ภิกษุรับทองเงิน ได้หรือไม่? หรืออย่างไร?

 
แค่ความเห็น
วันที่  19 มิ.ย. 2558
หมายเลข  26651
อ่าน  5,358

ในหนังสือ"พระไตรปิฎกเพื่อประชาชน"_สุชีพ ปุญญานุภาพ อ้างถึงพระไตรปิฎก เล่มที่2 โกสิยวรรค (8) (ห้ามรับทองเงิน) แต่ที่ฟุตโน้ต ระบุว่า "ภายหลังทรงอนุญาตให้ยินดีในปัจจัย 4 ได้ คือ ทายกมอบเงินไว้แก่ไวยาวัจจกร เพื่อให้จัดหาปัจจัย 4 คือ .. .. ภิกษุต้องการอะไร ก็บอกให้เขาจัดหาให้ จึงมีประเพณีถวายใบปวารณาปัจจัย 4"

ผมว่า ยุคนี้มีธนาคาร ให้ธนาคารเป็น"ไวยาวัจจกร" ก็สะดวกถวายบัตรเอทีเอ็ม โดยให้โยมไปเบิกเพื่อสิ่งสมควรแก่สมณบริโภค/ใช้จ่ายตาม"ความจำเป็น" เช่น ค่ายานพาหนะ ก็อนุโลมได้ .. สำคัญที่การวางใจ อย่าให้กิเลสมีกำลังมากเกินสมณสารูป

การศึกษาพระวินัย เป็นสิ่งสำคัญมาก .. แต่ต้องรอบคอบพอ _มิฉะนั้นเกิดโทษ/ทำลายประโยชน์ที่ควร

("สติรักษาศีล/สีลสิกขา เป็นเหตุหนึ่งให้ได้สัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิ เป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญาธรรม")


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 19 มิ.ย. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น พระธรรมวินัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นไปเพื่อการกำจัดกิเลสที่แต่ละบุคคลได้สะสมมาอย่างเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์ แต่ถ้าไม่ได้ศึกษา ไม่ได้เข้าใจถูกต้องตรงตามพระธรรมวินัยแล้วโอกาสที่จะกระทำผิด ก็ย่อมจะมีได้ หรือในอีกกรณีหนึ่ง คือ ทั้งๆ ที่รู้ว่า เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ไม่ตรงตามพระธรรมวินัย แต่ก็มีเจตนาที่จะล่วงละเมิดสิกขาบทนั้นๆ เพราะกำลังของกิเลส โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ ความไม่ละอาย ความไม่เกรงกลัวต่ออกุศล นั่นเอง สำหรับเงินและทองนั้น เป็นสิ่งที่ไม่สมควรแก่เพศพระภิกษุ โดยประการทั้งปวงเป็นเครื่องเศร้าหมองของบรรพชิตจริงๆ ทำให้เกิดความติดข้อง เป็นห่วงกังวล และไม่ต่างอะไรกับคฤหัสถ์ เพราะพระภิกษุ รับเงินและทองไม่ได้ เป็นอาบัติไม่มีข้ออ้างหรือข้อยกเว้นใดๆ ทั้งสิ้น ชีวิตพระภิกษุ เป็นชีวิตที่ขัดเกลาเป็นอย่างยิ่ง เงินทองไม่จำเป็นสำหรับพระภิกษุ พระภิกษุผู้ที่ไม่ละอาย ไม่เคารพยำเกรงในพระธรรมวินัย ก็มีการล่วงสิกขาบทต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือ การรับเงินรับทอง

การรับเงิน รับทอง เป็นอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ การที่จะแสดงอาบัติข้อนี้ให้ตนเองเป็นผู้พ้นจากอาบัติได้ ต้องมีการสละให้ถูกต้องตามพระวินัยเสียก่อน แล้วจึงจะแสดงอาบัติตก แต่ถ้าไม่ทำการสละเลย แล้วแสดงอาบัติ ก็ไม่พ้นจากอาบัติ เป็นผู้มีอาบัติติดตัวเป็นอันตรายมากในเพศบรรพชิต, เพศบรรพชิตต้องเคารพพระธรรมวินัย ถ้าต้องการเงิน ต้องการใช้เงิน ไม่ต้องบวช เพราะจุดประสงค์ที่แท้จริงในการบวช ก็เพื่อขัดเกลากิเลส เท่านั้น ไม่ใช่เพื่อเพิ่มกิเลส ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
athisamai
วันที่ 19 มิ.ย. 2558

มีความเข้าใจผิดและจงใจทำให้เข้าใจผิดที่ว่า ไวยาวัจจกรถือเงินแทนพระภิกษุ ด้วยคิดว่าพระภิกษุจับเงินไม่ได้ ความคิดนี้น่ากลัวมาก ความจริงไม่ใช่จับเงินไม่ได้ แต่มีเงินหรือมีสิทธิ์ในเงินไม่ได้ต่างหาก มีเงินหมายถึงมีสิทธิ์ในเงินเช่นมีเงินในบัญชีธนาคารเวลาจะใช้ก็ให้ใครไปเบิกโดยพระไม่ต้องจับเงินเอง อย่างนี้ทำผิดตามสำนวน "เลี่ยงบาลี" จะจับหรือไม่จับก็ผิด ความจริงพระวินัยทั้งบาลีและไทยชัดเจนแบบไม่ต้องตีความว่าพระภิกษุในธรรมวินัยนี้รับเงินและทองไม่ได้ไม่ว่ากรณีใดๆ ถ้ารับก็เป็นภิกษุนอกธรรมวินัย ถ้ารับก็แสดงว่าจงใจทำผิด พระองค์ใช้คำกับพวกนี้ว่า "ผู้-เก้อ-ยาก"

การมอบเงินไว้แก่ไวยาวัจจกร เป็นการมอบไว้เพื่อให้ไวยาวัจจกรถือเงินและใช้เงินแทนโยมผู้ถวาย ทำหน้าที่อุปัฏฐากแทนโยมผู้ถวายต่างหากครับ ไม่ใช่ถือเงินแทนพระภิกษุ โยมผู้ถวายควรวินิจฉัยเองว่าไวยาวัจจกรเป็นผู้ควรแก่การนี้หรือไม่ พระไม่มีสิทธิ์อ้างว่าไวยาวัจจกร จะยักยอกเงินนั้นหรือไม่ หากยักยอกหรือเอาไปใช้เองก็เข้าข่ายทำอทินนาทานต่อโยมผู้ถวายไม่ใช่ต่อพระ เพราะพระไม่ใช่เจ้าของเงิน

ธรรมวินัยหรือพระพุทธศาสนาเป็นของพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์มอบเป็นมรดกให้กับบริษัทสี่ ให้เป็นศาสดาแทนพระองค์ การละเมิดธรรมวินัยคือละเมิดพระองค์

ความรอบคอบและปัญญาที่มีควรใช้เพื่อรักษาธรรมวินัย หากวินัยยังอยู่ธรรมก็อยู่ได้ ใครทำลายธรรมวินัยลองนึกดูว่าโทษบาปจะมากมายเพียงใด นึกแล้วน่าหวาดกลัวที่สุดครับ

ถึงกาลที่ควรถวายก็ควรถวายของที่ถูก เพราะของที่ถวายมีถูกและผิด ช่วงเวลาที่จะถวายก็มีถูกและผิด ถวายเงินพระทำลายธรรมวินัยจะได้บุญหรือไม่ ลองตรองดูครับ การสืบทอดและรักษาพระศาสนาควรเรียนรู้ให้มีปัญญารู้ถูกเห็นถูก จนถึงปฏิบัติบูชาและหลุดพ้น จึงได้ชื่อว่าสืบทอดพระศาสนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 19 มิ.ย. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
พระภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ไม่รับเงินและทอง รับเงินและทองไม่ได้ เป็นผู้ปราศจากเงินและทองอย่างสิ้นเชิง เพราะท่านเหล่านั้น ต้องสละทรัพย์สินเงินทองก่อนบวชแล้ว ดังนั้น เมื่อบวชเป็นพระภิกษุแล้ว จึงรับเงินและทองไม่ได้ เงินทองไม่ควรแก่เพศบรรพชิตโดยประการทั้งปวง ไม่มีพระพุทธดำรัสแม้แต่คำเดียวที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสให้พระภิกษุรับ
เงินและทองหรือไปแสวงหาเงินและทอง ตามข้อความจาก
[เล่มที่ 29] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๒ มณิจูฬกสูตร ว่า
“ทองและเงินไม่ควรแก่สมณศากยบุตร สมณศากยบุตรย่อมไม่ยินดีทองและเงิน สมณศากยบุตร ห้ามแก้วและทอง ปราศจากทองและเงิน ... เรามิได้กล่าวว่า สมณศากยบุตรพึงยินดี พึงแสวงหาทองและเงินโดยปริยายอะไรเลย”
พระภิกษุ คือ เพศที่สูงกว่าคฤหัสถ์ เป็นเพศที่ขัดเกลากิเลสเป็นอย่างยิ่ง เป็นผู้เว้นโดยทั่ว ได้แก่ เว้นจากกิเลส เว้นจากความติดข้องยินดีพอใจในกาม จะเห็นได้ว่าผู้ที่ออกบวชเป็นบรรพชิตนั้น ต้องสละทุกสิ่งทุกอย่าง คือ สละอาคารบ้านเรือน สละทรัพย์สมบัติ สละวงศาคณาญาติ บวชเป็นบรรพชิตเพื่อขัดเกลากิเลสของตนเองจริงๆ ท่านสละอาคารบ้านเรือนแล้ว ย่อมเป็นผู้ไม่มีเรือน รวมถึงสละทรัพย์สมบัติทั้งปวงด้วยไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินเงินทอง เป็นต้น เมื่อสละสิ่งเหล่านี้แล้ว ก็ไม่ควรรับสิ่งเหล่านี้ ไม่ควรมีสิ่งเหล่านี้ เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่เหมาะควรแก่เพศบรรพชิตโดยประการทั้งปวง
ตามความเป็นจริงแล้ว บุคคลผู้ที่จะบวชจะต้องเป็นผู้ที่มีอัธยาศัยน้อมไปในการบวชจริงๆ รู้จักตนเองและพิจารณาตนเองโดยละเอียดว่า สามารถที่จะดำรงเพศที่มีคุณธรรมสูงกว่าคฤหัสถ์ได้หรือไม่? เพศบรรพชิตเป็นเพศที่สูงกว่าคฤหัสถ์เป็นอย่างยิ่งที่สูงกว่านั้น สูงเพราะคุณธรรม เนื่องจากว่าผู้ที่เป็นบรรพชิต จะต้องมีความมั่นคงที่จะสละกิเลสทุกอย่างทุกประการ มากกว่าผู้ที่เป็นคฤหัสถ์ พร้อมกันนั้นก็จะต้องเป็นผู้มีความอดทน มีความเพียรที่จะศึกษาพระธรรมวินัยให้เข้าใจอย่างถูกต้อง น้อมประพฤติในส่วนที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาต และงดเว้นจากสิ่งที่พระองค์ทรงห้ามโดยประการทั้งปวง นี้คือชีวิตที่แท้จริงของบรรพชิต ซึ่งมีความแตกต่างจากคฤหัสถ์ ถ้าบรรพชิตใดมีความเป็นอยู่ไม่ต่างกับคฤหัสถ์ ยังต้องการทรัพย์สมบัติ ยังมีจิตใจเหมือนคฤหัสถ์ผู้อยู่ครองเรือนทุกประการ นั่นก็ไม่ใช่วิสัยของผู้ที่มีอัธยาศัยที่จะเป็นบรรพชิตที่แท้จริงถ้าต้องการทรัพย์สินเงินทอง อยากมีทรัพย์สินเงินทอง ก็ไม่ต้องบวช เพราะผู้ที่เป็นพระภิกษุจะต้องเป็นผู้บริสุทธิ์จริงๆ จึงควรแก่การครองผ้ากาสาวพัสตร์ซึ่งเป็นเพศที่สูงยิ่ง ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
wannee.s
วันที่ 19 มิ.ย. 2558

ถ้าคฤหัสถ์ศึกษาธรรมและรู้พระวินัยก็มีส่วนช่วยให้ท่านไม่ต้องอาบัติ ส่วนภิกษุที่เคารพพระธรรมวินัยก็จะไม่รับเงินทอง เพราะผิดวินัยเป็นอาบัติ ถ้าบวชเป็นพระภิกษุแล้วไม่รักษาพระวินัยมีโทษมาก เป็นเหตุให้ไปสู่อบายภูมิ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
chatchai.k
วันที่ 19 มิ.ย. 2558

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
peem
วันที่ 20 มิ.ย. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่ 22 ก.ย. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
Jarunee.A
วันที่ 31 ต.ค. 2566

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ