เริ่มศึกษาธรรมะ ควรทำอย่างไร

 
chackapong
วันที่  17 ม.ค. 2550
หมายเลข  2657
อ่าน  9,555

กระผมมีความสนใจทางปรัชญา สมัยเรียนอยู่มหาวิทยาลัย และห่างเหินไปนาน แต่ตอนนี้กลับมาสนใจธรรมะ เพราะเริ่มเชื่อว่าชาติหน้ามีจริง (ในความหมายทั้งทางธรรมะและความเชื่อแบบบุคคลทั่วไป ว่าตายแล้วเกิดใหม่) แต่ก็ไม่เคยคิดว่าจะต้องบรรลุหรือนั่งสมาธิอะไรทำนองนั้น เชื่อว่าคงต้องเข้าใจธรรมะให้ได้ก่อนเรื่องอื่นๆ ถึงจะตามมา ไม่ทราบว่าความคิดเช่นนี้ เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติธรรมในทัศนะของพุทธศาสนาหรือไม่ และแนวทางที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนให้ผู้ต้องการเข้าถึงธรรมควรปฏิบัติเช่นไร

ขอบพระคุณครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
study
วันที่ 17 ม.ค. 2550

ขออนุโมทนาที่ท่านมีความเห็นถูกว่าต้องศึกษาเข้าใจธรรมะก่อน เรื่องอื่นจะตามมา เพราะถ้าไม่มีความรู้อะไรเลยแต่จะไปปฏิบัติก็ไม่ทราบว่าปฏิบัติอะไร ผิดหรือถูก ถ้าบรรลุจะบรรลุอะไร บรรลุแล้วรู้อะไร

ฉะนั้น ตามแนวทางที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ก็คือ ต้องเป็นไปตามลำดับตั้งแต่การศึกษาพระธรรมคำสอนเรียกว่า "ปริยัติ" เมื่อเข้าใจพระธรรมคำสอน การประพฤติปฏิบัติตามหลักธรรม การเริ่มรู้ตามคำสอนนี้เรียกว่า "ปฏิบัติ" เมื่อรู้ตามคำสอนจนละกิเลสได้บรรลุเป็นพระอริยบุคคล นี้เรียกว่า "ปฏิเวธ" ทั้งหมดนี้ต้องเป็นไปตามลำดับ จะข้ามขั้นไม่ได้

สรุปคือ ต้องเริ่มต้นด้วยการศึกษาพระธรรมคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าให้เข้าใจก่อน

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chackapong
วันที่ 17 ม.ค. 2550

เราจะทราบได้อย่างไรครับ ว่าเข้าใจธรรมะได้ถูกต้อง ตรงตามความประสงค์และเจตนาที่พระพุทธองค์ต้องการสั่งสอน เพราะไม่ทราบว่าใครจะมีปัญญาความสามารถเท่าพระองค์ท่านที่จะมาบอกเราได้ว่า เราเข้าใจธรรมะได้ถูกต้องแล้ว

ขอความกรุณาช่วยอธิบายด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
medulla
วันที่ 17 ม.ค. 2550

ขออนุโมทนาในศรัทธาของท่านค่ะ ปัญญาปฏิบัติกิจของปัญญา ไม่สามารถบังคับบัญชาได้เพราะเป็นอนัตตา เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เริ่มต้นด้วยความเข้าใจจึงจะเกิดปัญญาประหารกิเลสได้ ค่อยๆ ศึกษาทีละเรื่องไม่ต้องเร่งรีบ เพราะสมัยนี้ยิ่งเป็นกลวิธีลัด ก็ยิ่งเป็นตัวตนที่อยากบรรลุ เห็นอกุศลจิตเป็นกุศลจิต โลภะไม่ใช่แค่โลภะ เพราะความพอใจในอารมณ์ก็เป็นโลภะแล้ว ส่วนโทสะไม่ใช่แค่โกรธ เพราะแค่ไม่พอใจในอารมณ์ติดข้อง หมองมัว ก็เป็นโทสะแล้ว

พระธรรมไม่สาธารณะ ต้องเป็นผู้สะสมมาแต่ปางก่อนเท่านั้น สมัยนี้เป็นยุคของผู้ที่มีกิเลสหนาปัญญาน้อย ยิ่งใกล้ พ.ศ. ๕๐๐๐ ความละเอียดถูกต้องของการศึกษาธรรมะเริ่มเสื่อมลง เพราะไม่มีคนสนใจศึกษาละเอียด และชอบศึกษาจากคนที่คิดถ้อยคำสละสลวยของตนเองมาแทนที่ เนื่องจากโลภะชอบง่ายๆ เร็วๆ หากสอนช้าๆ ยากๆ โทสะก็ไม่ชอบอีก

แนะนำให้อ่านปรมัตถธรรมสังเขป และอภิธรรมในชีวิตประจำวัน และแนวทางเจริญวิปัสสนาตั้งแต่เล่มแรก และอ่านหนังสือ ประสบการณ์ทางธรรม และหนังสืออื่นๆ ตามที่ท่านพอจะหาได้ และไปหมวดฟังธรรม ดาวน์โหลด หมวด เริ่มด้วยความเข้าใจและหมวด สนทนาธรรม หมวด รู้เรื่องปฏิบัติ ฟังเรื่องสมถภาวนา เพราะสมัยนี้คนคิดว่า นั่งสมาธิคือสมถภาวนา จริงๆ แล้ว สมถภาวนาที่มั่นคง คือ สงบจากอกุศล เป็นปรกติในชีวิตประจำวันค่ะ ฯลฯ

ขอให้ท่านตั้งใจศึกษาพระธรรมต่อไป เป็นลาภอันประเสริฐของท่านแล้วค่ะ ที่วันนี้ได้มาเจอแนวทางการศึกษาพระธรรมที่ถูกต้องที่ยังคงเหลืออยู่ในยุคนี้

ขออนุโมทนาในกุศลศรัทธาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 17 ม.ค. 2550

เราจะทราบได้อย่างไรครับว่า เข้าใจธรรมะได้ถูกต้อง ถ้าจะเป็นเรารู้ ก็คงไม่มีทางรู้หรอกครับ แต่ถ้าเป็นปัญญา ย่อมรู้ได้ว่าเข้าใจธรรมะถูกต้องหรือไม่ แต่เมื่อปัญญาเกิด ปัญญาก็ต้องมีเหตุให้เกิด ทุกอย่างเกิดจากเหตุปัจจัย เกิดจากอะไร? ฟังธรรมะ ถามว่า ธรรมะอะไร ทุกคนก็อ้างว่าแสดงธรรมะ แต่ปัญญาจะเกิดขึ้นก็เกิดจากฟังธรรมะที่ถูกต้อง ธรรมะที่ถูกต้องคืออย่างไร พิสูจน์ได้ไหมในขณะนี้ ที่สำคัญเป็นความเข้าใจของเราด้วย ไม่ใช่ให้คนอื่นบอกว่าถูกแล้ว ไม่มีการรับรอง แต่ต้องเป็นปัญญาของตนเอง ตรงนี้สำคัญมาก ย้อนกลับไป ธรรมะพิสูจน์ได้ในขณะนี้ และมีอยู่ในชีวิตประจำวัน ตรงนี้แหละเป็นความเข้าใจเบื้องต้นว่า ปัญญาจะต้องรู้ธัมมะใช่ไหม แต่เรายังไม่รู้จักธัมมะ ตราบที่ยังไม่ฟังธัมมะที่ถูกว่าธัมมะคืออะไร ธัมมะคือสิ่งที่มีจริง จริงคืออะไร จริงคือมีลักษณะให้รู้ แล้วลักษณะของธัมมะคืออย่างไร มี ๒ อย่าง สภาพที่ไม่รู้อะไร กับ สภาพรู้ สภาพที่ไม่รู้อะไรเลย ยกตัวอย่าง ... ลองจับที่จอคอมดูซิครับ คอมรู้อะไรไหม บ่นอะไรหรือเปล่า หรือรู้สึกไหมที่เราจับ ตอบว่าไม่รู้สึก แต่นี่เป็นการเปรียบเทียบว่าสภาพที่ไม่รู้คืออย่างไร แต่ถามต่อว่าคอมเป็นธัมมะ มีจริงไหม ก็อย่างที่บอกครับ ธัมมะต้องมีลักษณะ และมีจริง ลองจับคอมใหม่ ลักษณะอะไรปรากฏบ้างไหม ตอนจับ อาจมี เย็น แข็งใช่ไหม นั่นแหละเป็นสิ่งที่มีจริง เพราะปรากฏให้รู้ได้ แข็ง หรือ เย็น จึงเป็นธัมมะ

ถามต่อนะ ถ้าไม่มีแข็ง หรือเย็น คอมจะมีไหม และถ้าไม่มีคอม แข็ง เย็น มีไหม ตอบว่า แม้ไม่มีคอม แข็ง เย็น ก็ยังมี ในสิ่งอื่น แต่ถ้าไม่มีแข็ง ไม่มีเย็น คอมจะมีได้อย่างไร ดังนั้น แข็ง คือสิ่งที่มีจริงเป็นธัมมะ เย็นเป็นสิ่งที่มีจริงเป็นธัมมะ เพราะอะไร มีลักษณะให้รู้นั่นเอง (จากให้ทดลองจับคอม) แต่แข็งไม่รู้สึกที่เราจับ เย็น ไม่โกรธที่เราจับ ดังนั้น แข็ง เย็นจึงเป็นธัมมะอย่างหนึ่ง ที่เรียกว่า รูปธรรม (ไม่รู้อะไรเลย)

ส่วนธัมมะอีกอย่างหนึ่ง คือ สภาพที่รู้ เรียกว่านามธรรม เมื่อพูดถึงรู้ ก็ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ ยกตัวอย่าง ขณะที่คุณเห็นก็ต้องมีสิ่งที่ถูกเห็น เช่น สีต่างๆ การเห็นจึงเป็นธัมมะ เพราะอะไร เพราะเป็นสภาพรู้ รู้อะไร รู้สิ่งที่ปรากฏทางตานั่นเองครับ

ที่ผมอธิบาย ก็เพื่อให้เข้าใจว่าธรรมะคืออะไร เป็นปัญญาของคุณเอง เมื่อมีความเข้าใจของคุณเองแล้วว่า ธัมมะคืออะไร ก็จะรู้ว่าธัมมะที่ถูกต้องคืออะไร จากที่คุณถาม เมื่อปัญญาเกิดจากการฟังธัมมะที่ถูกต้องนั่นเอง ดังนั้น ถ้าปัญญาไม่เกิดก็จะไม่มีทางรู้ได้เลยว่าเป็นธัมมะที่ถูกต้องครับ ปัญญาก็ต้องอาศัยกาลเวลา ไม่ใช่เกิดง่ายๆ ต้องฟังบ่อยๆ ปัญญาเกิดจากการฟังนะครับ

อนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
wannee.s
วันที่ 17 ม.ค. 2550

เราก็ต้องอาศัยการฟังธรรมะ การศึกษาธรรมะ และรู้หนทางที่จะเจริญปัญญาที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ว่า หนทางนี้เป็นหนทางเอก ที่จะนำไปสู่การดับทุกข์ อริยมรรคมีองค์ ๘ คือ มีความเห็นชอบ มีความดำริชอบ มีการเจรจาชอบ มีการงานชอบ มีอาชีพชอบ มีความเพียรชอบ มีการระลึกชอบ มีความตั้งมั่นชอบ ขณะที่สติปัฏฐานเกิด มรรคมีองค์ ๕ เกิดพร้อมกัน เว้นวิรตีเจตสิก ๓ คือ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ แต่ถ้ามีวีรตีเจตสิกดวงใดดวงหนึ่งเกิดร่วมด้วยจะเป็นมรรคมีองค์ ๖ ขณะที่เป็นโลกุตตระ มรรคทั้งแปดองค์จะเกิดขึ้นพร้อมกัน มีพระนิพพานเป็นอารมณ์

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
pornpaon
วันที่ 17 ม.ค. 2550
ขออนุโมทนาความคิดเห็นของทุกท่านค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
chackapong
วันที่ 18 ม.ค. 2550

ผมยังมีกิเลสอยู่มาก พิจารณาตัวเองแล้วเป็นเช่นนั้นจริงๆ ยังหวังให้ชีวิตสุขสบายที่สุด ตามความต้องการของชนชั้นกลางในสังคมทุกวันนี้ สิ่งเหล่านี้ไม่เป็นอุปสรรคต่อการศึกษาธรรมะใช่หรือไม่ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
kchat
วันที่ 18 ม.ค. 2550

ไม่มีปุถุชนคนไหนที่ไม่มีกิเลส ยังหวังให้ชีวิตสุขสบายที่สุดตามความต้องการ การดับกิเลสเริ่มจากดับความเห็นผิด ไม่ใช่เริ่มจากการดับโลภะ ความติดข้องพอใจ การมีโลภะเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับปุถุชน แม้พระโสดาบันก็ยังไม่สามารถละโลภะได้ การละกิเลสต้องเป็นไปตามลำดับขั้นนะครับ การที่ยังหวังให้ชีวิตสุขสบายที่สุดตามความต้องการ ไม่เป็นอุปสรรคต่อการศึกษาธรรมะอย่างแน่นอนนะครับ ไม่ต้องเป็นห่วง แต่ต้องแสวงหาด้วยความสุจริต และต้องไม่ทิ้งการอ่านหรือฟังธรรมที่ถูกต้อง ปัญญาก็จะค่อยๆ เจริญขึ้นนะครับ ขอให้มีความอดทน ถึงแม้จะเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก แต่ถ้าเห็นประโยชน์ก็จะไม่ละทิ้งการฟังการศึกษาพระธรรม

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่ 19 ม.ค. 2550

ที่ศึกษากันอยู่นี่ก็ปุถุชนที่ยังมีกิเลสทั้งนั้นนะครับ ก็ขออนุโมทนาที่ท่านเข้ามาฟังธรรมด้วยกัน เชิญท่านนั่งฟังด้วยมีมนสิการด้วยกันนะครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
chackapong
วันที่ 23 ม.ค. 2550

ผมได้รับคำอธิบายจากผู้รู้ในที่นี้ ชึ่งเข้าใจว่ารู้มากกว่า และรู้มาก่อน เพราะผมเพิ่งจะเข้ามาอ่านธรรมะเป็นครั้งแรกๆ การที่บอกว่าค่อยๆ ศึกษา ค่อยๆ ทำความเข้าใจ เพราะธรรมะเป็นเรื่องยากและลึกซึ้ง ขณะเดียวกันก็มีผู้บอกว่าให้รีบขวนขวายศึกษาธรรมะ ทำให้ผมไม่แน่ใจว่าคำตอบที่แตกต่างเหล่านี้เกิดจากอะไร หรือว่าผมเข้าใจคำตอบไม่ตรงกับท่านผู้รู้มีเจตนาที่จะบอกในเมื่อชีวิตนี้สั้นนัก ทำไมเราไม่ละสิ่งอื่นทั้งหมดในชีวิต แล้วมาศึกษาธรรมะอย่างเดียว คำถามเหล่านี้ที่อยู่ในใจผม เป็นความเข้าใจผิดอะไรสักอย่าง ขอความกรุณาช่วยอธิบายด้วยครับ

ขอบพระคุณครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
study
วันที่ 23 ม.ค. 2550

การศึกษาพระธรรมเพื่อความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเป็นสิ่งที่ดี แต่สิ่งอื่นๆ ในชีวิตเราต้องกระทำด้วยเช่นกัน เพราะเป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิต หรือเพราะเป็นหน้าที่ที่จะต้องทำ ซึ่งกระทำด้วยจิตกุศลก็ได้ แม้แต่ผู้ที่บวชเป็นพระภิกษุ ท่านต้องกระทำกิจอื่นๆ ด้วยเช่นกัน ไม่ใช่ศึกษาธรรมะอย่างเดียว แต่ถ้าเข้าใจพระธรรมแล้ว การศึกษาสภาพธรรมมีในทุกขณะ ทุกสถานที่ ทุกเวลา ไม่เว้นเลย คือปรากฏทางตา ทางหู จมูก ลิ้น กาย ใจ ตลอดเวลา ขาดเพียงปัญญา ที่จะเข้าไปรู้สิ่งที่ปรากฏเพราะความหมายคำว่า "ศึกษา" ไม่ใช่เพียงเรื่องตำราอย่างเดียว แต่ควรศึกษาทุกขณะจนกว่าจะเป็นพระอรหันต์

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
chackapong
วันที่ 23 ม.ค. 2550

ก่อนอื่นต้องขอขอบพระคุณที่ท่านกรุณาชี้แจง ตามคำชี้แจงผมเข้าใจว่า ให้เราใช้ชีวิตประจำวัน ศึกษาธรรม เพราะธรรมะปรากฏและมีจริงอยู่แล้วในชีวิต ไม่ว่าที่ไหน ฉะนั้น เราไม่จำเป็นต้องละจากสิ่งที่เป็นอยู่ เข้าใจอย่างนี้ตรงกับคำตอบที่ท่านกรุณาตอบใช่ไหมครับ เพียงแต่ผู้ที่ออกบวชจะได้เปรียบกว่าในแง่ความสงบโดยทั่วไป รวมทั้งสิ่งแวดล้อม ท่านกรุณายกตัวอย่างผู้ที่ทำหน้าที่ปกติแล้วเข้าใจธรรมะได้ถูกต้องและง่ายดายได้หรือไม่ครับ

ขอบพระคุณครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
kchat
วันที่ 24 ม.ค. 2550

ได้อ่านข้อความที่ส่งมาหลายๆ ข้อความ ซึ่งแสดงถึงความเข้าใจธรรมะของผู้เขียน ลองอ่านที่คัดมาจากกระทู้หนึ่งนะครับ

ถ้าหนทางที่แท้จริงยังมีอยู่ก็ย่อมบรรลุได้แน่นอน แต่ความเจริญของปัญญาก็อยู่ที่ยุคสมัยด้วย ยุคนี้คุณธรรมสูงสุดได้เพียงพระอนาคามีนะคะ แต่แค่พระโสดาบันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แล้ว เพราะยุคนี้คนสะสมกิเลสกันมามาก มากไม่รู้กี่อสงไขย หนทางที่ถูกต้องยังเหลืออยู่ครบถ้วน ในช่วงก่อน พ.ศ. ๓๐๐๐ แต่ในเมื่อปัญญาของคนมีไม่ถึง เราก็ทำได้เพียงค่อยๆ ศึกษาให้เข้าใจ เพราะถ้าทำอะไรมากกว่านี้ เช่นไปปฏิบัติเดินจงกรมหรือไปนั่งสมาธิอะไรต่อมิอะไร ก็จะเป็นการสะสมความไม่รู้ให้ยืดยาวออกไปอีก

ตอนนี้ ในโลกมนุษย์ ยุคนี้เต็มไปด้วยสัทธรรมปฏิรูปค่ะ หนทางนั้นเริ่มถูกบิดเบือน และเสริมแต่งจนยากที่จะตัดความเป็นตัวตนในการปฏิบัติ จนตอนนี้อะไรๆ ก็เป็นตัวตนในการปฏิบัติไปเสียหมด และไม่รู้ด้วยว่ากำลังยืดสังสารวัฏฏ์ออกไป สะสมโลภะในการปฏิบัติความนิ่ง ความสบาย โดยไม่รู้ว่าการปฏิบัติธรรมเป็นหน้าที่ของปัญญา ไม่ใช่เรื่องของท่าทางหรือตัวตนที่กระทำการสิ่งใด

ก็ไม่แปลกที่พระสัทธรรมจะเริ่มเสื่อมลงเรื่อยๆ เพราะไม่มีผู้สนใจศึกษา มีแต่ผู้เรียกหาทางลัด สนใจการปฏิบัติที่ปฏิรูปเอาเอง คิดเอาเอง โลภะทำให้ชอบง่ายๆ ไวๆ สบายๆ นิ่งๆ ร่มรื่นๆ โทสะทำให้ไม่ชอบศึกษาเพราะขี้เกียจและเบื่อ สมัยนี้การปฏิบัติก็เพื่อได้ ไม่ใช่เพื่อละ แล้วถ้าใครไม่แสดงท่าทางปฏิบัติ ก็หาว่าเขาไม่ปฏิบัติธรรมซะอย่างงั้น

พระอรหันต์ ท่านก็จะมีแต่ในสวรรค์ ในพรหมโลก ที่ศาลาสุธรรมาบนสวรรค์ ยังคงมีพระอรหันต์มาสอนธรรมอยู่เสมอ เทวดาที่สะสมนิสัยการฟังธรรมก็จะได้ฟังธรรม ไม่มัวเพลิดเพลินชมสวนสวรรค์ และนางฟ้า

แต่ในโลกมนุษย์ หาพระอริยบุคคลยากมากๆ ถึงเจอก็มองข้ามกัน เพราะท่านสอนตรง สอนละเอียด สอนสิ่งที่ยาก เริ่มด้วยความไม่มีตัวตนในการปฏิบัติ และเน้นเป็นปรกติในชีวิตประจำวัน

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
chackapong
วันที่ 25 ม.ค. 2550

ขอขอบพระคุณทุกท่านที่ชี้แจงและเสนอความเห็น ผมไม่ทราบความหมายที่แท้จริงของคำว่า อนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 19  
 
ปุถุชนคนหนึ่ง
วันที่ 25 ม.ค. 2550

ขึ้นอยู่กับสภาพจิตเป็นสำคัญนะคะ ว่าขณะนั้นท่านยินดีในกุศลที่บุคคลอื่นกำลังกระทำอยู่จริงๆ หรือเปล่า ถ้าจิตของท่านมีความชื่นชมยินดี ถึงแม้จะไม่ได้กล่าวออกมาเป็นถ้อยคำ ขณะนั้นก็เป็นบุญแล้วค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 20  
 
อิสระ
วันที่ 25 พ.ค. 2550

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 21  
 
baramees
วันที่ 24 พ.ค. 2551

ฟังให้เข้าใจ เข้าใจว่าธรรมคืออะไรและอะไรที่มีจริง

 
  ความคิดเห็นที่ 22  
 
suwit02
วันที่ 24 พ.ค. 2551
สาธุ
 
  ความคิดเห็นที่ 23  
 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่ 26 พ.ค. 2551

ครับ ก็ขออนุโมทนากับท่านผู้ตั้งกระทู้นี้อีกครั้ง เป็นประโยชน์มากครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 24  
 
เมตตา
วันที่ 16 ต.ค. 2551

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 25  
 
เซจาน้อย
วันที่ 19 ต.ค. 2551
ขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 26  
 
panthip777
วันที่ 8 มี.ค. 2552
ขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 27  
 
jaem
วันที่ 23 ก.ค. 2553

ขอบคุณและอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 28  
 
pamali
วันที่ 21 ต.ค. 2553

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 29  
 
orawan.c
วันที่ 4 ธ.ค. 2553
ขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 30  
 
jaturong
วันที่ 21 ก.พ. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 31  
 
chatchai.k
วันที่ 27 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ