สารธรรมควรค่าแก่การศึกษา

 
umpai
วันที่  8 มิ.ย. 2558
หมายเลข  26612
อ่าน  1,928

สาระธรรมควรค่าแก่การศึกษาจากหนังสือ

“พระพุทธศาสนาในชีวิตประจำวัน”

โดย คุณนีน่า วัน กอร์คอม

แปลโดย อ.สุจินต์ บริหารวนเขตต์

-เริ่มต้นต้องมีความเข้าใจถูก เพียงขณะเดียวเท่านั้นที่เราสามารถก้าวหน้าได้

-หนึ่งขณะเดียวเท่านั้นในชีวิตของเราก็คือ ขณะนี้เอง

-เมื่อความเข้าใจของเรามีเล็กน้อยมาก ความเข้าใจเพียงเล็กน้อยไม่เพียงพอที่จะประจักษ์ความจริง แต่ถ้าไม่สะสมความเข้าใจถูกทีละเล็กทีละน้อยเดี๋ยวนี้ ปัญญาที่แหลมคมจนประจักษ์ความจริงก็ไม่มีวันเกิดขึ้นได้เลย

-ธรรมสามารถเปลี่ยนแนวความคิดของเราและปฏิกิริยาต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

-ฟังมากขึ้น พิจารณามากขึ้น อย่าเป็นผู้เพียงแต่ฟัง

-การได้รู้ว่ามีอกุศลจิตมากกว่ากุศลจิตมากมายนั้น เป็น “การสะดุดใจที่เป็นประโยชน์”

-สิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ใช่คน ไม่มีแขนไม่มีขา ยกไปไหนก็ไม่ได้ เพียงเห็นได้อย่างเดียวเท่านั้น สิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่มีพ่อ ไม่มีแม่ ไม่มีที่อยู่ เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น

-ความเห็นผิดเป็นสาเหตุให้พยายามบังคับสติ

-ปัจจัยที่สติจะเกิดได้นั้นไม่ใช่ความตั้งใจที่จะระลึกรู้ แต่ปัจจัยที่จะทำให้สติเกิดได้นั้นเป็นความเข้าใจถูกและถ้าเราต้องการจะเปลี่ยนปัจจัย เราอาจทำได้เพียงในความคิด แต่ตามความเป็นจริงเราทำไม่ได้ ถ้ารู้สึกเหมือนว่า เรามีสติระลึกรู้เมื่อเราตั้งใจระลึกรู้ นั้นก็เป็นความคิดของเราเอง และนั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ควรที่สติจะระลึกรู้ว่า ไม่ใช่ตัวตนที่กำลังคิดผิดๆ ในขณะนั้น

-จุดมุ่งหมายเพื่อประจักษ์ความเป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ ไม่ใช่ให้ไปเข้าใจว่าบังคับบัญชาได้

-จะศึกษาธรรมได้อย่างถูกต้องก็เมื่อมีเหตุปัจจัยเท่านั้น ไม่มีอะไรอื่นอีก ไม่ใช่ตัวตน การได้ยินไม่ใช่ตัวตน การศึกษาไม่ใช่ตัวตน การใส่ใจไม่ใช่ตัวตน

-ฟังมากขึ้น ก็จะเข้าใจมากขึ้น รู้ความต่างกันของความคิดและสติ

-ความเข้าใจถูกและตัตรมัชฌัตตตาเป็นสิ่งที่จะต้องมีจึงจะไม่หวั่นไหวต่อความตาย

-ตัตรมัชฌัตตตา ไม่ใช่อุเบกขาเวทนาแต่เป็นโสภณเจตสิกซึ่งเกิดร่วมกับโสภณจิต

-ตัตรมัชฌัตตตาทำให้ไม่เกิดการขาดหรือการมากเกินไป

-ตัตรมัชฌัตตตารู้อารมณ์โดยความเป็นกลางไม่ลำเอียงเพราะฉะนั้นจึงไม่ลำพองหรือหดหู่ เมื่อเราไม่ลืมว่า เราเป็นทายาทของกรรม กรรมนั้นย่อมเป็นเหตุให้เกิดผลที่สมควรแก่เหตุนั้นๆ ตัตรมัชฌัตตตุเปกขาก็จะเกิด ขณะนั้นไม่เศร้าโศก ไม่ขุ่นเคืองในอุปัทวเหตุที่เกิดขึ้น

-สภาพธรรม ๕ ประการนำไปสู่การเกิดของอุเบกขาซึ่งเป็นองค์ของการตรัสรู้ ๕ ประการคือ การไม่ติดข้องในสัตว์ บุคคล ๑ การไม่ติดข้องในสิ่งทั้งหลาย ๑ การหลีกเลี่ยงบุคคลที่มีความสำคัญตน ๑ และในสิ่งต่างๆ ๑ การมีนิสัยที่จะเจริญอุเบกขาอันเป็นองค์ของการตรัสรู้ ๑

-การไม่ติดข้องในสัตว์บุคคลทั้งหลายนั้น ย่อมมีได้เมื่อพิจารณารู้ว่าทุกคนแต่ละคน ต่างก็เป็นเจ้าของการกระทำของตนเองและโดยพิจารณาในความเป็นสภาพธรรมขั้นปรมัตถ์

-เมื่อพิจารณาสภาพธรรมในขั้นปรมัตถ์นั้นก็พิจารณาดังนี้ “แท้จริงไม่มีใครเลย ฉะนั้นจะยึดติดในใครได้เล่า”

-การคิดถึงความตาย ทำให้คิดทบทวนเรื่องการดื่มของมึนเมา เพราะการดื่มของมึนเมาทำให้กลับไปสู่สังสารวัฏฏ์ ไม่ใช่ออกจากสังสารวัฏฏ์

-หลายกัปป์นับไม่ถ้วนที่นำเรามาถึงจุดนี้ แน่นอนเราไม่อาจหวังได้เลยว่า จะจบสิ้นภายในไม่กี่ปีเท่านั้น

-ความอยากมีสติ เป็นอุปสรรคใหญ่ที่ขัดขวางไม่ให้สติเกิด

-จุดมุ่งหมายคือ การละความติดข้อง

-เราต้องไม่ลืมคำเตือนว่า จุดมุ่งหมายของเรานั้น คือไม่ละความเพียรและเห็นการละความติดข้องบ้าง เล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตของเรา การรู้อย่างนั้นจริงๆ แสดงว่า เราเดินทางถูกแล้ว เราต้องมีศรัทธา ในหนทางที่ถูก ในเหตุและผลที่ถูกต้อง

ทัศนะทั่วไปในพระพุทธศาสนา

-เราจะต้องตั้งต้นด้วยการมีสติรู้สภาพจิตใจของเรา

-เพราะว่าเราจะต้องเข้าใจตัวเองก่อนแล้วจึงจะเข้าใจคนอื่น

-และด้วยการศึกษาพระอภิธรรมนั้นแหละ เราจึงเริ่มเข้าใจสภาพจิตใจของเราเองได้มากขึ้น พระอภิธรรมเป็นปิฎกที่จำแนกสภาพลักษณะของจิตใจและธรรมทั้งหลายไว้อย่างละเอียด การศึกษาพระอภิธรรมทำให้เราเข้าใจเหตุปัจจัยของสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตของเราและคนอื่น

-บางท่านอาจจะคิดว่าพระอภิธรรมละเอียดลึกซึ้งเกินไปและอาจจะสงสัยว่า การศึกษาเรื่องอวิชชาและปัญญาขั้นต่างๆ นั้น มีประโยชน์อะไร แต่ภายหลังก็ย่อมจะเข้าใจได้ว่า ระดับของธรรมขั้นต่างๆ นั้น ย่อมให้ผลต่างกันตามขั้นของธรรมนั้นๆ

-ที่คนเราต่างกันนั้นก็เพราะ สะสมอบรมมาต่างกัน

-การที่เราสะสมอบรมมาต่างกันนั้น ทำให้เรามีความประพฤติต่างกัน

-เมื่อเข้าใจมากขึ้นเรื่องบุคคลสะสมอบรมต่างๆ กัน ก็จะทำให้ติเตียนคนอื่นน้อยลง

-ปัญญาที่เจริญขึ้นทีละเล็กทีละน้อยจะทำให้การสะสมที่มีอยู่ในจิตเปลี่ยนไป

-มีคนไม่น้อยที่คิดว่าเมื่อทำกุศลแล้วก็ส่งกุศลไปให้คนอื่นได้ ทั้งคนที่ล่วงลับไปแล้วและคนที่ยังมีชีวิตอยู่ การเข้าใจอย่างนี้ไม่ถูก ส่งกุศลไปให้คนอื่นไม่ได้ เพราะทุกคนจะได้รับผลของการกระทำของตนเอง

-คนอื่นซึ่งไม่ว่าจะล่วงลับไปแล้วหรือยังมีชีวิตอยู่ก็อาจจะเกิดกุศลจิตได้ เมื่อได้รู้หรือได้เห็นผู้หนึ่งผู้ใดทำกุศล เมื่อกุศลจิตเกิดแล้ว ก็จะได้รับผลของกุศลจิต

-ผู้เจริญวิปัสสนาทำทุกอย่างได้ตามปกติประจำวัน ไม่ต้องทำอะไรผิดปกติ ผู้เจริญวิปัสสนาเริ่มเข้าใจทีละเล็กทีละน้อยว่า มีแต่รูปธรรมและนามธรรมเท่านั้น

ความเห็นถูกในชีวิตประจำวัน

-เราไม่ควรรอโอกาสที่จะอบรมปัญญาด้วยการเจริญวิปัสสนาไว้จนถึงวัยชรา หรือจนกว่าจะถึงวัยพักจากการประกอบอาชีพ

-เมื่ออบรมเจริญวิปัสสนาก็จะรู้จักตัวเองดีขึ้น จะระลึกรู้ลักษณะของอกุศลจิตเมื่อเกิดขึ้น ได้บ่อยขึ้น แม้ในขณะที่กำลังทำกุศล ความทะนงในกุศลอาจจะเกิดขึ้น หรืออาจจะหวังผลอย่างหนึ่งอย่างใดจากกุศลกรรม เช่น คำสรรเสริญ หรือชื่อเสียง

-เมื่อรู้จริงขึ้นทีละเล็กทีละน้อยว่า มีแต่นามและรูปที่เกิดขึ้นเพราะปัจจัยต่างๆ เท่านั้น ในที่สุดก็จะทำให้ละคลายความยึดถือว่าเป็นตัวตนที่ทำกุศลหรืออกุศลลงได้ เมื่อยึดถือความเป็นตัวตนน้อยลง กุศลก็จะบริสุทธิ์ขึ้น

การแสดงธรรม

-เวลาที่เราดีกับใคร เราก็อาจจะช่วยเขาได้อย่างมากก็เพียงทำให้เขารู้สึกสบายใจและคลายความทุกข์กังวลได้ชั่วคราว แต่ก็มีคนที่ยังเป็นทุกข์กังวลอยู่ไม่ว่าเราจะดีกับเขาสักเท่าไรก็ตาม

-มูลเหตุของความสุขและความทุกข์นั้นอยู่ภายในบุคคล เป็นไปไม่ได้ที่เราจะให้ความสุขที่แท้จริงแก่คนอื่น เราเป็นเพียงปัจจัยที่ทำให้เขารู้สึกเป็นสุขได้ชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น

-ไม่พึงตำหนิว่าชนเหล่าใดปฏิบัติผิด ไม่พึงกล่าวว่า ชนเหล่าใดปฏิบัติผิด ชนเหล่าใดปฏิบัติชอบ

-พึงแสดงแต่ธรรมเท่านั้น ธรรมหมายถึงทุกสิ่งที่มีจริง พระผู้มีพระภาคทรงอนุเคราะห์สัตว์โลกให้เจริญปัญญา รู้สภาพธรรมทั้งหลายที่ปรากฏตามความเป็นจริง ไม่ว่าสภาพธรรมนั้นจะเป็นกุศลหรืออกุศล

-ผู้ที่จะชำระจิตให้หมดกิเลส จะต้องรู้ก่อนว่าอะไรเป็นอกุศล และอะไรเป็นกุศล และมีสติรู้ลักษณะของอกุศลที่เกิดขึ้น

-เราจะรู้ลักษณะของจิตได้ ก็ในขณะที่มีสติพิจารณาจิตที่เกิดขึ้นปรากฏ

-ไม่มีใครรู้สภาพจิตใจของผู้อื่นได้เพียงดูจากการกระทำภายนอกเท่านั้น

-อกุศลจิตเกิดจากอกุศลเหตุ ๓ คือ ความโลภ (โลภะ) ความโกรธ (โทสะ) ความหลง (โมหะ)

-เหตุที่ดีงามหรือโสภณเหตุนั้น เป็นสภาพธรรมที่ตรงกันข้ามกับอกุศลเหตุ

-โสภณเหตุ มี ๓ คือ ความไม่โลภ (อโลภะ) ความไม่โกรธ (อโทสะ) ความไม่หลง (อโมหะ)

-ถ้ารักษาศีลเพียงเพราะเป็นพระธรรมโอวาท แต่ไม่รู้เหตุผลของศีลเหล่านั้น ก็จะยับยั้งทุจริตกรรมได้ชั่วครั้งชั่วคราว แต่ถ้ากิเลสแรงกล้า ศีลก็ขาด ถ้ามีปัญญา มีความรู้ความเข้าใจเรื่องอกุศลกรรมและกุศลกรรม และรู้ผลของอกุศลกรรมและกุศลกรรม ก็จะทำให้ล่วงศีลไม่ง่ายนัก การเข้าใจสภาพธรรมทั้งเหตุและผลของธรรมนั้น จะทำให้เจริญกุศลยิ่งขึ้น

-ถ้ารู้ว่าคนเราสะสมเหตุปัจจัยมาต่างๆ กัน ก็จะทำให้ติเตียนคนที่ประพฤติผิดน้อยลง และจะพยายามช่วยให้เขาเกิดปัญญาความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องการสะสมเหตุปัจจัย ถ้าเข้าใจเรื่องเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดการกระทำต่างๆ แล้ว ก็จะทำให้ดำเนินชีวิตในทางที่ดีงามขึ้น

-จิตทุกประเภทเกิดขึ้นเพราะปัจจัยต่างๆ ไม่มีตัวตนที่สามารถจะให้จิตใดเกิดตามปรารถนาได้เลย

-วิบากจิตเป็นผลของอกุศลกรรมหรือกุศลกรรมที่ได้ทำไปแล้ว จิตที่ชอบหรือไม่ชอบที่เกิดต่อมานั้นเป็นอกุศลจิต

-อกุศลจิตที่เกิดขึ้นนั้น สะสมเพิ่มพูนเป็นปัจจัยของอกุศลสืบต่อไปอีก

กุศลกรรม

-ศรัทธา ไม่ได้หมายถึงความเลื่อมใสในบุคคล

-ศรัทธา เป็นความเลื่อมใสในกุศลธรรม เป็นความน้อมใจไปในกุศลด้วยความเชื่อว่า การเจริญกุศลเป็นประโยชน์

-ทุกครั้งที่เป็นกุศลจึงต้องมีศรัทธาด้วย

-การเจริญกุศลมีหลายทาง

-ทานและศีลนั้น ไม่มีปัญญาก็เกิดได้

-แต่ปัญญาก็ทำให้ทานและศีลผ่องใสเป็นกุศลยิ่งขึ้น

-ส่วนภาวนานั้นถ้าไม่มีปัญญาก็เจริญภาวนาไม่ได้

-ปัญญาเป็นปัจจัยที่ขาดไม่ได้เลยในการเจริญภาวนา

-และปัญญาจะเจริญขึ้นก็ด้วยการเจริญภาวนานั่นเอง

-อกุศลจิตทุกประเภทเกิดจากโมหะ ความไม่รู้

-การกระทำที่ไม่ดีเป็นอกุศลกรรมนั้นเกิดจากอกุศลจิต

-กุศลกรรมเกิดจากกุศลจิต

-ขณะใดที่จิตเป็นกุศล ขณะนั้นไม่มี โลภะ โทสะ โมหะ เกิดร่วมกับจิตนี้

-ขณะที่สละวัตถุสิ่งใดให้ผู้อื่น ขณะนั้นก็ขจัดกิเลสออกจากจิตใจด้วย เพราะขณะนั้นคิดถึงประโยชน์สุขของคนอื่น

-เมื่อปัญญาเจริญขึ้นก็รู้ว่า ขณะที่ทำกรรมดีนั้นไม่ใช่ตัวตน แต่เป็นจิตที่เกิดขึ้นเพราะบุญกุศลที่ได้สะสมมาในอดีตเป็นปัจจัย ฉะนั้น จึงไม่ควรที่จะสำคัญตนหรือทะนงตน การเจริญปัญญาซึ่งเป็นสภาพนามธรรมชนิดหนึ่ง ไม่ใช่ตัวตนนั้น จะทำให้เจริญกุศลยิ่งขึ้น

-การรักษาศีลเป็นกุศลกรรม แต่ถ้าไม่มีความเข้าใจที่ถูกต้องก็ไม่ใช่กุศลขั้นสูง ถ้าผู้ใดเข้าใจถูกว่า ขณะละเว้นทุจริตกรรมนั้นเป็นการขัดเกลากิเลส ผู้นั้นก็รักษาศีลด้วยปัญญา

-ตราบใดที่มนุษย์มีชีวิตอยู่ในโลก ก็ย่อมมีเหตุนานัปการที่จะล่วงศีล

-การรักษาศีลให้บริสุทธิ์ครบถ้วนนั้น ไม่อาจสำเร็จได้ในวันเดียว แต่ย่อมจะอบรมการรักษาศีลให้สมบูรณ์ขึ้นได้เป็นลำดับด้วยปัญญา ความเข้าใจที่ถูกต้อง

-เมื่อปัญญาเจริญขึ้นก็จะล่วงศีลไม่ง่ายนัก

-ผู้ที่เจริญปัญญาจนบรรลุคุณธรรม รู้แจ้งอริยสัจเป็นพระโสดาบันบุคคลแล้วไม่ล่วงศีล ๕ เลย การดำรงอยู่ในศีลเป็นคุณธรรมของท่านแล้ว

-คนไทยแสดงความเคารพและความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษ การกระทำเช่นนี้เป็นกุศลกรรม บรรพบุรุษจะล่วงรู้ได้หรือไม่นั้นไม่สำคัญ เพราะไม่ทราบว่า บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วนั้นจะปฏิสนธิในภูมิไหน การระลึกถึงบรรพบุรุษด้วยความกตัญญูกตเวทีนั้นเป็นกุศล

-เราก็ควรเข้าใจการแสดงความเคารพสักการะพระพุทธรูปด้วย การกระทำเช่นนั้นไม่ใช่การสักการะรูปเคารพ การระลึกถึงพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณและพระมหากรุณาคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น เป็นกุศลกรรม

-ปัญญาเป็นปัจจัยให้ทำกุศลกรรม ไม่ว่าใครจะมีหน้าที่อะไรก็ตาม เมื่ออยู่กับใคร คุยกับใคร หรือฟังใครพูด ก็เจริญกุศลได้ทุกขณะ

-เจริญกุศลได้ ถ้าปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเมตตากรุณา

การเจริญภาวนา

-ถ้าใคร่จะรู้ว่าพระผู้มีพระภาคทรงสอนอะไร ก็จะต้องศึกษาพระธรรมวินัยที่พระองค์ทรงแสดงไว้ ซึ่งได้สืบต่อกันมาจนถึงสมัยนี้ โดยประมวลไว้เป็น ๓ ปิฎก คือ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก

-การแสดงธรรมแก่ผู้อื่นนั้นเป็นกุศลธรรมขั้นสูง ซึ่งไม่เพียงแต่จะทำให้ผู้ฟังธรรมเข้าใจชีวิตของตนเองดีขึ้นเท่านั้น ยังทำให้ความเข้าใจธรรมของผู้แสดงธรรมแจ่มแจ้งขึ้นด้วย

-การเจริญสมถภาวนานั้น มีอารมณ์เฉพาะของสมถภาวนาที่จะทำให้จิตสงบระงับจากโลภะ โทสะ โมหะได้ชั่วคราว

-การเจริญสมถภาวนาทำให้จิตสงบได้ แต่ละอนุสัยกิเลสไม่ได้ เมื่อใดฌานจิตไม่เกิด โลภะ โทสะ โมหะก็เกิดอีกได้ ผู้ที่เจริญสมถภาวนาไม่สามารถจะละความเห็นผิดว่ามีตัวตนได้ และตราบใดที่ยังมีความเห็นผิดว่ามีตัวตนอยู่ ก็จะละกิเลสให้หมดสิ้นไปไม่ได้เลย

พระพุทธรัตนะ

-ก่อนที่พระผู้มีพระภาคจะทรงดับขันธปรินิพพาน พระองค์ตรัสกับท่านพระอานนท์ว่า “ดูกรอานนท์ บัดนี้เราแก่เฒ่าเป็นผู้ใหญ่ล่วงกาลผ่านวัยมาโดยลำดับแล้ว วัยของเราเป็นมาถึง ๘๐ ปีแล้ว เพราะฉะนั้น พวกเธอจงมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง มิใช่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือ จงมีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง มิใช่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่เถิด” การมีธรรมเป็นที่พึ่งนั้น คือ การมีสติรู้ลักษณะของนามและรูป นี่คือมรรคมีองค์ ๘ นั้น จะต้องเจริญด้วยตนเอง มิใช่อาศัยผู้อื่นเจริญให้

-พระผู้มีพระภาคตรัสว่า พระธรรมวินัยที่พระองค์ทรงแสดงแล้วนั้น จักเป็นศาสดาแทนพระองค์

พระธรรมรัตนะ

-คนส่วนมากคิดว่าพระธรรมหมายถึงคำสอน แต่ธรรมมีความหมายอีกอย่างหนึ่ง ธรรมหมายถึง ทุกสิ่งที่มีจริง ไม่ว่าสิ่งนั้นจะดีหรือชั่ว

-พระผู้มีพระภาคตรัสกับสังคารวพราหมณ์ถึงปฏิหาริย์ ๓ คือ อิทธิปาฏิหาริย์ ฤทธิ์เป็นอัศจรรย์ ๑ อเทสนาปาฏิหาริย์ ดักใจเป็นอัศจรรย์ ๑ และอนุสาสนีปาฏิหาริย์ คำสอนเป็นอัศจรรย์ ๑ ว่าชอบปาฏิหาริย์อย่างไหน

-พระธรรมเป็นปาฏิหาริย์ที่อัศจรรย์ยิ่ง เพราะพระธรรมสามารถเปลี่ยนวิถีชีวิตของบุคคลได้ การศึกษาพระธรรมทำให้สามารถอบรมเจริญปัญญา ซึ่งเป็นหนทางนำไปสู่นิพพานที่ดับสังสารวัฏฏ์

-ธรรมนี้เป็นธรรมลุ่มลึก ยากที่จะเห็น ยากที่จะรู้ สงบ ระงับ ประณีต ไม่ใช่ธรรมที่จะหยั่งถึงได้ด้วยความตรึก ละเอียด บัณฑิตจึงจะรู้ตามได้

พระสังฆรัตนะ

-สงฆ์ที่เป็นสังฆรัตนะนั้นได้แก่พระอริยบุคคล

-การที่จะเข้าใจเรื่องการรู้แจ้งอริยสัจได้นั้น ก็จะต้องรู้เรื่องการสะสมกิเลสก่อน กิเลสทุกชนิดที่เกิดขึ้น เกิดขึ้นเพราะอกุศลธรรมที่ได้สะสมมาในอดีต

-ความเห็นผิดว่าเป็นตัวตนที่เราได้สะสมมานับชาติไม่ถ้วนนั้น จะละคลายให้หมดสิ้นลงได้ทีละเล็กทีละน้อย

-ผู้ที่ยังมิได้เป็นพระอริยบุคคลนั้น ถึงแม้ว่าจะได้กระทำกรรมดีไว้มากในชาตินี้ ก็ไม่แน่ว่าจะไม่เกิดในอบายภูมิ เพราะอาจจะได้กระทำอกุศลกรรมมาแล้วในอดีตชาติ ซึ่งจะเป็นเหตุให้เกิดในนรกได้

-พระอริยบุคคลเท่านั้นที่แน่นอนว่า จะไม่เกิดในอบายภูมิอีกเลย

ความตาย

-พระผู้มีพระภาคตรัสเรื่องมรณสติ (การระลึกถึงความตาย) เนืองๆ

-พระผู้มีพระภาคตรัสเรื่องความตายเพื่อทรงเตือนให้ระลึกถึงความไม่เที่ยงทุกๆ ขณะ

-ชีวิตนั้นสั้นนัก ฉะนั้นจึงไม่ควรให้เวลาล่วงไปโดยไร้ประโยชน์ แต่ควรเจริญอนิจจสัญญาเสียในขณะนี้ อวิชชาจึงจะหมดสิ้นไปได้

ชีวิต

-สิ่งที่เกิดขึ้นในชาตินี้ มีปัจจัยในอดีต อุปนิสัยที่มีอยู่ในชาตินี้ ก็ย่อมเคยเป็นมาแล้วในอดีตด้วย กรรมใดๆ ที่กระทำในขณะนี้ ก็อาจจะเคยทำมาแล้วในอดีตด้วย

-เราระลึกอดีตชาติไม่ได้ แต่ก็รู้ว่าได้สะสมกิเลสมาแล้วในอดีตกาลนาน

-กิเลสเป็นธรรมที่เศร้าหมอง ไม่บริสุทธิ์ เมื่อรู้จักกิเลสของเราเองมากขึ้น ก็จะเห็นความน่ารังเกียจของกิเลสและความทุกข์ที่เกิดจากกิเลส จะเห็นโทษภัยของกิเลสและจะรู้ว่ากิเลสนั้นหนาแน่น เหนียวแน่น และจะคลายได้ยากเพียงใด

-เพราะอวิชชาที่มีอยู่ จึงปิดบังไม่ให้เห็นเหตุและผลในชีวิต ขณะใดที่ประสบกับอารมณ์ที่น่ายินดีพอใจ ก็ไม่รู้ว่าเป็นแต่เพียงวิบาก (ผลของกรรม) ซึ่งเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปทันที และเมื่อประสบกับอารมณ์ที่ไม่พอใจก็โทษผู้อื่น ไม่รู้ว่าสาเหตุที่แท้จริงนั้นอยู่ที่ตัวเอง เป็นเพราะอกุศลกรรมที่ตนเองเป็นผู้กระทำ

สมถภาวนา

-การศึกษาพระไตรปิฎกจะทำให้เข้าใจพระธรรมมากขึ้น การศึกษาธรรม พิจารณาธรรมและแสดงธรรมแก่ผู้อื่น เป็นปัจจัยให้เกิดกุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญา

-การเจริญสมถกรรมฐานเป็นการไม่เกี่ยวข้องกับรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ฉะนั้น ในขณะที่เจริญสมถกรรมฐาน จิตใจจึงไม่หมกมุ่นในอารมณ์เหล่านั้น จุดประสงค์ของการเจริญสมถภาวนานั้น ก็เพื่อให้มีสมาธิที่มั่นคงซึ่งทำให้ระงับกิเลสได้ชั่วคราว แต่ดับกิเลสเป็นสมุทเฉทไม่ได้ ปัญญาที่เกิดจากการเจริญวิปัสสนาเท่านั้นที่ละกิเลสได้หมดสิ้นเป็นสมุทเฉท

-การเจริญสมถภาวนา มีอารมณ์ คือสมถกรรมฐาน ๔๐

-จุดมุ่งหมายของการเจริญสมถภาวนานั้นเพื่อความสงบ อารมณ์กรรมฐานใดจะเป็นสัปปายะให้เกิดความสงบยิ่งขึ้นนั้น ก็ย่อมแล้วแต่จริตอัธยาศัยของบุคคล

-สมาธิคือ เอกัคคตาเจตสิก ซึ่งเกิดกับจิตทุกดวง ไม่ได้เกิดเฉพาะกับกุศลจิตเท่านั้น เอกัคคตาเจตสิกทำให้จิตตั้งมั่นในอารมณ์เดียว

-สมาธิมีความไม่ฟุ้งซ่านเป็นลักษณะ มีการกำจัดความฟุ้งซ่านเป็นรส มีการไม่หวั่นไหวเป็นความปรากฏ มีความสุขเป็นปทัฏฐาน

-สมาธิในการเจริญวิปัสสนาต่างกับสมถภาวนา ในการเจริญวิปัสสนาสมาธิเกิดกับปัญญาที่รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สมาธิในการเจริญวิปัสสนาเป็นสัมมาสมาธิในมรรคมีองค์ ๘

-สมาธิในการเจริญสมถภาวนานั้นมี ๓ ขั้น ขณะที่จิตระลึกถึงอารมณ์ที่เป็นกรรมฐานในขั้นแรกเป็นบริกัมมสมาธิ ไม่ใช่ฌานจิต เป็นกามาวจรจิต กามาวจรจิต เป็นจิตที่เกิดตามปกติทุกๆ วัน เช่น จิตที่เห็น คิดนึก และอยากได้ เป็นต้น

-ฌานจิตเป็นจิตที่แนบแน่นในอารมณ์กรรมฐาน มี ๒ ประเภท คือ รูปาวจรจิตและอรูปาวจรจิต

-ผู้ที่ไม่รู้เรื่องสมาธิขั้นต่างๆ ก็อาจจะหลงผิดคิดว่าถึงขั้นฌานจิตแล้ว บางคนก็สงสัยว่าใช่ฌานจิตไหม ฌานจิตเกิดกับปัญญา ถ้าสงสัยก็แสดงว่าไม่มีปัญญา

วิปัสสนาภาวนา

-สติเป็นโสภณเจตสิกที่เกิดกับโสภณจิตเท่านั้น โสภณจิตทุกดวงมีสติเกิดร่วมด้วย สติกั้นอกุศลธรรมไม่ให้เกิดขึ้น สติเกิดกับจิตที่ดีงาม

-สติเกิดกับจิตที่ดีงามทุกดวง ไม่ว่าจะเป็นในทาน ศีล หรือภาวนาก็ตาม แต่สติแต่ละขั้นนั้นก็ต่างกันตามประเภท

-ในการเจริญวิปัสสนา ปัญญาเป็นสภาพธรรมที่รู้ลักษณะของนามและรูปที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ปัญญาที่รู้เช่นนี้จะเกิดไม่ได้ถ้าไม่ได้เจริญสติ

-เราบังคับให้สติเกิดไม่ได้ เพราะสติเป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง ไม่ใช่ตัวตน สติจะเกิดได้ก็เมื่อมีเหตุปัจจัย

-เวลาเราพูดถึงเหตุ เรามักจะคิดถึงเหตุอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดผลอย่างหนึ่ง แต่ว่ามีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้เกิดนามและรูปแต่ละชนิด

มรรคมีองค์ ๘

-ปรมัตถธรรมมี ๔ ประเภท คือ จิต เจตสิก รูป และนิพพาน มรรคมีองค์ ๘ เป็นเจตสิกทั้ง ๘ องค์ เป็นโสภณเจตสิกเกิดกับโสภณจิตที่ระลึกรู้ลักษณะของนามและรูป

-การระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปนั้น เป็นการเจริญมรรคมีองค์ ๘ ขณะใดที่เจตสิกธรรมซึ่งเป็นมรรคมีองค์ ๘ นี้ ไม่เกิดกับโลกุตตรจิต (จิตที่รู้แจ้งนิพพาน) ขณะนั้นก็เป็นโลกียธรรม

-ขณะใดที่เจตสิกเป็นมรรคมีองค์ ๘ เกิดกับโลกุตตรจิต ขณะนั้นก็เป็นโลกุตตรมรรค

-ขณะใดที่สติเกิดขึ้นระลึกลักษณะของนามธรรมรูปธรรมที่ปรากฏ (ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) ขณะนั้นก็เป็นการเจริญมรรคมีองค์ ๘

-กิเลสของเราทำให้เราไม่มีความสุข

-ขณะที่กำลังเจริญมรรคมีองค์ ๘ นั้น ยังดับกิเลสไม่หมด แต่ก็เกิดปัญญารู้ความจริงของชีวิตมากขึ้น ทำให้ความมืดมนในชีวิตเบาบางลง ซึ่งก็จะมีความสุขมากขึ้น....ความสัมพันธ์กับคนอื่นก็จะเปลี่ยนไป เราจะเข้าใจคนอื่นๆ ดีขึ้น และจะมีความเมตตากรุณามากขึ้น

-มรรคองค์แรกคือสัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูก ถ้าไม่มีความเห็นถูกในนามและรูปในข้อปฏิบัติที่เป็นการเจริญปัญญา ก็เจริญมรรคมีองค์ ๘ ไม่ได้ สัมมาทิฏฐิเป็นปัญญารู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

-คนโดยมากคิดว่า การเจริญวิปัสสนาสามารถจะแก้ความยุ่งยากทุกอย่างให้หมดสิ้นไปได้ทันที เขาคิดว่าดับกิเลสได้ทันที

-จุดประสงค์ของการเจริญวิปัสสนาก็เพื่อรู้ความจริงที่เกิดปรากฏกับตน เพื่อดับความเห็นผิดว่าเป็นตัวตน

-ในการเจริญมรรคมีองค์ ๘ หรืออีกนัยหนึ่งมัชฌิมาปฏิปทา (ทางสายกลาง) นั้น สติระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปชนิดใดก็ได้ที่กำลังปรากฏ ถึงแม้ว่าจะเป็นอกุศลธรรมก็ได้

-ขณะที่รู้สึกเฉยๆ นั้น ก็เป็นอกุศลจิตได้

-การกังวลเรื่องโลภะและโทสะนั้นเปล่าประโยชน์ ทำไมจึงไม่ระลึกรู้เสียในขณะนั้นเล่าว่าเป็นแต่เพียงนามธรรม และก็ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมอื่นๆ ที่ปรากฏด้วย

-การเจริญวิปัสสนา ถ้าเลือกอารมณ์ ก็เป็นเพราะความเห็นผิดว่าเป็นตัวตน

-เมื่อยังไม่ใช่พระอริยบุคคล ความเห็นผิดว่าเป็นตัวตนก็ไม่หมดสิ้นไปได้ ยังมีปัจจัยให้เห็นผิดว่าเป็นตัวตนอยู่

-การเจริญสัมมามรรคนั้น จะต้องมีความเข้าใจถูกในข้อปฏิบัติเป็นเบื้องแรก ถ้าในเบื้องแรกมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนก็จะทำให้ปฏิบัติผิดไปนาน และยากเหลือเกินที่จะกลับมาสู่ทางที่ถูกได้อีก

-ถ้าปฏิบัติผิดต่อไป ก็จะมีความเห็นผิดต่อไปอีกไม่รู้ว่ากี่ภพกี่ชาติ

-สภาพธรรมทั้งหลายที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นสติปัฏฐานได้

-เมื่อเจริญสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมต่างๆ บ่อยๆ เนืองๆ ก็จะเริ่มชินกับสภาพธรรมเหล่านั้น และรู้ลักษณะที่ต่างกันของสภาพธรรมชัดเจนขึ้น ด้วยประการฉะนี้ จึงจะเป็นการเจริญมรรคมีองค์ ๘

องค์มรรค ๘

-การเจริญกุศลเป็นสิ่งสำคัญ มิใช่แต่ในการกระทำและคำพูดเท่านั้น แต่ในการคิดนึกด้วย

-การนมัสการสังเวชนียสถาน เป็นการแสดงศรัทธาในพระธรรมและการระลึกถึงคุณของพระธรรม ซึ่งแม้จะล่วงไปถึง ๒๕๐๐ กว่าปีแล้ว ก็ยังมีประโยชน์เกื้อกูลแก่เราได้ในขณะนี้

-ในมหาสติปัฏฐาน สภาพธรรมทุกชนิดเป็นสติปัฏฐาน

-เมื่อรู้ว่าไม่มีสภาพธรรมใดที่ไม่ใช่สติปัฏฐาน ก็จะเริ่มรู้ว่า สภาพธรรมทั้งหลายนั้นก็เป็นเพียงนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้น

-วิตกเจตสิกนั้น ไม่เหมือนกับที่เราใช้คำว่า “คิด” ตามที่เราพูดกัน ในวิสุทธิมรรค (ปฐวีกสิณนิทเทส) แสดงลักษณะของวิตกเจตสิกดังนี้ “วิตกนี้นั้น มีอันจรดลงซึ่งจิตในอารมณ์เป็นลักษณะ มีอันกระทบก่อนและอันกระทบโดยทั่วๆ ไป เป็นรส (กิจ) มีการนำจิตไปสู่อารมณ์เป็นเครื่องปรากฏ”

-การรู้ลักษณะของอารมณ์ที่ปรากฏไม่เหมือนกับการคิดเรื่องสภาพธรรมที่ดับไปแล้ว

-เวลาพยายามไม่ให้คิดนั้นไม่ใช่การเจริญมรรคมีองค์ ๘

-ตลอดชีวิตมีอารมณ์ต่างๆ ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ความคิดก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง

-ถ้าไม่ระลึกรู้ก็ย่อมเห็นผิดว่าเป็นตัวตนที่คิดและเป็นตัวตนที่พยายามไม่ให้คิด

-แม้จะเพียงดูเฉยๆ ก็แสดงแล้วว่า ไม่ใช่การเจริญมรรคมีองค์ ๘

-เราอาจจะละเว้นวจีทุจริตและกายทุจริต โดยไม่ระลึกรู้ลักษณะของนามและรูป ฉะนั้นจึงไม่ใช่สัมมาวาจาและสัมมากัมมันตะที่เป็นองค์ของมรรคมีองค์ ๘ ขณะนั้นเป็นกุศล แต่ไม่ใช่กุศลที่เป็นขั้นมรรคมีองค์ ๘

-เมื่อได้ศึกษาพระธรรมก็รู้ว่าขณะใดเป็นอกุศลจิต และรู้โทษภัยของอกุศล เมื่อรู้วิธีเจริญสติปัฏฐานก็เป็นปัจจัยให้ละเว้นวจีทุจริตแทนที่จะเกิดอกุศลจิต ก็อาจจะเกิดกรุณาในผู้ที่กล่าววจีทุจริต

-ในขณะที่ละเว้นวจีทุจริตก็เป็นสัมมาวาจาในมรรคมีองค์ ๘ จิตที่ระลึกรู้นั้นเป็นจิตที่มีสัมมาทิฏฐิและสัมมาสติที่เป็นมรรคมีองค์ ๘ เกิดร่วมด้วย

-เวลาเจริญสติแล้ว ปัจจัยที่จะให้เกิดวจีทุจริตนั้นลดน้อยลง นิสัยและการสะสมเปลี่ยนไปได้ แต่ไม่ใช่ตัวตนที่สามารถเปลี่ยนนิสัยและการสะสมได้ ความเข้าใจธรรมและการปฏิบัติธรรมเป็นปัจจัยที่ทำให้เปลี่ยนไป

-เราพิสูจน์ได้ด้วยตัวเองว่า พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงนั้น เป็นสัจธรรม และศรัทธาในพระธรรมก็จะมั่นคงยิ่งขึ้น

-เราทำกรรมดีชดใช้กรรมชั่วไม่ได้เพราะแต่ละกรรมก็ให้ผลตามควรแก่กรรมนั้นๆ ไม่มีอะไรเกิดขึ้นโดยไม่มีเหตุปัจจัย

-เมื่อเจริญสติก็เป็นปัจจัยให้กระทำกิจการงานด้วยกุศลจิตมากขึ้น

-ถ้าเราช่วยให้คนอื่นเข้าใจธรรม เราก็ช่วยสังคมในทางที่ดีที่สุด และมีส่วนช่วยให้โลกสงบสุขด้วย

-ปัจจัยที่ทำให้อุปนิสัยเปลี่ยนไปได้มากนั้น ก็คือการเจริญวิปัสสนา ความเห็นชอบในสภาพธรรมตามความเป็นจริง

-ทุกคนจะรู้ด้วยตัวเองว่า เมื่อเจริญมรรคมีองค์ ๘ นั้น อุปนิสัยจะค่อยๆ เปลี่ยนไป แม้ว่ายังไม่บรรลุอริยสัจธรรมก็ตาม

สัมมาวายามะ

-การละคลายการยึดถือว่าเป็นตัวตนนั้นหมดสิ้นไปเพียงด้วยการคิดนึกเท่านั้นไม่ได้

-ปัญญาที่รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏเท่านั้นที่รู้ชัดในสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ เมื่อรู้ชัดสภาพธรรมตามความเป็นจริงแล้ว ก็ละคลายความเห็นผิดว่าเป็นตัวตนได้จริง

-การใคร่ครวญเหตุผลเหล่านี้จะทำให้รู้ตัวว่า รู้น้อยแค่ไหน

-เมื่ออบรมปัญญา ก็จะเริ่มเห็นความต่างกันของความรู้ขั้นปริยัติกับการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม

-เราไม่รู้ว่าเราจะอยู่ในโลกนี้อีกนานสักเท่าไร และไม่รู้ว่าชาติหน้านั้นจะเจริญวิปัสสนาได้หรือไม่ เมื่อศึกษาพระธรรมเรื่องเกิด แก่ เจ็บ ตาย และภัยของการเกิด ก็จะทำให้ไม่ละเลยที่จะเจริญสติเท่าที่จะกระทำได้ เมื่อรู้ว่าควรเร่งรีบเจริญสติ สัมมาวายามะก็จะเจริญขึ้น ไม่ต้องคิดว่าจะตั้งใจพยายาม

-พระธรรมที่ได้ทรงแสดงแล้วอย่างสมบูรณ์นั้น ทำให้อาจหาญ ร่าเริงในการเจริญสติ

สัมมาสติ

-ขณะที่ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏทางทวารหนึ่งทวารใดนั้นก็เป็นสติ

-สัมมาสติ การระลึกชอบ เป็นองค์หนึ่งในมรรคมีองค์ ๘

-เมื่อมีสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็มีสัมมาสติด้วย

-สัมมาสติต้องเกิดร่วมกับสัมมาทิฏฐิ

-การศึกษาธรรม การพิจารณาธรรม การศึกษาเรื่องข้อปฏิบัติที่ถูกต้อง การรู้คุณอเนกประการของสติเหล่านี้เป็นปัจจัยให้เกิดสติ

-ขณะของสติสั้นมาก เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปพร้อมกับจิต สติไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตน สติเกิดขึ้นแล้วดับ แต่ก็เกิดอีกเมื่อมีเหตุปัจจัย

-ความเห็นถูกเป็นปัจจัยของสัมมาสติในมรรคมีองค์ ๘

-เมื่อได้รู้ด้วยตนเองว่า พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องมัชฌิมาปฏิปทาเป็นหนทางเดียวจริงๆ ที่จะนำไปสู่ที่ดับกิเลส ความเลื่อมใสในพระธรรมก็จะมั่นคงขึ้นทุกที

-วิปัสสนาไม่ใช่สมถภาวนา วิปัสสนาเป็นญาณ ญาณเป็นปัญญา วิปัสสนาเป็นปัญญาประเภทหนึ่ง คือ เป็นปัญญาที่รู้สภาพธรรมทั้งหลายตามความเป็นจริง

-เราไม่รู้ว่าเราจะตายเมื่อไร ถ้าเราเจริญสติเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ก็มีปัจจัยให้สติเกิดก่อนจะสิ้นชีวิตได้ จิตที่เกิดก่อนขณะจุติ (ตาย) เป็นปัจจัยของปฏิสนธิจิตในชาติต่อไป

-ถึงแม้ว่าจะอยู่กับคนมากๆ ก็เป็นการอยู่ลำพังกับนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏในขณะนั้นได้

สัมมาสมาธิ

-สัมมาสมาธิในสมถภาวนา เป็นสภาพธรรมที่ตั้งมั่นในอารมณ์ที่เป็น สมถกรรมฐานเพื่อให้เกิดความสงบ สัมมาสมาธิในมรรคมีองค์ ๘ เกิดร่วมกับสัมมาทิฏฐิและสัมมาสติ ซึ่งมีลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นอารมณ์

-การตั้งมั่นในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏไม่ใช่การจดจ้องอยู่นานๆ อย่างในการเจริญสมถภาวนา สัมมาสมาธิในมรรคมีองค์ ๘ เกิดร่วมกับจิตที่รู้ลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรมแล้วดับไปพร้อมกับจิตดวงนั้น สัมมาสมาธิในการเจริญวิปัสสนาเป็นขณิกสมาธิ (สมาธิเป็นขณะๆ)

-เมื่อสติเจริญขึ้นความรู้ลักษณะของสภาพธรรมก็จะชัดเจนขึ้น

-การเจริญวิปัสสนาไม่ต้องทำอะไรผิดปกติเพื่อให้จิตตั้งมั่นในสภาพธรรมที่ปรากฏ ขณะใดที่มีสัมมาสติในมรรคมีองค์ ๘ ขณะนั้นก็มีสัมมาสมาธิในมรรคมีองค์ ๘ ด้วย

-การเจริญสมถภาวนา ต้องมีทั้งสติและปัญญา แต่เป็นสติและปัญญาต่างขั้นกับการเจริญวิปัสสนา การเจริญสมถภาวนาไม่ทำให้ละความเห็นผิดว่าเป็นตัวตน

-จุดประสงค์ในการเจริญวิปัสสนาแม้ในเบื้องต้นนั้นก็คือ การอบรมเจริญปัญญาที่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง

-ถ้าคิดว่าต้องเจริญสมถภาวนาก่อนเจริญวิปัสสนาเพื่อให้เกิดสติมากๆ สัมมาทิฏฐิในมรรคมีองค์ ๘ ก็เกิดไม่ได้

-สัมมาทิฏฐิและสัมมาสังกัปปะ เป็นองค์ของปัญญาในมรรคมีองค์ ๘

-สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ และสัมมาอาชีวะ เป็นองค์ของศีล ในมรรคมีองค์ ๘

-สัมมาวายามะ สัมมาสติและสัมมาสมาธิ เป็นองค์ของสมาธิในมรรคมีองค์ ๘

-เมื่อองค์มรรคเหล่านี้เจริญขึ้น ความรู้สภาพของนามธรรมและรูปธรรมก็ชัดแจ้งขึ้น ฉะนั้น ปัญญาความรู้เท่านั้นที่ละคลายการยึดมั่นนามธรรมและรูปธรรมได้

อุดมมงคล

-ผู้ที่เป็นบัณฑิตไม่ต้องการให้ใครเชื่อตามอย่างงมงาย แต่จะช่วยให้รู้ทางที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องเชื่อตามผู้อื่น

-บัณฑิตชักพาให้ตรงไปสู่พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงและเกื้อกูลให้ศึกษาพระไตรปิฎก ซึ่งจะทำให้มีโยนิโสมนสิการ พิจารณาสภาพด้วยความแยบคาย และประจักษ์สภาพธรรมด้วยตนเอง

-ผู้ที่เป็นบัณฑิตไม่แสดงธรรมที่ผิดไปจากพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดง ไม่ชี้ทางปฏิบัติที่ไม่ทำให้รู้แจ้งอริยสัจ ไม่สอนให้คนละเลยการศึกษาและการเจริญสติแต่จะเตือนให้เจริญสติระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น

-ภิกษุผู้เจริญมรรคมีองค์ ๘ และบรรลุอริยสัจธรรมแล้ว จะไม่ลาสิกขาบถกลับคืนไปสู่ “เพศต่ำ” อีกเลย (ในสังยุตตนิกาย มหาวารวรรค นทีสูตร)


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 8 มิ.ย. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
nong
วันที่ 9 มิ.ย. 2558

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
thassanee
วันที่ 9 มิ.ย. 2558

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
thilda
วันที่ 10 มิ.ย. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาเจ้าของกระทู้อย่างยิ่งค่ะ

-เมื่อพิจารณาสภาพธรรมในขั้นปรมัตถ์นั้นก็พิจารณาดังนี้ “แท้จริงไม่มีใครเลย ฉะนั้นจะยึดติดในใครได้เล่า”

-เมื่อเข้าใจมากขึ้นเรื่องบุคคลสะสมอบรมต่างๆ กัน ก็จะทำให้ติเตียนคนอื่นน้อยลง

-ในขณะที่ละเว้นวจีทุจริตก็เป็นสัมมาวาจาในมรรคมีองค์ ๘ จิตที่ระลึกรู้นั้นเป็นจิตที่มีสัมมาทิฏฐิและสัมมาสติที่เป็นมรรคมีองค์ ๘ เกิดร่วมด้วย

-เวลาเจริญสติแล้ว ปัจจัยที่จะให้เกิดวจีทุจริตนั้นลดน้อยลง นิสัยและการสะสมเปลี่ยนไปได้ แต่ไม่ใช่ตัวตนที่สามารถเปลี่ยนนิสัยและการสะสมได้ ความเข้าใจธรรมและการ

ปฏิบัติธรรมเป็นปัจจัยที่ทำให้เปลี่ยนไป

-ปัจจัยที่ทำให้อุปนิสัยเปลี่ยนไปได้มากนั้น ก็คือการเจริญวิปัสสนา ความเห็นชอบในสภาพธรรมตามความเป็นจริง

-ทุกคนจะรู้ด้วยตัวเองว่า เมื่อเจริญมรรคมีองค์ ๘ นั้น อุปนิสัยจะค่อยๆ เปลี่ยนไป แม้ว่ายังไม่บรรลุอริยสัจธรรมก็ตาม

-ความเห็นถูกเป็นปัจจัยของสัมมาสติในมรรคมีองค์ ๘

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
kullawat
วันที่ 10 มิ.ย. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
peem
วันที่ 10 มิ.ย. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่ 10 มิ.ย. 2558
สาธุ อนุโมทนา และ ขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
สิริพรรณ
วันที่ 13 มิ.ย. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
สิริพรรณ
วันที่ 14 มิ.ย. 2558
กราบขอบพระคุณและอนุโมทนาในกุศลวิริยะค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
Jarunee.A
วันที่ 5 พ.ย. 2566

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
chatchai.k
วันที่ 10 พ.ย. 2566

ยินดีในกุศลจิตครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ