การประพฤติพรหมจรรย์ในเพศบรรพชิต

 
natural
วันที่  25 พ.ค. 2558
หมายเลข  26571
อ่าน  3,380

เรียนถามที่มาในพระไตรปิฎกเกี่ยวกับการประพฤติพรหมจรรย์ในเพศบรรพชิต

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 25 พ.ค. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตก เล่ม ๑ ภาค ๔ - หน้าที่ 207

๘. ปฐมนกุหนาสูตร ว่าด้วยแนวปฏิบัติพรหมจรรย์

[๒๑๓] จริงอยู่ พระสูตรนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้ว พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นพระอรหันต์ตรัสแล้ว เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พรหมจรรย์นี้ ภิกษุไม่อยู่ประพฤติเพื่อจะหลอกลวงชน ไม่อยู่ประพฤติเพื่อประจบคน ไม่อยู่ประพฤติเพื่ออานิสงส์ คือ ลาภ สักการะ ความสรรเสริญ ไม่อยู่ประพฤติ ด้วยคิดว่า ชนจงรู้จักเราด้วยอาการอย่างนี้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ที่แท้พรหมจรรย์นี้ ภิกษุย่อมอยู่ประพฤติเพื่อการสำรวมและเพื่อการละ.

พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสเนื้อความนี้แล้ว ในพระสูตรนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสคาถาประพันธ์ดังนี้ว่า

พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ได้ทรงแสดงพรหมจรรย์ เครื่องกำจัดจัญไร อันเป็นเหตุให้ถึงฝั่ง คือ นิพพาน เพื่อการสำรวม เพื่อการละ ทางนี้ พระพุทธเจ้าทั้งหลายผู้มีประโยชน์ใหญ่ ผู้แสวงหาคุณอันใหญ่ ทรงดำเนินไปแล้ว ชนเหล่าใดๆ ย่อมปฏิบัติพรหมจรรย์นั้น ตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว ชนเหล่านั้นๆ ผู้กระทำตามคำสั่งสอนของพระศาสดา จักกระทำซึ่งที่สุดแห่งทุกข์ได้.

เนื้อความแม้นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้ว เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้ว ฉะนี้แล.

จบปฐมนกุหนาสูตรที่ ๘

--------------------------------------------

ปฐม นกุหนาสูตรว่าด้วยแนวการประพฤติพรหมจรรย์ การประพฤติพรหมจรรย์

พรหมจรรย์ความหมายคือ การประพฤติที่ประเสริฐ พรหมจรรย์ที่เป็นการประพฤติที่ประเสริฐมีหลายความหมายดังนี้

1.การให้

2.ความขวนขวาย

3.ศีล 5

4.พรหมวิหาร

5.เมถุนวิรัติ (งดเว้นการล่วงเป็นคู่ๆ )

6.ความสันโดษ

7.ความเพียร

8.อุโบสถศีลมีองค์ 8

9.อริยมรรคมีองค์ 8

10.คำสอนในพระพุทธศาสนา

สำหรับพระสูตรนี้ (ปฐม-ทุติย นกุหนาสูตร) ในเรื่องการประพฤติพรหมจรรย์ พรหมจรรย์ในสูตรนี้หมายถึง อริยมรรคมีองค์ 8 และคำสอนในพระพุทธศาสนา

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พรหมจรรย์นี้ ภิกษุ ไม่อยู่ประพฤติเพื่อจะหลอกลวงชน ไม่อยู่ประพฤติเพื่อประจบคน ไม่อยู่ประพฤติเพื่ออานิสงส์ คือ ลาภ สักการะ ความสรรเสริญ ไม่อยู่ประพฤติ ด้วยคิดว่า ชนจงรู้จักเราด้วยอาการอย่างนี้

-----------------------------------------------------------------------

อธิบายดังนี้ บุคคลไม่ประพฤติปฏิบัติ ศึกษาธรรมเพื่อจุดประสงค์ คือ หลอกลวงชน หลอกลวงอย่างไร หลอกลวงว่าเป็นผู้มีศีล เป็นผู้มักน้อย เป็นผู้ไม่ติดลาภสักการะ เป็นผู้สันโดษ เป็นผู้มีคุณธรรม ให้บุคคลอื่นเข้าใจผิดในสิ่งที่ตนกระทำด้วยข้อปฏิบัติในพระพุทธศาสนามีการรักษาศีล เพื่อให้ผู้อื่นเข้าใจว่าเป็นผู้มีศีล เพื่อจะได้มาซึ่งลาภ สักการะ สรรเสริญและปัจจัย 4 การหลอกลวงโดยการใช้อิริยาบถที่สำรวม เช่น การเดิน ยืน ที่สำรวมเพื่อหลวกลวงชนเหล่าอื่นว่าเป็นผู้สำรวม เป็นต้น เพื่อให้ได้มาซึ่ง ลาภ สักการะ สรรเสริญ ปัจจัย 4 เหล่านี้คือไม่ใช่ประโยชน์หรือผลของการประพฤติพรหมจรรย์ หรือ การประพฤติตามคำสอนของพระพุทธเจ้ามีการเจริญอริยมรรคมีองค์ 8

พรหมจรรย์อันคำสอนของพระพุทธเจ้าและข้อประพฤติปฏิบัติในพระพุทธศาสนามีการรักษาศีล เป็นต้น พรหมจรรย์นี้ไม่ใช่เพื่อประจบคนเหล่าอื่น เพื่อให้ได้มาซึ่งปัจจัย 4 รวมทั้งลาภ สักการะ สรรเสริญ ประจบอย่างไร ประจบด้วยการพูดชม พูดเยินยอ เป็นต้น เพื่อจะได้มาซึ่งลาภ สักการะชื่อเสียงและวัตถุปัจจัย 4 ต่างๆ ซึ่งนั่นไม่ใช่ผลของการประพฤติพรหมจรรย์หรือการประพฤติปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า หรือการประพฤติตามอริยมรรคมีองค์ 8 ไม่ประพฤติปฏิบัติเพื่อให้คนอื่นรู้จักเราเราว่าเป็นผู้มีศีล เป็นผู้มีความเพียร เป็นพหูสูต เป็นผู้มักน้อยนั่นไม่ใช่ผลของการประพฤติตามคำสอนและอริยมรรคของพระพุทธเจ้า และประพฤติข้อปฏิบัติในพระพุทธศาสนาเพื่อให้คนเหล่าอื่นรู้จักเรา รู้จักว่าเป็นพหูสูต ฟังธรรมมาก เป็นผู้มักน้อย เป็นผู้ขัดเกลา เป็นผู้มีคุณธรรมประการต่างๆ นี่ไม่ใช่ผลของการประพฤติในอริยมรรคมีองค์ 8 และตามพระธรรมคำสั่งสอนเพราะขณะนั้นเพื่มโลภะ ความติดข้องให้ผู้อื่นรู้จักเรา ข้อประพฤติในพระพุทธศาสนามีการเจริญอริยมรรคมีองค์ 8 เป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลส ขัดเกลาความไม่รู้ ผลคือการละกิเลสได้จนหมดสิ้น แต่หากเป็นไปเพื่อได้ลาภ สักการะ ชื่อเสียง เพื่อให้ได้ปัจจัย 4 นั่นเท่ากับเพิ่มสมุทัยคือโลภะ ความติดข้องมากขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้ บุคคลนั้นจะศึกษาธรรมอยู่ก็ตามแต่ศึกษาด้วยจุดประสงค์ผิด ไม่ใช่หนทางที่ถูกต้องเหมือนจับงูพิษที่หาง งูย่อมกัดเขาได้ ก็ทำให้บุคคลนั้นไม่สามารถบรรลุคุณธรรม และดับกิเลสได้เลยเพราะจุดประสงค์ไม่ถูกต้อง ความเป็นผู้ตรงจึงเป็นสิ่งสำคัญ

จากพระพุทธพจน์ต่อไปที่ว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ที่แท้พรหมจรรย์นี้ ภิกษุย่อมอยู่ประพฤติ เพื่อการสำรวม และเพื่อการละ.

------------------------------------------------------------------------

การสำรวมไม่ได้หมายถึงกิริยาท่าทางภายนอก ที่ดูสำรวม แต่การสำรวมเป็นเรื่องของจิตใจ ขณะนั้นจิตต้องเป็นกุศล เพราะฉะนั้น พรหมจรรย์อันเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า รวมทั้งอริยมรรคมีองค์ 8 เมื่อบุคคลปฏิบัติตาม ผลคือเป็นไปเพื่อการสำรวม สำรวมด้วยศีล สำรวมด้วยสติ สำรวมด้วยปัญญา สำรวมด้วยความเพียรและสำรวมด้วยความอดทน จะเห็นได้ว่าเป็นเรื่องของกุศลธรรม สำรวมที่จะไม่เป็นไปในอกุศลเพราะกุศลเกิดนั่นเอง การละ การละต้องละสิ่งที่ไม่ดี ที่เป็นอกุศลธรรม เพราะฉะนั้นพรหมจรรย์อันเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า รวมทั้งอริยมรรคมีองค์ 8 เมื่อบุคคลปฏิบัติตามผลคือเป็นไปเพื่อการละ ละกิเลสประการต่างๆ รวมทั้งละความยึดถือสิ่งต่างๆ ว่าเป็นเรา เป็นสัตว์ บุคคล เมื่อประพฤติตามคำสอนและเจริญอริยมรรคมีองค์ 8 หรือการเจริญสติปัฏฐาน 4 ผลคือเข้าใจความจริงในขณะนี้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ขณะนั้นปัญญาเกิด ละความไม่รู้ รู้ขึ้นว่าเป็นธรรม จนละความยึดถือว่าเป็นสัตว์ บุคคลตัวตนได้ จนละอกุศลธรรมมีกิเลสประการต่างๆ เพราะการประพฤติตามคำสอนและการเจริญสติปัฏฐานนั่นเอง

อธิบายพระคาถาประพันธ์ที่ว่า

พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์นั้น ได้ทรงแสดงพรหมจรรย์ เครื่องกำจัดจัญไร อันเป็นเหตุให้ถึงฝั่ง คือ นิพพาน เพื่อการสำรวม เพื่อการละ, ทางนี้ พระพุทธเจ้าทั้งหลายผู้มีประโยชน์ใหญ่ ผู้แสวงหาคุณอันใหญ่ ทรงดำเนินไปแล้ว ชนเหล่า ใดๆ ย่อมปฏิบัติพรหมจรรย์นั้น ตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว ชนเหล่านั้นๆ ผู้กระทำตามคำสั่งสอนของพระศาสดา จักกระทำซึ่งที่สุดแห่งทุกข์ได้. -------------------------------------------------------------------------------- พระพุทธเจ้าทรงแสดงพรหมจรรย์คือคำสอนและอริยมรรคมีองค์ 8 อันกำจัดจัญไรคือ สิ่งที่ไม่ดี มีกิเลสประการต่างๆ ด้วยการเจริญอริยมรรคมีองค์ 8 นั่นคือการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ปัญญานี้เองกำจัดจัญไรคือความสงสัย ความเห็นผิดว่าเป็นสัตว์ บุคคลและความไม่รู้ ซึ่งคำสอนของพระพุทธเจ้าอันเป็นอริยมรรคมีองค์ 8 ย่อมทำให้ถึงฝั่งคือนิพพาน ฝั่งที่เราอยู่กันนี้คือฝั่งของกิเลส ฝั่งของสภาพธรรมที่เกิดดับ ไม่มีที่สิ้นสุดเป็นสังสารวัฏฏ์ แต่เมื่อบุคคลเจริญสติปัฏฐานคือ การรู้ความจริงในสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ ผลคือย่อมถึงฝั่งคือพระนิพพานที่เป็นอีกฝั่งหนึ่งที่ไม่มีการเกิดขึ้นและดับไปของสภาพธรรมเลย ไม่มีกิเลสประการต่างๆ ด้วย อันเป็นไปเพื่อการสำรวม สำรวมด้วยกุศลธรรมประการต่างๆ มีปัญญา เป็นต้น และการละ ละด้วยปัญญาตามระดับขั้น ละกิเลสมีความไม่รู้ เป็นต้น อันพระพุทธเจ้าและพระสาวกได้ดำเนินตามหนทางนี้คืออริยมรรคมีองค์ 8

ที่กล่าวมา จึงเป็นการประพฤติพรหมจรรย์ของพระภิกษุและสัตว์โลกทั้งหลาย ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 25 พ.ค. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง แต่ละคำล้วนมีความละเอียดลึกซึ้งแสดงถึงสภาพธรรมที่มีจริงๆ แม้แต่คำว่า “พรหมจรรย์” ได้ยินคำว่า “จรรย์” ในภาษาไทย มาจากคำว่า จริยา ความประพฤติ ความเป็นไป ส่วนคำว่า พรหม หมายถึง ประเสริฐ เพราะฉะนั้น พรหมจรรย์ ซึ่งเป็นความเป็นไป หรือความประพฤติที่ประเสริฐในชีวิตคืออะไร?

จะเห็นได้ว่า ขณะใดที่กระทำทุจริตกรรมประการต่างๆ เป็นไปกับด้วยอกุศลมากมาย ไม่ประเสริฐอย่างแน่นอน แต่ถ้าขณะใดก็ตามที่กุศลธรรมประเภทหนึ่งประเภทใดเกิดขึ้น ย่อมเป็นธรรมที่ประเสริฐ บางครั้งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะทรงแสดงความกว้างของพรหมจรรย์ ทานก็เป็นพรหมจรรย์ ศีลก็เป็นพรหมจรรย์ ความเพียรก็เป็นพรหมจรรย์ เป็นต้น แต่พรหมจรรย์สูงสุด คือ การอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรม เพราะว่าเกิดมาแล้วก็ไม่รู้ว่า เกิดเพราะอะไร บางคนก็ถามว่า เกิดมาทำไม คือ ไม่รู้อะไรเลย ทั้งๆ ที่เกิดแล้ว ก็คือเกิดแล้วต้องเป็นไป กล่าวคือ เกิดแล้วต้องเห็นบ้าง ต้องได้ยินบ้าง ต้องได้กลิ่นบ้าง ต้องลิ้มรสบ้าง ต้องรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกายบ้าง ต้องคิดนึกบ้าง กุศลบ้าง อกุศลบ้าง วันหนึ่งๆ เป็นอย่างนี้ ชั่วขณะสั้นๆ เล็กๆ น้อยๆ ทั้งหมด รวมกันแล้วก็เป็นชีวิตในวันหนึ่งๆ แล้วก็คิดนึกเรื่องราวของสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ชีวิตประจำวันจึงไม่พ้นไปจากธรรมเลย แต่ไม่รู้ความจริงจึงหลงยึดถือว่าเป็นเรา เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน หรือเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด

การที่เกิดมาแล้ว สิ่งที่ประเสริฐที่สุด ก็คือ สามารถอบรมเจริญความเห็นถูกต้องในสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ ซึ่งจะต้องอาศัยการฟังพระธรรม, ฟังพระธรรม เพื่อรู้ว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ความจริงทุกขณะของชีวิต แล้วทรงแสดงความจริง เพื่อให้ผู้อื่นสามารถเห็นถูกต้องตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นกุศลที่จะทำให้กุศลทั้งหลายเจริญขึ้น ถ้ามีปัญญาเห็นถูกต้องแล้วจะไม่ทำอกุศลกรรมอย่างแน่นอน พร้อมทั้งเพิ่มพูนกุศลประการต่างๆ ยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นปัญญาจะนำมาซึ่งกุศลทุกประการด้วย

เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็จะทำให้เข้าใจได้ว่า สิ่งที่เป็นเบื้องต้นของพรหมจรรย์ คือ การประพฤติประเสริฐ นั้น ก็ต้องฟังสิ่งที่ถูกต้องก่อน กล่าวคือ ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ถ้าไปฟังเรื่องอื่น มีแต่จะทำให้จิตใจฟุ้งซ่าน ไม่ทำให้เข้าใจตรงตามความเป็นจริงของสภาพธรรมได้เลย

พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงความจริงที่พระองค์ทรงตรัสรู้ ทำให้สัตว์โลกทั้งหลายได้รู้ความจริง เพราะบุคคลผู้ที่รู้ความจริง คือ สภาพธรรมที่มีจริงๆ สามารถบรรลุถึงความเป็นพระอริยบุคคล เป็นผู้ประเสริฐ เพราะฉะนั้นเมื่อได้ฟังสิ่งที่ตรงและถูกต้องที่ไม่แปรผัน ไม่เปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น ผู้นั้นก็จะเข้าถึงความประเสริฐ คือถึงความเป็นพระอริยบุคคลได้ในที่สุด

เบื้องต้นของพรหมจรรย์ นั้น การฟังพระธรรมเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด และในบางนัย บางคนไม่มีพื้นฐานในเรื่องความประพฤติที่ดีทางกาย ทางวาจา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงว่า ศีลเป็นเบื้องต้นของพรหมจรรย์ในเพศของบรรพชิต นั่นคือ การแสดงเบื้องต้นในระดับของความประพฤติ แต่ก่อนที่จะเป็นผู้ประพฤติดีในขั้นศีล มีความประพฤติเป็นไปทางกาย ทางวาจาที่ดีได้นั้น ก็ต้องได้ยินได้ฟังสิ่งที่ตรงและถูกต้องก่อน ถึงจะประพฤติปฏิบัติตรงและสมควรทางกาย ทางวาจา ได้ เพราะฉะนั้นผู้ที่จะประพฤติตามธรรมพระวินัยได้ตรงและถูกต้อง ผู้นั้นก็จะต้องศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ

ดังนั้น เบื้องต้นของพรหมจรรย์ คือ การฟังพระธรรมสะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ ถ้าขาดการฟังพระธรรมแล้ว ความประพฤติที่ดีที่ตรงที่ถูกต้องก็จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ความเข้าใจพระธรรม จึงเป็นที่พึ่งได้ในทุกระดับขั้นอย่างแท้จริง จะเห็นถึงความบริสุทธิ์ของพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ว่า เป็นเครื่องอุปการะเกื้อกูลให้ได้มีความเข้าใจถูกเห็นถูก เป็นไปเพื่อขัดเกลาละคลายกิเลสจนกระทั่งสามารถดับได้ในที่สุด ไม่ว่าจะเป็นบรรพชิตหรือไม่ใช่บรรพชิตก็ตาม ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
tanrat
วันที่ 25 พ.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
natural
วันที่ 26 พ.ค. 2558

ขอบพระคุณอ.ผเดิมและอ.คำปั่นมากค่ะ จากที่ฟังแนวทางเจริญวิปัสสนาตอนหนึ่งได้พูดถึง การทะลุ ด่าง พร้อย แห่งพรหมจรรย์ จึงอยากทราบรายละเอียดเพิ่มเติม คิดว่าน่าจะอยู่ในพระวินัยปิฎก ไม่ทราบว่าเล่มไหน แต่ถ้าไม่มีก็ไม่เป็นไรนะคะ ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ประสาน
วันที่ 27 พ.ค. 2558

ประพฤติเพื่อสำรวม ประพฤติเพื่อการละ

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
wannee.s
วันที่ 27 พ.ค. 2558

ประพฤติในสิกขาบทที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติทรงแสดงไว้ทั้งหมด เว้นในสิ่งที่ควรเว้นประพฤติในสิ่งที่ควรประพฤติ สรุปคือ สิกขา 3 ศีล สมาธิ ปัญญา ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
Jarunee.A
วันที่ 5 พ.ย. 2566

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ