เรื่องความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกันของไตรลักษณ์ (อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา).

 
nongdum
วันที่  4 ก.ค. 2558
หมายเลข  26724
อ่าน  5,341

ขอเรียนถาม เรื่องความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกันของไตรลักษณ์ (อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา) ว่า 3 สิ่งนี้ มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องเชื่อมโยงต่อเนื่องกันหรือไม่อย่างไรครับ? หรือแยกอิสระจากกัน ไม่เกี่ยวข้องกันครับ?

ขอบคุณครับ

nongdum


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 4 ก.ค. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ไตรลักษณ์ หรือ ไตรลักษณะ หรือจะเรียกว่า สามัญญลักษณะก็ได้ (ลักษณะทั่วไปของสภาพธรรม) คือ ลักษณะ ๓ ประการ ของสภาพธรรมที่มีจริง ที่มีปัจจัยปรุงแต่งที่เกิดขึ้นและดับไป อันเป็นลักษณะของสภาพธรรมที่ทั่วไป สามัญ กับทุกสภาพธรรมที่เกิดขึ้นและดับไป คือ สภาพธรรมที่เป็น จิต เจตสิกและรูป จะต้องมีลักษณะทั่วไป ๓ ประการ อันเป็นเครื่องหมายให้รู้ว่า เมื่อมีลักษณะ ๓ ประการนี้ ชื่อว่าเป็นสภาพธรรมที่เป็น สังขารธรรม ที่เกิดขึ้นและดับไปครับ ลักษณะ ๓ ประการ (ไตรลักษณ์) ของสภาพธรรมที่เป็น จิต เจตสิก รูป คือ

อนิจจัง สภาวะ ลักษณะที่ไม่เที่ยงหมายถึง ลักษณะที่เป็นสาธารณะแก่สังขารธรรมทั้งปวงจิต เจตสิก รูป เป็นอนิจจัง เพราะมีอนิจจลักษณะ คือ มีการเกิดขึ้นและดับไป อนิจจลักษณะ เป็นลักษณะหนึ่งในลักษณะ ๓ (ไตรลักษณ์ หรือสามัญญลักษณะ)

ทุกขัง สภาวะ ลักษณะที่ทนได้ยาก หมายถึง ลักษณะของสภาพธรรมที่ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ คือต้องเปลี่ยนแปลง มีการเกิดขึ้นและดับไป ดังที่ พระผู้มีพระภาคตรัสถามพระปัญจวัคคีย์ ในอนัตตลักขณสูตรว่า "สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า" พระปัญจวัคคีย์ทูลตอบว่า "เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า" ...

อนัตตา สภาวะ ลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน หมายถึง ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของผู้ใด คือ เป็นสภาพนามธรรมอย่างหนึ่ง มีลักษณะที่น้อมไปรู้อารมณ์ จะมีผู้ใดผู้หนึ่งบังคับให้นามธรรมเป็นสภาพที่ไม่รู้อารมณ์ก็ไม่ได้ หรือ สภาพที่เป็นรูปธรรม มีลักษณะที่ไม่รู้อารมณ์ ใครจะบังคับให้เปลี่ยนมาเป็นสภาพที่รู้อารมณ์ก็ไม่ได้ หรือสังขารธรรมเป็นสภาพที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ใครจะบังคับให้สังขารธรรมเป็นสภาพที่เที่ยง เป็นสุข ก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น สังขารธรรมที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ จึงเป็นอนัตตา และแม้วิสังขารธรรมซึ่งหมายถึงพระนิพพาน เป็นสภาพที่เที่ยง (เพราะไม่เกิดดับ) เป็นสุข (เพราะทนอยู่ในสภาพเดิมได้) แต่ก็ไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงสภาพของนิพพานให้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ได้ วิสังขารธรรมที่เที่ยง เป็นสุขนั้นจึงเป็นอนัตตาด้วย

เพราะฉะนั้น ทั้งความไม่เที่ยง เป็นทุกข์และเป็นอนัตตา ก็เชื่อมโยงกัน เกี่ยวข้องกัน สัมพันธ์กัน เพราะ สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์และเป็นอนัตตา ไม่ใช่เรา ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 4 ก.ค. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

คำว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา (ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล) ทั้ง ๓ นี้เป็นลักษณะทั่วไปของสังขารธรรม (จิต เจตสิก รูป) ซึ่งเกิดเพราะเหตุปัจจัย ทั้งหมด เรียกว่าไตรลักษณ์ ไม่เที่ยงเพราะมีอันดับไปเป็นธรรมดา และธรรมแต่ละหนึ่งไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ไม่ใช่ตัวตนสัตว์บุคคล ผู้ที่มีปัญญาท่านเห็นด้วยปัญญาตามเป็นจริงว่า สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แต่ผู้ที่ไม่มีปัญญาย่อมไม่เห็นลักษณะทั้ง ๓ นี้ตามเป็นจริง จึงมีความสำคัญว่าเที่ยง เป็นสุข และมีตัวตน แต่ความจริงทุกขณะในชีวิตประจำวัน จิต เจตสิกทุกขณะ รูปทุกรูป เกิดดับ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ดังนั้น จะเข้าใจถูกตรงตามความเป็นจริงจะขาดการฟังพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวันไม่ได้เลย ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ดวงทิพย์
วันที่ 5 ก.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
jirat wen
วันที่ 5 ก.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
BudCoP
วันที่ 8 ก.ค. 2558

อนิจจัง คือ ขันธ์, อนิจจลักษณะ คือ อัตถบัญญัติของขันธ์.

ทุกขัง คือ ขันธ์, ทุกขลักษณะ คือ อัตถบัญญัติของขันธ์.

อนัตตา คือ ขันธ์, อนัตตลักษณะ คือ อัตถบัญญัติของขันธ์.

ความสัมพันธ์อ่านได้ใน อนัตตลักษณสูตร ครับ.

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
peem
วันที่ 9 ก.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
สิริพรรณ
วันที่ 18 ก.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
wannee.s
วันที่ 23 ก.ค. 2558

สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร เช่น เราจะไม่ให้ผมหงอกก็ไม่ได้ จะบังคับให้ไม่แก่ ไม่ตายก็ไม่ได้ เพราะเป็นลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย แล้วดับไปเป็นธรรมดา ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
chatchai.k
วันที่ 7 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
ประสาน
วันที่ 8 ก.ค. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
Jarunee.A
วันที่ 21 ต.ค. 2566

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ