กรรมที่ชั่งได้และกรรมที่ชั่งไม่ได้ อันเป็นเหตุให้สมภพเปรียบเหมือนทำลายกิเลส
จากพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๐ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒ ทีฆนิกาย มหาวรรค
[๙๖] มุนีปลงเสียได้แล้วซึ่งกรรมที่ชั่งได้ และกรรมที่ชั่งไม่ได้ อันเป็นเหตุสมภพ เป็นเครื่องปรุงแต่งภพ และได้ยินดีในภายใน มีจิตตั้งมั่น ทำลายกิเลสที่เกิดในตนเสีย เหมือนนักรบทำลายเกราะฉะนั้น ฯ
กราบรบกวนท่านวิทยากรอธิบายความหมายค่ะ
1.กรรมที่ชั่งได้ และกรรมที่ชั่งไม่ได้
2.ทำลายกิเลสในตนเหมือนนักรบทำลายเกราะ คือเกราะของข้าศึกใช่ไหมคะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
กรรมที่ชั่งได้ คือ กรรมที่เป็นกามาวจร เช่น การให้ทาน ทำบุญ รักษาศีล เป็นต้น กรรมที่ชั่งไม่ได้ คือ กรรมที่เป็นมหัคคตะ ที่ กุศลที่เป็นไปในฌาน รูปฌาน กรรมที่ให้ผลน้อย ชื่อว่า ชั่งได้ กรรมที่มีผลมาก ชื่อว่า ชั่งไม่ได้
ทำลายเกราะ คือ เกราะของข้าศึก ทำลายกิเลสที่เกิดขึ้นกับตนเองนั่นเองครับ
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ ๓๙๐
ในอุทานนั้น ชื่อว่า ตุละ เพราะชั่งกำหนดโดยภาวะที่ประจักษ์ของสัตว์มีสุนัขบ้าน สุนัขจิ้งจอกเป็นต้นทั้งหมด. กรรมที่ชั่งได้นั้นเป็นอย่างไร. ได้แก่กรรมฝ่ายกามาวจร. ชื่อว่า ตุละ เพราะชั่งไม่ได้. หรือ โลกิยกรรมอย่างอื่นที่เทียม ที่เหมือนกับกามาวจรกรรมนั้น ไม่มี. กรรมที่ชั่งไม่ได้นั้นเป็นอย่างไร.ได้แก่ กรรมฝ่ายมหัคคตะ. อีกอย่างหนึ่ง กามาวจรกรรม รูปาวจรกรรมจัดเป็นตุละ อรูปาวจรกรรม จัดเป็นอตุละ. อีกอย่างหนึ่งกรรมที่มีวิบากน้อยชื่อว่า ตุละ ที่มีวิบากมาก ชื่อว่า อตุละ.
ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
เป็นเรื่องของมุนี คือ ผู้รู้ จนบรรลุถึงความเป็นพระอรหันต์ เป็นผู้ห่างไกลแสนไกลจากกิเลสโดยประการทั้งปวงเป็นผู้ทำลายข้าศึกภายในคือกิเลสได้ ไม่มีกิเลสใดๆ เกิดขึ้นอีกเลย เป็นผู้ไม่มีทั้งบุญไม่มีทั้งบาป ไม่มีเหตุที่จะทำให้เกิดในภพใดๆ อีกเลย เป็นผู้สิ้นทุกข์โดยประการทั้งปวง
ทั้งหมดเป็นเรื่องของการอบรมเจริญปัญญา เพราะมีปัญญาที่อบรมเจริญบริบูรณ์แล้วจึงสามารถดับกิเลสตามลำดับขั้นได้ ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...