยิ่ง ครับ

ขณะอย่าได้ล่วงเลยท่านทั้งหลายไปเสีย

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
thilda
วันที่ 26 เม.ย. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
tanrat
วันที่ 27 เม.ย. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
wannee.s
วันที่ 27 เม.ย. 2558

ขณะที่หาได้ยาก 4 ประการ

1. ขณะที่พระพุทธเจ้าอุบัติ

2. ขณะพระพุทธเจ้าแสดงธรรม

3. ขณะที่ผู้นั้นได้เกิดเป็นมนุษย์

4. ขณะที่ได้ฟังธรรม

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
Salil
วันที่ 10 พ.ค. 2562

ขอความชัดเจนรู้แจ้งในธรรม

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
Jarunee.A
วันที่ 20 พ.ย. 2566

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ