สมาธินิมิต สมาธิในอารมณ์ ๓๘ คืออะไรครับ

 
den
วันที่  1 มิ.ย. 2558
หมายเลข  26595
อ่าน  3,625

๖. วิมุตติสูตร
อรรถกถาวิมุตติสูตรที่ ๖
พึงทราบวินิจฉัยในวิมุตติสูตรที่ ๖ ดังต่อไปนี้ :-
บทว่า วิมุตฺตายตนานิ แปลว่า เหตุแห่งการหลุดพ้น.
บทว่า ยตฺถ ได้แก่ ในวิมุตตายตนะ (เหตุแห่งการหลุดพ้น) ใด.
บทว่า สตฺถา ธมฺมํ เทเสติ ได้แก่ พระศาสดาทรงแสดงสัจธรรม ๔.
บทว่า อตฺถปฏิสํเวทิโน ได้แก่ รู้ความแห่งบาลี.
บทว่า ธมฺมปฏิสํเวทิโน ได้แก่ รู้บาลี.
บทว่า ปามุชฺชํ ได้แก่ ปีติอย่างอ่อน.
บทว่า ปีติ ได้แก่ ปีติมีกำลังอันเป็นอาการยินดี.
บทว่า กาโย ได้แก่ นามกาย.
บทว่า ปสฺสมฺภติ คือ สงบนิ่ง.
บทว่า สุขํ เวเทติ ได้แก่ ได้ความสุข.
บทว่า จิตฺตํ สมาธิยติ ได้แก่ จิตตั้งมั่นด้วยสมาธิชั้นอรหัตตผล.
จริงอยู่ ภิกษุนี้เมื่อฟังธรรมนั้นย่อมรู้จักฌานวิปัสสนา มรรคและผลในที่ฌานเป็นต้นมาแล้วๆ เมื่อภิกษุนั้นรู้อย่างนี้ ปีติก็เกิด ในระหว่างปีตินั้น ภิกษุนั้นก็ไม่ท้อถอย บำเพ็ญอุปจารกรรมฐาน เจริญวิปัสสนาแล้วย่อมบรรลุพระอรหัต. ทรงหมายถึงพระอรหัตนั้น จึงตรัสว่า จิตฺตํ สมาธิยติ ดังนี้.
แม้ในบทที่เหลือก็นัยนี้เหมือนกัน. แต่นี้เป็นความต่างกัน.
* * * * บทว่า สมาธินิมิตฺตํ ได้แก่ สมาธิในอารมณ์ ๓๘ อย่างใดอย่างหนึ่ง ชื่อว่าสมาธินิมิต.
แม้ในบทเป็นต้นว่า สุคฺคหิตํ โหติ กรรมฐานอันผู้เรียนกรรมฐานในสำนักอาจารย์ เป็นอันเรียนแล้วด้วยดี ใส่ใจไว้ด้วยดี ทรงจำไว้ด้วยดี.
บทว่า สุปฺปฏิวิทฺธํ ปญฺญาย ได้แก่ ทำให้ประจักษ์ดีด้วยปัญญา.
บทว่า ตสฺมึ ธมฺเม ได้แก่ ในธรรมคือบาลีที่มาแห่งกรรมฐานนั้น.
ในสูตรนี้ ตรัสวิมุตตายตนะแม้ทั้ง ๕ ถึงอรหัต.


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 1 มิ.ย. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สมาธินิมิต หมายถึง ทั้งตัวสมถะ สมาธิ ก็ได้ และ หมายถึงอารมณ์ของสมถะ อารมณ์ของสมาธิก็ได้ครับ ซึ่ง สมาธิในอารมณ์ 38 ก็คือ เอกัคคตาเจตสิก ที่เกิดพร้อมกับธรรมฝ่ายดี มีปัญญา เป็นต้น ที่ขณะนั้น ตั้งมั่นในอารมณ์ใด อารมณ์หนึ่ง และ เป็นจิตที่ดีงาม ประกอบด้วยปัญญาในขณะนั้น ครับ

จุดมุ่งหมายของการเจริญสมาธิ นั้นเพื่อขัดเกลากิเลส ผู้ที่มีปัญญาเห็นโทษของอกุศล คือ โลภะและโทสะ เป็นผู้มีปัญญา เห็นความต่างกันของกุศลจิตและอกุศลจิตในชีวิตประจำวัน จึงสามารถเจริญสมถภาวนาได้ แต่คนส่วนใหญ่ในยุคสมัยนี้ ไม่ได้ศึกษาโดยละเอียด เขาบอกให้นั่งก็นั่ง เขาบอกให้หลับตาก็หลับตา โดยทำตามเขาบอก มิใช่ปัญญาความรู้ของเราเอง เมื่อเริ่มด้วยความไม่รู้ ก็ต้องเกิดความไม่รู้ และมีอาการผิดแปลกจากปกติ และก็ไม่เข้าใจด้วยว่า คืออะไร

สมถะเป็นการอบรมกุศลจิต ที่ประกอบด้วยปัญญา ความเข้าใจ สมถะเป็นเรื่องละเอียด ควรศึกษาให้เข้าใจก่อนที่จะทำอะไร ควรเริ่มจากความเข้าใจก่อนว่า ธรรมะคืออะไร ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
tanrat
วันที่ 2 มิ.ย. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 2 มิ.ย. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงนั้น มีความละเอียด ลึกซึ้งเป็นอย่างยิ่ง แม้แต่ในเรื่องการอบรมเจริญสมถภาวนา ก็มีความละเอียดลึกซึ้งมาก ที่ตั้งที่จะให้จิตสงบ คือ อารมณ์ของสมถภาวนา นั้น มี ๔๐ คือ กสิณ ๑๐ อนุสติ ๑๐ อสุภะ ๑๐ เป็นต้น ไม่ใช่เป็นเพียงชื่อ การอบรมเจริญสมถภาวนา ต้องเป็นเรื่องของความเข้าใจที่ถูกต้องเห็นความต่างระหว่างกุศล กับ อกุศล ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ แล้วจะเป็นผู้เจริญสมถภาวนา จะต้องเริ่มต้นด้วยความเข้าใจที่ถูกต้องจริงๆ และประการที่สำคัญ ไม่มีตัวตนที่ไปทำหรือไปเจริญ แต่เป็นความเจริญขึ้นของกุศลธรรม นั่นเอง

สมถภาวนา เป็นการอบรมจิตเพื่อให้สงบจากอกุศลธรรมทั้งหลายซึ่งเป็นเครื่องกลุ้มรุมจิต จนจิตสงบเข้าถึงความสงบแนบแน่น เป็นฌานขั้นต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมาก ขณะที่เจริญสมถถาวนา จิตย่อมไม่มีอกุศลเลย แต่ข้อที่น่าพิจารณาคือ ผู้ที่เจริญสมถภาวนาที่ไม่ถูกต้อง ขาดความรู้ความเข้าใจ เจริญไม่ถูก จิตย่อมไม่สงบจากอกุศล แต่เป็นอกุศล เป็นการเพิ่มอกุศลให้มีมากขึ้น อย่างนี้ไม่ชื่อว่าการอบรมเจริญสมถภาวนา

เมื่อเจริญถูกต้อง ผลของสมถภาวนา ย่อมทำให้เกิดในพรหมโลก ตามระดับขั้นของฌาน ยังเป็นผู้ไม่พ้นจากทุกข์ ครับ

... ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
kullawat
วันที่ 3 มิ.ย. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
นิตยา
วันที่ 7 มิ.ย. 2558

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
wannee.s
วันที่ 8 มิ.ย. 2558

สมาธิก็มีทั้งสัมมาสมาธิ และ มิจฉาสมาธิ ถ้าเจริญผิดก็ทำให้วัฏฏะที่ยาวอยู่แล้วก็ยิ่งยาวอีกนับไม่ได้เพียงต้องการให้จิตสงบ หรือจดจ้องนิดเดียว ขณะนั้นก็ไม่ใช่หนทางแล้ว เป็นมิจฉาปฏิปทาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
ประสาน
วันที่ 10 มิ.ย. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
Jarunee.A
วันที่ 4 พ.ย. 2566

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
Muthitas
วันที่ 15 ก.พ. 2567

สาธุครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ