ฟังพระธรรมเหมือนกัน แต่ประพฤติต่างกัน

 
tanrat
วันที่  26 ก.ค. 2558
หมายเลข  26821
อ่าน  806

บางท่านมาฟังธรรมะที่ท่านอาจารย์บรรยาย แต่ประพฤติต่างกัน บางท่านกลัวอกุศลมาก เหมือนคนที่กลัวว่าตนจะเป็นโรคมะเร็ง แต่บางท่านมาฟังเพื่อฟังในสิ่งที่ยังเคยได้ยินได้ฟังมาก่อน จิตก็น้อมไปเพื่อจะฟัง ว่าท่านบรรยายเรื่องไร บางท่านก็ฟังแล้วหวัง แท้ที่จริงควรเป็นอย่างไรคะ ขอความกรุณาท่านอาจารย์ให้ความกระจ่างด้วยค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 26 ก.ค. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สัตว์โลกสะสมปัญญามาแตกต่างกัน ตามการสะสม ความเข้าใจจึงแตกต่างกันไป แม้แต่การฟังพระธรรมเรื่องเดียวกัน ก็เข้าใจแตกต่างกันได้ พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม บางท่านก็เข้าใจ บรรลุ บางท่านก็เข้าใจแต่ไม่บรรลุ แต่บางท่านก็เข้าใจน้อย แต่ก็สะสมเป็นอุปนิสัยต่อไป ครับ

พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ความจริง และ ทรงแสดงกับหมู่สัตว์ ที่สะสมความเห็นถูกมาที่มีศรัทธา ส่วน คนที่ไม่สะสมปัญญา ความเห็นถูกมา พระองค์ก็ไม่ทรงแสดงกับผู้นั้น เพราะเขาไม่สามารถที่จะฟัง และ ไม่สนใจในพระธรรม ครับ พระพุทธเจ้าจึงเป็นเพียงผู้บอกทาง ส่วนคนใดที่จะเดินตามทางถูกก็แล้วแต่การสะสมของแต่ละคนเพราะ แม้บอกทางเดียวกัน แต่เดินผิดทางก็ได้ ครับ

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้าที่ 149 ข้อความบางตอนจาก.. คณกโมคคัลลานสูตร

พ. ดูก่อนพราหมณ์ ฉันนั้นเหมือนกันแล ในเมื่อนิพพานก็มีอยู่ ทางไปนิพพานก็มีอยู่ เราผู้ชักชวนก็มีอยู่ แต่ก็สาวกของเราอันเราโอวาทสั่งสอนอยู่อย่างนี้ บางพวกเพียงส่วนน้อย สำเร็จนิพพานอันมีความสำเร็จล่วงส่วน บางพวกก็ไม่สำเร็จ ดูก่อนพราหมณ์ ในเรื่องนี้ เราจะทำอย่างไรได้ ตถาคตเป็นแต่ผู้บอกหนทาง.

สำหรับผู้ที่มีโอกาสได้ฟังได้ศึกษาพระธรรมโดยเป็นผู้เห็นประโยชน์ของพระธรรม ว่า ไม่ควรที่จะท้อถอย ยิ่งยากก็ยิ่งจะต้องศึกษา เพราะปัญญาไม่สามารถจะเจริญขึ้นได้ภายในระยะเวลาอันสั้น ต้องค่อยๆ ฟังค่อยๆ ศึกษาไปตามลำดับ เพียงแค่วันนี้ พรุ่งนี้ หรือ ชาตินี้ ยังไม่พอ ต้องสะสมความเข้าใจต่อไปอีกเป็นเวลาอันยาวนาน ซึ่งมีข้ออุปมาเหมือนการจับด้ามมีด เมื่อจับบ่อยๆ นานๆ รอยสึกย่อมปรากฏได้ ปัญญาก็เช่นกัน ต้องอาศัยกาลเวลาอันยาวนานในการสะสม ในการอบรม จึงจะเจริญขึ้นได้ โดยที่ไม่ขาดการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมสะสมปัญญาต่อไป ครับ. ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 26 ก.ค. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
แต่ละคนเป็นแต่ละหนึ่งจริงๆ เป็นไปตามการสะสม แต่ถ้ามีจุดประสงค์ที่ถูกต้องในการฟังในการศึกษาแล้ว ก็จะเป็นไปเพื่อการสะสมความเข้าใจถูกเห็นถูก เป็นไปเพื่อขัดเกลาความไม่รู้ ความเห็นผิดและกิเลสทั้งหลาย ยิ่งฟังก็ยิ่งเพิ่มพูนความมั่นคงในความเป็นจริงของธรรม ว่า มีแต่ธรรม ไม่ใช่เรา ทุกขณะ เป็นธรรมแต่ละหนึ่งๆ หาความเป็นสัตว์เป็นบุคคล เป็นตัวตนไม่ได้ ถ้ามีความเข้าใจอย่างถูกต้อง ปัญญานำไปในกิจทั้งปวง แม้จะกล่าวถึง กลัวอกุศล ถ้าเข้าใจถูกจริงๆ ก็เป็นเรื่องของโสภณธรรมที่เกิดขึ้นกิจหน้าที่ มีความละอาย ความเกรงกลัวต่ออกุศลธรรม ปัญญาเห็นโทษตามความเป็นจิรง ไม่ใช่เรา แต่ถ้าเต็มไปด้วยความหวัง แล้ว ก็ไม่ใช่จุดประสงค์ที่ถูกต้อง, เรื่องของคนอื่นก็เป็นเรื่องของคนอื่นจริงๆ แต่กิจที่ควรทำสำหรับตนเองแล้ว คือ ตั้งใจฟัง ตั้งใจศึกษา ด้วยความละเอียดรอบคอบ ไม่ประมาทในแต่ละคำที่ได้ยินได้ฟัง ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย ครับ
ข้อความบางตอนจากคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่กล่าวถึงจุดประสงค์ของการศึกษาพระธรรม เป็นเครื่องเตือนใจที่ดี ว่า
"ทุกท่านกำลังฟังพระสัทธรรม แล้วก็ฟังมาแล้วหลายชาติ ไม่ใช่ชาตินี้ชาติเดียว แต่ขอให้คิดถึงความละเอียดว่า ท่านฟังพระธรรมเพื่ออะไร? ถ้าฟังเพื่อจะขัดเกลากิเลส ถูก แต่ถ้าฟังเพื่ออย่างอื่น เพราะเหตุว่าบางท่านฟังพระธรรมแบบร้อนๆ ก็มี คือ กังวล ห่วง เรื่องนี้ก็ไม่เข้าใจ จะต้องรู้ ถ้าไม่รู้จะไม่เก่ง ก็ไม่ได้เข้าใจจริงๆ ว่าแท้ที่จริงแล้วจุดประสงค์ของการฟังพระธรรมคือกุศลจิตเกิดขณะใดที่เป็นกุศล ขณะนั้นไม่มีการเร่าร้อน ไม่มีการกระสับกระส่าย กระวนกระวาย สิ่งใดที่ยังไม่เข้าใจก็ค่อยๆ พิจารณาในเหตุผลทีละเล็กทีละน้อย"
...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
และอนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
tanrat
วันที่ 26 ก.ค. 2558

กราบอนุโมทนาสาธุค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
Jarunee.A
วันที่ 22 ก.ย. 2566

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ