การอบรมปัญญา ไม่ใช่การนั่งสมาธิ
ก่อนอื่นขอแนะนำก่อนว่า อย่าพึ่งรีบปฏิบัติ ขอให้ศึกษาพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ให้เข้าใจก่อน เพราะว่า พระพุทธองค์ทรงสะสมบารมี มาสี่อสงไขยแสนกัปเพื่อให้สัตว์โลกได้มีปัญญารู้แจ้งอริยสัจจธรรม การอบรมเจริญปัญญา ต้องเริ่มจากการฟัง การศึกษาพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ เมื่อเริ่มเข้าใจปัญญาย่อมค่อยๆ ศึกษาสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ
การอบรมปัญญาไม่ใช่การนั่งสมาธิ อีกอย่างหนึ่ง การเจริญสมถะและวิปัสสนาไม่มีจำกัดว่าจะต้องนั่งขัดสมาธิเท่านั้น ถ้าเข้าใจในข้อปฏิบัติทั้งสมถะและวิปัสสนา สามารถเจริญได้ทุกๆ อิริยาบถ และผลของการอบรมปัญญา คือ รู้แจ้งความจริง ถ้าเจริญถูกต้อง จิตต้องสงบและปัญญาต้องรู้ความจริง
สภาพธัมมะ ที่เป็น สมถะ และวิปัสสนาจะไม่แยกกัน คนจะเข้าใจกันว่า สมถะกับวิปัสสนาแยกกัน คือต้องอบรมสมถก่อน (คือไปนั่ง ทั้งที่จริงๆ แล้วก็ไม่ใช่สมถะ) แล้วจึงอบรมวิปัสสนา แต่สภาพธัมมะที่เป็น สมถะ ก็เกิดร่วมด้วยกับวิปัสสนา ในขณะจิตหนึ่งนั่นเอง เปรียบเหมือนเมื่อจิตเกิด ก็มีผัสสเจตสิกเกิด แต่ไม่ใช่จะมี ผัสสเจตสิกเกิดเจตสิกเดียว ก็มีเจตสิกอื่นเกิดด้วย เช่น สัญญาเจตสิก ฉันใด แม้สมถะกับวิปัสสนาเขาก็เกิดร่วมด้วย พร้อมกันอยู่แล้ว ดังนั้น ไม่ต้องไปอบรมสมถะก่อน ตามที่เข้าใจกันนะ เพราะขณะที่อบรมสติปัฏฐาน สมถะและวิปัสสนาก็เกิดร่วมกัน
ขอยก ข้อความในพระไตรปิฎกเรื่อง สมถและวิปัสสนาเกิดร่วมกัน ในขณะมรรคหรือสติปัฏฐาน
พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ 373
อนึ่ง มรรคนั้นเป็นทั้งสมถะและวิปัสสนา เพราะความที่สัมมาทิฏฐิ และสัมมาสังกัปปะทั้ง ๒ เหล่านั้น ทรงสงเคราะห์ไว้ด้วยวิปัสสนาญาณ. ธรรมนอกจากนี้ สงเคราะห์ไว้ด้วยสมถญาณ.
ทั้งสมถและวิปัสสนาเป็นมหากุศลญาณสัมปยุต แต่มีอารมณ์ต่างกันคือ สมถมีบัญญัติเป็นอารมณ์ จึงเพียงแค่ข่มกิเลสไว้ได้เท่านั้น แต่วิปัสสนามีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์เป็นการรู้แจ้งแทงตลอดจึงสามารถประหารกิเลสได้ตามลำดับขั้น สมถเจริญได้โดยไม่มีวิปัสสนา แต่วิปัสสนาเป็นการอบรมเจริญทั้งปัญญาและความสงบ (สมถ) เพราะความสงบคือ สงบจากอกุศล