วิปัสสนาภาวนากับวิปัสสนากรรมฐาน ต่างกันอย่างไร

 
แต้ม
วันที่  12 พ.ค. 2558
หมายเลข  26531
อ่าน  21,324

ขอเรียนถาม คำว่า วิปัสสนาภาวนากับวิปัสสนากรรมฐาน ครับ ว่าเหมือนกันหรือต่างกันอย่างไร เพราะได้ยินผู้ที่ไปปฏิบัติตามสำนักปฏิบัติธรรมต่างๆ คุยกัน ก็ยังสงสัยอยู่เหมือนกันครับ ขอขอบพระคุณล่วงหน้าครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 12 พ.ค. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

วิปัสสนา หมายถึง การรู้แจ้ง สภาพธรรมที่รู้แจ้ง คือ ปัญญา แต่เมื่อเป็นวิปัสสนาภาวนา คือ การเจริญอบรมปัญญาให้มีมากขึ้น ซึ่งเป็นปัญญาที่เป็นหนทางสามารถละกิเลสได้จริง แต่ค่อยๆ ละไปเป็นลำดับ วิปัสสนาภาวนา เป็นหนทางที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ และทรงแสดงกับเหล่าสาวกให้ดำเนินตาม ซึ่งเรียกหลายชื่อ เช่น สติปัฏฐาน ๔ อริยมรรค เป็นต้น ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นการเจริญวิปัสสนาภาวนา ที่เป็นการรู้ความจริงของสภาพธรรมที่มีในขณะนี้ว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา ซึ่งจะต้องอาศัยปัญญาขั้นพื้นฐาน คือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมเป็นสำคัญ ครับ ปัญญา ขั้นวิปัสสนาก็สามารถเกิดขึ้นได้ วิปัสสนาจึงไม่ใช่การนั่ง แต่คือการรู้ความจริงในขณะนี้ แม้ไม่นั่งก็รู้ได้ครับ

- คำว่า ภาวนา หมายถึง การอบรมเจริญ การยังกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ภาวนาจึงไม่ใช่เป็นการไปทำอะไรด้วยความไม่รู้ ไม่ใช่การท่องบ่น ไม่ใช่เป็นการต้องการที่จะกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดด้วยความไม่รู้ ด้วยความไม่เข้าใจ แต่เป็นการอบรมเจริญกุศลให้มีขึ้น ให้เจริญยิ่งขึ้น

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ก็ต้องเข้าใจไปทีละคำ คำว่า กรรมฐาน หรือ กัมมัฏฐาน ก็มีคำสองคำรวมกัน คือ คำว่า "กัมม" ซึ่งหมายถึง การกระทำ รวมกับ "ฐาน" คือ ที่ตั้ง เมื่อแปลแล้วก็คือ ที่ตั้งแห่งการกระทำ แสดงให้เห็นถึงความเป็นจริงว่า มีที่ตั้งที่จะให้กุศลธรรมเจริญขึ้น ทั้งในเรื่องของความสงบของจิต ทั้งในเรื่องของความเห็นแจ้งสภาพธรรม ตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น "กัมมัฏฐาน" จึงเป็นพระธรรมคำสอน ที่เป็นไปเพื่อความสงบ ระงับกิเลส และเป็นไปเพื่อการเห็นธรรมตามความเป็นจริง

เพราะมีกรรมฐาน ๒ อย่าง คือ สมถกรรมฐาน เป็นไปเพื่อสงบระงับกิเลส เพียงข่มกิเลสไว้เท่านั้น ไม่สามารถดับกิเลสได้อย่างเด็ดขาด กับ วิปัสสนากรรมฐาน เป็นไปเพื่อการอบรมเจริญปัญญารู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง สามารถดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท (ละได้อย่างเด็ดขาดไม่เกิดขึ้นอีก) ในเรื่องของ สมถกรรมฐาน กับวิปัสสนากรรมฐาน ก็จะต้องฟัง ต้องศึกษาให้ละเอียด ทรงมุ่งหมายถึงอะไรเป็นสำคัญ ทั้งหมดทั้งปวงนั้นเป็นเรื่องของความเข้าใจถูก เห็นถูก ทั้งหมดเลย ถ้าหากไม่มี ความเข้าใจ ก็จะไปทำอะไรด้วยความไม่เข้าใจ หรือว่า ด้วยความเป็นตัวตนซึ่งผิดคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง

ดังนั้น วิปัสสนาภาวนา และ วิปัสสนากรรมฐาน มีนัยเดียวกัน ความหมายเหมือนกันครับ คือ ปัญญาที่รู้ความจริงในขณะนี้ว่าเป็นแต่เพียงธรรม ไม่ใช่เราครับ

อนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
แต้ม
วันที่ 12 พ.ค. 2558
ขอบพระคุณครับ พอจะเริ่มเข้าใจขึ้นมาบ้างครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 12 พ.ค. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เป็นเรื่องของการอบรมเจริญปัญญาเพื่อรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง

ข้อความบางตอนจากคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

วิปัสสนาภาวนาคืออะไร

สุ. ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ไม่รู้อะไรเลย ก็จะไปทำสงบ หรือจะไปทำวิปัสสนา เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นตอนนี้พอที่จะเข้าใจความหมายของคำว่า “ภาวนา” ความหมายของ “สมถะ” คือสงบจากอกุศล แต่สำหรับ “วิปัสสนาภาวนา” “วิ” แปลว่าแจ้ง “ปัสสนา” แปลว่าเห็น เห็นแจ้งด้วยปัญญา คือความเห็นถูกต้องตามความเป็นจริงของสภาพธรรม

เพียงเท่านี้ก็แสดงแล้วว่า ผู้ที่เข้าใจวิปัสสนาภาวนา คือผู้ที่รู้ว่า แม้สภาพธรรมปรากฏก็ไม่ได้รู้แจ้ง เพราะฉะนั้นจึงต้องอบรมโดยขั้นฟังให้เข้าใจก่อน เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีความเข้าใจในขั้นฟัง แล้วจะรู้แจ้งอะไร ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย

ด้วยเหตุนี้ปัญญาจึงต้องเจริญขึ้นตามลำดับ ข้ามขั้นไม่ได้เลย พระธรรมที่ทรงแสดงไว้ตั้งแต่ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ไม่ใช่ปฏิเวธ แล้วปฏิบัติ แล้วปริยัติ เพราะบางคนที่ไม่เข้าใจก็จะกล่าวว่า ฟังแล้วไม่สามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมได้ ต้องไปปฏิบัติ

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ที่เคารพยิ่ง

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
peem
วันที่ 12 พ.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
tanrat
วันที่ 13 พ.ค. 2558
กราบอนุโมทนาสาธุค่ะท่านอาจารย์
 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
j.jim
วันที่ 13 พ.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
wannee.s
วันที่ 16 พ.ค. 2558

ก่อนจะไปถึงวิปัสสนา ต้องเริ่มอบรมปัญญาตั้งแต่ขั้นการฟัง การพิจารณา จนกว่าสัญญาความจำที่มั่นคงว่านี้เป็นธรรมะไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
jirat wen
วันที่ 19 ก.ย. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
orn_uma4
วันที่ 13 ก.พ. 2563

พยายามฝีกอยู่ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
chotipong
วันที่ 22 ก.ค. 2563

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
Jarunee.A
วันที่ 12 พ.ย. 2566

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ