ต้องเร่งขวนขวายสะสมอริยทรัพย์
ปุถุชนคนเราย่อมต้องขวนขวายสะสมทรัพย์ เพื่อการยังตนให้เป็นผู้ปราศจากความหิวในอาหารและน้ำ และต้องรู้จักการใช้จ่ายในการอันควร มีการให้ทาน เป็นต้น การสะสมทรัพย์อันควรจึงต้องรีบทำเมื่อยังเยาว์ การจักได้มาซึ่งทรัพย์อันประเสริฐ (อริยทรัพย์) ยิ่งต้องเร่งขวนขวาย กระทำการสะสมกุศลกรรมในทุกๆ ทาง ผู้สะสมมาดี ย่อมเป็นผู้มีโอกาสได้สะสมเพิ่มอีกในปัจจุบันชาติ ตั้งแต่เมื่ออายุยังน้อย และย่อมจะเป็นผู้ได้ใช้สอย (รับผล) ผลของการสะสมนั้นในอนาคตกาลทั้งใกล้และไกล
หญิงหรือชายใดถ้ามีอริยทรัพย์ 7 ประการนี้ ชื่อว่าไม่จน
1. ทรัพย์คือศรัทธา
2. ทรัพย์คือศีล
3. ทรัพย์คือสุตะ
4. ทรัพย์คือจาคะ
5. ทรัพย์ปัญญา
6. ทรัพย์หิริ
7. ทรัพย์โอตตัปปะ
เข้าใจอริยทรัพย์ ว่าอย่างไร ต้องมีความเห็นถูกต้อง คือมีปัญญา ปัญญาอะไรคือรู้จักหนทางที่ถูกด้วย นั่นคือเข้าใจเรื่องสติปัฏฐานเป็นสำคัญ แม้ขั้นการฟัง ยกตัวอย่างถ้าบุคคลหนึ่งเข้าใจหนทางผิดทำบุญสละกับสิ่งที่เป็นทางผิด เป็นทรัพย์คือจาคะ หรือเปล่า หรือ ศรัทธาในทางที่ผิด เป็นทรัพย์คือศรัทธาหรือเปล่า รักษาศีลเพื่อต้องการบุญ ไม่ได้เห็นโทษของกิเลส เป็นทรัพย์คือศีลหรือเปล่า ฟังธัมมะเยอะๆ เพื่อต้องการรู้มาก แต่ไม่เป็นไปเพื่อขัดเกลาเป็นทรัพย์คือสุต หรือเปล่า ดังนั้น อริยทรัพย์ทั้ง ๗ ต้องประกอบด้วยปัญญาเสมอ ไม่เช่นนั้นก็ไม่เป็นอริย (ประเสริฐ) ความเห็นถูกจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะเมื่อเห็นถูก กุศลต่างๆ ที่เจริญ ก็เป็นอริยทรัพย์ และเป็นบารมีด้วย คือเพื่อดับกิเลสเท่านั้น มิใช่เจริญกุศลเพื่อหวังอานิสงส์ อริยทรัพย์ นั้นมีอยู่ในผู้ใด ผู้นั้นไม่เป็นคนจนในโลก แต่ผู้ใดแม้มีทรัพย์สินเงินทองมากมาย แต่ไม่มีอริยทรัพย์ก็ชื่อว่าเป็นคนจนในโลก ดังนั้น ปัญญาจึงประเสริฐกว่าทรัพย์