จิต กับ วิญญาณ ตามความเข้าใจของข้าพเจ้า

 
apiwit
วันที่  5 ก.ค. 2558
หมายเลข  26732
อ่าน  1,381

ผมได้มีโอกาสฟังธรรมเรื่องจิตคือพุทธะของพระอาจารย์รูปหนึ่ง ท่านกล่าวว่าจิต กับ วิญญาณไม่ใช่ของสิ่งเดียวกันเพราะเหตุว่า วิญญาณเป็นคูหาให้จิตได้อาศัยอยู่ข้างใน กล่าวคือวิญญาณนั้นเปรียบเสมือนเป็นบ้านของจิต และยังทำหน้าที่อีกอย่างหนึ่งคือเป็นตัวพาจิตไปเกิดใหม่

จิตวิญญาณนั้นมีต้นกำเนิดมาจากรูปนามเดิมของจักรวาล นามเดิมก็คือความว่างของจักรวาล เมื่อที่ใดมีนาม ที่นั้นต้องมีรูป ต้นเหตุเกิดรูป นามของจักรวาลเดิมเป็นเหตุให้เกิดรูปนามพิภพต่างๆ หรือรูปนามไม่มีชีวิต รูปนามของพิภพต่างๆ เป็นเหตุเกิดรูปนามพืช คือ มีชีวิตแต่ไม่มีจิตวิญญาณ รูปนามพืชเป็นเหตุเกิดรูปนามสัตว์ คือมีชีวิตและจิตวิญญาณ เมื่อรูปนามพืชได้เปลี่ยนมาเป็นรูปนามสัตว์ก็ทำให้มีจิตเกิดขึ้น การแสดงเคลื่อนไหวของสัตว์เป็นเหตุให้เกิดกรรม กรรมที่สัตว์แสดงคือ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ไปกระทบกับรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ทำให้เกิดการบันทึก บรรจุ ถ่ายภาพอยู่ในสุขุมรูป 5 กองหรือรูปปรมาณูทั้ง 5 เมื่อสุขุมรูป 5 กองได้หมุนรวมกันเข้าจึงทำให้เกิดรูปปรมาณูกลมหรือจะเรียกว่ารูปวิญญาณหรือรูปถอดก็ได้ คือเป็นคูหาให้จิตได้อาศัยและเป็นตัวพาจิตไปเกิด ด้วยอำนาจของกรรมชั่วเป็นเหตุให้รูปวิญญาณคงรูปอยู่ได้และเป็นเหตุให้รูปวิญญาณหมุนรอบตัวเองอยู่ตลอดเวลา การหมุนรอบตัวเองของรูปวิญญาณนี้เองเป็นเหตุให้จิตเกิดดับสืบต่อทุกๆ ขณะ ต่อเมื่อบรรลุเป็นพระอรหันต์ จึงจะหยุดสร้างกรรม เมื่อหมดกรรมรูปวิญญาณจึงจะหยุดการหมุนและจะแตกสลายออกจากกันไป คงเหลือแต่นามว่างที่ปราศจากรูปวิญญาณ เมื่อรวมเข้าเป็นหนึ่งกับนามว่างของจักรวาลเดิม เรียกว่า นิพพาน หากว่าผมมีความเข้าใจผิดแต่ประการใดก็ขอกราบอภัยด้วยครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 5 ก.ค. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

วิญญาณ เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง เป็นนามธรรม แปลตามศัพท์ได้ว่า เป็นสภาพธรรมที่รู้แจ้ง (ซึ่งอารมณ์) เป็นสภาพธรรม ที่เป็นใหญ่เป็นประธาน ในการรู้แจ้งอารมณ์ วิญญาณ กับ จิต เป็นสภาพธรรมอย่างเดียวกัน มีพยัญชนะหลายประการ ที่หมายถึงจิต เช่น มนะ หทยะ วิญญาณ วิญญาณขันธ์ วิญญาณธาตุ เป็นต้น เพื่อให้ผู้ที่ศึกษาได้เข้าใจถึงลักษณะของจิตซึ่งเป็นสภาพธรรมที่แต่ละบุคคลมีด้วยกันทั้งนั้น (ในชีวิตไม่ปราศจากจิตเลยแม้แต่ขณะเดียว) หนึ่งในนั้น คือ วิญญาณ ดังนั้น จิต กับ วิญญาณจึงเป็นธรรมอย่างเดียวกัน ต่างกันเพียงพยัญชนะเท่านั้น วิญญาณไม่มีการล่องลอยไม่มีรูปร่าง วิญญาณเป็นธรรมประเภทหนึ่ง เมื่อเกิดแล้วดับไป ไม่กลับมาอีกเลย จิตขณะหนึ่งดับไป เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อทันที เป็นอย่างนี้อย่างไม่ขาดสาย จนกว่าจะสิ้นสุดสังสารวัฏฏ์

วิญญาณ ในพระพุทธศาสนา ไม่ใช่หมายถึง วิญญาณล่องลอย ที่เป็นผี ตามที่เข้าใจกัน แต่หมายถึงสภาพธรรมที่รู้อารมณ์ คือ เป็นสภาพรู้ เป็นใหญ่ในการรู้ เรียกว่าวิญญาณ คือ จิตนั่นเอง ครับ ดังนั้น เมื่อกล่าวถึงวิญญาณ ก็คือสภาพธรรมที่เป็น จิต ซึ่งมีหลายประเภท เช่น จักขุวิญญาณ หรือ จิตเห็น โสตวิญญาณ หรือ จิตได้ยิน เป็นต้น ดังนั้น เมื่อ วิญญาณ หรือ จิต เกิดขึ้นเป็นสภาพรู้ ก็ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ เช่น จิตเห็น (จักขุวิญญาณ) เมื่อเกิดขึ้นก็ต้องมีสิ่งที่ถูกเห็น คือสีที่ปรากฏให้เห็นได้ทางตาเป็นต้น วิญญาณ จึงไม่ได้หมายถึง ผี ตามที่เข้าใจกันครับ แต่ วิญญาณ หมายถึง สภาพธรรมที่เป็นจิต มีลักษณะเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้อารมณ์ ครับ

จึงกล่าวได้ว่า จิต กับ วิญญาณ เหมือนกัน ที่เป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่ในการรู้ แต่เพียงใช้พยัญชนะที่แตกต่างกันเท่านั้น ครับ ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 5 ก.ค. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
จิต เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ เป็นสภาพธรรมที่สั้นแสนสั้น มีอายุเพียงแค่ขณะทีเกิดขึ้นขณะที่ตั้งอยู่และขณะที่ดับไปเท่านั้น เมื่อจิตขณะหนึ่งเกิดแล้วดับไปก็เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อ เมื่อกล่าวถึงจิตแล้ว ไม่ใช่ว่าจะต้องมีเฉพาะจิตเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ยังมีสภาพธรรมอีกประเภทที่เกิดร่วมกับจิต นั้นด้วย เมื่อเกิดร่วมกับจิต ก็ต้องรู้อารมณ์เดียวกันกับจิต ดับพร้อมกับจิต และในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ก็ต้องอาศัยที่เกิดที่เดียวกันกับจิตด้วย สภาพธรรมที่กล่าวนั้น คือ เจตสิก
จิต เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ดับไป ไม่เที่ยงไม่ยั่งยืน จิตขณะหนึ่งเกิดแล้วดับก็เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อทันที เป็นจริงอย่างนี้ และ มีจริงในชีวิตประจำวันด้วย ไม่เคยขาดจิตเลยแม้แต่ขณะเดียว มีจิตเกิดดับสืบต่อกันอยู่ตลอดเวลา ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
tanrat
วันที่ 6 ก.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
Jarunee.A
วันที่ 20 ต.ค. 2566

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ