มรรค ไม่ง่าย
วันนี้ได้รับไลน์มีข้อความในภาพ ว่า อยากมีความสุข ต้องเป็นคน "มรรคง่าย" และข้อความต่อไปกล่าวว่า มรรคมีองค์ 8 เป็นหนทางนำไปสู่การดับทุกข์ ด้วยการดำรงชีวิตตามทางสายกลางที่เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา เป็นคนมีมรรคให้ง่ายๆ เป็นสุขทั้งกาย เป็นสุขทั้งใจ ฯลฯ
มรรคมีองค์ ๘ ไม่ใช่เรื่องที่จะเข้าใจได้ง่ายๆ ผู้ศึกษาที่ขาดความละเอียด จึงเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน ขอท่านวิทยากรโปรดให้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
มรรค หมายถึง หนทาง ซึ่งมีทั้งทางถูกกับทางผิด ถ้าเป็นหนทางที่ถูกต้องเป็นไปเพื่อการอบรมเจริญปัญญา ถ้าเป็นมรรค อันประกอบด้วยองค์ ๘ แล้ว ย่อมเป็นหนทางถูก เป็นหนทางที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นไปเพื่อกำจัดกิเลส เป็นหนทางที่เป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์ หมดจดแห่งสัตว์ทั้งหลาย
อริยมรรค หนทางของผู้ไกลจากกิเลส , หนทางอย่างประเสริฐ หมายถึง มรรคมีองค์ ๘ อันเป็นหนทางอย่างประเสริฐ เพราะทำให้ผู้อบรมบรรลุถึงความเป็นพระอริยเจ้า พ้นจากความเป็นปุถุชน และพ้นจากการเกิดในอบายภูมิโดยเด็ดขาดซึ่ง ประกอบด้วย อริยมรรค 8 ประการดังนี้ ครับ
สัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูก , ความเห็นชอบ ได้แก่ ปัญญาเจตสิก ซึ่งมีลักษณะที่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง สัมมาทิฎฐิมีหลายระดับ ตั้งแต่กัมมสกตาสัมมาทิฏฐิ (ความเห็นถูกเรื่องความมีกรรมเป็นของๆ ตน) ฌานสัมมาทิฏฐิ (ความเห็นถูกที่เกิดกับฌานจิต) วิปัสสนาสัมมาทิฏฐิ (ความเห็นถูกที่เกิดกับวิปัสสนา) ซึ่งขณะที่เป็นสติปัฏฐานก็เป็นมรรคมีองค์ ๕ แต่ขณะที่มรรคจิตเกิดขึ้นประหานกิเลสเป็นสมุจเฉทก็เป็นมรรคมีองค์ ๘ เป็นต้น
สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ หมายถึง วิตกเจตสิกที่ตรึกที่ลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรมที่กำลังปรากฏ เพื่อสติจะได้ระลึก ปัญญาจะได้ศึกษาในลักษณะของนามรูป สัมมาสังกัปปะมีอาการ ๓ อย่าง คือ ...
๑. ดำริในการออกจากกาม
๒. ดำริในการไม่พยาบาท
๓. ดำริในการไม่เบียดเบียน
สัมมาวาจา คำพูดชอบ หมายถึง วิรตีเจตสิกดวงหนึ่งที่ทำกิจให้เกิดการงดเว้นจากวจีทุจริต ๔ อย่าง คือ
๑. งดเว้นจากการพูดปด
๒. งดเว้นจากการพูดส่อเสียด
๓. งดเว้นจากการพูดคำหยาบ
๔. งดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ
สัมมากัมมันตะ การงานชอบ หมายถึง วิรตีเจตสิกดวงหนึ่งที่ทำกิจให้เกิดการงดเว้นจากกายทุจริต ๓ อย่าง คือ
๑. งดเว้นจากการฆ่าสัตว์
๒. งดเว้นจากการลักทรัพย์
๓. งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม
สัมมาอาชีวะ การเลี้ยงชีพชอบ หมายถึง วิรตีเจตสิกดวงหนึ่งที่ทำกิจให้เกิดการงดเว้นจากมิจฉาชีพซึ่งเป็นไปทางกายหรือวาจาที่ทุจริต
สัมมาวายามะ ความเพียรชอบ หมายถึง วิริยเจตสิกที่เกิดกับกุศลจิตที่เป็นไปพร้อมกับสติปัฏฐาน และวิปัสสนาญาณ เป็นความเพียรที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง
สัมมาสติ การระลึกชอบ หมายถึง สติเจตสิกที่ระลึกที่ลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรม จนปัญญามีกำลังประจักษ์แจ้งสภาพธรรมไปตามลำดับ และเมื่อมัคคจิตเกิดขึ้น สัมมาสติก็ระลึกที่ลักษณะของนิพพาน
สัมมาสมาธิ ความตั้งมั่นชอบ หมายถึง เอกัคคตาเจตสิกที่เกิดกับกุศลจิต ในขณะที่สติปัฏฐานและวิปัสสนาญาณเกิด สัมมาสมาธิทำจิตและเจตสิกอื่นให้ตั้งมั่นในอารมณ์ คือ นามธรรมหรือรูปธรรมที่กำลังปรากฏ เพื่อที่ปัญญาจะได้รู้ชัดลักษณะของนามรูปนั้นๆ และเมื่อมัคคจิตเกิดขึ้นสัมมาสมาธิก็ทำให้จิต และเจตสิกอื่นตั้งมั่นในอารมณ์คือนิพพาน
ซึ่ง มัคคังคะ 12 ก็มีเพิ่ม มิจฉาทิฏฐิ มิจฉาสังกัปปะ มิจฉาวายามะ และ มิจฉาสมาธิรวม อริยมรรคองค์ 8 กับ 4 ข้อที่เป็นทางผิด เป็น 12 เพราะฉะนั้น ถ้าเป็น มัคคังคะตามที่ยกมานั้น แสดง ถึงหนทางที่ถูกและผิด แต่ถ้าเป็นอริยมรรคมีองค์ 8 เป็นหนทางที่ถูกอย่างเดียว ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว หนทางที่ผิด ไม่ใช่ มี แค่ 4 ต้องมีมากกว่านั้น เพราะพระไตรปิฎก แสดง หนทางที่ผิด ก็ 8 ข้อ เช่นกัน ไม่ใช่ 4 และก็ยังไม่พบข้อความที่อธิบายทางผิด คู่กับทางถูก ที่เป็น มิคคังคะ ครับ
การที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ดับกิเลสได้ตามลำดับขั้นนั้น ต้องดำเนินตามหนทางที่ถูกต้อง คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ เท่านั้น ซึ่งก็ต้องเริ่มตั้งแต่ในขั้นของการอบรมด้วยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ ในขณะที่สติปัฏฐานเกิดระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ขณะนั้นมรรคมีองค์ ๕ กล่าวคือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ เกิดขึ้นพร้อมกัน และถ้ามีวิรตีเจตสิกหนึ่งเจตสิกใดเกิดด้วย ก็เป็นมรรคมีองค์ ๖ เป็นการอบรมมรรคอันเป็นโลกิยมรรค ยังไม่ถึงขั้นที่เป็นโลกุตตระ เพราะมรรคทั้ง ๘ องค์จะประชุมพร้อมกันในขณะที่มรรคจิต ผลจิตเกิดขึ้นเท่านั้น ซึ่งถ้าไม่เดินทางตามที่ถูกต้องแล้ว ก็ย่อมไม่มีวันถึงขณะที่มรรคจิตและผลจิต จะเกิดได้เลยครับ
แต่อย่างไรก็ดี สำหรับ อริยมรรค มีองค์ 8 นั้นเป็นเรื่องที่ยาก และ ไกลมาก สำคัญที่การอบรมเหตุ คือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่ถูกต้อง เพื่อเป็นเหตุให้เกิดปัญญา ปัญญานั้นเอง จะปรุงแต่ง และ ปฏิบัติหน้าที่ ให้กุศลธรรมประการอื่นๆ เจริญขึ้น และ ทำให้ถึงการรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ในที่สุด อันมีปัญญาเป็นหัวหน้านำทางไปสู่หนทางที่ดับกิเลส
ทางสายกลาง มรรคไม่ง่าย เป็นเรื่องยาก ลึกซึ้ง ซึ่งขอนำคำบรรยายท่านอาจารย์สุจินต์ มาบางส่วน ครับ
@ ได้ยินคำว่าทาง ทางคืออะไร ทางไปไหน ซึ่ง คำว่าทาง ก็เพื่อความเข้าใจถูกเพื่อความเห็นถูก
@ ทางสุดโต่งอีกทาง คือ การทรมานตนให้ลำบาก แม้อย่างละเอียด คือ การทำด้วยโทสะ ทำด้วยการบังคับ ที่พยายามจะละกิเลส ไม่ใช่ทางสายกลาง
@ ทางสายกลาง คือ การอบรมความเข้าใจถูกว่า สภาพธรรมที่เกิดขึ้น เช่น โลภะ โทสะ โมหะ ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา
@หนทางสายกลางคือหนทางการอบรมปัญญาในขั้นการฟัง ตั้งแต่เริ่มต้นว่าไม่มีใครสามารถบังคับให้สามารถไม่เกิดได้ เห็นเกิดแล้ว ได้ยินเกิดแล้ว แข็งเกิดแล้ว โลภะเกิดแล้ว โทสะเกิดแล้ว เป็นธรรม ไม่ใช่เรา
@ ศึกษาธรรมเพื่อที่จะไม่ทำให้อย่างนู้นอย่างนี้ ไม่ทำบาป ไม่ทำทุจริต ไม่ใช่ทางสายกลาง เพราะ เป็นทางที่จะทำ ไม่เข้าใจ กลางไม่ได้
@ แต่ละท่าน ทำตามสิ่งที่ชอบ ปลูกต้นไม้ หรือ แม้ทำทุจริต ฟังธรรมเพื่ออะไร คะ เพื่อ ไม่ปลูกต้นไม้ ไม่ทำสิ่งที่ชอบ ห้ามไม่ให้อกุศล ไม่ให้ทุจริตหรือเปล่า คะ นั่นไม่ใช่ทางสายกลาง เพราะ ขณะที่ปลูกต้นไม้ ทำสิ่งที่ชอบ หรือ ทำอกุศลประการต่างๆ ก็เป็นธรรมไม่ใช่เรา ทางสายกลาง ที่ยากจะเข้าใจ แต่ เป็นทางที่ถูก คือ เข้าใจแม้ขั้นการฟังว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา
@ บางคนก็คิดว่า ติดแล้วก็ติดไป แต่ ในความลึกซึ้งอย่างยิ่ง ที่มรรค ทางสายกลางลึกซึ้งอย่างยิ่ง คือ มีเหตุปัจจัยเกิดแล้ว แม้สภาพธรรมแต่ละขณะโลภะ โทสะ โมหะ เห็น ได้ยิน เพราะฉะนั้น ความเป็นตัวตนไม่ยอมหรอกเพราะ จะทำ จะละ
@ ถ้าถูกแล้ว จะมีคำว่าแต่ไหม แต่เมื่อไหร่ แต่อย่างนั้น แต่อย่างนี้ ที่จะละ จะทำผิดเมื่อนั้น นี่คือความลึกซึ้งของอริยสัจจริงๆ ค่ะ เพราะเป็นทางสายกลาง ทางสายกลางด้วยปัญญาที่เข้าใจว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา เป็นอนัตตา
ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษา มีความละเอียดลึกซึ้ง เห็นได้ยาก และที่สำคัญ แสดงถึงสิ่งที่มีจริงในชีวิตประจำวัน ที่ไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าเป็นธรรม การที่จะเข้าใจธรรมได้นั้น ต้องอาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมปัญญาไปตามลำดับ และจะต้องอาศัยกาลเวลาอันยาวนานในการอบรมเจริญปัญญา สะสมไปทีละเล็กทีละน้อย
ขึ้นชื่อว่าชาวพุทธแล้ว ต้องเป็นผู้ฟังพระธรรม และมีความเข้าใจที่ถูกต้องตรงตามพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นผู้บอกทางเท่านั้น ว่า ทางที่ถูก ที่เป็นไปเพื่อการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ถึงความเป็นผู้บริสุทธิ์หมดจดจากกิเลส คือ อะไร นั่นก็คือการอบรมเจริญปัญญา อบรมเจริญมรรคมีองค์ ๘ กล่าวคือ ความเห็นชอบ (ปัญญา) ความดำริชอบ วาจาชอบ การงานชอบ อาชีพชอบ ความเพียรชอบ ระลึกชอบ และ ความตั้งมั่นชอบ เป็นต้น ซึ่งเป็นทางเดียวเท่านั้นจริงๆ ที่จะเป็นไปเพื่อการดับทุกข์หมดจดจากกิเลสได้ในที่สุด
ส่วนการจะดำเนินตามทางดังกล่าวหรือไม่นั้น ก็เรื่องของแต่ละบุคคลจริงๆ ตามการสะสม ถ้าเป็นผู้ดำเนินตามทางดังกล่าว ผลก็คือ สามารถไปถึงการดับกิเลสทั้งหลายได้ในที่สุด แต่ต้องอาศัยกาลเวลาอันยาวนานในการอบรมเจริญปัญญา ไม่ใช่เพียงแค่ชาตินี้ชาติเดียว แต่ในทางตรงกันข้าม ถึงแม้ว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะทรงแสดงหนทางที่ถูกต้องแล้ว แต่บุคคลนั้นไม่ดำเนินตามทางดังกล่าว ก็ย่อมเป็นผู้ไม่ได้รับประโยชน์จากพระธรรม ไม่เข้าใจความจริง และไม่สามารถออกไปจากวัฏฏะ ยังเวียนว่ายตายเกิดอย่างไม่มีวันจบสิ้นไม่สามารถพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้เลย เพราะฉะนั้น พระธรรม จึงไม่สาธารณะ (คือไม่ทั่วไป) กับทุกคน ผู้สะสมเหตุที่ดีมาแล้ว เคยได้ยินได้ฟังพระธรรมมาแล้วเท่านั้นที่จะเห็นประโยชน์ และพร้อมที่จะรับฟัง ซึ่งจะเป็นผู้ได้ประโยชน์จากพระธรรมอย่างแท้จริง ครับ
ขอเชิญคลิกศึกษาจากคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ได้ที่นี่ครับ