กรรมวิญญาณกับเจตนาเจตสิก

 
pdharma
วันที่  8 ก.ค. 2558
หมายเลข  26748
อ่าน  1,607

ขอเรียนถามว่า คำว่า "กรรมวิญญาณ" ที่ปรากฏในพระไตรปิฎก กับคำว่า "เจตนาเจตสิก" มีสภาพธรรมที่แตกต่างกันอย่างไร

ขอขอบพระคุณ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 8 ก.ค. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เจตนาเจตสิก เป็นกรรม เป็นสภาพธรรมที่ตั้งใจ จงใจขวนขวายในการปรุงแต่ง จึงเป็น กัมมปัจจัย

กัมมปัจจัย จำแนกออกเป็น ๒ อย่าง คือ สหชาตกัมมปัจจัย กับ นานักขณิกกัมมปัจจัย สหชาตกัมมปัจจัย ได้แก่ เจตนาเจตสิกซึ่งเป็นกัมมปัจจัยเกิดพร้อมกับปัจจยุปบันนธรรม (ธรรมที่เป็นผลของปัจจัย) คือ เกิดพร้อมกับจิตและเจตสิกอื่นๆ ในขณะนั้น เพราะฉะนั้น สหชาตกัมมปัจจัย ได้แก่ เจตนาเจตสิกที่เกิดกับจิต ๘๙ ดวง และเจตสิกอื่นๆ ที่เกิดร่วมกันในขณะนั้น และรูปที่เกิดขึ้นเพราะจิตและเจตสิกในขณะนั้น ซึ่งก็ต้องเกิดเพราะเจตนาที่เกิดร่วมด้วยในขณะนั้นด้วย ตามควรแก่จิตประเภทนั้นๆ ที่ทำให้เกิดรูปได้

นานักขณิกกัมมปัจจัย ได้แก่ เจตนาเจตสิกซึ่งเป็นกัมมปัจจัยทำให้ปัจจยุปบันนธรรม คือ ผลของกัมมปัจจัยนั้นเกิดขึ้นต่างขณะกัน คือ ไม่ใช่เกิดพร้อมกับเจตนาเจตสิกเหมือนอย่างสหชาตกัมมปัจจัย แต่ว่า ทำให้ผลของเจตนาเจตสิกเกิดขึ้นต่างขณะกัน ไม่ใช่ในขณะเดียวกัน จึงชื่อว่า “นานักขณิกกัมมปัจจัย” เป็นกัมมปัจจัยที่ทำให้ผล คือ วิบากจิต และเจตสิก และกัมมชรูป (รูปที่เกิดจากกรรม) เกิดขึ้นในภายหลังเมื่อเจตนาซึ่งเป็นกรรมนั้นดับแล้ว เพราะฉะนั้น สำหรับนานักขณิกกัมมปัจจัย ก็ได้แก่ เจตนาในกุศลจิตและในอกุศลจิตเท่านั้น ไม่ใช่เจตนาในจิตซึ่งเป็นวิบาก หรือ เจตนาในจิตซึ่งเป็นกิริยา นี้คือ ความละเอียดลึกซึ้งของธรรม

ส่วน กรรมวิญญาณ คือ เจตนาเจตสิก ที่เกิดพร้อมจิตในขณะที่ปฏิสนธิจิตเกิด เป็นต้น ซึ่งต่างกับ เจตนาเจตสิก ที่ กล่าวเฉพาะเจตนาเจตสิกอย่างเดียวเท่านั้น แต่ กรรมวิญญาณ หมายรวมเอา จิตที่เกิดพร้อมเจตนาเจตสิกด้วย ดังข้อความในพระไตรปิฎก

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้าที่ 157

บทว่า ปุญฺาภิสงฺขารสหคต วิญฺาณ วิญญาณสหรคตด้วยปุญญาภิสังขาร คือกรรมวิญญาณอันสัมปยุตด้วยปุญญาภิสังขาร ๑๓ ประเภท. บทว่า อปุญฺาภิสงฺขารสหคต วิญฺาณ วิญญาณสหรคตด้วยอปุญญาภิสังขาร คือกรรมวิญญาณที่สัมปยุต ด้วยอปุญญาภิสังขาร ๑๒ ประเภท. บทว่า อเนญฺชาภิสงฺขารสหคต วิญฺาณ วิญญาณสหรคตด้วยอเนญชาภิสังขาร คือกรรมวิญญาณอันสหรคตด้วย อเนญชาภิสังขาร ๔ ประเภท.

ขออนุโมทนา ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
tanrat
วันที่ 8 ก.ค. 2558

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 8 ก.ค. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ประโยชน์คือความเข้าใจถูกเห็นถูก เพราะมีคำว่า กรรมวิญญาณ กับ เจตนาเจตสิก สภาพธรรมเป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น วิญญาณ มีจริง เป็นจิตทุกขณะ และ ทุกครั้งที่จิตเกิดขึ้นจะไม่ปราศจากเจตนาซึ่งเป็นสภาพธรรมที่จงใจขวนขวายกระตุ้นเตือนให้สภาพธรรมที่เกิดร่วมกันทำกิจหน้าที่ แต่ถ้าจะเป็นวิญญาณ คือ จิตที่จะทำให้เกิดผลคือวิบากในภายหน้านั้น ท่านก็แสดงถึงกรรมวิญญาณ คือ วิญญาณที่ประกอบพร้อมด้วยเจตนาที่เป็นตัวกรรม ได้แก่ จิตที่ประกอบด้วยเจตนาในมหากุศล ในรูปาวจรกุศล (ที่เป็นปุญญาภิสังขาร) จิตที่ประกอบด้วยเจตนาที่เป็นอกุศล (ที่เป็นอปุญญาภิสังขาร) และจิตที่ประกอบด้วยเจตนาในอรูปาวจรกุศล (ที่เป็นอเนญฌาภิสังขาร) ซึ่งจะเป็นเหตุให้เกิดวิบากในภายหน้า แต่ถ้าจะกล่าวเฉพาะเจตนาเจตสิกแล้ว เกิดร่วมกับจิตทุกขณะ ซึ่งถ้าจะเป็นเจตนาที่จะให้ผลในภายหน้าก็ต้องเป็นเจตนาที่เป็นกุศล กับอกุศล เท่านั้น เจตนาที่เกิดกับวิบากบ้าง กิริยาบ้าง ไม่เป็นเหตุให้เกิดวิบากในภายหน้า ครับ

…ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
pdharma
วันที่ 9 ก.ค. 2558

ขอบคุณ และขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
Phutporn
วันที่ 9 ก.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
wannee.s
วันที่ 14 ก.ค. 2558

วิญญาณหาร นำมาซึ่งนามรูป นามได้แก่เจตนาเจตสิกที่เกิดกับจิต รูปก็ได้แก่ กัมมชรูป ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
Jarunee.A
วันที่ 18 ต.ค. 2566

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ