มีชีวิตอยู่ด้วยปัญญา ชีวิตที่ประเสริฐ
Slowlife หรือ มีชีวิตอยู่ด้วยปัญญา ชีวิตที่ประเสริฐ
Slow life ที่เป็นการใช้ชีวิตที่เรียบง่าย ไม่เร่งรีบ อยู่กับธรรมชาติ เป็นต้น หรือ จะเป็นชีวิตที่เร่งรีบ อย่างไรก็ตาม แท้ที่จริง ชีวิต คือ การเกิดขึ้นเป็นไปของสภาพธรรมที่เป็น จิต เจตสิก ที่เป็น กุศล อกุศล และ วิบากที่เป็นผลของกรรม ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นไปตามเหตุปัจจัย ตามการสะสมของแต่ละจิตที่สะสมมาไม่เหมือนกันเลย เพราะแต่ละคนก็แต่ละหนึ่ง ธรรมทั้งหลายจึงแสดงถึงความเป็นอนัตตา ไม่สามารถบังคับบัญชาให้เป็นไปตามอย่างนั้น อย่างนี้ ให้ใช้ชีวิตอย่างนั้นอย่างนี้ได้เลย เพราะจิต เจตสิก คือ ชีวิตเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัยของสภาพธรรมแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน
ในสมัยพุทธกาล ชีวิตคฤหัสถ์ของแต่ละท่าน หรือ สัตว์โลก แต่ละท่านก็เป็นไปตามเหตุปัจจัย ตามการสะสม จะกล่าวได้ว่า สไตล์การใช้ชีวิตแสดงถึงอนัตตา บังคับไม่ได้ แตกต่างกันตามสภาพธรรมที่แตกต่างกันไป ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ค้าขาย มีภารกิจยุ่งยาก แต่ท่านก็แบ่งเวลาฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม และอบรมปัญญาเป็นพระอริยเจ้า เป็นพระโสดาบัน พระเจ้าพิมพิสาร มีกิจการงานมากมาย เร่งรีบ ด้วยเหตุปัจจัยให้เป็นไป เพราะธรรมเป็นอนัตตา แต่ท่านก็ใช้ชีวิตที่เป็นปกติ ด้วยการเจริญอบรมปัญญา ท่านก็เป็นพระโสดาบัน เป็นพระอริยเจ้า คือ บุคคลที่ประเสริฐ เพราะฉะนั้น บุคคลเหล่านั้นที่แตกต่างกันไป แต่ชีวิตที่ประเสริฐ คือ อย่างไร คือ ชีวิตที่อยู่ด้วยปัญญา อันเป็นชีวิตที่ประเสริฐ ตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง
ไม่ว่าจะใช้ชีวิตอย่างไร ก็เป็นไปตามเหตุปัจจัย จะเร่งรีบ จะช้า ไม่เร่งรีบ อยู่กับธรรมชาติ แต่สิ่งที่น่าคิดพิจารณาว่า เป็นชีวิตที่อยู่ด้วยความไม่รู้หรือไม่ แม้ไม่เร่งรีบ slow แต่กิเลส ไม่ slow ไม่ช้าตามการใช้ชีวิตเลย เพราะก็ติดข้องพอใจในการใช้ชีวิตนั้น และก็ไม่ได้รู้ความจริงของสภาพธรรม ก็ไม่พ้นจากทุกข์ แต่ก็แสวงหาทุกข์โดยไม่รู้ตัว ดังนั้น การใช้ชีวิต คือ อยู่ด้วยปัญญาย่อมประเสริฐ ไม่ว่าชีวิตจะเป็นอย่างไร ก็เป็นผู้เข้าใจถูกในความจริงของสภาพธรรม แม้ขั้นการฟัง ว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา ปัญญาย่อมนำไปในกิจทั้งปวง คือ เข้าใจถูกในชีวิต ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเร่งรีบ ไม่เร่งรีบ อย่างไร ไม่เปลี่ยน เพราะรู้ว่าเปลี่ยนไม่ได้เกิดแล้วตามเหตุปัจจัย แต่เข้าใจถูกในขณะนั้นว่ามีแต่ธรรมเกิดขึ้นเป็นไป ไม่ใช่เรา การเข้าใจเช่นนี้ ย่อมละคลายกิเลส เหตุที่ทำให้ทุกข์ เหตุที่โลภะติดข้องหาวิธีให้มีความสุขด้วย วิธีดำเนินชีวิตช้าๆ หรือ เร็วๆ เพราะฉะนั้น ชีวิตที่เหลืออยู่น้อย แสวงหาความสุขกัน ใช่สุขที่แท้จริงหรือไม่ เพราะไม่ได้เห็นกิเลส เหตุแห่งทุกข์ และอยู่ด้วยไม่รู้ แม้อยู่ด้วยชีวิตช้าๆ สบายๆ แต่ ชีวิตที่เหลืออยู่ คือ การทำดีและศึกษาพระธรรม ที่เป็นการใช้ชีวิตที่อยู่ด้วยปัญญา อันเป็นชีวิตที่ประเสริฐอย่างแท้จริง
ขณะที่กล่าวว่า รู้แล้วคืออย่างไร รู้ไปทำไม นั่นเพราะไม่มีอะไรที่รู้ ไม่เป็นสาระ เป็นไปตามการสะสม ต่อเมื่อใดที่รู้บ้าง ก็จะค่อยๆ เข้าใจ จิรกาลภาวนา นี้เป็นความที่ต้องอดทน เพียรพยายาม ทุกอย่างทำกิจแห่งตน เป็นแต่ละหนึ่ง เป็นธรรมะ เป็นอนัตตา กราบอนุโมทนาสาธุค่ะ
ขอบพระคุณสำหรับสาระให้ข้อคิดว่า ชีวิตที่เหลืออยู่แม้ไม่มากนัก แต่มีคุณค่า หากเป็นไปด้วยการทำดีและศึกษาพระธรรม เป็นชีวิตที่อยู่ด้วยปัญญา อันเป็นชีวิตที่ประเสริฐที่สุด แม้มีชีวิตอยู่ร้อยปีแต่ไม่เข้าใจพระธรรม ก็ไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์ตน และผู้อื่น
สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ
เห็นด้วยอย่างยิ่ง ควรพิจารณาคำที่หลายคนพูดกันจนติดปากว่ามีความหมายอย่างไรตามความเป็นจริง ขออนุโมทนาผู้อธิบาย และธรรมจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างแท้จริง
ความเข้าใจธรรมะที่มั่นคงขึ้น ย่อมเป็นปัจจัยให้บุคคล มีชีวิตที่เป็นไปกับกุศลประการต่างๆ มากขึ้น บ่อยขึ้น เห็นความไม่มีสาระและ น้อมไปสู่สาระแห่งการฟังและพิจารณาธรรม เพื่อเข้าใจความจริงที่ทรงแสดง บ่อยขึ้น ในชีวิตประจำวัน น้อมไปสู่ความเข้าใจที่มั่นคงขึ้น ว่าแต่ละขณะของชีวิต เป็นแต่ธรรม ไม่ใช่เรา ชีวิตจึงสบายๆ ด้วยความเข้าใจที่ถูกต้องนั่นเองครับ
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ
จะใช้ชีวิตแบบ Slow...แต่กิเลสไม่ Slow ตาม....
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ
การแสวงหามี 2 อย่าง คือ การแสวงหาทรัพย์ และ การแสวงหาปัญญา พระพุทธเจ้าตรัสว่าการแสวงหาปัญญาประเสริฐที่สุดค่ะ
ทางโลกให้ใช้ชีวิตช้าๆ อยู่กับธรรมชาติแต่ใครจะรู้ว่าเกิดมานานเท่าใดจะเจ็บป่วยจนไปสร้างกุสลไม่ได้ ใครจะทราบว่าตนจะตายเมื่อไร
ช้าในเรื่องอกุสล แต่จำเป็นต้องเร่งรีบในการสร้างกุสล นั้น น่าจะถูกต้องกว่าจริงหรือไม่
ในธัมมจักกัปปวัตนสูตร ชี้ถึง ทางสุดโต่งสองข้าง การบำเรอบำรุง กาม และการทรมานกายอย่างสุดโต่ง แต่พระพุทธองค์ให้ทรง ดำเนินชีวิตในมรรคมีองค์ ๘ เป็นมัชฌิมาปฏิปทาเพื่อ จะได้ พ้นจากวัฏฏสงสาร ท่านอาจารย์หลายๆ ท่านใช้เวลา สิกขาธัมม ฟังธรรมมานับสิบๆ ปี อาจจะเกือบทั้งชีวิต ก็ว่าได้ คงมิใช่การใช้ชีวิต ช้าๆ แต่ช้าทางอกุสล แต่เร่งรีบสร้างกุสลมากกว่า เพราะ พุทธกาล จบแค่ ๕๐๐๐ ปีเท่านั้น หากมีผู้สิกขาพระธรรม พระพุทธสาสนาก็ยังยืนยาวอายุต่อไปอีก สาธุ