สติปัฏฐานด้วยสามารถแห่งการระลึก

 
Guest
วันที่  21 ม.ค. 2550
หมายเลข  2677
อ่าน  1,134

จากการบรรยาย ชุด เทปวิทยุ ครั้งที่ 501

ข้อความในปปัญจสูทนี ซึ่งเป็นอรรถกถาสติปัฏฐานสูตร มีข้อความว่าก็ในอรรถกถา ท่านกล่าวคำไว้เพียงเท่านี้ว่า สติปัฏฐานมีอย่างเดียวเท่านั้น ด้วยสามารถแห่งการระลึก (สติ คือ ลักษณะสภาพธรรมที่ระลึก) และด้วยสามารถแห่งการประชุมโดยความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน (ไม่ว่าจะระลึกอย่างไรก็ตาม สติก็รวมลงเป็นการะลึกเท่านั้น) แต่ว่าเป็น ๔ ได้ด้วยสามารถแห่งอารมณ์. ดังนี้

เหมือนอย่างว่าในนครหนึ่งมี ๔ ประตู ชนทั้งหลายผู้มาจากทิศตะวันออกถือเอาสิ่งของอันมีอยู่ทางทิศตะวันออกแล้ว ก็เข้าไปสู่นครทางประตูทิศตะวันออกนั้นนั่นแหละ. ผู้มาจากทิศใต้ ผู้มาจากทิศตะวันตก ผู้มาจากทิศเหนือ ถือเอาสิ่งของอันมีอยู่ทางทิศเหนือ แล้วก็เข้าไปสู่นครทางประตูทิศเหนือนั่นแหละ ฉันใด คำอุปมาเครื่องยังอุปไมยให้ถึงพร้อมนี้ บัณฑิตพึงทราบฉันนั้นเถิด. จริงอยู่ พระนิพพาน เปรียบเหมือนนคร. โลกุตตรมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ เปรียบเหมือน ประตู. กายเป็นต้นเปรียบเหมือนทิศตะวันออก เป็นต้น.

ชนทั้งหลายผู้มาจากทิศตะวันออก ถือเอาสิ่งของอันมีอยู่ทางทิศตะวันออกแล้วก็เข้าไปสู่นครโดยประตูทิศตะวันออกนั่นแหละ ฉันใด พระโยคาวจรทั้งหลายผู้มาด้วยกายานุปัสสนาเป็นประธาน ก็ฉันนั้น. เจริญกายานุปัสสนาโดย ๑๔ บรรพแล้วหยั่งลงสู่พระนิพพานหนึ่งเทียว ด้วยอริยมรรคอันเกิดขึ้นด้วยอานุภาพแห่งการเจริญกายานุปัสสนา

ชนทั้งหลายผู้มาจากทิศใต้ ถือเอาสิ่งของอันมีอยู่แต่ทิศใต้ แล้วก็เข้าไปสู่นครโดยประตูด้านใต้นั่นแหละ ฉันใด พระโยคาวจรทั้งหลายผู้มาด้วยเวทนานุปัสสนาเป็นประธาน ก็ฉันนั้น เจริญเวทนานุปัสสนาโดย ๘ บรรพแล้วหยั่งลงสู่พระนิพพานหนึ่งนั่นแหละ ด้วยอริยมรรคเกิดขึ้นด้วยอานุภาพแห่งการเจริญเวทนานุปัสสนา

ชนทั้งหลายผู้มาจากทิศตะวันตก ถือเอาสิ่งของอันมีอยู่แต่ทิศตะวันตก แล้วเข้าไปสู่นคร โดยประตูด้านตะวันตกนั่นแหละ ฉันใด พระโยคาวจรทั้งหลาย ผู้มาด้วยจิตตานุปัสสนาเป็นประธาน ก็ฉันนั้น เจริญจิตตานุปัสสนา ๑๖ บรรพ แล้วหยั่งลงสู่พระนิพพานหนึ่งนั่นแหละ ด้วยอริยมรรคอันเกิดขึ้นด้วยอานุภาพแห่งจิตตานุปัสสนา

ชนทั้งหลายผู้มาจากทิศเหนือ ถือเอาสิ่งของอันมีอยู่แต่ทิศเหนือ แล้วเข้าไปสู่นคร โดยประตูด้านเหนือนั่นแหละ ฉันใด พระโยคาวจรทั้งหลายผู้มาด้วยธัมมานุปัสสนาเป็นประธาน ก็ฉันนั้น เจริญธัมมานุปัสสนาเป็นประธาน ก็ฉันนั้นเจริญธัมมานุปัสสนาโดย ๕ บรรพ แล้วหยั่งลงสู่พระนิพพานหนึ่งนั่นแหละด้วยอริยมรรคอันเกิดขึ้นด้วยอานุภาพของธัมมานุปัสสนา. ด้วยประการฉะนี้

พึงทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสติปัฏฐานไว้ ๑ เท่านั้นด้วยสามารถแห่งการระลึก และด้วยสามารถแห่งการประชุมโดยความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่ตรัสสติปัฏฐานไว้ ๔ ด้วยสามารถแห่งอารมณ์ ดังนี้.


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 21 ม.ค. 2550

สติปัฏฐาน มี 3 นัย คือ

1. ตัวสติเอง (สติเจตสิก)

2. อารมณ์ของสติ

3. ทางดำเนินของพระอริยเจ้าทั้งหลาย

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
bluebaker
วันที่ 23 ม.ค. 2550

ช่วยขยายหน่อยได้ไหม๊ครับ ทั้งสามนัยเลยนะครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 23 ม.ค. 2550

ข้อที่ 1. สติปัฏฐาน ที่หมายถึง สติเจตสิก เพราะตัวสติเองทำหน้าที่ระลึกสภาพธัมมะที่กำลังมีในขณะนี้ ไม่มีสมาธิปัฏฐาน ผัสสะปัฏฐาน แต่มีสติปัฏฐานเพราะสภาพธัมมะที่ทำหน้าที่ระลึก จะต้องเป็นสติเท่านั้นผัสสะทำหน้าที่ระลึกไม่ได้ครับ ดังนั้น ตัวสติเจตสิกเองจึงเป็นสติปัฏฐาน เพราะทำหน้าที่ระลึกสภาพธัมมะที่มีขณะนี้ครับ

ข้อ 2. อารมณ์ของสติ สติปัฏฐาน แปลว่า ที่ตั้งให้สติระลึก สติทำหน้าที่ระลึก ก็ต้องมีสิ่งที่ถูกระลึกใช่ไหมครับ สิ่งที่ถูกระลึกนั่นแหละ เรียกว่าอารมณ์ คือ เป็นสิ่งที่ให้สติระลึก (เป็นอารมณ์ของสติ) สิ่งที่ให้สติระลึก (อารมณ์ของสติ) คือ สภาพธัมมะที่มีในขณะนี้ เป็นของจริง นั่นก็คือ จิต เจตสิก และรูป นั่นเองครับแต่เรื่องราวที่คิดนึก เป็นบัญญัติ ไม่มีลักษณะ เป็นอารมณ์ของสติปัฏฐานไม่ได้ครับ

3. เป็นทางดำเนินของพระอริยเจ้า หมายความว่า พระอริยเจ้าทั้งหมด ที่ได้ตรัสรู้ ก็ต้องดำเนินทางนี้ คือ สติปัฏฐาน ๔ ครับ

ค่อยๆ ฟังไปนะครับ ธรรมเป็นเรื่องลึกซึ้งจริงๆ ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
chatchai.k
วันที่ 6 ม.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ